เคยถูกปรามาสว่าเป็นเพียงนักเรียนนอก จบมาก็ทำงานภาคการเงิน ใช้ชีวิตสะดวกสบาย มีรายได้มหาศาล เมื่อมาทำนโยบายในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงไม่เข้าใจชีวิตคนยากจนอย่าง “เกษตรกร”
เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อย (คสช.) รัฐประหาร ต้องเว้นวรรคการทำงานการเมือง เขาจึงผันตัวไปเป็น “ชาวนาเฉพาะกิจ” ในโครงการเกษตรเข้มแข็ง ได้สัมผัสชีวิตกระดูกสันหลังของชาติตัวเป็นๆ
ถึงวันนี้ข้าวแบรนด์ “อิ่ม” ที่ชายวัย 51 ชื่อ “กรณ์ จาติกวณิช” กรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปมีส่วนช่วยในการผลิตจนถึงหาช่องทางจัดจำหน่าย ได้ถูกดึงจากนาข้าวไปจนสู่จานข้าวของผู้บริโภค เป็นรุ่นที่ 2
ประสบการณ์จากนาข้าวที่ จ.มหาสารคาม มาถึงนาข้าวที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ได้สอนอะไรให้กับคนชื่อกรณ์ และจะนำไปพัฒนาเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรระดับชาติ ได้อย่างไร
ร่วมเก็บเกี่ยวไปด้วยกัน ผ่านตัวอักษรในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
ไทยพับลิก้า: ที่มาโครงการเกษตรเข้มแข็ง และข้าว “อิ่ม” คุณกรณ์เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง
เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2557 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีปัญหาจำนำข้าวกันอยู่ ทำให้ทุกคนตื่นตัวถึงความเป็นอยู่ของชาวนา และมีการตั้งคำถามว่ามีวิธีทำให้ชาวนาไทยมีรายได้ที่ดีขึ้น พึ่งพานโยบายของรัฐบาลไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็แล้วแต่ให้น้อยลง ในแง่ความคิดนโยบายเป็นโจทย์สำคัญของประเทศ ผมจึงมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
แต่โดยเฉพาะหน้ามีกลุ่มเกษตรกรกลุ่มหนึ่งเดือดร้อน อยากจะเปลี่ยนวิถีการทำนา หนีการพึ่งพานอกจากนโยบายรัฐบาล ยังรวมถึงการพึ่งพาสารเคมี อยากกลับไปทำนาเกษตรอินทรีย์ อยากปลูกข้าวคุณภาพตามพันธุ์เดิมๆ ของไทย ซึ่งปัญหาของเขาเพียงแค่ว่าเขาปลูกแล้วไม่รู้จะขายให้ใคร ปัญหาการเข้าถึงตลาดจึงเป็นปัญหาสำคัญ ชาวบ้านกลุ่มนั้นอยู่ที่ จ.มหาสารคาม ซึ่งผมได้รับการติดต่อจากเครือข่าย ก็เลยลองไปคุยกับเขาดู ก็ลองตกลงใจกันว่า
มันเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะเกษตรกรไทยมีอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เกษตรกรที่มีแปลงนาขนาดใหญ่ อยู่ในพื้นที่ชลประทาน ปลูกข้าวได้ปีละ 3-4 รอบ เกษตรกรกลุ่มนี้ถือว่าเป็นคนที่ค่อนข้างร่ำรวย มีจำนวนประมาณ 1 ล้านครัวเรือน แต่อีกกว่า 3 ล้านครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน จะเป็นเกษตรกรรายย่อย ที่นาอาจจะประมาณ 20-40 ไร่ต่อบ้าน น้ำอาศัยน้ำธรรมชาติ ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน ฉะนั้นจะปลูกข้าวได้ปีหนึ่งอย่างเก่งแค่ 2 รอบ นี่อย่างเก่งนะครับ ส่วนใหญ่ปลูกได้รอบเดียว แน่นอนที่สุด ถามว่าเขาสามารถแข่งกับเกษตรกร ไม่ต้องพูดถึงจากเวียดนาม พม่า ซึ่งประสิทธิภาพเขาดีกว่าเรามาก แต่จะแข่งกับเกษตรกรที่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา อยู่ในภาคกลาง ก็แข่งไม่ได้แล้ว
ฉะนั้นมันต้องมีวิถีอื่น เพราะที่ผ่านมา นโยบายของรัฐจะเป็นนโยบายเหวี่ยงแห เป็นนโยบายเดียวที่ครอบคลุมเกษตรกรทั่วประเทศ มันก็เลยบกพร่อง อย่างนโยบายจำนำข้าว ที่จริงๆ ควรจะทำเพื่อเกษตรกรทุกคน แต่เอาเข้าจริงมีเกษตรกรเข้าโครงการแค่กว่า 1 ล้านครัวเรือน ส่วนที่เหลือเข้าไม่ได้ด้วยเหตุผลต่างๆ เราก็เลยมองว่า นโยบายที่เหมาะสม ควรจะตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรกลุ่มนี้ ที่อาจจะมีความต้องการแตกต่างจากเกษตรกรรายใหญ่
ผมเองมีความเชื่อว่า วิธีการที่เหมาะสมคือในอนาคต เมื่อคุณแข่งเรื่องปริมาณ เรื่องการผลิตไม่ได้ คุณก็ควรจะแข่งกันที่คุณภาพ แล้วความโชคดีก็คือ คุณภาพข้าวในพื้นที่อีสาน ถือเป็นข้าวเกรดเอของไทยอยู่แล้ว เป็นประเทศที่ปลูกข้าวแล้วชาวโลกนิยมว่าอร่อยที่สุดในโลก เมื่อเรามีความได้เปรียบอยู่ตรงนี้ ก็ต้องเอามาใช้ ไม่ใช่ว่ามีนโยบายที่ทำให้ชาวนาทิ้งพันธุ์ข้าวดีๆ แล้วหันไปหาข้าวพันธุ์อื่นที่อาจจะปลูกง่ายกว่า
ไทยพับลิก้า: เพื่อให้ได้ปริมาณมากขึ้น
ใช่ ความต้องการของเกษตรกรกลุ่มแรกที่อยากจะกลับไปใช้วิธีที่เป็นบวกต่อระบบนิเวศของเขา ต่อคุณภาพชีวิตของเขา แล้วเป็นการฟื้นฟูพันธุ์ข้าวดีๆ กับพื้นบ้านเขา จึงตรงกับแนวคิดของผมที่ว่า น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมทางนโยบายสำหรับเกษตรกรกลุ่มนี้ในอนาคต ถามว่าทำไมผมคิดอย่างนั้น ถ้าดูแนวโน้มการเติบโตของโลกและเอเชียมันเข้าทางเรา เพราะจำนวนประชากรที่จะเป็นกลุ่มที่เรียกว่าชนชั้นกลางมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย ฯลฯ จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ใน 10-20 ปีข้างหน้า เขาคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีประชากรอาศัยอยู่ในเมือง เฉพาะในเอเชีย ประมาณ 2,500 ล้านคน ความหมายคือกำลังซื้อจะมหาศาลและจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อคนมาอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น ก็จะบริโภคมากขึ้น แล้วจะเลือกบริโภคของมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น มีสตางค์พร้อมจะจ่ายแพงขึ้นเพื่อให้ได้ของดี
ตรงนี้ทำให้ผมมองว่าในอนาคตอันใกล้ แล้ววันนี้เริ่มเห็นแล้ว ตลาดของกลุ่มผู้บริโภคที่พร้อมจะจ่ายราคาสูงขึ้นนิดนึง เพื่อจะได้ของที่เขามั่นใจว่าเป็นประโยชน์ต่อเขาและครอบครัวจะขยายฐานอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเอเชียที่ทุกคนก็กินข้าว และไว้วางใจสินค้าเกษตรจากประเทศไทยอยู่แล้ว เรามีต้นทุน เรามีความได้เปรียบ เพียงแต่เรายังไม่ได้ใช้ความได้เปรียบนี้อย่างเป็นระบบ”
ผมเลยมองว่า การลงมาทดลองทำในกลุ่มเล็กๆ ที่ จ.มหาสารคาม และรอบที่สอง ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นการเรียนรู้ของผมและทดลองของผมไปด้วย เอ๊ะ ในทางปฏิบัติเอาเข้าจริงแล้วทำได้ไหม อย่างรอบแรก ก็ขายได้ แม้ปริมาณจะไม่มาก แต่ขายได้หมดในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์ แต่เราเน้นจะทดลองขายผ่านระบบ e-commerce เพราะเราอยากทดลองว่ามันมีวิธีการใดที่จะขายข้าวจากนาสู่จานให้ได้ โดยตัดขั้นตอนให้เหลือน้อยลงที่สุด เพื่อรายได้ส่วนใหญ่จะได้ตกเป็นของเกษตร ไม่ตกหล่นระหว่างทาง ข้าวก็ปลูกโดยเกษตรกร ปุ๋ยก็ไม่ต้องซื้อ เงินก็ไม่ได้กู้ เพราะเราจ่ายล่วงหน้าส่วนหนึ่งให้กับชาวนาตั้งแต่ต้นฤดู เขาสีเองในชุมชน แพ็กเอง แล้วเราก็รับข้าวจากหน้านาเขามาเข้าโกดังที่นี่ แล้วก็ขายโดยตรงให้กับผุ้บริโภค ด้วยกบก.นี้ทำให้ชาวนาที่เข้าโครงการ ได้รับราคาโดยเฉลี่ย 23,000 บาท/ตันข้าวเปลือก ซึ่งเป็นราคาในฝันของเขาเลย แล้วเรายังสามารถนำไปขายในราคาที่สีแล้ว 120 บาท/กิโลกรัม ซึ่งทำกำไรได้อีกต่างหาก และกำไรส่วนนี้ก็ปันผลกลับไปให้กับเกษตรกร
นอกเหนือจากนี้ เราก็มองว่าการที่จะขายสินค้าระดับ premium หรือสร้าง brand ขึ้นมาได้ 1.ของทุกคนต้องดี 2.ผู้บริโภคต้องมั่นใจว่า สินค้าที่ซื้อเป็นของแท้ 3.ต้องมี packaging มีเรื่องราวที่มาของสินค้า เพื่อผูกใจผู้ซื้อกับตัวสินค้าหรือผู้ขาย
(กรณ์หยิบถุงข้าวขึ้นมาอธิบาย ทั้งตัวถุงซึ่งเป็นผ้าขาวม้า ทอกันเองโดยแม่บ้านในพื้นที่ ทุกแพ็กจะมีภาพชาวนาที่ปลูกข้าวถงนั้น เชือกร้อยถุงข้าว ชาวบ้านก็ถักขึ้นมากันเอง “เฉพาะถุงก็ทำให้รายได้ของคนในหมู่บ้านเพิ่มขึ้นจากขายข้าวอย่างเดียว 15% แล้ว”)
ไทยพับลิก้า: packaging ก็เป็นตัวช่วยในการขาย
ถูก เราเห็นตัวอย่าง ไม่ใช่คิดขึ้นมาเองหมด ใครไปญี่ปุ่นจะเคยเห็น ขนมแต่ละชิ้นเขาห่อให้ชวนซื้อ ราคาก็ได้ดี แต่ไม่ใช่แค่ห่อสวย ของต้องดีด้วย แกะมาต้องมั่นใจว่าอร่อย อันนี้ก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่เรามั่นใจ 100% คือข้าวนี้เอาไปหุง ก็จะรู้สึกได้ถึงความพิเศษของมัน ล็อตสองที่ทำที่ อ.บางระกำ ก็ใช้แนวเดิม มีชาวบ้านที่หมู่บ้านเกาะจันทร์ เขาหันกลับมาทำเกษตรแนวอินทรีย์ แต่ขาดทักษะการเข้าถึงตลาด เราก็เลยเข้ามาช่วย นำสินค้าไปขายให้กับกลุ่มผู้ซื้อที่ตอนนี้ขายวงออกไปกว้างขึ้นเรี่อยๆ และตอนนี้เริ่มจะคุ้ยเคยกับการซื้อขายโดยตรงจากเรา
ทีนี้ตัวข้าวหลังจากชาวบ้านเก็บเกี่ยวแล้ว เขาก็จะสีเอง แพ็กถุงสุญญากาศเอง ส่วนเราเป็นคนพิมพ์ตัวสติ๊กเกอร์ ซึ่งเป็นตัวยืนยันที่มาอีกทาง
ไทยพับลิก้า: จริงๆ ชาวบ้านก็ทำเองได้หมด เพียงแต่เราลงไปช่วยในการทำ packaging และเรื่อง brand
ผมก็ไปดุเขาด้วยนะครับ ผมก็ถามว่า ปีหน้าจะทำยังไง เขาก็บอกว่ารอคุณกรณ์มาช่วยขาย ผมบอกว่าอันนี้คิดผิดละ เพราะช่วยระหว่างทาง ผมมีหน้าที่แค่ให้คำแนะนำ คือช่วยกันคิดช่วยกันทำ แต่สิ่งที่ผมต้องการจะเห็นก็คือ ถ้าไม่ใช่ตัวเขา ก็ลูกหลานเขาที่อาจจะมีโอกาสไปเรียนหนังสือสูงกว่าพ่อแม่ ได้กลับมาช่วยคิดช่วยทำการบริหารจัดการเรื่อง marketing อาจจะไม่ต้องลงไปดำนาเอง แต่อย่างน้อยก็มีส่วนได้กลับมาช่วยธุรกิจของที่บ้าน ซึ่งคือการทำนา จะอาศัยให้คนนอกอย่างผม คอยยื่นมือเข้ามาช่วย ก็ไม่ต้องจากการต้องมารออานิสงห์จากนโยบายของรัฐบาล ผมก็บอกว่าปีหน้าถ้ามีเลือกตั้งผมก็อาจจะไปนั่งอยู่ในสภา ไม่มีเวลามาช่วยเขา ดังนั้นช่วงระหว่างนี้ใช้เวลาให้เต็มที่ในการหาความรู้ และทดลองหาแนวทางที่เขาจะยืนได้เองในอนาคต
ความจริงเวลาเข้าไปตรงนี้ แม้แต่การปลูก เราก็พบว่า ผมก็สมมุติมาตลอดว่า อย่างน้อยการปลูกข้าว เขาน่าจะเชี่ยวชาญ แต่เอาเข้าใจชาวนาไทยหลายๆ คนก็ขาดความรู้เรื่องของวิทยาศาสตร์ โดยเราพบว่า ปริมาณข้าวที่เขาปลูกได้ที่ จ.มหาสารคาม ได้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ ผมก็เลยไปเข้าค่ายกับ อ.ด้านการเกษตรที่ชอบพอกัน อ.ยักษ์ เข้าข้ายที่ จ.ชลบุรี อ.ยักษ์ก็บอกว่า ด้วยวิธีแนวอินทรีย์นี่แหล่ะ มั่นใจว่าชาวนาจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้เป็นเท่าตัว จากที่ทำในฤดูกาลที่แล้ว โอ้ ถ้าทำอย่างน้อย รายได้ก็เพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่กำลังเท่าเดิม ทำไมเขาจะไม่ทำ ด้วยตัวเขาเองเขาอาจจะไม่รู้ ผมก็เลยจัดให้เขาไปเข้ารับการฝึกอบรม
หรือเรื่องของ e-commerce ที่เขาอาจจะไม่รู้ว่าจะช่วยได้อย่างไร ผมก็จัดเข้ามา ซึ่ง e-commerce ตอนนี้ที่ช่วยเราได้มาก คือของเซ็นทรัล ที่นอกจากมีห้างสรรพสินค้าตามหัวเมืองต่างๆ เขายังเริ่มขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเขาทำได้เพราะมีระบบจัดส่งอยู่แล้ว ซึ่งเขาต้องการสินค้าดีๆ อยู่แล้ว เราก็มีของดี แต่เราต้องเข้าให้ถึง และมีวิธีนำเสนอที่ชวนให้ผู้บริโภคซื้อเท่านั้น
ผมเคยถาม สมมุติถ้าผมเป็นรัฐบาล แล้วผมให้คุณได้อย่างเดียว คุณอยากได้อะไร ผมก็นึกว่าเขาจะเอาปลดหนี้ จำนำข้าว ประกันรายได้ แต่ปรากฎว่า ไม่ เอาน้ำมาให้พวกเรา แล้วเขาจะทำให้เราดูว่า ชาวนาไทยจะเป็นเศรษฐีได้อย่างไร มันเรื่องเบสิก แต่ด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ที่เราทำให้เขาไม่ได้ ซึ่งเรื่องอย่างนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องทำ
คือทั้งหมดเนี่ย ถามว่าในระดับประเทศ มันจะนำไปขยายผลได้ยังไง ผมคิดว่าได้ ผมก็คอยดูตามช่องโทรทัศน์ ก็ดูว่ากลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่พยายามจะยกระดับสินค้าตัวเองให้มาอยู่ในระดับ premium มีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วที่ๆ ประสมความสำเร็จ ก็จะมีที่ๆ มีหน่วยราชการ ไม่ว่าจะผู้ว่าฯ หรือผู้ใหญ่ที่ใส่ใจเรื่องพรรค์นี้เข้ามาช่วยเหลือ อย่างวันก่อนผมดูโทรทัศน์ของ คสช. เขามีการนำเสนอโครงการจากหมู่บ้านที่ จ.ยโสธร แล้วมีผู้ว่าฯ มาอธิบายของโครงการเขา ก็มองว่ามันน่าจะไปได้ดี ผมก็เคยคุยกับผู้ว่าฯ มหาสารคามว่าวิธีการที่น่าจะไปได้คือสร้าง brand ของจังหวัดขึ้นมา ขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่สนใจทำเกษตรแนวอินทรีย์ หลังจากนั้นเมื่อรู้ปัญหาคือ เขาทำแล้วไม่รู้จะขายใคร สิ่งที่ทาง รัฐบาลจะช่วยได้ก็คือจัดมหกรรม จัดตลาดขึ้นมา แล้วเรียกผู้ซื้อจากทั่วประเทศเลย ยกตัวอย่าง สัปดาห์นี้ให้มาซื้อที่นี่ ข้าวพันธุ์ไหนๆ ซื้อล่วงหน้าก็ได้ จะลงไปดูตามนาก็ได้ ว่าข้าวที่คุณจะมาจอง มาตกเขียวซื้อ เขาปลูกอินทรีย์จริงหรือไม่ มันจะได้มีความมั่นใจ ซึ่งถ้าทำอย่างนั้น ผมว่าราคาไม่เป็นปัญหา
สาเหตุสำคัญที่ชาวนาได้ราคาต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีการแข่งขันในช่วงของการซื้อ-ขายข้าว โดยส่วนใหญ่จะมีโรงสีเดียวที่เขาเอาข้าวเข้าไปขาย แล้วประเด็นปัญหาก็คืออำนาจต่อรองไม่มี แต่อีกสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องทำพร้อมกัน คือการสร้างค่านิยมในส่วนของผู้บริโภค ถามว่าผมอยากเห็นอะไร? ผมอยากเห็นเวลาเราไปร้านข้าวแกง วันนี้เราอาจจะอยู่ในร้านข้าวแกงในห้าง เป็นร้านค่อนข้างหรู (หมายเหตุ – สัมภาษณ์ที่ร้าน White Cafe ที่ชั้น 1 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม สถานที่เปิดตัวข้าวแบรนด์ “อิ่ม” รุ่นที่ 2 จาก อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ) เวลาเราสั่งข้าว เขาไม่ได้มีกับให้เลือกอย่างเดียว เขามีข้าวให้เลือกด้วย ข้าวขาว เอาข้าวขาวแบบไหน? ข้าวปทุม ข้าวหอมมะลิ หรือจะเอาข้าวกล้อง ข้าวกล้องแบบผสมไหม ผมจะเปรียบเทียบเวลาเราไปการบินไทย แล้วคุณนั่งชั้นธุรกิจ พอถึงช่วงรับประทานอาหาร เขาจะเอาขนมปังมาให้คุณเลือก เป็นสีขาว สีดำ เป็นก้อนหรือตัดกลม มีให้เลือกหลายแบบ แต่เวลาเป็นข้าว การบินไทยเสิร์ฟข้าวแบบเดียว คือข้าวขาวๆ ทำไมล่ะ? ทีขนมปังเสิร์ฟตัดหลายแบบ แต่ข้าวที่เป็นสินค้าหลักของไทย คุณกลับไม่พยายามที่จะโปรโมตเลย นี่เป็นเรื่องของค่านิยม สิ่งที่ผมอยากเห็น ผมแวะร้านข้าวแกงที่ไหนก็ตาม อย่างน้อยต้องมีข้าว 2 หม้อ ข้าวขาว ไม่ก็ข้าวกล้อง ข้าวหอมมะลิ ไม่ก็ข้าวสวยธรรมดา
เมื่อเราค่อยๆ ปรับทัศนมติหรือมุมมองที่มีต่อข้าว มันก็จะมีเรื่องของการกำหนดราคาที่แตกต่างเกิดขึ้น คุณคิดว่ามันใช้เวลานานเท่าไร ที่ฝรั่งเศสจะสามารถสร้างคุณค่าของเหล้าไวน์ให้เป็นอย่างทุกวันนี้ สมัยก่อนไวน์ก้คือไวน์ แต่เดียวนี้ เวลาคุณไปขอไวน์ขวดหนึ่ง เขาจะขายไหน เขาก็ต้องถามว่าจะเอาไวน์แดง ไวน์ขาว ปีไหน จากไร่ไหน จะประเทศไหน แล้วแต่ละเกรด มีราคาต่างกันเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่นเท่า ผมไม่ต้องการความแตกต่างในระดับนั้น แต่อย่างน้อยที่สุด คนไทยกันเองควรจะรู้ว่าพันธุ์ข้าวไทย จริงๆ มีเป็นร้อยเป็นพันธุ์ชนิด คุณควรจะได้เลือกซื้อรับประทาน ควรจะได้รู้ว่าข้าวแบบไหน หุงยังไง ข้าวแบบนี้กินกับอะไรถึงจะอร่อย เอิ่ม… ตอนนี้คนไทยมีความรู้เรื่องไวน์มากกว่าเรื่องข้าวอีก ซึ่งตรงนี้ผมว่า มันเป้นเรื่องที่ต้องทำร่วมกัน ผมไม่อยากใช้คำว่าวาระของชาติเพราะมันเฟ้อ ถ้าเราไม่ใส่ใจกับสินค้าหลักของประเทศเรา แล้วเราจะรอให้ใครเขาแคร์
เพราะฉะนั้น ตรงนี้ใครมีโครงการต่างๆ ทำไปเลย มันต้องเริ่มอย่างนั้น จะไปถูกทางบ้าง ผิดทางบ้าง เดี๋ยวมันก็จะเกิดกระแสหลักขึ้นมาเอง
ไทยพับลิก้า: ถ้าให้แปลงประสบการณ์ที่ทำมา 2 รอบ จะเปลี่ยนเป็นนโยบายระดับชาติได้อย่างไร
อันดับแรก สำหรับชาวนาที่จะทำข้าวแนวอินทรีย์ รัฐต้องมีอะไรที่ช่วยเหลือเขา ให้กล้าที่จะเปลี่ยน แล้วเขาอยู่ได้จากการเปลี่ยนแปลง เพราะปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง มันเป้นเรื่องที่เสพติดเหมือนกัน ดังนั้นเราต้องมีอะไรบางอย่างที่มาช่วยเขาตรงนี้ ในลักษณะของเงินกู้หรืออะไรบ้าง
อันดับที่สอง ที่สำคัญคือเรื่องของการตลาด เราต้องสร้างตลาดมารองรับตรงนี้บ้าง แล้วส่วนของประเทศ ของหน่วยงานราชการเราเองก็ต้องให้ความสำคัญ ผมอยากเห็นภาคราชการที่ต้องบริโภคข้าวอยู่แล้ว หนัมาให้ความสำคัญกับการเลือกประเภทข้าวที่บริโภค ผมอยากที่จะมีโครงการประชาสัมพันธ์ให้ปชช.มีความตื่นตัวของคุณภาพที่แตกต่างกันของข้าวหลายๆ ชนิด มีอะไรที่ยังทำได้เยอะ อันนี้นอกเหนือจากเรื่องเบสิกที่ต้องทำ เช่น พัฒนาระบบน้ำ ปฏิรูปที่ดิน แต่เรื่องหลักๆ คือเรื่องการตลาด
ไทยพับลิก้า: ในอนาคต นโยบายช่วยเกษตรกรก็ต้องแบ่งเป็นกลุ่มๆ จะเป็นแค่นโยบายเดียวแล้วใช้ทั้งประเทศต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
ใช่ แล้วผมคิดว่าที่ดี คือทำให้มีการแข่งขันกันเกิดขึ้น มันควรจะเป็นภาระหน้าที่ของท้องถิ่น ระดับจังหวัด แต่ละจังหวัด คุณลองคิดเสนอแผนขึ้นมาว่า จะส่งเสริมและสร้างตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดคุณได้อย่างไร แล้วสร้าง brand ผมพยายามที่จะทำให้ อย่าง brand บางระกำ นี่คืออำเภอหนึ่ง คุณจะเหมาเป็นพิษณุโลกก็ได้ brand มหาสารคาม แล้วจังหวะขายอาจจะคนละจังหวะกัน แนววิธีในการโปรโมตหรือลักษณะบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกันตามวัฒนธรรมท้องถิ่น คนก็จะเริ่มรู้สึกว่า เออ เขาต้องแยกแยะ แต่ถ้าเราไม่สร้างความโดดเด่นของสินค้าเราเองขั้นมา จะไปหวังให้คนอื่นเขามองก็คงจะยาก
ไทยพับลิก้า: ถ้าเอานโยบายแบบนี้ไปหาเสียง อาจไม่จับใจชาวบ้านหรือเปล่า ถ้าเทียบกับนโยบายเดิมๆ
ผมไม่เคยคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นนโยบายที่ทำให้เราชนะเลือกตั้ง ไม่ใช่วัตถุประสงค์แต่แรก ใจจริงคืออยากช่วยชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง แต่พอทำไปทำมาเรากลับได้เห็นอะไรหลายอย่าง ได้เห็นความหวังด้วยว่า เออ มันก็เป็นเรื่องที่ทำได้ นำไปขยายผลได้ แต่ถามว่าจะนำเรื่องนี้ไปเสนอ ว่าจะทำให้กับทุกหมู่บ้าน ความจริงถ้าทำได้นะ เรื่องอื่นลืมไปได้เลย พูดง่ายๆ ทุกหมู่บ้านที่ไปทำ ชาวบ้านขายข้าวเปลือกได้เกวียนละ 23,000 บาท ถ้าผมทำได้อย่างนี้ทั่วประเทศ ผมกล้าไปยืนยันกับชาวบ้านว่า จะได้ เกวียนละ 23,000 บาททุกหมู่บ้าน มันจะทำได้ แต่มันไม่ได้ทำได้ทันที เพราะตามข้อเท็จจริง เขาก็ต้องมีความพร้อม กล้าจะเปลี่ยนวิถีชีวิตไหม กล้าจะหันมาใช้แนวอินทรีย์ไหม ตลาดที่เราสร้างมีความยั่งยืนหรือเปล่า คือถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมตั้งราคา 23,000 ให้กับข้าวอินทรีย์ทุกที่ ทุกเมล็ด ทำไมผมจะทำไม่ได้ แต่ถามว่ามันยั่งยืนไหม? ผมไม่ยั่งยืนหรอกครับ เราต้องสร้างตลาดไปควบคู่กัน ไม่ใช่รัฐบาลเหมาหมด แล้วสุดท้ายไม่รู้จะไปขายให้ใคร สุดท้ายต้องมาขายขาดทุนตอนหลัง อย่างนั้นมันไม่ใช่ ที่มั่นยั่งยืนจริงๆ คือต้องสร้างทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขายควบคู่กัน ซึ่งผมมั่นใจว่าเราทำได้ ถ้าทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน ใช้เวลาไม่นานหรอกครับ ผมคิดว่า 5-10 ปีก็ทำได้เยอะแล้ว
และที่พูดเนี่ย ไม่ได้หมายความจากนี้ไป 30 ล้านตัน ข้าวไทยต้องเป็นแบบนี้หมด ไม่ใช่ มันมีตลาดของมัน เวลาเราพูดถึงสินค้า premium สัก 10-15% ของปริมาณทั้งหมด ในที่นี้ก็หมายถึงเท่าไร 3-5 ล้านตัว เป็นข้าว premium ที่ซื้อขายกันเกวียนละ 23,000 แค่นั้นก็ช่วยเกษตรกรได้หลายแสนครัวเรือน ถามว่าทำไมจะทำไม่ได้ ทำได้อยู่แล้วครับ ขนาดผมกับทีมงานไม่กี่คนยังทำได้เลย
ผมว่านโยบายประชานิยมก็ยังโดนใจชาวนา ตราบใดที่เขามองไม่เห็นทางเลือกอื่น …เราจึงต้องรีบเร่งเสนอทางเลือกอื่น ที่เขาเห็นแล้วยอมรับว่ามันยั่งยืนกว่า
ไทยพับลิก้า: เท่าที่สัมผัสชาวนาตัวจริง ได้พบอะไรที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือเคยรู้มาอีกอย่างแต่ต้องเปลี่ยนความคิดบ้าง
ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เราจะเชื่อว่า องค์กรหรือตัวบุคคล ควรจะทำในสิ่งที่ตนถนัด ในสิ่งที่คุ้มค่าต่อการใช้ทรัพยากร แต่จากการที่ผมลงไปใกล้ชิดกับเกษตรกร ลงไปช่วยจริง ก็ได้พบว่าบางสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์มองข้ามก็คือเรื่องของวิถีชีวิต ซึ่งมันอธิบายยาก แล้วมันวัดยากด้วยเม็ดเงิน แต่ผมลงไปเห็นแล้วรู้สึกว่าการเป็นชาวนาเป็นวิถีชีวิตที่ควรรักษาไว้ถ้าทำได้ แต่การจะรักษาไว้ เขาก็ต้องอยู่ได้แบบมีศักดิ์ศรี คือเราจะให้เขาอยู่ไปแบบกันดาร อยู่ด้วยความยากจน ลูกหลานไม่มีโอกาส เพื่อรักษาทุ่งนาสวยๆ ไว้ให้เรา หรือลูกหลานเราได้มีโอกาสได้ enjoy ในอนาคต ผมว่ามันก็ไม่แฟร์ ชาวนาเขาก็อยากเป็นชาวนา แต่ที่มันเป็นไม่ได้ เพราะยิ่งทำมันยิ่งจน เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นตรงกันว่าอยากรักษาตรงนี้ เราต้องลงทุนลงแรงกันทุกคน แล้วมันคุ้มค่า ผมไม่ได้อยากจะเห็นชาวนาทั้งหมดเข้ามาทำงานในโรงงาน ไม่ได้อยากเห็นแปลงนาทั้งหมดกลายเป็นบ้านจัดสรรหรือโรงงาน
แต่ถ้า เราเพียงแต่อยากอย่างโน้น อยากอย่างนี้ แต่เราไม่ลงทุนลงแรกช่วยที่จะทำให้มันเป็นไปได้จริง มันก็เป็นไปไม่ได้ ผมจึงถือว่านี่คือส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะรักษาวิถีชีวิตและระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมที่มีเสน่ห์อย่างมากของชนบทไทย
ไทยพับลิก้า: สาเหตุหลักๆ ที่ชาวนาไทยยังหลุดพ้นจากความยากจนไม่ได้ เพราะอะไร
ปลูกข้าวได้น้อยเพราะน้ำไม่มี เมื่อปลูกแล้วก็ไม่ได้ราคา ในขณะที่ต้นทุนสูงขึ้นทุกวัน ผมเคยถาม คำถามนี้เลย สมมุติถ้าผมเป็นรัฐบาล แล้วผมให้คุณได้อย่างเดียว คุณอยากได้อะไร ผมก็นึกว่าเขาจะเอาปลดหนี้ จำนำข้าว ประกันรายได้ แต่ปรากฎว่า ไม่ เอาน้ำมาให้พวกเรา แล้วเขาจะทำให้เราดูว่า ชาวนาไทยจะเป็นเศรษฐีได้อย่างไร มันเรื่องเบสิก แต่ด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ที่เราทำให้เขาไม่ได้ ซึ่งเรื่องอย่างนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องทำ
ไทยพับลิก้า: ในอนาคต นโยบายอย่างจำนำข้าว ถ้ามีสักพรรคเสนอมา มันยังโดนใจชาวนาอยู่ไหม
ผมว่ายังโดนใจ ตราบใดที่เขามองไม่เห็นทางเลือกอื่น อันนี้มันคือเรื่องเฉพาะหน้า ถ้าบอกว่า ปีหน้าเขาจะได้เท่านั้นเท่านี้ ในขณะที่ยังไม่เห็นทางเลือกอื่น เราต้องรีบเร่งเสนอทางเลือกอื่น ที่เขาเห็นแล้วยอมรับว่ามันยั่งยืนกว่า