ThaiPublica > คอลัมน์ > กรณีโคโซโว พลังงานหมุนเวียนราคาถูกกว่าถ่านหิน

กรณีโคโซโว พลังงานหมุนเวียนราคาถูกกว่าถ่านหิน

24 สิงหาคม 2015


Noah Kittner
Energy and Resource Group,
University of California, Berkeley

กำลังผลิตไฟฟ้าที่เน้นถ่านหิน (ซ้าย) กับกำลังผลิตไฟฟ้าที่เน้นหลังงานหมุนเวียน (ขวา) จากงานวิจัยใน Kosovo(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
กำลังผลิตไฟฟ้าที่เน้นถ่านหิน (ซ้าย) กับกำลังผลิตไฟฟ้าที่เน้นพลังงานหมุนเวียน (ขวา) จากงานวิจัยในโคโซโว (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ในปัจจุบัน ความนิยมการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินนั้นลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดในหลายๆ ประเทศทั่วโลก จนธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศใหญ่ๆ ที่รวมไปถึง ธนาคารโลก และ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้มีมติที่จะหยุดสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวกับถ่านหินในต่างประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2556

ขณะเดียวกัน Bloomberg Business Week เดือนนี้รายงานว่า นโยบายพลังงานแห่งชาติของประเทศจีนได้ตั้งเป้าที่จะลดสัดส่วนการใช้ถ่านหินในการผลิตพลังงานจาก 66% ในปี พ.ศ. 2557 ให้เหลือ 62% ภายในปี พ.ศ. 2563

“ในปัจจุบัน การใช้ถ่านหินในประเทศจีนได้ลดลงถึง 5% แล้ว ใน 4 อุตสาหกรรมหลัก ประกอบด้วย โรงงานไฟฟ้า เหล็ก เคมีภัณฑ์ และการก่อสร้าง”

จีนหันมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวลเป็นอัตราส่วน 2.3% ของสัดส่วนแหล่งพลังงาน รวมทั้งพลังงานน้ำอีก 8%

ทั้งนี้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงและความพร้อมในการใช้งานของเหล่าพลังงานทดแทน เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล และน้ำ จะช่วยให้ประเทศต่างๆ ในโลกรับมือกับวิกฤติพลังงานไฟฟ้าได้

งานวิจัยชิ้นใหม่ โดยมหาวิทยาลัย University of California, Berkeley ได้ศึกษาทางเลือกการผลิตไฟฟ้าในประเทศโคโซโว (Kosovo) การศึกษานี้พบว่าพลังงานหมุนเวียนที่มีลักษณะกระจายศูนย์ สามารถนำมาใช้เพื่อรองรับความต้องการได้ทันที (ไม่ต้องรอการก่อสร้างนาน) และมีต้นทุนที่ถูกกว่าที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

งานวิจัยนี้ได้คำนวณ Levelized Cost of Energy (LCOE) ในสมการข้างล่าง สังเกตว่าตัวแปร “Variable O&M ” ในสมการนี้เป็นตัวแปรปริศนา

1

เป็นต้นทุนที่ซ่อนเร้นอยู่ในสมการอย่างแยบยล จากการศึกษาในประเทศโคโซโว เราพบว่าตัวแปรนี้ต้องรวมเอาราคา $30/Ton shadow price of carbon เข้าไปด้วย และราคานี้เองที่ทำให้ราคารวมของ LCOE สำหรับโรงงานถ่านหินนั้นสูงขึ้นมาก แม้ตัวแปร “Capital investment cost” จะมีราคาถูกก็ตาม

การคำนวณตัวแปร “Variable O&M” ที่เป็นมาตรฐานสากล ของ World Bank จะต้องรวมไปถึงต้นทุนและราคาของมลพิษในสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย ต้นทุนทางสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล และการกำจัดสารปรอท (Mercury) ในน้ำ ฯลฯ ราคาทั้งหมดนี้ต้องรวมทั้งวงจรชีวิต (Life cycle) ของถ่านหินตั้งแต่การทำเหมือง การขนส่ง และการเผา

จริงๆ แล้วราคา $30/Ton shadow price of carbon ที่ทางธนาคารโลกใช้คำนวณกับถ่านหิน ยังต่ำมาก งานวิจัยของ Moore and Diaz ที่ปี 2015 พบว่าต้นทุนทางมลพิษและสุขภาพของการใช้ถ่านหินอาจสูงถึง $220/Ton shadow price of carbon

เมื่อเทียบราคาต้นทุน LCOE ของพลังงานหมุนเวียนแบบ “ค็อกเทล” ที่รวมพลังงานโซลาร์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ชีวมวล และพลังงานจากขยะเข้าด้วยกันแล้ว ประเทศโคโซโวกลับสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนในราคาต้นทุนที่ถูกกว่าการสร้างโรงงานถ่านหิน (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

ในประเทศโคโซโว การเสนอให้มีโรงงานไฟฟ้าถ่านหินนั้นได้ผ่านการอภิปรายมากกว่าสิบปี และจนถึงปัจจุบันโครงการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ก็ยังไม่ได้ถูกดำเนินการแต่อย่างใด ในขณะเดียวกัน งานวิจัยใหม่ๆ ที่ออกมาได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ตลาดพลังงานในปัจจุบันที่ไม่ให้ความสำคัญกับการใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานอีกต่อไป

เหมืองถ่านหินใน Kosovo
เหมืองถ่านหินในโคโซโว

ราคาของเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีประหยัดพลังงานที่ตกลงอย่างต่อเนื่อง ก็ช่วยกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยที่เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกอื่นๆ ด้วย จนกระทั่ง ราเชล ไคท์ (Rachel Kyte) ตัวแทนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากธนาคารโลก ได้ออกมาแถลงว่า ทุกประเทศทั่วโลกควรที่จะลดการใช้ถ่านหิน เพราะการใช้ถ่านหินส่งผลเสียทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

ในขณะเดียวกัน ทางคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard Medical School) ได้พบว่าราคาต้นทุนจริงของการใช้ถ่านหินในสหรัฐอเมริกานั้นสูงถึง $500 Billion (อ่านรายงานทั้งหมดได้ที่นี่)

การลงทุนกับถ่านหินถือเป็นการลงทุนที่เสี่ยงถ้ามองในมุมของพลังงาน อากาศ และสุขภาพ ในปีที่ผ่านมา งานวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ที่ร่วมกับนักวิจัยจากกลุ่มประเทศ Balkans ได้ทำให้เราเข้าใจว่า การใช้พลังงานสะอาดไม่เพียงแต่มีผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากแต่มันเป็นการลงทุนที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับการใช้พลังงานแบบเก่า

3

การที่ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานของพลังงานสะอาดพร้อมอยู่แล้วจากการสนับสนุนของรัฐบาล การปรับมาใช้พลังงานสะอาดในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องไม่ยาก ถ้ารัฐบาลมีการศึกษาราคาต้นทุนกันอย่างจริงจัง

ในฐานะประเทศผู้นำด้านพลังงานแสงอาทิตย์อันดับ 1 ของอาเซียน ประเทศไทยน่าจะมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนขึ้นมาได้

และพร้อมกันนี้ ประเทศไทยก็ควรที่จะจัดทำการประเมินพลังงานทดแทนจากแหล่งต่างๆ เพื่อเป็นการวิเคราะห์ทางด้านศักยภาพและราคา ก่อนที่จะเดินหน้าโครงการถ่านหินต่อไป ทั้งนี้ การหันมาใช้พลังงานทดแทนจะยังช่วยให้ประเทศไทยและอาเซียนมีความมั่นคงทางด้านพลังงานมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของสาธารณชนอีกด้วย

การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,000 เมกะวัตต์ ในจังหวัดกระบี่ ถือเป็นแผนที่จะดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้ามกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบดิจิทัล (Creative Digital Economy) และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนโดยสิ้นเชิง

การโฆษณาโดย กฟผ. ให้สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด โดยการนำเสนอต่อนายทุน (“เฮีย”) ในวิดีโอครั้งนี้ ก็เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ เพื่ออำนวยให้คนไทยมีไฟฟ้าใช้อย่างสะดวกสบายโดย “ไม่ต้องหันกลับไปพึ่งแสงสว่างจากเทียนไข” ตามที่นำเสนอโดยรัฐบาล

 เหมืองถ่านหิน แม่เมาะ
เหมืองถ่านหิน แม่เมาะ

อย่างไรก็ตาม การอธิบายลักษณะของถ่านหินโดยใช้คำว่า “สะอาด” อาจทำให้เราลืมคำนึงถึงวงจรชีวิตของถ่านหิน ที่ยังมีประเด็นน่ากังวลหลายประเด็น เช่น ปัญหาจากถ่านหินลิกไนท์และถ่านหินบิทูมินัสจากการทำเหมือง และปัญหามลภาวะจากสารปรอทและโลหะชนิดต่างๆ

ในขณะเดียวกัน ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมก็ยังคงอยู่ หากเทคโนโลยีดักจับและดักเก็บคาร์บอนไม่ได้ถูกนำมาปรับใช้ในสถานการณ์นี้

นอกจากนี้แล้ว ถ้าถ่านหินนั้นสะอาดจริงถึงขั้นที่ไม่ปล่อยฝุ่นละอองซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOx) ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และสารมลพิษอื่นๆ ออกมา ถ่านหินก็ไม่น่าที่จะเป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนที่ต่ำที่สุดได้

หนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดทำแผนงานพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2553–2573 คือการส่งเสริมกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิต และเพิ่มการใช้พลังงานน้ำ ถ่านหินพลังงานทดแทน และพลังนิวเคลียร์ ซึ่งเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้คือเพิ่มสัดส่วนของไฟฟ้าจากพลังงานน้ำให้เป็น 20% ถ่านหินให้เป็น 25% พลังงานทดแทนให้เป็น 20% และพลังงานนิวเคลียร์ให้เป็น 5% ภายใน พ.ศ. 2579

ถึงแม้เป้าหมายครั้งนี้จะดูเหมือนเป็นการปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้กระจายมากขึ้น แต่การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิต 7,365 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ รวมถึงการวางแผนที่จะซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังน้ำจากต่างประเทศ 11,016 เมกะวัตต์ ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังขาอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคที่ราคาของพลังงานทดแทนนั้นถูกลงอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยของสากลยังแสดงให้เห็นอีกว่าแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีลักษณะกระจายตัวนั้นถูกนำมาใช้ได้เร็วกว่า ทั้งหมดนี้ต้องคิดเรื่องต้นทุนทาง “เวลา” ที่เสียไปด้วย

และที่สำคัญ เช่นเดียวกับในกรณีของประเทศโคโซโว เราอาจจะพบว่าพลังงานหมุนเวียนนั้นจริงๆ แล้วมีต้นทุนที่ถูกกว่าการมีโรงไฟฟ้าไฟฟ้าถ่านหิน

เราจะเชื่อใจ “เฮีย” ในคลิปวิดีโอของ กฟผ. หรือการคำนวณราคาจริงโดยมาตรฐานสากล เป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยควรมีสิทธิเลือก