ThaiPublica > คอลัมน์ > การมีลูกสาวทำให้พ่อเเม่มีความสุขมากกว่าการมีลูกชายถึงสองเท่า

การมีลูกสาวทำให้พ่อเเม่มีความสุขมากกว่าการมีลูกชายถึงสองเท่า

3 พฤษภาคม 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ที่มาภาพ: http://www.santarosarealestate.biz/wp-content/uploads/2014/04/Fotolia_38380651_X.jpg
ที่มาภาพ: http://www.santarosarealestate.biz/wp-content/uploads/2014/04/Fotolia_38380651_X.jpg

คุณผู้อ่านที่มีทั้งลูกสาวเเละลูกชายคิดว่าลูกคนไหนทำให้คุณมีความสุขมากกว่ากันครับ

เมื่อไม่นานมานี้เองได้มีการวิจัยออกมาว่า การมีลูกสาวทำให้พ่อเเม่มีความสุขมากกว่าการมีลูกชายถึงสองเท่าด้วยกัน โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างตัวผมซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ความสุขคนไทย (จะว่าเกือบคนเดียวเลยก็ว่าได้) กับนักเศรษฐศาสตร์จากประเทศอังกฤษอีกสองคน นั่นก็คือ ดร.ริชาร์ด พาร์ทริดจ์ (Richard Partridge) และ ดร.โรเบิร์ต วินเซอร์ (Robert Winzar) จากมหาวิทยาลัยทอคี (Torquay) และด้วยที่ว่าทั้งสองนักเศรษฐศาสตร์เป็นคุณพ่อมือใหม่ด้วยกันทั้งคู่ (ดร.ริชาร์ด พาร์ทริดจ์ พึ่งมีลูกผู้ชายคนแรก ส่วน ดร.โรเบิร์ต วินเซอร์ พึ่งจะมีลูกสาวคนแรก) ข้อสมมติฐานของทั้งสองจึงแตกต่างกันไป ดร.ริชาร์ด พาร์ทริดจ์ สมมติฐานไว้ว่าการมีลูกชายน่าจะทำให้คนที่เป็นพ่อแม่มีความสุขมากกว่าการมีลูกสาว ส่วน ดร.โรเบิร์ต วินเซอร์ สมมติฐานไว้ว่าการมีลูกสาวน่าจะทำให้คนที่เป็นพ่อแม่มีความสุขมากกว่าการมีลูกชาย ส่วนตัวผมซึ่งยังไม่มีลูกสมมติฐานเอาไว้ว่าการมีลูกสาวลูกชายน่าจะมีผลกระทบ (หรือไม่มีผลกระทบ) กับความพอใจของชีวิตพอๆ กัน

ข้อมูลที่เราใช้นั้นมาจาก National Omnibus surveys of the Number of Sons/daughters in the East, North, and South of England (หรือ NONSENSE) ที่เก็บบนเกาะอังกฤษจากปี ค.ศ. 1990 ถึง 2012 ข้อมูล NONSENSE นี้เริ่มทำการวัดความพอใจของชีวิตของทั้งผู้เป็นพ่อเเละเเม่ตั้งเเต่ลูกยังไม่เกิด โดยการวัดครั้งเเรกเริ่มขึ้นตอนช่วงที่ทั้งผู้เป็นพ่อเเละเเม่พึ่งทราบข่าวว่าฝ่ายหญิงพึ่งตั้งท้องไปได้ไม่กี่อาทิตย์ (พูดง่ายๆ ก็คือตอนที่ทั้งพ่อเเละเเม่ยังไม่ทราบเพศของเด็กที่อยู่ในท้อง) หลังจากนั้นเราก็เริ่มทำการวัดความสุขของทั้งพ่อเเละแม่ทุกๆ ปีจนเด็กอายุได้ประมาณ 22 ปี จากการเก็บข้อมูลถึงสิบสามปีของเราทำให้เรามีชนาดตัวอย่าง (sample size) ที่ค่อนข้างใหญ่ (จากข้อมูลทั้งหมดเรามีครอบครัวทั้งหมด 5,245 ครอบครัว โดยเฉลี่ยแล้วครอบครัวหนึ่งจะมีลูก 1.24 คน และเป็นลูกผู้หญิง 0.76 คน)

จากการวิจัยของเราพบว่า

1) ค่าเฉลี่ยความพอใจของชีวิต (life satisfaction) ของทั้งพ่อเเละเเม่ในขณะที่ยังไม่ทราบเพศนั้นมีค่าพอๆ กัน จนกระทั่งลูกเกิด พอลูกเกิดเเล้วนั้นเราพบว่าค่าเฉลี่ยความสุขของทั้งพ่อเเละเเม่ที่มีลูกสาวนั้นกลับมีค่าที่สูงกว่าพ่อเเละเเม่ที่มีลูกชายถึงสองเท่าตัวด้วยกัน

2) ค่าเฉลี่ยความสุขของผู้ที่เป็นพ่อเเละเเม่ที่มีลูกสาวอยู่จุดที่สูงที่สุดตอนที่ลูกสาวอายุได้สักประมาณสามถึงสี่ปี ส่วนค่าเฉลี่ยความสุขของผู้เป็นพ่อเเละเเม่ที่มีลูกชายนั้นอยู่จุดที่ต่ำที่สุดตอนที่ลูกชายอายุได้ประมาณห้าถึงเจ็ดปี

3) เเต่ค่าเฉลี่ยความสุขของผู้เป็นพ่อเเละเเม่ที่มีลูกสาวกลับทิ้งตัวดิ่งลงไปจุดที่ต่ำที่สุดตอนที่ลูกสาวอายุได้ประมาณสิบห้าถึงสิบเเปดปี (สงสัยตอนที่ลูกสาวเริ่มออกเดทครั้งเเรกๆ เเน่ๆ เลย)

4) ผลกระทบเชิงบวกของการมีลูกผู้หญิงต่อความสุขของพ่อและแม่จะสูงขึ้นพร้อมๆ กันกับอายุของพ่อและแม่ พูดง่ายๆ ก็คือพ่อแม่ที่มีอายุสูง (50 ปีขึ้นไป) จะมีความสุขมากที่สุดถ้าลูกของเขาเป็นผู้หญิงเมื่อเทียบกันกับพ่อแม่ที่มีอายุน้อยกว่า (อายุสักประมาณ 35-45 ปี) พวกเราทั้งสามคนคิดว่าผลกระทบเชิงบวกของการมีลูกผู้หญิงต่อความสุขตัวนี้น่าจะมาจากที่ว่าลูกผู้หญิงจะให้ความดูแลกับพ่อและแม่ที่แก่ตัวแล้วดีกว่าลูกผู้ชาย

5) จากการสำรวจของผลกระทบเชิงบวกของการมีลูกผู้หญิงต่อความสุขของพ่อและแม่ พวกเราทั้งสามพบว่าตัวอย่างหรือ sample พ่อแม่ที่เป็นเอเชีย (ซึ่งเป็น sample ที่ค่อนข้างเล็กบนเกาะอังกฤษ) เท่านั้นที่มีความสุขในการมีลูกชายมากกว่าการมีลูกสาว

6) สิ่งที่ผมเขียนไว้ในตอนต้นทั้งหมด ผมต้องขอบอกไว้ตรงนี้ว่าไม่มีอะไรเลยที่เป็นความจริง นั่นก็เป็นเพราะว่าผมคิดขึ้นมาเองทั้งหมด ไม่มีข้อมูลที่ชื่อว่า NONSENSE จริงๆ [ที่จริงชื่อย่อของข้อมูลก็บ่งบอกในความไม่สมเหตุสมผล (nonsense) ของตัวมันเองอยู่เเล้วนะครับ] ไม่มีมหาวิทยาลัย Torquay จริงๆ เเละการวิจัยดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นมาจริงๆ (โดยเฉพาะสำหรับคนที่รู้จักกับผมเป็นการส่วนตัวก็จะทราบดีว่าริชาร์ดเเละโรเบิร์ตจริงๆ เเล้วเป็นเพื่อนสนิทผมมาตั้งเเต่ชั้นมัธยมต้นที่อังกฤษ และทั้งสองคนไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์) เเต่จริงๆ เเล้วบทความชิ้นนี้เป็นการทดลองทางสังคม หรือ social experiment อย่างหนึ่งนั่นก็คือ คุณผู้อ่านใช้เวลาในการอ่านบทความออนไลน์มากขนาดไหนก่อนที่จะทำการ “ชอบ” หรือ “เเชร์” บทความบนโซเชียลมีเดีย

อันนี้เข้าเรื่องจริงๆ เเล้วนะครับ ถ้าคุณผู้อ่านได้อ่านบทความของผมมาถึงจุดนี้ก่อนทำการ “ชอบ” หรือ “เเชร์” บนเฟซบุ๊ก ผมขอปรบมือให้ เพราะในการวิจัยจริงๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาที่คนเราใช้ในการอ่านบทความเเละการแชร์บทความนั้นๆ ในโซเชียมีเดีย นักวิจัยของ Upworthy ที่ทำการวิจัยกับบทความตัวเองพบว่า โดยเฉลี่ยต่อบทความเเล้วประมาณ 9% ของคนทั้งหมดที่อ่านเเค่ 10% ของบทความตั้งเเต่ต้นเเชร์บทความนั้นๆ บนเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ค่าเฉลี่ยในการเเชร์เริ่มตกลงสำหรับคนที่ใช้เวลาในการอ่านมากขึ้น (เปอร์เซ็นต์การเเชร์อยู่ที่ประมาณ 5% สำหรับคนที่อ่านจนถึง 75% ของบทความ) เเละดีดตัวกลับไปอยู่ที่ 9% สำหรับคนที่อ่าน 100% ของบทความ (เเต่ผมต้องบอกเอาไว้ก่อนนะครับว่าจำนวนของคนที่อ่านทั้งบทความนั้นมันน้อยกว่าคนที่อ่านเเค่ 10% ของบทความเยอะมาก)

ที่มาภาพ: Upworthy
ที่มาภาพ: Upworthy

Confirmation Bias

คุณผู้อ่านหลายท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วทำไมเราต้องเเคร์ด้วยว่าใครจะอ่านมากอ่านน้อยก่อนที่จะเเชร์เรื่องต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย หลายๆ ท่านอาจจะคิดก็ได้ว่าพวกเราทุกคนไม่ได้มีเวลาพอในการที่จะอ่านทุกๆ บทความเหมือนกับตัวผู้เขียนนี่ ซึ่งผมก็คงจะปฏิเสธตรงนี้ไม่ได้ เเต่ผมก็อยากจะบอกเอาไว้ตรงนี้ว่าพฤติกรรมการกดเเชร์ “อย่างรวดเร็ว” ของเรานั้นบ่งบอกได้ถึงจิตใต้สำนึกของเราบางอย่าง

โอเค สำหรับคนที่กดเเชร์ (หรือคอมเมนต์) อย่างรวดเร็วโดยไม่อ่านบทความทั้งหมดเสียก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีเวลาอ่านข้อความทั้งหมดแต่เพราะเห็นหัวข้อที่ค่อนข้างเป็นที่น่าถกเถียง (controversial) จึงอยากแชร์ (ซึ่งถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบทำอย่างนั้น ผมก็อยากจะขอเตือนให้ระวังด้วยนะครับเพราะว่าการแชร์เรื่องที่ค่อนข้าง controversial ก่อนที่จะอ่านอาจจะทำให้คนที่เข้ามาอ่านสิ่งที่คุณแชร์ว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนความรู้สึกของคุณจริงๆ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความเป็นจริงเลย)

อีกส่วนหนึ่งของคนที่กดเเชร์ (หรือคอมเมนต์) อย่างรวดเร็วโดยไม่อ่านบทความทั้งหมดเสียก่อนก็คือคนจะมี preconception (หรือถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็คงจะเป็นอคติ) ที่เกี่ยวกับหัวข้อของบทความมาก่อน ถ้าให้ผมเดาผมก็จะขอเดาว่าส่วนใหญ่ของคนที่ทำการเเชร์บทความที่ผมเเต่งขึ้นข้างบนโดยที่ไม่ได้อ่านใจความทั้งหมดก่อนคงจะมีความรู้สึกโกรธเเละไม่เห็นด้วยกับที่ผมสรุปเอาไว้ว่าการมีลูกสาวดีต่อความสุขของผู้เป็นพ่อเป็นเเม่มากกว่าการมีลูกชาย (ประมาณว่า “ไอ้คนเขียนคิดขึ้นมาได้ยังไง ลูกๆ ของผมทั้งสองให้ความสุขกับตัวผมเท่าๆ กัน” เป็นต้น)

ส่วนอีกกลุ่มที่จะเเชร์อย่างรวดเร็วนั้นก็จะเป็นกลุ่มที่เห็นด้วยกับบทสรุปที่ไม่จริงของผม ผมเรียกพฤติกรรมของคนจากทั้งสองกลุ่มนี้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลมาจาก confirmation bias (หรือพฤติกรรมของคนที่ต้องการหาเเละแปลข้อมูลต่างๆ นานาในลักษณะที่สนับสนุนหรือยืนยันในสิ่งที่ตัวเขาเองเชื่อเเละยึดถือไว้ตั้งเเต่ตอนเเรกเเล้ว) เเละยิ่งถ้าบทความมีใจความที่เกี่ยวกับเรื่องที่กระตุกอารมณ์ของเรามากยิ่งขึ้น (อย่างเช่นเรื่องลูกกับความสุข หรือการเมือง เป็นต้น) โอกาสที่เราจะตกเป็นเหยื่ออารมณ์ของ confirmation bias ก็ยิ่งจะสูงขึ้นตามๆ กันไปเท่านั้น

ผมหวังเอาไว้ว่าผมต่างหากที่สมมติฐานผิดเพราะในความเป็นจริงคุณผู้อ่านไทยพับลิก้าทุกท่านที่เริ่มอ่านบทความของผมชิ้นนี้ได้ทำการอ่านบทความตั้งแต่ต้นจนจบก่อนที่จะกด “ชอบ” หรือ “เเชร์” บนเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ผมก็ขอถือโอกาส ณ ตรงนี้ขอบคุณคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามผลงานการเขียนของผมมาจนถึงชิ้นนี้ด้วยนะครับ สุดท้ายนี้ถ้าคุณผู้อ่านท่านใดต้องการที่จะแชร์บทความชิ้นนี้ในโซเชียลมีเดียของท่าน ผมขอความกรุณาให้ท่านแชร์พร้อมกันกับพิมพ์คำว่า #WhatALoadOfRubbish ลงไปด้วยเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าคุณผู้อ่านเป็นหนึ่งท่านที่ internet smart โดยทำการอ่านบทความชิ้นนี้ตั้งแต่ต้นจนจบก่อนที่จะกด “ชอบ” หรือ “เเชร์” นะครับ

อ่านเพิ่มเติม
Partridge, R., Powdthavee, N., & Winzar, R. (2015). Daughters make parents happier with life compared to sons. Journal of Nothing in Here is True, 1, 1-2.
http://blog.upworthy.com/post/76538569963/3-interesting-things-attention-minutes-have