ThaiPublica > เกาะกระแส > จากใจ “บัณฑูร ล่ำซำ” ถึง “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ในวาระอำลาตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ

จากใจ “บัณฑูร ล่ำซำ” ถึง “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ในวาระอำลาตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ

19 สิงหาคม 2015


นายบัณฑูร ล่ำซำ (ยืน) ที่มาภาพ : นฤพนธ์ รักษ์พงษ์
นายบัณฑูร ล่ำซำ (ยืน) ที่มาภาพ : นฤพนธ์ รักษ์พงษ์

“จดหมายฉบับสุดท้าย”จาก ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 22 ถึง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 10 ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลทั้งความเก่งและความดี และเป็นแบบอย่างให้แก่ชนรุ่นหลังมากว่าศตวรรษ

เป็นจดหมายเปิดผนึกในงานปาฐกถาพิเศษ Governor’s Talk ด้วยหัวข้อ “จดหมายจากใจถึงอาจารย์ป๋วย: ศาสตร์และศิลป์บนเส้นทางห้าปีของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” เนื่องในโอกาสครบ 100 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปี 2558

อาจจะกล่าวได้ว่าครั้งนี้ดูจะเป็นครั้งแรกที่การอำลาตำแหน่งต่างเต็มไปด้วย “คนดัง” ในแวดวงตลาดเงิน ตลาดทุน และเศรษฐกิจ มาร่วมงานมากมาย ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยนัก ไม่ว่าจะเป็น ดร.วิรไท สันติประภพ ว่าที่ผู้ว่า ธปท. คนต่อไป, นายเสนาะ อูนากูล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, นายนุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, นายวิจิตร สุพินิจ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย, ดร.สุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี (ไทย) จำกัด (มหาชน), นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย, นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย, นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย, นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.), นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน), ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก สำนักงานประจำประเทศไทย เป็นต้น

ปาฐกถาพิเศษในวันนี้ยังมีแขกพิเศษขึ้นกล่าวปิดท้ายโดย “บัณฑูร ล่ำซำ” คนคุ้นเคยที่ร่วมงานกันมากว่า 6 ปี หลังจากที่”ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” หมดวาระเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ก็ถูกทาบทามมานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ที่แบงก์กสิกรไทย และเป็นผู้หนึ่งที่ส่งกำลังใจมาให้ “ประสาร”อย่างสม่ำเสมอในช่วงที่นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ

หลังจากเปิดเวทีให้มีการถามตอบ “บัณฑูร”ได้ถือโอกาสนี้ร่วมเวทีอำลาว่า “ผมไม่มีคำถามอะไรแต่มีคำพูด เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่เรามาเทิดทูนบุญคุณที่ท่านผู้ว่าการ ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) และมายกย่องท่านผู้ว่าประสารในวาระที่จะพ้นจากหน้าที่ไป ก็เลยไม่รู้จะพูดอะไร เป็นสถานที่ที่มีความขลังที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อ 5 ปีมาแล้ว ซึ่งตอนนั้น ดร.ประสารกับผมได้ทำงานร่วมกันประมาณ 6 ปีกว่าที่ธนาคารกสิกรไทย ตอนนั้นผู้ว่าประสารก็มากระซิบบอกว่าจะไปเป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ผมก็บอกว่านั้นคือสิ่งที่ประสารเกิดมาเพื่อที่จะทำ แต่ติดอยู่นิดเดียวก็คิดว่าให้รู้ไว้ว่าถ้าพลาดพลั้งไปเจออริทางการเงิน เส้นทางที่จะกลับธนาคารกสิกรไทย ไม่มีนะ ผมจำได้ว่าท่านผู้ว่าประสารตอบผมว่า เอาน่ะ อายุ 58 แล้วเป็นไงเป็นกัน นั่นยังไม่กล้าหาญพอนะ ผมอยากจะเรียนว่า ผมไม่กล้าถามท่านผู้ว่าประสารนะ แต่ผมคำนวณอยู่ในใจ ผมว่าท่านผู้ว่าเสียสละผลประโยชน์รายได้ไปอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ในช่วงเวลาที่ลูกทั้งสองคนยังเรียนหนังสืออยู่เลย เป็นความเสียสละที่เราควรจะรู้ด้วยว่า ดร.ประสารได้ทำไว้ให้กับประเทศไทย

เพราะฉะนั้น ผมก็ดีใจที่ท่านผู้ว่าประสาร ได้ใช้เวลาอยู่หลายปีพอสมควร 6 ปีกว่าอยู่ในแวดวงของธนาคารพาณิชย์ เป็นส่วนหนึ่งส่วนสำคัญของประสบการณ์ของคนที่จะเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ เพราะฉะนั้น ดร.ประสารเดินออกมานี่ มาเข้างานใหม่ของที่ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงสันดานของนักการเงิน ซึ่งจริงๆ จะเป็นคุณประโยชน์สำหรับระบบการเงินของประเทศ แต่ที่สำคัญ ดร.ประสารยังไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง คือการสันดานของนักการเมือง แต่มาซาบซึ้งเอาในช่วงหลังๆ

“ยิ่งคนถาม ดร.ประสารก็ออกตัวว่าเป็นคนที่เน้นในเรื่องของวิทยาการและวิทยาศาสตร์ แต่ทางผมมันเน้นทางด้านไสยศาสตร์ มันทนไม่ได้ ดร.ประสารมานั่งอยู่ที่นี่ ก็ต้องตามมาแก้นั่นแก้นี่ให้ ด้วยความกลัวว่าท่านผู้ว่าจะเดินไปสะดุดเท้าอะไรยังไง ความเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง และก็เกิดสะดุดจริงๆ ซึ่งตอนนั้นเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น แน่นอนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ท่านผู้ว่าประสารเป็นคนสุภาพ ไม่เหมือนผมไม่สุภาพ อ้าปากพูดก็จะมีเรื่อง แต่จริงๆ ต้องพูดตรงๆ นะตอนนั้นนึกอยู่ในใจว่า อะไรมันจะระยำได้ถึงขนาดนี้”

ยังโชคดีและผมก็เชื่ออย่างที่หลายท่านได้กล่าวแล้วเป็นโชคดีของประเทศไทย

วันนี้ครบ 5 ปีของท่านผู้ว่าประสารแล้ว เป็นโชคดีในมุมหนึ่งของประเทศไทย ที่ได้คนดีๆ แบบท่านผู้ว่าประสารเข้ามา แล้วถ้าท่านอาจารย์ป๋วย ท่านผู้ว่าป๋วย สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นใด จะได้มีญาณวิถีทราบได้ว่าเหล่าความตั้งใจดีและความดีที่ท่านได้กระทำมา ผ่านมาแล้วให้กับประเทศไทย ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้คนดีๆ อย่างท่านผู้ว่าประสารและอีกหลายๆ คน กล้าที่จะเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวมาทำงานให้ประเทศชาติด้วยความตั้งใจและด้วยความจริงใจ

ส่งต่อไปถึงท่านผู้ว่าคนใหม่ ดร.วิรไท (สันติประภพ) ซึ่งเป็นคนที่มีดีเอ็นเอทางสติปัญญาและคุณธรรมเหมือนกับ ดร.ประสาร มันก็เป็นบทพิสูจน์ว่าความดีทั้งหลายแหล่ที่คนที่ทำมาก่อนทำไว้ให้ มันมีผลยาว 50 ปี ครึ่งศตวรรษมาแล้ว ความศักดิ์สิทธ์ของความดีความตั้งใจเหล่านั้นส่งผลมาถึงวันนี้ ทำให้วันนี้อย่างน้อยก็ที่วังบางขุนพรหมแห่งนี้ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแห่งนี้ เราพูดได้อย่างเต็มปากว่าอย่างน้อยที่แห่งนี้ในแผ่นดินมันยังมีที่ให้คนดีๆอยู่ได้

“อย่างผมได้ทำงานในแวดวงการเงินมาเกือบตลอดชีวิตก็รู้สึกชื่นใจ ปลาบปลื้มใจ รู้สึกดีใจที่ว่าเรายังมีความสามารถที่จะรักษาประเทศให้อยู่ในกระแสของความเจริญก้าวหน้าในความเก่ง ด้วยความมีคุณธรรม และความมั่นคงในทุกรูปแบบของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ขอแสดงความชื่นชมกับเทิดทูนบุญคุณของท่านผู้ว่าป๋วย และขอแสดงความชื่นชมกับผู้ว่าประสารด้วย ท่านยังไม่จบหรอกครับ รับรองได้ว่ามีงานใหญ่รออยู่”

นายบัณฑูร ล่ำซำ(ซ้าย) ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล(ขวา) ที่มาภาพ : นฤพนธ์ รักษ์พงษ์
นายบัณฑูร ล่ำซำ(ซ้าย) ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล(ขวา) ที่มาภาพ : นฤพนธ์ รักษ์พงษ์