ThaiPublica > คอลัมน์ > คนไร้บ้าน ตอนที่ 1: house กับ home

คนไร้บ้าน ตอนที่ 1: house กับ home

29 พฤษภาคม 2015


ณัฐเมธี สัยเวช

ที่มาภาพ: https://goo.gl/mvjHBt
ที่มาภาพ: https://goo.gl/mvjHBt

มีสำนวนภาษาอังกฤษเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างคำว่า “house” และ “home” (ที่ภาษาไทยแปลว่าบ้านทั้งสองคำ) อยู่ว่า “A house is made of brick and stone. A home is made of love alone” หรือแปลได้ความประมาณว่า “ที่พักกายก่อด้วยอิฐและหินหนัก ที่พักใจก่อด้วยรักเพียงอย่างเดียว”

ซึ่งตรงนี้ ก็จะทำให้ได้ภาพความหมายที่ชัดเจนว่า house (ที่เราแปลว่าบ้าน) นั้นคือ “ที่พักกาย” ในขณะที่ home (ที่เราแปลว่าบ้านเช่นกัน) คือ “ที่พักใจ”

house คือบ้านทางโลกวัตถุ คือสิ่งปลูกสร้างที่จับต้องสัมผัสได้ ในขณะที่ home คือบ้านทางจิตใจ เป็นที่พักพิงทางความรู้สึก แดดฝนทางกายนั้นหลบใต้ house ได้ แต่แดดฝนทางใจนี่ต้องหลบใน home

หลายคนมี house แต่ไม่มี home

ในการนี้ “คนไร้บ้าน” ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “homeless” จึงสะท้อนสภาพปัญหาที่แท้จริงของประชากรกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี

แม้ในปัจจุบัน คำว่าคนไร้บ้านจะมาแทนที่ “คนจรจัด” ได้เกือบสนิท และเป็นคำที่มีความหมายดีกว่า ช่วยบรรเทาความหมายเชิงลบทางสังคมที่มีต่อคนกลุ่มนี้ แต่ก็เป็นคำที่ทำให้เข้าใจปัญหาคลาดเคลื่อนได้เช่นกัน

จริงๆ คนไร้บ้านไม่ใช่ไม่มี house หลายคนนั้นมี พูดอย่างเล่นคำคือ ในทุกที่ของพื้นที่สาธารณะที่หลับนอนได้ก็คือ house ของพวกเขา แต่ถ้าไม่เล่นคำ หรือก็คือพูดถึง house ในความหมายของสิ่งปลูกสร้างจริงๆ พวกเขาหลายคนก็มีเช่นกัน บางคนนั้นใช้ชีวิตสลับกันระหว่างการออกมากินอยู่ในที่สาธารณะกับที่ house พวกเขาหลายคนมี house เพียงแต่กลับไปไม่ได้ หรือบางทีคือไม่อยากกลับ เพราะ house มันไม่ home อุ้มกายแต่ไม่อุ้มใจ

ดังนั้น หากเราจะมองปัญหาของคนไร้บ้านว่าแค่ไม่มี house ก็คงจะผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปเยอะมากทีเดียว และจะนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดด้วย

ปัจจัยที่ห้ากับสาเหตุของการไร้บ้าน

เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า ปัจจัยสี่อันหมายถึงสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตนั้นประกอบด้วย อาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค

คำถาม: อะไรคือปัจจัยที่ห้า

หลายคนอาจจะคิดถึงรถยนต์ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต (และที่ขาดไม่ได้ก็คือ เงิน!!) แต่ผมอยากเสนอว่า ปัจจัยที่ห้าน่าจะเป็น “พื้นที่ปลอดภัย”

อนึ่ง พื้นที่ปลอดภัยที่ว่านี้ หมายถึงทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ หรือเราอาจจะเรียกได้อีกอย่างว่าความมั่นคงในชีวิต คำว่าพื้นที่ปลอดภัยนี้กินความหมายกว้างมาก ซึ่งที่กว้างก็เพราะแต่ละคนนั้นมีรายละเอียดขององค์ประกอบที่จะสร้างความสบายใจสบายใจแตกต่างกัน เราจะไม่พูดกันในประเด็นที่ว่าพื้นที่ปลอดภัยแบบไหนนั้นดีและถูกต้อง แต่จะพูดในฐานะที่ว่ามันคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ

หญิงไร้บ้านนอนบนถนนสุขุมวิท ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/BBCThai?fref=ts
หญิงไร้บ้านนอนบนถนนสุขุมวิท ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/BBCThai?fref=ts

คำว่า home ใน homeless นั้นสะท้อนถึงการขาดปัจจัยทั้งปวงตั้งแต่หนึ่งถึงห้า ดังจะเห็นได้จากการที่ทุกวันนี้ คนไร้บ้านด้วยสาเหตุจากการไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในหลายด้าน ซึ่งหลักๆ ที่พบได้คือ

1. การไม่มีพื้นที่ปลอดภัยทางสถาบันครอบครัว คนไร้บ้านหลายคนนั้นทะเลาะเบาะแว้งกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือกระทั่งคนรัก (บางรายเป็นเรื่องการของการใช้ความรุนแรงทั้งทางกายและใจในครอบครัวด้วย) ทำให้ต้องหนีออกมาในที่สุด เข้าทำนอง “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก”

2. การไม่มีพื้นที่ปลอดภัยทางเศรษฐกิจ การไร้บ้านในหลายกรณีเกิดจากการย้ายถิ่นฐานหางานทำ แต่เดินทางเท่าไหร่ก็ไม่ถึงแดนศิวิไลซ์สุดขอบฟ้าเสียที (ลองฟังเพลงนี้สิครับ ผมว่ามันใช่) บ้างหางานจนเงินหมด บางทีได้งานแล้วค่าแรงก็ไม่เพียงพอให้ตั้งหลัก เลวร้ายกว่านั้นคือโดนหลอกไปเป็นสินค้าในขบวนการค้ามนุษย์ ทุกอย่างจบลงด้วยการกลายเป็นคนไร้บ้าน ไม่ว่าจะด้วยแง่ของการไม่มีเงินกลับบ้าน กลับบ้านไปก็ไม่มีอะไรทางเศรษฐกิจดีขึ้น หรือกระทั่งรู้สึกอับอายว่าไม่สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างหวัง

3. การไม่มีพื้นที่ปลอดภัยทางสุขภาพ อาการเจ็บป่วยทั้งทางกายอย่างการเป็นโรคต่างๆ ที่สังคมไม่เข้าใจหรือกระทั่งรังเกียจ (เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี) หรืออาการเจ็บป่วยทางจิตประสาท เป็นเหตุให้หลายๆ คนต้องออกมาเป็นคนไร้บ้าน ทั้งในแง่ของการออกมาเองเพราะไม่อยากทำตัวเป็นภาระ หรือหลายกรณีก็ถูกไล่ออกมา (แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ไล่ออกมานี่บางทีก้ไม่ใช่ไล่กันโต้งๆ แต่ท่าทีของคนในครอบครัวหรือคนดูแลที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ ก็สามารถเป็นเหตุให้หนีออกมาเองได้เช่นกัน เรียกว่าระหว่างหนีออกมาเองกับถูกไล่ออกมานั้นมีความเหลื่อมซ้อนกันอยู่)

จากสาเหตุหลักดังกล่าว จะเห็นว่าการกลายเป็นคนไร้บ้านนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการไม่มี house สาเหตุของการกลายเป็นคนไร้บ้านนั้นมีอยู่อย่างหลากหลาย และเป็นส่วนผสมระหว่างการไม่มีพื้นที่ปลอดภัยทั้งทางกายและใจ home คือปัจจัยที่ห้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่คนเหล่านี้สูญเสียมันไป หรือเลวร้ายกว่านั้นคือพวกเขาไม่เคยมีมันเลย

คนไร้บ้านคือคนที่ละทิ้ง house ออกมาตามหา home ทว่า ในการแสวงหาพื้นที่ปลอดภัยของคนกลุ่มนี้ กลับมีผลลัพธ์เป็นการยิ่งพบเจอกับการไม่มีพื้นที่ปลอดภัยทั้งสามด้านดังกล่าวไปอย่างมากขึ้นไปอีก หนำซ้ำ ในหลายกรณียังเป็นการพบเจออย่างเพิ่มเติมและซ้ำซ้อน บางคนเคยมีพื้นที่ปลอดภัยด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ แต่ออกมาแล้วก็ต้องไม่มีในที่สุด และบางคนที่ไม่มีอยู่แล้ว พอออกมาก็กลับไม่มีเสียยิ่งกว่าเดิม

ดังนั้น ขั้นแรกที่ควรเข้าใจก็คือ ปัญหาใหญ่ของคนไร้บ้านไม่ใช่เรื่องไม่มี house แต่พวกเขาไม่มี home ในด้านต่างๆ และยิ่งสูญเสียมันไปเรื่อยๆ ในกระบวนการ “กลายเป็น” และ “เป็น” คนไร้บ้านนั่นเอง