สฤณี อาชวานันทกุล
ความคืบหน้าล่าสุดเรื่องกฎหมายดิจิทัล ต้นเดือนพฤษภาคม 2558 คือ การเสนอกฎหมายจัดตั้ง “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
กฎหมายฉบับนี้เป็นฉบับแรกในชุดกฎหมายดิจิทัลที่เสนอให้ สนช. พิจารณา แต่ไม่ใช่ร่างแรกของกฎหมายเจ้าปัญหาที่มีข้อท้วงติงมากมาย อาทิ พ.ร.บ. กสทช., ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ฉบับนี้เป็นเพียงการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยกเลิกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
ระหว่างที่กฎหมายฉบับอื่นๆ ยังไม่เข้าสู่การพิจารณา เราก็ได้เห็นบรรยากาศการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ร่างแรก ซึ่งคณะผู้ร่างอ้างว่าจะทำให้ “พลเมืองเป็นใหญ่” แต่หลังจากที่พยายามอ่านร่างรัฐธรรมนูญจนจบ ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้ “พลเมืองเป็นใหญ่” หรือ “คนดี(ที่ใครก็ไม่รู้บอกว่าดี)เป็นใหญ่” กันแน่
โดยเฉพาะในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญจะสถาปนา “องค์กรอิสระ” ใหม่ๆ ขึ้นมาเต็มไปหมด หลายองค์กรนอกจากที่มาจะไม่ชัดเจนแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงว่าจะทำให้รัฐบาลทำงานไม่ได้ อีกทั้งไปลดอำนาจของ ส.ส. ในฐานะผู้แทนประชาชน (ดูตารางประกอบบทความ)
อ.แก้วสรร อติโพธิ และ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ สองนักกฎหมายชื่อดังซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ยืนอยู่คนละฟากฝั่งอุดมการณ์ทางการเมือง มีความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับองค์กรอิสระเหล่านี้
ผู้เขียนอยากบันทึกความเห็นของกูรูทั้งสองท่านไว้เป็นอนุสรณ์ในหน้าคอลัมน์วันนี้
อ.แก้วสรรเขียนบทความเรื่อง “‘องค์กรไส้ติ่ง’ ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ลงหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ความตอนหนึ่งว่า
“…“องค์กรไส้ติ่ง”คือ …องค์กรที่ทำเรื่องส่วนรวม แต่ปรากฏว่าไม่อยู่ในโครงสร้างราชการของรัฐ ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรี ไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบของรัฐสภา มีจุดยืนสำคัญอยู่ตรงที่การสมอ้างว่ามาจาก “ภาคพลเมือง” …ที่กำลังฟักตัวอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญก็มีอีกเยอะ …เลือกตั้งแล้วจะเห็นบินว่อนกันเต็มฟ้าการเมืองการปกครองไทยเลยทีเดียว
“ตัวจริงมันไม่ใช่ภาคพลเมือง ภาคพลเมืองจริงๆ ต้องเกิดและเติบโตโดยน้ำมือของผู้คน ที่ร่วมมือร่วมใจกันเองโดยสมัครใจเพื่อทำกิจส่วนรวม เคลื่อนไหวตามความคิด ความบันดาลใจ ไม่มีอำนาจ ไม่มีหน้าที่เหมือนองค์กรภาครัฐ ทำงานหนักใช้ความคิดความรู้ที่จัดตั้งแล้วเป็นอาวุธรวบรวมแรงสนับสนุน จนมีชาวบ้านในวงกว้างสนับสนุน มีเครดิต มีอิทธิพลให้ภาครัฐต้องรับฟัง
“…“สมัชชาคุณธรรม” , “สมัชชาพลเมือง” อะไรต่อมิอะไรของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไทยในปัจจุบันนั้น มันไม่ใช่องค์กรภาคพลเมืองหรอกครับ มันเป็นองค์กรอิงแอบรัฐใช้อำนาจรัฐเขียนกฎหมายตั้งขึ้นมาดื้อๆ ไม่มีขบวนการภาคพลเมืองอะไรเป็นฐานเลย ตั้งขึ้นมาแล้วมันไม่มีคุณภาพจริงรองรับ ไม่มีกระแสพลเมืองหนุนหลังและควบคุม แต่ละองค์ตรัสรู้แล้วแผลงฤทธิ์โผล่ขึ้นมาได้ด้วยตนเองทั้งนั้น จะทำงานตรวจสอบนักการเมืองอย่างไร คุมกันเองอย่างไร คุมมาตรฐานงานอย่างไร เชื่อได้แค่ไหน รับผิดชอบต่อใครบ้าง เป็นเจ้าพนักงานหรือเปล่า เปิดโปงสู้กับนักการเมืองแล้วหัวจะเป็นรูไหม? ฯลฯ
“มันจะมีองค์กรที่สมอ้างความเป็นพลเมืองมาใช้อำนาจในสังคมโดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครเลย ชีวิตสังคมในภาคการเมืองการปกครองจะสับสนมาก “ผู้แทน” จะรับผิดชอบต่อ “ประชาชน”ไม่ได้เช่นที่ควร เพราะมีแต่ตำแหน่งแต่ไม่มีอำนาจที่แท้จริง ส่วนพวกที่โผล่เข้ามามีอำนาจแท้จริงกลับไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครเลย ในที่สุดแล้วพวกเราชาวบ้านนี่แหละครับจะสับสนมาก”
ส่วนในเวลาไล่เลี่ยกัน อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็ให้สัมภาษณ์สื่อออนไลน์ ‘ประชาไท’ ความตอนหนึ่งว่า
“สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ประจาน …เรากำลังจะย้อนยุคกลับไปในสมัยที่เป็นยุคกลาง ยุคมืด เพียงแต่แปลงสภาพให้มันเป็นสมัยใหม่ พูดให้ง่ายคือยืมมือประชาชน คนที่ถูกเสนอชื่อให้ประชาชนถอดถอนก็เป็นการประจานเขาแล้ว ซึ่งคนที่โดนแบบนี้ก็เหนื่อย โดนถอดถอนเพราะไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งใครก็ไม่รู้ตั้งขึ้นมา มาจากไหนยังไม่รู้เลย
“เรื่องการถอดถอน เวลาเราจะให้ประชาชนถอดถอนควรจะเป็นตำแหน่งสำคัญ และคนที่มีสิทธิเสนอเรื่องให้มีการถอดถอนต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะการถอดถอนเวลาประชาชนไปโหวต มันเป็นการโหวตในทางการเมือง ไม่ใช่เกณฑ์มาตรฐานทางกฎหมาย แล้วถามว่าการตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี คืออะไร เขาทำอะไรผิด เขาทำอะไรไม่ถูกต้องตามเกณฑ์ทางกฎหมาย หรือเพียงเพราะทำไม่ถูกต้องตามเกณฑ์จริยธรรมของคุณแค่นี้หรือ
“ถ้าเป็นการทำผิดทุจริต มีคำพิพากษาที่ถูกต้องเที่ยงธรรมของศาลในระบอบประชาธิปไตย แบบนั้นผมไม่มีปัญหา แต่เวลาเราพูดถึงการไปถอดถอนในความหมายของสมัชชาคุณธรรม บางคนที่ไปถอดถอนก็แค่ชอบหน้าไม่ชอบขี้หน้า มันไม่มีเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐาน เราทำให้กฎเกณฑ์แบบนี้เป็น subjective มากเลย ฉะนั้นคนที่จะเข้าทำงานการเมืองพวกนี้ต้องเป็น Good Boy ในสายตาผู้ครองอำนาจในการกำหนดมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรม ถึงที่สุดแล้วก็มีสภาพเป็นเผด็จการรูปแบบหนึ่ง
“…สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ก็จะมาจาก สนช. สปช. และมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นประโยชน์ทับซ้อนในการรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ สปช. เพราะเมื่อเขารับรัฐธรรมนูญไป เขาก็มีโอกาสไปนั่งต่อเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ จากนั้นก็จะมีคณะกรรมการที่เรียกว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ โดยจะมาจากสภาขับเคลื่อนฯ เป็นผู้ตั้งให้ขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์
“ในส่วนนี้ผมเห็นว่าเป็นเหมือนกับการตั้งสภา ตั้งคณะรัฐมนตรีซ้อนขึ้นมา เพราะมันคือการเอาอำนาจในทางบริหาร ไปยกให้หน่วยพวกนี้ทำ แต่เป็นการทำในแง่ของการเสนอกฎหมายเข้าไปที่รัฐสภา ซึ่งสภาหลักก็คือวุฒิสภา โดยจะไปผ่านวุฒิสภาก่อน …และดูจากที่เขาเขียนมาทั้ง 16 มาตราในภาคนี้ จะมีการจัดตั้งองค์กร แตกหน่อออกไปอีกเยอะมาก สมควรเรียกว่า “อนุมูลอิสระ” อย่างแท้จริง
“ผมเดาแนวคิดของคนเขียนที่ตั้งองค์กรเหล่านี้มา เพราะกลัวว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่ทำ หรือทำไม่ได้ แต่สิ่งที่เขียนในเรื่องของการปฏิรูป คล้ายกับการวาดภาพในฝันว่าต้องทำนั่นทำนี่ ซึ่งความจริงในหลายๆ เรื่องเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลทำผ่านนโยบายในแง่ของการหาเสียงเลือกตั้งอยู่แล้ว ซึ่งก็เชื่อมโยงกับความต้องการของประชาชน แต่นี่ให้หน่วยองค์กรเหล่านี้เข้ามาทำ แล้วก็สร้างกลไกต่างๆ ขึ้นมา
“คำถามผมคือจะให้คณะรัฐมนตรีทำอะไร เพราะหน่วยองค์กรเหล่านี้เข้ามาครอบคลุมทั้งหมด ถ้าถามถึงเรื่องของการประเมินผลจะทำอย่างไร หมายความว่า คนที่เข้ามาทำหน้าที่ในหน่วยองค์กรที่กำลังจะสร้างกันขึ้นมาใหม่ ถ้าเข้ามาแล้วทำไม่ได้ จะมีความรับผิดชอบอย่างไร หรือปฏิรูปไปผิดทิศผิดทาง จะรับผิดชอบอย่างไร”
ไม่ว่าท่านจะคิดว่าองค์กรอิสระใหม่ๆ ในร่างรัฐธรรมนูญเป็น “องค์กรไส้ติ่ง” หรือ “อนุมูลอิสระ” หรือไม่
ขอเชิญร่วมกันแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ได้ที่เว็บไซต์ประชามติ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.