ThaiPublica > เกาะกระแส > เสวนา “แบนประมงผิดกฎหมายเด็ดขาด … คนทั้งชาติยังมีปลากิน?” – รัฐยอมรับหละหลวม – พ.ร.บ.การประมง 2558 กับคำถาม “ปลดล็อก IUU ได้หรือไม่?”

เสวนา “แบนประมงผิดกฎหมายเด็ดขาด … คนทั้งชาติยังมีปลากิน?” – รัฐยอมรับหละหลวม – พ.ร.บ.การประมง 2558 กับคำถาม “ปลดล็อก IUU ได้หรือไม่?”

17 กรกฎาคม 2015


ภายหลังสหภาพยุโรป (EU) ยื่นคำขาดให้ประเทศไทยปฏิรูปนโยบายการประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงาน และไม่มีการควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated fishing: IUU) พร้อมทั้งแจกใบเหลือง เมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา และรัฐบาลได้ประกาศมาตรการแก้ไขปัญหาด้วยการบังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาด หลายภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบจากยาแรงของรัฐบาล ไม่ว่าจะเรือประมงพาณิชย์ หรือเรือประมงพื้นบ้าน แพปลา ตลาดปลา และภาครัฐเองก็ยอมรับว่าที่ผ่านมาการดำเนินงานมีความหละหลวม ในวงเสวนาหัวข้อ “แบนประมงผิดกฎหมายเด็ดขาด … คนทั้งชาติยังมีปลากิน?” ตัวแทนจากทุกภาคส่วนล้วนเห็นตรงกันว่าสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ในตอนนี้คือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน โดยต้องมองเห็นปัญหาทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2557 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงานราชดำเนินเสวนาเรื่อง “แบนประมงผิดกฎหมายเด็ดขาด … คนทั้งชาติยังมีปลากิน?” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายมาโนช รุ่งราตรี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทางทะเล, นายวรพงศ์ สาระรัตน์ เจ้าพนักงานประมงอาวุโส ปฏิบัติหน้าที่นิติกร กรมประมง, ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน, นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กรรมการสมาคมรักษ์ทะเลไทย, นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย, และนายนิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย

เสวนาประมง IUU

ปัญหาประมงที่ถูกละเลยกว่า 20 ปี

กรณีที่ชาวประมงที่ผิดกฎหมายต้องจอดเรือไม่สามารถออกจับสัตว์น้ำได้ เพราะรัฐบาลโดยศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ออกคำสั่งมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ดำเนินการตามกฎหมายกับเรือประมงที่ผิดกฎหมายและไม่ผ่านการตรวจสอบเอกสาร 15 รายการ ซึ่งไม่สามารถออกทำการประมงได้ จึงมีเรือจอดเทียบท่าหลายพันลำทั่วประเทศ

นายนิธิวัฒน์ได้ชี้แจงกรณีการหยุดเดินเรือของกลุ่มประมงพาณิชย์ว่า ไม่ใด้เป็นการประท้วง หรือต้องการที่จะหยุดเดินเรือ จริงๆ แล้วก็ยังอยากจะออกทำการประมง

“ที่ต้องหยุดก็เพราะกฎระเบียบที่เข้มข้นของทางราชการ 15 ข้อนั้นหนักหนาสาหัส ได้มีการเจรจาลดลงมาเหลือ 12 ข้อ จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังมีกลไกบางอย่างที่คิดว่าทำได้แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ล่าสุดจะนำสุนัขขึ้นก็ไม่ได้ ซึ่งหากจะเอาขึ้นคาดว่าต้องแจ้งกรมปศุสัตว์” นายนิธิวัฒน์กล่าว

ที่ปรึกษาสมาคมการประมงฯ กล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาการทำประมงทะเลถูกละเลยมานาน สิ่งหนึ่งที่เราเป็น IUU ก็เพราะเราเป็น IIU กล่าวคือประมง IUU คือ Illegal  Unreported and Unregulated แต่ไทยนั้นทั้งภาคประมงเอง ราชการเอง เรามี IIU คือ Inefficiency Incompetency and Unresponsiblity  เพราะเราขาดความรับผิดชอบ เราขาดประสิทธิภาพในการทำงาน เราขาดความสามารถที่จะปฏิบัติตามกฎมานาน

“เป็นเวลากว่า 20 ปีที่กฎหมายถูกละเลย วันนี้กฎหมายจะละเลยไม่ได้ ประมงพาณิชย์ก็ไม่เห็นด้วย แต่จะบังคับใช้แบบให้ล้มทั้งยืนอันนี้อยู่ในมือของผู้บริหารจัดการประเทศ อยู่ในมือของผู้นำว่าจะมีกุศโลบายในการใช้การจัดการแก้ปัญหานี้อย่างไร” นายนิธิวัฒน์กล่าว

ขณะที่นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยกล่าวว่า “ประมงพื้นบ้านก็เช่นกัน การจดทะเบียนเรือเป็นการควบคุมให้ต้องทำการประมงเฉพาะในจังหวัดของตนเอง ห้ามออกทะเลเกิน 3 ไมล์ มันยังไม่ใช่ ที่มาเลเซียเขาใช้การกำหนดเป็นเขต A B C โดยที่เขต A สำหรับเรือประมงเล็กๆ สามารถไปไหนก็ได้ เขต B ไปไหนก็ได้อย่าเข้ามาเขต A ส่วนเขต C จะไปทำประมงที่ไหนก็ได้แต่อย่างเข้ามาในเขต A และ B ก็เอามาแก้ปัญหาได้”

เรือประมง
เรือประมง

กรมประมงแจงจัดดำเนินการมานานแล้ว

ด้านนายมาโนช รุ่งราตรี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทางทะเล ยืนยันว่า มาตรการต่างๆ ในการควบคุมประมงผิดกฎหมายเป็นสิ่งที่กรมประมงได้ดำเนินการมานานแล้ว สามารถไปย้อนดูในพระราชบัญญัติการประมง 2490 ได้ ในนั้นมีประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่เกี่ยวกับการควบคุมการทำประมงค่อนข้างมาก ครอบคลุมในหลายด้าน ในเนื้อหา มาตราต่างๆ ได้กำหนดในเรื่องของการทำประมงว่าจะต้องขออนุญาต ต้องมีการควบคุม และมีการลงโทษผู้ฝ่าฝืน หมายถึงว่าเรื่องต่างๆ เหล่านี้เรามีมาตั้งแต่ปี 2490

“ทีนี้ การควบคุมที่ผ่านมาอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงทำให้มีเรือที่ไม่ถูกกฎหมายอยู่หลายพันลำ พอถึงเวลาที่ทำการควบคุมจริงจังก็เชื่อว่าคนที่ผิดอาจจะปรับตัวไม่ทัน แต่จริงๆ แล้วมีมานานแล้ว คือจริงๆ แล้วคนที่ผิดนั้นต้องคิดปรับตัวตั้งแต่ปี 2552 แล้ว แต่ว่าก็ยังไม่มีการกระทำใดๆ จน EU ให้ใบเหลือง จึงเริ่มร้อนตัวแล้วว่าของจะส่งขายไม่ได้ จะทำอย่างไร” นายมาโนชกล่าว

นายมาโนชกล่าวว่า ไทยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 ที่กลุ่มสหภาพยุโรป (EU) รับบทบัญญัติของ FAO มาใช้ และประกาศให้ประเทศที่ส่งสินค้าให้ EU ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง โดยมีการให้ชาวประมงการทำบันทึกจับสัตว์น้ำ ให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เรื่อยมาจนถึงการออกอาชญาบัตร ส่วนอวนลาก อวนรุน ได้ประกาศควบคุมมาตั้งแต่ปี 2539 และในเรื่องของอวนปลากระตักเริ่มควบคุมตั้งแต่ปี 2543 ต้องควบคุมเนื่องจากเครื่องมือเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่จับสัตว์น้ำสูง และจับสัตว์น้ำได้อย่างไม่จำเพาะ

“ก็ต้องมานั่งคิดกันว่าสิ่งที่ผิดๆ อยู่จะทำอย่างไร แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ก็อาจทำอะไรไม่ได้มากนัก สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องส่ง ศปมผ. มา ดังนั้น ความเข้มงวดในเรื่องของการตรวจอะไรต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีศูนย์แจ้งเข้า–ออก หากไม่มีการแจ้งก็จะไม่สามารถออกทำการประมงได้ ก็เป็นหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดอยู่ในตอนนี้ มาเกิดเหตุเช่นนี้เรือที่ผิดทั้งหลายเดือดร้อน” นายมาโนชกล่าว

แจงเรือประมงเล็ก ติดอวนลาก อวนรุน ไม่ใช่ประมงพื้นบ้าน

จากประเด็นที่หลายฝ่ายกล่าวว่าประมงพื้นบ้านเองก็มีการใช้เครื่องมืออวนลาก อวนรุน จากการดัดแปลง ต่อเติมเสริมเรือของตน ซึ่งถือเป็นการทำประมง IUU เช่นกัน นายสะมะแอกล่าวว่า เรือประมงที่ทำการดัดแปลงเครื่องมือทำประมง มีการใช้อวนลาก อวนรุน นั้นเป็นเรือประมงขนาดเล็ก ไม่นับว่าเป็นประมงพื้นบ้าน เพราะประมงพื้นบ้านตามความหมายไม่มีการใช้เครื่องมือที่เป็นการทำลายทรัพยากร เป็นการทำประมงตามภูมิปัญญาเท่านั้น

คำว่า “พื้นบ้าน” นั้นมีส่วนประกอบหลายๆ อย่าง อันดับแรกคือขนาดเรือ สองคือแรงงานบนเรือ ซึ่งหากมีลูกเรือประมาณ 7-8 คน ไม่ใช่ประมงพื้นบ้าน  เป็นการออกประมงแบบเครือญาติที่เอาครอบครัวออกทะเล และอีกประเด็นคือเครื่องมือ ประมงพื้นบ้านนั้นใช้เครื่องมือที่จับสัตว์น้ำเฉพาะอย่าง เช่น อวนลอยกุ้งก็จับกุ้งอย่างเดียว ได้อย่างอื่นมาก็ไม่ถึง 1% อวนจมปูก็จับปูอย่างเดียว และมีการจับสัตว์น้ำเป็นฤดูกาล

ชาวประมงกำลังเก็บอวนปลา
ชาวประมงกำลังเก็บอวนปลา

“วันนี้ก็เข้าใจว่าไทยเรามีเรืออยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน 1. ประมงนอกน่านน้ำ ที่ทำการประมงในต่างประเทศ 2. ประมงในน่านน้ำไทย หรือประมงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำเครื่องมืออวนลาก เรือปั่นไฟ อวนรุน อวนล้อม ต่างๆ และ 3. ประมงพื้นบ้าน แต่เรือประมงอีกกลุ่มที่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเป็นกลุ่มที่ประมงพื้นบ้านไม่รับว่าเป็นประมงพื้นบ้าน ส่วนทางประมงพาณิชย์เองก็ไม่รับเช่นกัน คือกลุ่มประมงขนาดเล็กที่ใช้เครื่องมืออวนรุนและอวนลาก” นายสะมะแอกล่าว

นายสะมะแอกล่าวถึงเรืออวนลาก อวนรุน ขนาดเล็กที่เป็นปัญหาว่า แม้จะมีการขออาชญาบัตรแต่ก็ไม่สามารถออกไปนอกเขต 3,000 เมตร หรือ 3 ไมล์ทะเลได้ เพราะศักยภาพของเรือไม่พอ หากทำประมงอยู่ในเขตก็ผิดกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้กรมประมงจะต้องพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เห็นชัดๆ คือบริเวณทะเลสาบสงขลานั้นยังมีการใช้อวนรุนขนาดเล็กอยู่

“ไม่ว่าจะเรือเล็กหรือเรือใหญ่ หรือเรือพื้นบ้าน ต้องทำการตรวจสอบว่าเครื่องมือที่ใช้นั้นเป็นเครื่องมือที่ทำลายล้างหรือเปล่า เป็นเครื่องมือที่ทำลายวงจรชีวิตสัตว์น้ำหรือเปล่า เพื่อความยั่งยืนของอาชีพประมงและความมั่นคงทางอาหาร เราจึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้” นายสะมะแอกล่าว

ตามข้อมูลการทำประมงทุกชนิด ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ แบ่งเป็นการทำประมงในน่านน้ำสามารถจับปลาได้ประมาณ 1.90 ล้านตัน ขณะที่การทำประมงนอกน่านน้ำสามารถจับปลาได้ประมาณ 2.64 ล้านตัน จากข้อมูลการจับสัตว์น้ำแต่ละชนิดนั้น เกินกำลังการผลิตมามาก

“จากงานวิจัยระบุว่า คนไทยกินสัตว์น้ำประมาณ 28-30 กิโลกรัม/คน/ปี รวมๆ ก็ประมาณ 2 ล้านตัน/ปี ส่วนที่เหลือก็ส่งออกขายต่างประเทศ ซึ่งปริมาณการส่งออกก็พบว่ามีการส่งออกอีกประมาณ 2.64 ล้านตัน ฉะนั้น ผลผลิตทั้งประเทศรวมนำเข้าและที่เพาะเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านตัน”

ขณะที่นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กรรมการสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ข้อมูลสัตว์น้ำที่จับได้ในประเทศประมาณ 1.1-1.2 ล้านตัน กว่า 80% หรือคิดเป็น 8-9 แสนตัน มาจากการประมงพาณิชย์ หากในจำนวนนั้นกว่า 50% คิดเป็น 4-5 แสนตัน เป็นปลาเป็ดหรือลูกปลาที่จะผลิตเป็นปลาป่นป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลปลาเป็ดในระบบจากกรมประมง และในจำนวนนั้นกว่า 30% หรือประมาณ 1.5-2 แสนตัน คือปลาเป็ดเทียมหรือปลาเศรษฐกิจ ซึ่งหากปล่อยให้โตหนึ่งปีจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่า นั่นเท่ากับว่าหากหยุดการประมงทำลายล้างได้ ในหนึ่งปีข้างหน้าเราจะมีจำนวนปลาในท้องทะเลเพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านตัน หากคิดราคาปลาทูที่กิโลกรัมละ 100 บาท เราจะมีทรัพย์สินของการประมงที่สต็อกอยู่ในท้องทะเลเท่ากับ 2 ล้านล้านบาทในหนึ่งปี

นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กรรมการสมาคมรักษ์ทะเลไทย
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กรรมการสมาคมรักษ์ทะเลไทย

เริ่มต้นให้ดีที่ “ระบบจัดการทรัพยากร”

ด้าน ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวว่า ข้อมูลนี้อาจเป็นการคำนวณง่ายๆ ซึ่งปลานั้นไม่ได้โตขึ้นมาทุกตัว หากตัดปริมาณออกไปสัก 70% สำหรับความคลาดเคลื่อน ปลาก็ยังมีจำนวนมากอยู่ดี ถึงแม้ว่าการคำนวณจะถูกต้อง 100% หรือไม่ถูกต้องทั้ง 100% แต่เราก็ควรที่จะใช้วิธีการป้องกัน หรือที่เรียกว่า prequationary approach ในการที่จะดูแลทรัพยากรของเรา เราไม่ควรจะรอให้มันสูญเสียแล้วเราค่อยมาทำกัน

ดร.สุภาภรณ์กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรประมงว่า ที่ผ่านมาทำไมการบริหารจัดการทรัพยากรประมงหรือการทำประมงของบ้านเรานั้นพบปัญหา เนื่องมาจากลักษณะทางธรรมชาติของทรัพยากรประมง หรือด้วยความเป็นทรัพยากรที่บริหารจัดการได้ยาก อยู่ในรูปแบบที่ว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา ใครมีทุนมากก็จะใช้มาก ใครมีทุนน้อยก็ถูกเอาเปรียบไป และทรัพยากรลักษณะนี้คนหนึ่งใช้มากก็จะไปกระทบกับคนอื่นที่ใช้ทรัพยากรนี้ร่วมกัน

“นี่คือลักษณะการใช้ทรัพยากรที่ต่างมีทัศนคติต่อตัวทรัพยากรที่ต่างกัน ณ วันนี้ต้องมองเรื่องการออกแบบการจัดการทรัพยากร ที่ผ่านมากรมประมงอาจจะเป็นแมวที่ไล่จับหนูที่ขาดประสิทธิภาพ และเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีหนูที่ขาดความรับผิดชอบในการใช้ทรัพยากรด้วย” ดร.สุภาภรณ์กล่าว

ดร.สุภาภรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องการประเมินศักยภาพทะเลนั้น กรณีที่ ศปมผ. หยิบยกค่าจุดสูงสุดของการทำการประมง (Maximum Sustainable Yield: MSY)  ขึ้นมาหารือ โดยส่วนตัวแล้วเป็นห่วง เพราะจริงๆ แล้วการคำนวณ MSY นั้นเหมาะสำหรับการคำนวณในเขตอบอุ่น (fisher spicy) ก็คือดูสัตว์น้ำเป็นรายชนิด ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน มีสัตว์น้ำเต็มไปหมด ขนาดอวนลอยแค่วางเอาไว้ก็ติดขึ้นมาหลายชนิด เพราะฉะนั้นการคำนวณแบบ MSY ต้องฝากทางกรมประมงดูว่าจริงๆ แล้วเป็นประโยชน์ไหม เพราะสิ่งที่ควรจะคำนวณในเรื่องของทรัพยากรคือ แบบประเมินปริมาณสัตว์น้ำต่อหน่วยการลงแรงประมง (Catch per Unit of effort: CPUE) ควบคู่ไปกับการดูองค์ประกอบของสัตว์น้ำที่จับได้ เพื่อจะเห็นได้ว่ามีการทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนมากน้อยแค่ไหน

ย้ำรัฐบาลแก้ปัญหา ต้องมองให้ครบวงจร

นายนิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
นายนิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย

นายนิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามข้อมูลที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้รายงานไว้ในปี 2500 ถึงการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากสัตว์น้ำ FAO บอกว่าแหล่งอาหารที่สำคัญนั้นถูกใช้หรือถูกทำลาย เขาก็มองภาพตั้งแต่ปี 2500 ว่ามีการใช้แรงงานประมงเกิดขึ้นทั่วโลกถึง 12.5 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนา นั่นคือกำลังมองกรอบของการทำประมงที่ให้นิยามของความยั่งยืน โดยต้องมีทรัพยากรมนุษย์ร่วมไปด้วย ไม่ใช่แค่ทรัพยากรธรรมชาติ

ที่ปรึกษาสมาคมประมงฯ กล่าวต่อไปว่า ในการวิเคราะห์การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ต้องไม่ลืมองค์ประกอบที่สำคัญคือความยั่งยืนของชุมชน เหมือนอย่างที่ประมงพื้นบ้านพูดนั้นถูกต้องแล้ว เราต้องการให้มีชุมชนที่เป็นชาวประมงอยู่ และในขณะเดียวกันเราก็มองถึงความยั่งยืนและความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเช่นกัน

ทั้งนี้ นายนิธิวัฒน์ได้เสนอแนวทางการทำประมงอย่างยั่งยืนว่าต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ อาทิ เรื่อง ทรัพยากร การติดตามไปถึงการตลาด, การค้าสัตว์น้ำ, การทำการอนุรักษ์เชิงระบบนิเวศ, การบริหารจัดการระบบนิเวศ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการกำลังความสามารถในการทำประมง และการทำโซนนิ่ง, การพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับ, การยกระดับการดำรงชีพของชาวประมง, การกำหนดโควตาในการใช้เครื่องมือการทำประมงเพื่อกระจายพื้นที่การทำประมง เพื่อลดการทำลายพื้นที่เติบโตไปทำประมงน้ำลึกแทน และการให้ประมงเข้าถึงแหล่งความรู้

“สุดท้าย ทางออกประเทศไทยคือการบริหารจัดการที่ประเทศไทยควรต้องทำ และหากจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแล้วมีคนล้มทั้งยืน หันกลับมามองตรงนี้กันไหม ตอนนี้จะไปให้เขาหยุด เราเตรียมให้เขามีแหล่งความรู้หรือยัง ให้เขาเปลี่ยนแปลงแล้วนำไปสู่อาชีพใหม่หรือยัง เพราะเมื่อต้องการจะใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนต้องมีการประเมินทรัพยากรที่มีอยู่ ต้องยกระดับการดำรงชีพของชาวประมง เราจึงจะมีความยั่งยืนที่แท้จริง” นายนิธิวัฒน์กล่าว

บาปเคราะห์ตกที่ผู้บริโภค – กับระบบที่มีปัญหา

ดร.สุภาภรณ์ระบุว่า “เรือประมงที่ใช้ตาของอวนต่ำกว่า 0.6 มิลลิเมตร หรือเรือปั่นไฟ ทำให้ลูกปลาเล็กก็ติดขึ้นมาด้วย สังเกตว่าปัจจุบันมีลูกปลาทูแห้งขายอยู่ในตลาดกิโลกรัมละ 100 บาท ได้ประมาณ 1,000 ตัว ซึ่งหากรอให้เขาโตอีกสัก 6 เดือน จะได้กินปลาทูขนาด 12 ตัว/กิโลกรัมได้ ซึ่งเรากินมูลค่าในอนาคตกันไปเยอะมาก นี่คือปัญหาเรื่องของการได้มาซึ่งอาหารทะเลที่วางขายอยู่ในตลาด หรือแม้กระทั่งปลาสายไหม หรือปลาข้าวสารที่หลายคนชอบกินกัน นั่นก็คือลูกปลากะตัก ผู้บริโภคไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้เลย นี่คือปัญหาของการได้มาซึ่งอาหารทะเล”

ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้านฯ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากฎหมายไม่ได้ควบคุมไปถึงขนาดของสัตว์น้ำที่จับได้ ถ้ามีการควบคุมขนาดของสัตว์น้ำที่จับได้ เรือที่จะมีปัญหามากคือเรืออวนลาก เพราะว่าสัตว์น้ำที่จับมาได้นั้นบางตัววัดขนาดไม่ได้เลย ซึ่งผู้บริโภคเองก็ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าปลาตัวไหนมาจากประมงผิดกฎหมาย ปลาตัวไหนจับแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อนำมาวางขายก็หน้าตาเหมือนกันหมด

ที่มาภาพ: http://ec.europa.eu/fisheries/documentation/eu_fisheries_key_facts/index_en.htm
ที่มาภาพ: http://ec.europa.eu/fisheries/documentation/eu_fisheries_key_facts/index_en.htm

“เป็นที่กฎหมายมีช่องโหว่ ทำให้ไม่สามารถควบคุมไม่ให้มีการทำประมงที่ทำลายล้างเกิดขึ้นที่บ้านเราได้ เพราะกฎหมายบอกแค่ว่า อวนล้อมปลากะตักขนาดตาอวนต้องไม่ต่ำกว่า 0.6 มิลลิเมตร แต่ปรากฏว่าเขาไม่ได้จับปลากะตักเขาไปจับลูกปลาทู ถามว่าเรามีกฎหมายควบคุมไหม ไม่มี” ดร.สุภาภรณ์กล่าว

ด้านระบบตลาดก็มีปัญหา เพราะระบบตลาดบ้านเรานั้นถูกผูกขาด ปลาทุกตัวจะต้องไปส่งที่สะพานปลาใหญ่ๆ ก่อน เช่น ก่อนจะมากรุงเทพฯ ก็ต้องไปเวียนที่มหาชัยก่อน เพราะฉะนั้น ทุกอย่างจะไปกระจุกอยู่ที่มหาชัย หรือปลาบางตัวจับที่สงขลา ยังต้องมาเวียนมหาชัยก่อนเอากลับไปขายที่ตลาดสงขลา ถามว่าในระยะเวลาขนาดนี้ปลาที่มาถึงกรุงเทพฯ หรือที่ตลาดนั้นจะปลอดภัยจากสารเคมีได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ เป็นอีกประเด็นที่อยากฝากไว้ว่าหากจะแก้ต้องคิดไปให้ไกลกว่าการจับ เพราะต่อให้จับยังไง แต่ระบบตลาดมีปัญหา ก็มีปัญหาทันที

กฎหมายประมงใหม่ ปลดล็อก IUU ?

นายวรพงศ์ สาระรัตน์ เจ้าพนักงานประมงอาวุโส ปฏิบัติหน้าที่นิติกร กรมประมง ระบุว่า กฎหมายประมงเดิมถูกออกแบบมาเมื่อปี 2490 เวลานั้นทรัพยากรยังมีมากมาย โดยหลักคิดของกฎหมายประมงในเวลานั้นคือการจัดการเป็นเรื่องของรัฐ รัฐมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรที่เป็นของรัฐ แต่ระบบการจัดการภายใต้ความคิดในปี 2490 เป็นเรื่องของระบบจากบนลงล่าง (top–down) ทำให้กระบวนการการมีส่วนร่วมนั้นค่อนข้างน้อย

ขณะที่ทางกรมประมงได้เริ่มทำกฎหมายประมงฉบับใหม่ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา จนมาสำเร็จในปี 2558 โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ในการออกแบบกฎหมาย ความแตกต่างระหว่างกฎหมายฉบับเก่าและใหม่อยู่ที่เรื่องของกระบวนการการมีส่วนร่วม

“กฎหมายประมงใหม่ คือ พ.ร.บ.การประมง 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2558 แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายประมงฉบับนี้ก็ยังคงต้องมีการตรากฎหมายลำดับรองอีก 70–80 ฉบับ เพื่อกำหนดรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ออกมา” นายวงรพงศ์กล่าว

นายวงรพงศ์กล่าวถึงรายละเอียดของกฎหมายประมงใหม่ว่า ในกฎหมายประมงฉบับนี้มีเรื่องที่น่าสนใจ และน่าจะตอบโจทย์ได้ในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประมงท้องถิ่นในมาตรา 9–12 โดยมีหลักการคือ กำหนดให้กรมประมงมีหน้าที่ที่จะต้องส่งเสริมเพื่อให้มีการรวมกลุ่มกันของประมงท้องถิ่นทั้งหลาย และกำหนดเป็นระเบียบของกรมประมง

เรื่องต่อมาคือ เรื่องของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ในกฎหมายเดิมไม่มีคณะกรรมการชุดนี้ แต่จะเป็นกรรมการประจำจังหวัด เขาเรียกว่ากรรมการพหุภาคี ซึ่งตั้งโดยอาศัยสถานภาพทางการบริหาร แต่ว่าในกฎหมายนี้ได้มีการกำหนดไว้ค่อนข้างชัดเจน  และกรรมการประมงประจำจังหวัด บทบาทที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของการที่จะมาช่วยกันกรองกติกาในการจับสัตว์น้ำ ให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ

“เพราะฉะนั้น ในกฎหมายประมงฉบับใหม่ก็สามารถสรุปความได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีกลิ่นอายของการมีส่วนร่วมมากขึ้น ตั้งแต่การทำกฎหมายแม่บทแล้ว และทีนี้ ในการจัดทำกฎหมายลูกบทที่จะไปกำหนดกติกาในการบริหารจัดการทัพยากรสัตว์น้ำในแต่ละพื้นที่นั้น คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดก็จะประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย จึงมีความเชื่อว่ากฎกติกาต่างๆ ตามกฎหมายประมงใหม่ ด้วยกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้จะสามารถตอบโจทย์ต่างๆ ตามที่เราคาดหวังกันไว้มากยิ่งขึ้น” นายวรพงศ์กล่าว