ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “ประจิน” ชี้ “ฮับยานยนต์ไฟฟ้า” ยังแค่แนวคิด – รอผลศึกษา ก.ค.นี้ พร้อมเคาะจัดซื้อจริง

“ประจิน” ชี้ “ฮับยานยนต์ไฟฟ้า” ยังแค่แนวคิด – รอผลศึกษา ก.ค.นี้ พร้อมเคาะจัดซื้อจริง

20 มิถุนายน 2015


กระแสยังคงคืบหน้าต่อเนื่องสำหรับ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ในประเทศไทย หลังจากที่รัฐบาลได้เริ่มเปลี่ยน “มโนทัศน์” การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ จากยานยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดทดลองวิ่งรถเมล์สาย 63 ตลาดอตก.3 – อนสาวรีย์ชัยฯ เพิ่มเติมเพื่อเก็บข้อมูลเตรียมเคาะจัดซื้อจริงกรกฎาคม-สิงหาคม 2558 หลังศึกษาเสร็จ เบื้องต้นคุ้มค่ากว่าเอ็นจีวี ระบุ “ฮับยานยนต์ไฟฟ้า” ยังเป็น “แนวคิด” รอผลรถเมล์ไฟฟ้าก่อนร่าง “มาสเตอร์แพลน” ครบวงจร คืบหน้าเอ็นจีวีลอตแรก 489 คัน คาดกรกฎาคมส่งมอบก่อน 50 คัน

DSC_6580
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เยี่ยมชมรถเมล์ไฟฟ้าที่นำมาทดลองวิ่ง

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, พล.ต.อ. เอก อังศนานนท์ ประธานกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) และนางปราณี ศุกระศร กรรมการบริหารกิจการองค์การ รักษาการผู้อำนวยการขสมก. พร้อมผู้บริหารบริษัทล็อกซ์เลย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมทดลองรถโดยสารประจำทางไฟฟ้าในเส้นทาง สาย 63 เส้นทางตลาด อตก.3 (นนทบุรี) – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากบริเวณป้ายรถโดยสารเกาะพหลโยธิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปลงที่สถานีรถไฟฟ้าจตุจักร

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่าเรื่องของ “ฮับยานยนต์ไฟฟ้า” เป็นเพียงแนวคิดของฝ่ายต่างๆว่า ถ้าเราได้นำรถเมล์ไฟฟ้าเข้ามาใช้ เราต้องเตรียมการเรื่องตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงแล้วพัฒนาต่อยอดให้เป็นการผลิต ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วน, ส่วนประกอบหลัก, อะไหล่ต่างๆ ทั้งนี้จะต้องดูข้อมูลศึกษาสุดท้ายจากคณะกรรมการศึกษาเพิ่มเติม เปิดรับฟังความคิดเห็น และสุดท้ายจึงกำหนดเป็น “มาสเตอร์แพลน” ในครบวงจรต่อไป

นอกจากนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวจะถูกนำพิจารณาประกอบโครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวีส่วนที่เหลือ จากยอดเดิม 3,182 คัน ขณะนี้เตรียมการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีแล้ว 489 คัน จะส่งมอบช่วงแรก 50 คันในเดือนกรกฎาคม ส่วนที่เหลืออีก 2693 คัน จะพิจารณาว่าจะปรับเปลี่ยนแค่ไหนอย่างไร ถ้าเปลี่ยนจะต้องนำเข้าให้คณะรัฐมนตรีหารือขออนุมัติเปลี่ยนรายละเอียดของโครงการต่อไป เนื่องจากของเดิมกำหนดว่าให้จัดซื้อแต่รถเมล์เอ็นจีวี

“เราก็ต้องมองในภาพรวมนะครับว่า เมื่อเราเอารถเมล์ไฟฟ้ามาใช้ การใช้งานเป็นอย่างไร ซ่อมบำรุงเป็นอย่างไร ระบบขนส่งเป็นอย่างไร แล้วจะมีโอกาสสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาได้ไหม ต้องมองในภาพรวม ขอเวลาให้คณะกรรมการศึกษา เราหวังว่ากรกฎาคมจะได้ข้อสรุปทั้งมาสเตอร์แพลนและรถเมล์ไฟฟ้า โดยรถเมล์ไฟฟ้าถ้าได้ข้อสรุปว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไรจะนำเรื่องเข้าครม.เดือนสิงหาคมต่อไปทันที” พล.อ.อ.ประจิน

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวถึงผลการดำเนินงานช่วงที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 2-9 มิถุนายน 2558 ใน 2 เส้นทางว่ารถเมล์ไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานส่วนเชื้อเพลิงต่ำกว่ารถเมล์ดีเซลประมาณ 1/3-1/2 เท่าของรถเมล์ดีเซล โดยรถเมล์ไฟฟ้ามีค่าใช้จ่าย 4 บาทต่อกิโลเมตร รถเมล์เอ็นจีวี 8 บาทต่อกิโลเมตร และรถเมล์ดีเซล 10 บาทต่อกิโลเมตร นอกจากนี้ ด้านค่าซ่อมบำรุงรถเมล์ไฟฟ้าจะซ่อมบำรุงน้อยมาก เนื่องจากไม่ต้องซ่อมเครื่องยนต์ จะต้องซ่อมบำรุงแค่แบตเตอรี่และมอเตอร์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อตัวรถนั้นรถเมล์น้ำมันดีเซลหรือเอ็นจีวีจะมีราคา ต่ำกว่ารถเมล์ไฟฟ้า 2-3 เท่า ประมาณ 3-4 ล้านบาทต่อคันเท่านั้น

“เรื่องค่าตัวรถที่แพงขึ้นก็อย่างที่เรียนว่า รถเมล์ไฟฟ้าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่ำกว่าระบบอื่น เพราะฉะนั้นส่วนนี้จะมาชดเชยกับงบลงทุนจัดหารถเมล์ไฟฟ้า เพราะเราดูจากกราฟแล้วว่าปีที่ 4 5 6 ผลตอบแทนจะกลับมาสูงกว่ารถเมล์เอ็นจีวี ในส่วนนี้ขอให้คณะกรรมการได้ศึกษาแล้วจะรายงานออกมาเป็นตัวเลขทั้งเรื่องการลงทุน การดำเนินการ การซ่อมบำรุง และสุดท้ายค่าโดยสารจะออกมา ซึ่งย้ำว่าจะไม่สูงกว่าปัจจุบัน ” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

DSC_6574(1)
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, พล.ต.อ. เอก อังศนานนท์ ประธานกรรมการบริหาร ขสมก. นางปราณี ศุกระศร กรรมการบริหาร รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. และผู้บริหารบริษัทล็อกซ์เลย์ จำกัด (มหาชน)

ด้านนางปราณี กล่าวถึงประสิทธิภาพการให้บริการของรถเมล์ไฟฟ้าว่าจากการทดลองวิ่งที่ผ่านมาคือสาย 511 ประตูน้ำ-วัดธาตุทอง และสาย 141 จุฬาฯ-ตลาดโพธิ์ทอง ได้ทดลองวิ่งผ่านสะพานแขวนไม่พบปัญหาเรื่องกำลังของรถแต่อย่างใด เช่นเดียวกับปัญหาฝนตกน้ำท่วม รถเมล์ยังวิ่งได้ตามปกติไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

เรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้าและสถานีแก๊สเอ็นจีวี นางปราณี กล่าวว่าสถานีชาร์จไฟฟ้าจะใช้วิธีส่งไฟฟ้าจากสายไฟเข้าไปยังอู่รถเมล์เดิม จึงไม่จำเป็นต้องสร้างสถานีชาร์จเพิ่มเติมแต่อย่างใด โดยคาดว่าจะใช้เวลาชาร์จประมาณ 4-5 ชั่วโมงนอกจากนี้ ทางขสมก.ได้วางแผนจะใช้วิธีเปลี่ยนแบตเตอรี่ ซึ่งทำให้รถเมล์ไม่ต้องจอดรอชาร์จแบบรถเมล์เอ็นจีวีหรือรถเมล์ดีเซลและสามารถบริการได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ด้วยขนาดแบตเตอรี่ที่ใหญ่และวิ่งได้มากกว่า 10 ชั่วโมง จึงไม่มีปัญหาว่ารถเมล์ไฟฟ้าจะหมดกำลังไฟก่อนถึงอู่

ขณะที่สถานีแก๊สเอ็นจีวีมีขสมก.มีอยู่ 4 แห่ง ที่บางเขน รังสิต แสมดำ และมีนบุรี เพราะฉะนั้นรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ที่จะเข้ามาไม่ได้มีปัญหาเรื่องสถานีแก๊ส ปัจจุบันขสมก.ได้จัดสร้างสถานีเพิ่มที่พระประแดงอีกที่ ดังนั้นน่าจะรองรับได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าถึงที่สุดแล้วไม่ไหวจริงๆในบริเวณใกล้เคียงทางปตท.ได้เตรียมสถานีของเอกชนให้ขสมก.เข้าไปเติมได้เช่นกัน

“ปัญหาเรื่องสถานีชาร์จไฟไม่มีปัญหาอะไรเลย การไฟฟ้านครหลวงเอง เขาบอกว่าจะมาดูว่าหม้อแปลงของเราพอหรือไม่ ถ้าไม่พอก็เปลี่ยน เหมือนใช้ไฟฟ้าบ้านค่ะ อยู่ที่ว่าสายเล็กไปไหม ไฟฟ้าพอไหม ถ้าจะใช้จำนวนมากๆ เส้นทางเดินรถไม่เกี่ยวเลยค่ะ เราสามารถติดตั้งที่อู่ทุกอู่ได้ มันไม่ได้เป็นแก๊สที่ต้องมาตามท่อ สร้างสถานีสร้างอะไร แต่ไฟฟ้ามันมาตามสายไฟและในอู่มันก็มีไฟฟ้าอยู่แล้ว” นางปราณี กล่าว

วิศวกรยานยนต์แนะ “ลากสายชาร์จ-เปลี่ยนแบต” ไม่ปลอดภัย

ทั้งนี้ นักวิชาการด้านวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงประเด็นสถานีชาร์จไฟฟ้าว่าการลากสายไฟลงมาชาร์จในเชิงเทคนิควิศวกรรมน่าจะทำได้ โดยเฉพาะกรณีที่มีรถน้อย แต่กรณีรถจำนวนมากๆอาจจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยได้ เนื่องจากการชาร์จจำนวนมากกำลังไฟจากสถานีธรรมดาอาจจะไม่พอ ทำให้ต้องหากำลังไฟมากขึ้น ขณะที่ตัวอู่เดิมไม่ได้ออกแบบมารองรับเรื่องนี้เอาไว้อย่างเป็นมืออาชีพตั้งแต่ต้น

ดังนั้นถ้าเอาแค่การชาร์จไฟ “ได้” อาจทำแค่เพียงการปรับเพิ่มพิกัดกำลังไฟฟ้า แต่การชาร์จให้ “ดี” และ “มีมาตรฐานความปลอดภัย” การสร้างสถานีชาร์จจึงความจำเป็นและต้องออกแบบมาเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะสร้างเป็นลักษณะแท่นชาร์ทหรือการถอดเปลี่ยนแบต (battery swapping)

“ในทางเทคนิคคือรถเมล์ไฟฟ้าต้องการไฟฟ้าจากสายส่งเข้าสู่แบตเตอรี่ แต่พอกระแสและแรงดันสำหรับพิกัดกำลังไฟฟ้าของรถเมล์ไฟฟ้ามีค่าสูง ระบบไฟฟ้าตามบ้านจะไม่พอ จึงต้องมีการปรับเพิ่มพิกัดกำลังไฟฟ้า อันนี้ไม่เกี่ยวกับว่าจะตั้งสถานีชาร์จหรือไม่ ถ้ามีรถแค่คันเดียวแต่ต้องการชาร์จ ก็ต้องปรับเพิ่มพิกัดกำลังไฟฟ้าของสถานที่นั้นๆ รถยิ่งเยอะก็ยิ่งอันตราย เพราะกระแสไฟอาจสูงเป็น 100 แอมป์ ขณะที่ไฟบ้านสูงสุดราว 10 แอมป์ ทำให้สถานที่ชาร์จไฟฟ้าต้องถูกออกแบบระบบควบคุมเพื่อดูแลสภาพแบตเตอรี่และดูแลความปลอดภัยของการชาร์จเป็นพิเศษ  รวมถึงต้องออกแบบระบบความปลอดภัยสำหรับการทำงานของพนักงาน เช่นการติดตั้งกล่องที่มีความเป็นฉนวน การกันน้ำรั่วไฟรั่ว” นักวิชาการรายนี้กล่าว

นอกจากนี้ การถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่สามารถทำได้เชิงแนวคิดทางเทคนิคการออกแบบ แต่ในทางปฏิบัติอาจจะมันไม่ได้ผลหรือทำได้ไม่ดีเท่าการออกแบบจากหลายสาเหตุ ตัวอย่างเช่น แบตเตอรี่มักจะมีน้ำหนักมากระดับหลายตัน จะเปลี่ยนอย่างไรให้ดี ทน และสะดวก ไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนได้อย่างเดียว หรือถ้าเปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็กลงอาจจะมีปัญหาที่เกิดความผิดพลาดของมนุษย์ขณะเปลี่ยนแบตเตอรี่หรือความผิดพลาดของกลไกที่ถูกใช้ระยะเวลานานๆหรือไม่

“กว่าจะคลายล็อคแบตเตอรี่ ถอดมาทีละก้อน ใส่ไปใหม่ ถอดเข้าๆออกๆ ด้านเทคนิคการออกแบบก็ทำได้ไง ทำให้ปลอดภัย ทำให้ดีได้ แต่พอใช้จริงเป็นอีกเรื่องแล้ว คือจะมีประเด็นอะไรในความเป็นจริง ตัวล็อคแบตเตอรี่จะเสียเร็วไหม ไหนจะปัญหาเรื่องหาคนที่จะมาถอดเปลี่ยนรถจำนวนมากๆ ปัญหาความปลอดภัยอีก ทั้งจากความผิดพลาดของคน จากความผิดพลาดของกลไกเมื่อใช้ไปนาน ไฟฟ้ามันก็แรงสูง ดูดเราได้อยู่แล้ว แบบนี้ไม่ยุ่งเรื่องถอดแบตเตอรี่นี้ดีกว่าไหม อีกประเด็นคือตอนนี้มันยังไม่มีใครใช้เชิงพาณิชย์ระดับหลายร้อยคัน” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวยังได้กล่าวถึงประเด็นความจุแบตเตอรี่ที่อ้างว่าวิ่งได้มากกว่า 10 ชั่วโมงว่าเป็นการอ้างที่ทำได้ง่ายและอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากการทดสอบตัวเลขเหล่านี้ผู้ทดสอบหรือผู้ผลิตมักจะควบคุมสถานการณ์ให้เป็นไปตามที่ต้องการ ทำให้ผลที่ได้อาจจะมากกว่าความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น ให้วิ่งด้วยความเร็วคงที่ ช้าๆ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่เบรก ไม่หยุด แบบนี้ย่อมวิ่งได้ไกลกว่านานกว่าในสถานการณ์จริง ดังนั้นประเทศควรต้องสร้างมาตรฐานการทดสอบของประเทศให้เป็นเกณฑ์พิจารณาเปรียบเทียบก่อน ซึ่งตอนนี้ไม่มีการกำหนดมาตรฐานการทดสอบหรือเงื่อนไขการทดสอบใดๆ

ขณะที่ประสบการณ์การเดินรถเมล์ไฟฟ้าในต่างประเทศ แม้ในประเทศที่รถไม่ติดมาก เช่นในยุโรป การชาร์จครั้งเดียวให้วิ่งได้ทั้งวันจะต้องการแบตเตอรี่ขนาดใหญ่มาก อาจหนักเป็นตัน และในกรณีบ้านเราที่ต้องติดแอร์จะยิ่งกินไฟขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ทำให้โอกาสที่จะวิ่งได้ตามมาตรฐานที่กล่าวอ้างเป็นไปได้ยาก ดังนั้นเพื่อรับประกันคุณภาพการบริการ การสร้างสถานีชาร์จไฟจึงจำเป็นและสำคัญหากต้องการให้ได้บริการด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด โดยต้องออกแบบจำนวนและตำแหน่งของสถานีชาร์จ รวมไปถึงปรับเส้นทางเดินรถใหม่

20150619_141742
บริการสำหรับผู้ใช้รถเข็น
20150619_142032
แบตเตอรี่ของรถเมล์ไฟฟ้า ทั้งสองข้างของรถเมล์

001 (2)

20150619_141443

20150619_141513

20150619_141628

20150619_141833

20150619_142134