ThaiPublica > คอลัมน์ > กลไก “คุ้มครอง” + “ส่งเสริม” งานสร้างสรรค์: ว่าด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์

กลไก “คุ้มครอง” + “ส่งเสริม” งานสร้างสรรค์: ว่าด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์

31 สิงหาคม 2015


สฤณี อาชวานันทกุล

ทำเอาโลกโซเชียลไทยหวั่นไหวไปยกใหญ่ กับการประกาศใช้กฎหมายลิขสิทธิ์เพิ่มเติม 2 ฉบับ ในปี 2558 ซึ่งมีผลตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ข่าวลือแพร่สะพัดไปในกรุ๊ปไลน์ของผู้อาวุโสที่นิยมแชร์ภาพดอกไม้ประกอบคำอวยพรประจำวันว่า ภาพเหล่านั้นอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ร้อนถึงผู้เชี่ยวชาญกฎหมายต้องออกมาชี้แจงว่า ไม่ต้องกังวล เพราะการส่งต่อภาพลักษณะนี้เป็นการใช้ส่วนตัว ไม่แสวงกำไร ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ เข้าข่าย “ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์” เพราะเป็น “การใช้ที่เป็นธรรม” หรือ fair use ตามกฎหมายเดิม

ภาพดอกไม้ประกอบคำอวยพรซึ่งนิยมส่งต่อกันในไลน์ ที่มาภาพ: http://www.thairath.co.th/content/515758
ภาพดอกไม้ประกอบคำอวยพรซึ่งนิยมส่งต่อกันในไลน์ ที่มาภาพ: http://www.thairath.co.th/content/515758

ผู้เขียนเห็นว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ที่เพิ่มเติมนั้นมีข้อดีหลายประการด้วยกัน แต่ข้อเสียคือยังไม่ได้สร้างความกระจ่างเท่าที่ควรให้กับความคลุมเครือในกฎหมายเดิม โดยเฉพาะเรื่อง fair use

ก่อนอื่นเราไม่ควรลืมว่า งานสร้างสรรค์ในยุคออนไลน์นั้นส่วนใหญ่อาศัยการ “รีมิกซ์” หรืออย่างน้อยก็ได้รับ “แรงบันดาลใจ” จากข้อมูลมหาศาลที่ไหลเวียนอยู่ในเน็ต นำผลงานของคนอื่นมาดัดแปลง ล้อเลียน ต่อเติม หรือต่อยอดเป็นงานใหม่

กฎหมายลิขสิทธ์ที่ “ดี” จึงไม่ใช่กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ “คุ้มครอง” สิทธิ์ของผู้สร้างอย่างเคร่งครัดเข้มงวดเสียจนคนอื่นกลัว ไม่กล้าสร้างสรรค์งานใหม่ๆ แต่เป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิ์อย่างพอเหมาะ เพื่อ “ส่งเสริม” ให้เกิดงานใหม่ๆ ซึ่งก็เป็นเป้าหมายหลักของกฎหมายลิขสิทธิ์ตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ก็ควรคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคด้วย ไม่ใช่ตราหน้าว่าเป็นอาชญากรง่ายๆ เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ “ขาย” สิทธิบางส่วนของตนไปให้กับผู้บริโภคที่ซื้อของลิขสิทธิ์นั้นมาอย่างถูกกฎหมาย จะมาอ้างว่าสิทธิของตนต้องอยู่ครบถ้วนบริบูรณ์ก็ใช่ที่

แน่นอน คำถามที่ว่าเส้นแบ่งที่ “พอเหมาะ” อยู่ตรงไหน ก็เป็นความท้าทายเสมอมาของผู้เขียนกฎหมาย

สรุปเนื้อหาใหม่ในกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับเพิ่มเติม โดย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่มาภาพ: http://www.ipthailand.go.th/images/slide/Copy_new1.jpg
สรุปเนื้อหาใหม่ในกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับเพิ่มเติม โดย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่มาภาพ: http://www.ipthailand.go.th/images/slide/Copy_new1.jpg

ลองมาดูข้อดีของกฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่กันก่อน

ข้อดีที่เห็นชัด คือ การเพิ่มนิยาม “ข้อมูลการบริหารสิทธิ” เข้ามา รวมถึงการละเมิด ข้อยกเว้น และบทลงโทษในกรณีที่ละเมิดข้อมูลดังกล่าว

“ข้อมูลการบริหารสิทธิ” ตามกฎหมายใหม่หมายความว่า “ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงผู้สร้างสรรค์ งานสร้างสรรค์ นักแสดง การแสดง เจ้าของลิขสิทธิ์ หรือระยะเวลาและเงื่อนไขการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ ตลอดจนตัวเลขหรือรหัสแทนข้อมูลดังกล่าว โดยข้อมูลเช่นว่านี้ติดอยู่หรือปรากฏเกี่ยวข้องกับงานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิ่งบันทึกการแสดง” – ยกตัวอย่างเช่น ลายเซ็น ลายน้ำ เป็นต้น ฉะนั้นต่อไปนี้ถ้าหากเราลบลายเซ็นหรือลายน้ำออกจากภาพก่อนแชร์บนเฟซบุ๊ก ก็อาจถือเป็นการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิได้

เราน่าจะเห็นตรงกันได้ไม่ยากว่า การลบลายเซ็นหรือลายน้ำของคนวาดออกก่อนแชร์นั้น ส่อ “เจตนา” ที่จะละเมิดลิขสิทธิ์ค่อนข้างชัดเจน แต่สมมุติอีกตัวอย่างว่า เราซื้อซีดีเพลงมา ทำซ้ำและดึงปกต้นฉบับออกเพราะอยากเอามาใส่ปกทำเอง แบบนี้ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายละเมิด “ข้อมูลการบริหารสิทธิ” ตามกฎหมายนี้เช่นกัน ทั้งๆ ที่เราซื้อซีดีแผ่นนั้นมาอย่างถูกกฎหมาย

มาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000087816
มาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000087816

อธิป จิตตฤกษ์ อธิบายประเด็นนี้อย่างชัดเจนในบทความ (ต้นฉบับบนเว็บไซต์ประชาไท) ว่า “ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากในกฎหมายลิขสิทธิ์ไทยดั้งเดิมไม่มีสิ่งที่ในระบบกฎหมายอเมริกาเรียกว่า “หลักการขายครั้งแรก” หรือ “First Sale Doctrine” ซึ่งในหลักการใหญ่แล้วมันคือหลักการที่ว่า เจ้าของลิขสิทธิ์จะ “เสียลิขสิทธิ์” บางประการไปให้ผู้ซื้อสินค้าอันมีลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายทันที และหากปราศจากหลักการนี้ในกฎหมายที่ครอบคลุมก็น่าจะต้องถือว่า “ข้อมูลบริหารสิทธิ” จะยังคงอยู่กับเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างครบถ้วน และมีสิทธิดำเนินคดีกับผู้บริโภคดังที่ได้ยกตัวอย่างมา”

อธิปตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่นี้มีการเพิ่มหลักการคล้ายกับ “หลักการขายครั้งแรก” เข้ามา แต่ก็เป็นเรื่องของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ใช่การละเมิด “ข้อมูลการบริหารสิทธิ” ในนิยามใหม่แต่อย่างใด และยังไม่ชัดเจนว่า การแบ็คอัพ (backup) ข้อมูลดิจิทัลที่เราซื้อมาอย่างถูกกฎหมาย (เช่น ไฟล์เพลง MP3) จะเข้าข่ายข้อยกเว้นการละเมิดหรือไม่

ข้อดีอีกประการคือ กฎหมายใหม่นิยาม “การคุ้มครองทางเทคโนโลยี” ขึ้นเป็นครั้งแรก นั่นคือ คุ้มครองมาตรการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์แบบดิจิทัลของเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งการเพิ่มข้อนี้เข้ามาน่าจะทำให้ผู้ประกอบการดิจิทัลที่สนใจจะขายซอฟต์แวร์ อีบุ๊ค ฯลฯ รู้สึกสบายใจมากขึ้นที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจ เพราะการละเมิดมาตรการป้องกัน เช่น แฮ็กไฟล์ แคร็ก ฯลฯ จะถือเป็นความผิดเท่ากับการละเมิดลิขสิทธิ์

แต่ข้อเสียคือ ในข้อยกเว้นการละเมิด กฎหมายกำหนดให้ต้อง “ขออนุญาต” จากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนแม้เป็นการค้นคว้าเพื่อการศึกษาก็ตาม เช่น โปรแกรมเมอร์ทดลองแฮ็กไฟล์ นักวิจัยทดลองการถอดรหัส ทั้งที่การศึกษาไม่ควรต้องขออนุญาตแต่อย่างใด (ถ้าขอ ใครจะอยากอนุญาต?)

ข้อดีประการที่สามของกฎหมายใหม่ คือ กำหนดภาระรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือตัวกลาง (intermediary) อย่างชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่ไม่ชัดเจนว่าตัวกลางจะต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่อย่างไร ในกฎหมายใหม่นี้ เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถขอศาลให้ออกคำสั่งต่อตัวกลาง ให้นำเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบได้ โดยตัวกลางจะไม่ต้องรับผิดใดๆ ถ้าหากนำเนื้อหาออกภายในเวลาที่ศาลกำหนด

อย่างไรก็ดี การให้ศาลเป็นผู้ออกคำสั่งระงับการเผยแพร่นั้นมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มภาระให้กับศาลค่อนข้างมาก ถึงแม้จะดีต่อตัวกลาง ฉะนั้นคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าศาลจะสามารถ ‘ลงทุน’ กับการบังคับใช้ข้อนี้ได้หรือไม่เพียงใด

ข้อดีประการที่สี่ กฎหมายใหม่นี้เพิ่มข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับ “การจำหน่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย” เท่ากับว่าการขายของถูกลิขสิทธิ์มือสองจะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อีกต่อไป จากเดิมที่กฎหมายเก่าไม่ได้คุ้มครอง (ยกเว้นซีดีภาพยนตร์ แม้เป็นมือสองก็ยังต้องมีใบอนุญาตให้ขายตามกฎหมาย! แต่นี่เป็นความเข้มงวดเกินควรของกฎหมายภาพยนตร์และวีดีทัศน์ ไม่ใช่กฎหมายลิขสิทธิ์)

ด้านข้อเสีย กฎหมายใหม่ไม่ได้ทำให้ข้อยกเว้นการละเมิดหรือ fair use ชัดเจนกว่าเดิมนัก แถมยังก่อให้เกิดคำถามใหม่ๆ เช่น การฝังโค้ดวีดีโอยูทูบ (embed) ลงบนเว็บของเราเท่ากับละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตอนแรกชี้แจงว่าเข้าข่ายละเมิด ต่อมาเปลี่ยนคำตอบเป็นว่า “ถ้าเจ้าของคลิปวิดีโอบนยูทูบเผยแพร่คลิปวิดีโอนั้นในลักษณะ Public จะถือว่าเจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้สาธารณชนทั่วไปเข้าถึงงานดังกล่าวได้ เพราะฉะนั้น …ลักษณะของการฝังโค้ด (embed) จึงอาจไม่เข้าข่ายละเมิด” (รายละเอียดอ่านข่าวบล็อกนัน)

คำชี้แจงของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับการ  embed วิดีโอแบบ public ที่มาภาพ: https://www.blognone.com/node/71063
คำชี้แจงของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับการ embed วิดีโอแบบ public ที่มาภาพ: https://www.blognone.com/node/71063

ถึงแม้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเผยแพร่ “คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม” แล้วก็ตาม กฎหมายลิขสิทธิ์คงจะยังสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าและสับสนงุนงงให้กับสื่อมวลชนและคนธรรมดาในเน็ตไปอีกสักพักใหญ่ และบางเรื่องที่คลุมเครือก็อาจต้องรอให้ศาลเป็นผู้ตีความ

ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่า เราจะได้เห็นหลักปฏิบัติที่ชัดเจนจากศาลและเจ้าหน้าที่รัฐ ในทางที่สร้างความ “พอดี” ระหว่างการคุ้มครองสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ สิทธิของผู้บริโภค และสิทธิของทุกคนในการสร้างสรรค์.