ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลฎีกาฯ นัดตรวจพยานหลักฐานคดีทุจริตขายข้าว G to G 29 ก.ย.นี้ “บุญทรง” ยื่น 20 ล้านประกันตัว – ออกหมายจับ 2 คน

ศาลฎีกาฯ นัดตรวจพยานหลักฐานคดีทุจริตขายข้าว G to G 29 ก.ย.นี้ “บุญทรง” ยื่น 20 ล้านประกันตัว – ออกหมายจับ 2 คน

30 มิถุนายน 2015


580629บุญทรง
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิเสธให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในศาล

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีการนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อม.25/2558 ที่อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กับพวกรวม 21 คน กล่าวหาว่าร่วมกันทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ไทย-จีน พร้อมขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) กฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว ซึ่งโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 3.5 หมื่นล้านบาท

เมื่อองค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาฯ นำโดยนายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งบัลลังก์ ก็มีการสอบถามว่าจำเลยมาศาลครบหรือไม่ ปรากฏว่า มีจำเลยมาเพียง 19 คน จากทั้งหมด 21 คน ที่มาปรากฏตัวที่ศาล ขาด นพ.วีรวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสุธี เชื่อมไธสง ศาลฎีกาฯ จึงออกหมายจับจำเลย ทั้ง 2 เพราะเชื่อว่ามีพฤติการณ์หลบหนี และจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยทั้ง 2 ไว้ก่อน

จากนั้น นายธนฤกษ์ได้อธิบายคำฟ้องโดยสรุปว่า ระหว่างวันที่ 8 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 จำเลยทั้ง 21 คน ได้ร่วมกันกระทำความผิด แบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้บริษัท Guangdong stationery &sporting good imp.&exp. Corp. (GSSG) และบริษัท Hainan grain and oil industrial trading company เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ จำนวน 4 ครั้ง ในราคาพิเศษแบบ G to G อ้างว่าทั้ง 2 บริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะมีการแอบนำข้าวไปให้กับผู้ค้าข้าวไทย นำมาเวียนขายภายในประเทศ

จำเลยที่ 1-6 ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการประจำ รู้หรือน่าจะรู้ว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว จึงสมควรยกเลิกการทำสัญญาขายข้าวให้กับบริษัท GSSG และบริษัท Hainan แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งที่กระบวนการเดินเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัททั้ง 2 อย่างชัดเจน จึงถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ

ทั้งนี้ โจทก์ของให้ลงโทษจำเลยที่ 1-6 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใน 6 ฐานความผิด

– ผู้ใดหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เอื้อประโยชน์ให้กับผู้หนึ่งผู้ใดในการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 4 อัตราโทษจำคุก 1-3 ปี และปรับ 50% ของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุด หรือจำนวนเงินที่มีการทำสัญญา แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

– เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รู้ว่ามีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว แต่ไม่ยกเลิกการดำเนินการ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 10 อัตราโทษจำคุก 1-10 ปี และปรับ 20,000-200,000 บาท

– เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เข้าเสนอราคารายใด มีความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 12 อัตราโทษจำคุก 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 100,00-400,000 บาท

– เป็นเจ้าพนักงานใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการทุจริต มีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 151 อัตราโทษจำคุก 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000-40,000 บาท

– เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด มีความผิด ป.อาญา มาตรา 157 อัตราโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

– เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด มีความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 อัตราโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนจำเลยที่ 7-21 ซึ่งเป็นเอกชน โจทก์ขอให้ลงโทษในฐานะผู้ร่วมกระทำผิด ทั้งตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 4, 9 และ 12 ป.อาญา มาตรา 82, 86, 151 และ 157 และกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/3 มีอัตราโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 50% ของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุด หรือจำนวนเงินที่มีการทำสัญญา แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

580629เสี่ยเปี๋ยง
นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี๋ยเปี๋ยง (เน็คไทสีม่วง) ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามอินดิก้า จำเลยคนสำคัญในคดีนี้ เดินทางมาร่วมการพิจารณาคดีแรกด้วย

จากนั้น นายธนฤกษ์ถามจำเลยว่าจะยอมรับข้อกล่าวหานี้หรือ ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 19 คน ขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และจะส่งคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรมาภายหลัง แต่ระบุเวลาในการส่งไปตรงกัน ทั้ง 60 วัน 90 วัน และ 120 วัน โดยอ้างว่า เนื่องจากเพิ่มขอคัดสำเนาพยานหลักฐานกว่า 7 หมื่นหน้ามาได้ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงต้องขอเวลาศึกษาทำความเข้าใจ ทำให้องค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาฯ ต้องสั่งพักการพิจารณาคดีเพื่อไปปรึกษาหารือกัน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก่อนที่นายธนฤกษ์จะแถลงผลการหารือว่า จะให้จำเลยทั้งหมดส่งคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรมาภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2558 หรือเกือบ 60 วัน

“ศาลเห็นใจจำเลยทั้งหมด แต่คงจะให้เวลาเต็มอย่างที่ขอไม่ได้ เพราะคดีนี้ประชาชนอยากให้เสร็จเร็ว นอกจากนี้จำเลยยังได้โอกาสในการต่อสู้คดีในชั้นของ ป.ป.ช.มาแล้ว ศาลไม่ใช่เสื้อสีไหน ศาลเป็นกลาง ไม่ใช่ว่าอยากเอาใครเข้าคุก เพราะการพิจารณาคดีจะต้องให้ความเป็นธรรมอยู่แล้ว จึงจะเปิดโอกาสให้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่”

ท้ายสุด นายธนฤกษ์ได้แถลงกระบวนการพิจารณาหลังจากนี้ว่า นัดตรวจบัญชีพยานหลักฐานในวันที่ 29 กันยายน 2559 โดยคู่ความจะต้องส่งบัญชีพยานหลักฐานให้กับศาล ภายใน 14 วัน ก่อนวันนัดตรวจบัญชีพยานหลักฐาน และสามารถส่งคำโต้แย้งบัญชีพยานหลักฐานของอีกฝ่ายให้กับศาล ภายใน 7 วัน ก่อนวันนัดตรวจบัญชีพยานหลักฐาน ส่วนคำร้องของจำเลยบางคนขอให้ไตสวนพยานหลักฐานลับหลัง ศาลขอยกคำร้อง หากจำเลยรายใดไม่สามารถมาศาลได้ให้ยื่นคำขอต่อศาลเป็นกรณีๆ ไป

ภายหลังการพิจารณาคดีทุจริตระบายข้าว G to G ครั้งแรกเสร็จสิ้น นายบุญทรง นายภูมิ และจำเลยรายอื่นๆ ต่างแยกย้ายกันเดินทางกลับโดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ กับสื่อมวลชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ นายบุญทรงได้ยื่นหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเงินฝากในบัญชีธนาคาร มูลค่า 20 ล้านบาท

เปิดรายชื่อจำเลยทั้ง 21 คน

สำหรับรายชื่อจำเลย ทั้ง 21 คน ประกอบด้วยกลุ่มนักการเมืองและข้าราชการพลเรือน จำนวน 6 ราย ได้แก่ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2, พ.ต.นพ.ดร. วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตผู้ช่วยเลขานุการ และอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 3 (ถูกออกหมายจับ) , นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, จำเลยที่ 4 นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ และอดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 5, นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศและอดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 6

ส่วนเอกชน ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในบริษัท และนิติบุคคล 15 ราย ได้แก่ นายสมคิด เอื้อนสุภา จำเลยที่ 7, นายรัฐนิธ โสจิระกุล จำเลยที่ 8, นายลิตร พอใจ จำเลยที่ 9, บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10, น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 11, น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ จำเลยที่ 12, น.ส.สุทธิดา หรือสุธิดา ผลดี หรือจันทะเอ จำเลยที่ 13, นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 14, นายนิมล หรือโจ รักดี จำเลยที่ 15, นายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16 (ถูกออกหมายจับ), นางสุนีย์ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 17, นายกฤษณะ สุระมนต์ จำเลยที่ 18, นายสมยศ คุณจักร จำเลยที่ 19, บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือบริษัท สิราลัย จำกัด จำเลยที่ 20 และน.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 21

เส้นทางคดี “3 ขั้นตอน” ก่อนวันพิพากษา

ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2543 เส้นทางคดีทุจริตระบายข้าวแบบ G to G หลังจากนี้จะเหลือเพียง 3 ขั้นตอนเท่านั้น

– วันตรวจพยานหลักฐาน

คู่ความต้องยื่นบัญชีพยานหลักฐานต่อศาล และเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้โต้แย้ง โดยทั้งโจทก์-จำเลยต้องแถลงแนวทางการเสนอพยานหลักฐาน ก่อนศาลนัดวันเริ่มต้นไต่สวนพยานหลักฐาน ซึ่งต้องแจ้งคู่ความล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน

– วันไต่สวนพยานหลักฐาน

การไต่สวนพยานหลักฐานจะดำเนินการติดต่อไปทุกวัน และองค์คณะผู้พิพากษาจะเป็นผู้ไต่สวนพยานบุคคลเอง จนกว่าจะเสร็จสิ้นการพิจารณา โดยคู่ความมีสิทธิแถลงปิดคดีในเวลาที่กำหนด และศาลจะนัดวันอ่านคำพิพากษา ที่ต้องทำภายใน 7-14 วันนับแต่การพิจารณาเสร็จสิ้น

– วันอ่านคำพิพากษา

วันชี้ชะตา หากจำเลยไม่มาศาล ให้เลื่อนการอ่านและออกหมายจับ หลังจากนั้น 1 เดือน ไม่ว่าจะได้ตัวจำเลยหรือไม่ ศาลสามารถอ่านคำพิพากษาลับหลังได้ และให้ถือว่าจำเลยได้รับฟังคำพิพากษานั้นแล้ว

580629GtoG
จำเลยคดีทุจริตระบายข้าว G to G มีจำนวน 21 คน ประกอบด้วยนักการเมือง 3 คน ข้าราชการ 3 คน และเอกชน 15 คน มีลักษณะโทษแตกต่างกันออกไป

ย้อนรอยคดีทุจริตระบายข้าว G to G

สำหรับคดีทุจริตระบายข้าวแบบ G to G เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายปี 2555 เมื่อ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปยื่นคำร้องขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะการระบายข้าวแบบ G to G ที่เชื่อว่ามีการทุจริต เพราะไม่มีการขายข้าวให้กับจีนจริง

ต่อมา ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน ก่อนจะมีมติแจ้งข้อกล่าวหากับนายบุญทรง นายภูมิ นายมนัส กับพวก และเปิดโอกาสให้นำพยานหลักฐานเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ใช้เวลา 1 ปีเศษ

จนกระทั่งในวันที่ 20 มกราคม 2558 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7:0 ชี้มูลความผิดนายบุญทรงและพวก รวม 21 คน กรณีทุจริตการขายข้าวแบบจีทูจี รวมทั้งได้มีการส่งหนังสือไปยังกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ให้ทำการฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีจำนำข้าวกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 12 มีนาคม 2558 คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงพาณิชย์ ได้พิจารณาบทลงโทษทางวินัยกับข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ 3 คน ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด โดยลงมติให้ “ไล่ออก” นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายฑิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ

วันที่ 17 มีนาคม 2558 อสส.นำพยานหลักฐานยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ให้ลงโทษทางอาญากับ นายบุญทรง นายภูมิ นายมนัส กับพวกรวม 21 คน ในคดีทุจริตระบายข้าวแบบ G to G ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ฮั้ว โดยโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต และขอให้เรียกค่าปรับ เป็นมูลค่าสูงถึง 35,274 ล้านบาท

วันที่ 19 เมษายน 2558 ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งรับฟ้องคดีทุจริตระบายข้าวแบบ G to G

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ด้วยคะแนน 180:6 เสียง นายภูมิ สาระผล ด้วยคะแนน 182:5 เสียง และนายมนัส สร้อยพลอย ด้วยคะแนน 158:25 เสียง ส่งผลให้บุคคลทั้ง 3 ถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือทางราชการเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ถูกถอดถอน