ThaiPublica > เกาะกระแส > อ.ต.ก. ฟ้องเซอร์เวเยอร์-คลังสินค้าทำข้าวเสียหาย 27,409 ล้านบาท – นบข.ใช้ ม.44 เยียวยาชาวนาถูกโรงสีโกง15,000 บาท/ตัน

อ.ต.ก. ฟ้องเซอร์เวเยอร์-คลังสินค้าทำข้าวเสียหาย 27,409 ล้านบาท – นบข.ใช้ ม.44 เยียวยาชาวนาถูกโรงสีโกง15,000 บาท/ตัน

1 เมษายน 2015


ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 2/2558 ภาพจาก: http://www.thaigov.go.th/th/government-th1/item/90986-นรม-เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว.html
ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 2/2558 ภาพจาก: http://www.thaigov.go.th/th/government-th1/item/90986-นรม-เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว.html

อ.ต.ก.รายงานยื่นฟ้องเซอร์เวเยอร์-คลังสินค้า รวม 46 ราย มูลค่าความเสียหาย 2.74 หมื่นล้านบาท ที่ประชุมมีมติใช้กฎหมายมาตรา 44 เร่งเยียวยาชาวนาพิจิตรที่ถูกโรงสีโกง เคาะวงเงินช่วยเหลือ 15,000 บาท/ตัน ปลัดพาณิชย์ฯเผย 6 เดือนรัฐบาลประยุทธิ์ ระบายข้าวได้ 2.8 ล.ตัน หวั่นเลื่อนประมูลข้าวกระทบเป้า 10 ล.ตัน รมว.พาณิชย์แจง เจรจาผู้ค้าปุ๋ยลดราคา 50 บาท/กระสอบแล้ว หวังพยุงราคาข้าวที่ 8,2000-8,5000 บาท/ตัน

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 2/2558 โดยมี หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยมีนางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการและเลขานุการเข้าร่วมประชุม

ภายหลังการประชุม นบข.นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในที่ประชุมกรมการข้าวได้เสนอมาตรการในการที่จะทำให้ข้าวไทยเข้มแข็ง โดยการปรับเปลี่ยนเป้าหมายยุทธศาสตร์ข้าวไทย แผนงาน 5 ปี ทั้งการปรับโครงสร้างราคา ต้นทุนการผลิต เมล็ดพันธุ์ข้าว

“สำหรับตลาดข้าว การช่วยเหลือต่างๆ ในแต่ละขั้นตอทั้งหมด เป็นแผนงานก็รับทราบไว้ก่อน แต่เดี๋ยวคงต้องเข้า ครม.อีกครั้ง รายละเอียดคงพูดไม่ได้ตอนนี้หรอก เป็นแผนงานระยะยาวซึ่งต้องทำให้ได้ งานโซนนิ่งต่างๆ คงไม่ใช่พูดเรื่องข้าว นบข.อย่างเดียว เพราะหากจะให้เปลี่ยนข้าวไปเป็นปาล์ม ทำได้ไหม เปลี่ยนไปเป็นอ้อยทำได้ไหม ก็ต้องสร้างโรงงานเพิ่มอะไรทำนองนี้ สร้างโรงผลิตน้ำมันไบโอดีเซล E7 เรื่องยังคงพันกันไปหมด”

อ.ต.ก. ฟ้องเซอร์เวเยอร์-คลังสินค้า 46 ราย เสียหาย 27,409.26 ล้านบาท

ด้านนางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมถึงความคืบหน้าการแจ้งความดำเนินคดีกับคู่สัญญา ที่ขณะนี้องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ได้ดำเนินการแจ้งความกับเซอร์เวเยอร์และเจ้าของคลังสินค้า รวมทั้งสิ้น 46 ราย 272 โกดังกลาง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 โดยแบ่งแยกตามปริมาณและความเสียหายรวมทั้งสิ้น 281 คลัง ปริมาณ 1.37 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 27,409.26 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มผิดชนิดข้าว 7 คลัง ปริมาณ 17,428 ตัน มูลค่า 285 ล้านบาท กลุ่มข้าวเสีย 15 คลัง ปริมาณ 39,418 ตัน มูลค่า 588 ล้านบาท และกลุ่มข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน 259 คลัง ปริมาณ 1.316 ล้านตัน มูลค่า 26,536 ล้านบาท(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ผลการสำรวจข้าวในสต๊อก

ท้งนี้ นบข.มีมติเห็นชอบให้การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรจังหวัดพิจิตร จำนวน 229 รายในวงเงินประมาณ 52 ล้านบาท ที่ได้รับผลกระทบจากการทุจริตของโรงสี ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 55/56

โดยชาวนาจะได้รับเงินเยียวยาในราคาข้าว 15,000 บาท/ตัน ตามราคารับจำนำ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทันที โดยไม่ต้องรอให้คดีความสิ้นเสร็จ เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าประชาชนมีความเดือดร้อน เป็นการใช้กฎหมายมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557

“เรื่องของการช่วยเหลือชาวนา จังหวัดพิจิตรที่ถูกโกง ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ยื่นเรื่องมา โดยรัฐบาลชุดนี้ก็อยากจะเยียวยาช่วยเหลือเขา เพียงแต่ว่าที่ช้าไปก็เนื่องจาก ตัวเลขที่กรรมการสิทธิ์ฯ ยื่นมานั้นคลาดเคลื่อน กระทั่งวันนี้ได้รับการยืนยันแล้วว่าตัวเลขที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้มีการช่วยเหลือเยียวยา เพียงแต่ต้องทำให้ถูกกฎหมาย เนื่องจากมีผู้ทักท้วงมาว่า หากจะดำเนินการช่วยเหลือเยียวยานั้นต้องให้การดำเนินคดีสิ้นสุดก่อนเนื่องจากชาวนาถูกโกง แต่เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการช่วยเหลือชาวนา จึงหาวิธีการที่จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นำเงินออกไปเยียวยาได้โดยไม่ต้องรอจนคดีสิ้นสุด”

6 เดือนระบายข้าว 2.8 ล้านตัน

เมื่อผู้สื่อข้าวถามต่อไปว่า ข้านาปรัง ณ ปัจจุบันนี้เหลือปริมาณเท่าไร นางสางชุติมา กล่าวว่า ภายหลังรัฐบาลออกนโยบายลดพื้นที่เพาะปลูก ตัวเลขปริมาณข้าวลดลงไป 6.7 ล้านตัน ลดลงไปปริมาณ 30% จากเดิม

ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการระบายข้าวของรัฐบาล โดยทำการระบายไปแล้วทั้งสิ้น 2.8 ล้านตัน ตั้งแต่ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาบริหารงาน โดยในปริมาณดังกล่าว จำนวน 8 แสนตัน เป็นข้าวในฤดูใหม่ที่ขายไปโดยใช้ข้าวในตลาดแลกกับข้าวในสต๊อก และเป็นข้าวในสต๊อกอีกจำนวน 2 ล้านตัน ซึ่งจะฉุดราคาข้าวในตลาดให้สูงขึ้น เนื่องจากนำอุปทานออกไปจากประเทศ

ส่วนการประมูลข้าวรอบที่ 3 ต้องชะลอไว้เนื่องจากเมื่อมีการประมูลไป 2 ครั้ง ที่ผ่านมาต้องทำการตรวจสอบผู้เข้าร่วมประมูลใหม่จากที่พบว่าไม่สามารถขายข้าวให้กับผู้ประมูลบางรายได้ ทำให้แผนการประมูลล่าช้าไป 2 สัปดาห์ จึงต้องเลื่อนไปก่อน เนื่องจากปัจจุบันข้าวฤดูกาลใหม่ออกมาแล้ว รัฐบาลไม่ต้องการให้ราคาข้าวฤดูใหม่ตก เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับข้าวฤดูใหม่ ต้องการเห็นราคาข้าวในตลาดในเกณฑ์ที่สูงที่ชาวนาจะได้กำไร รัฐบาลจึงไม่ทำอะไรที่จะเป็นการกดดันตลาด

“สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะกระทบต่อเป้าการระบายข้าวที่ตั้งไว้ที่ 10 ล้านตัน ในปี 2558 แต่ขณะนี้รัฐบาลยังคงมุ่งที่จะทำให้ได้ตามเป้า โดยปริมาณข้าวในปี 2558 ที่ลดลงจะเป็นปัจจัยที่เอื้อให้รัฐบาลทำตามเป้าได้ อาจจะมีจังหวะให้รัฐบาลได้ระบายข้าวได้อีกครั้ง”

สำหรับราคาข้าวเปลือกที่ตกลงมา นางสาวชุติมา กล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าให้ราคาข้าวไม่ต่ำกว่า 8,200-8,500 บาท/ตัน แต่ในปี 2558 ต้องยอมรับว่ามีปัญหาในเรื่องของคุณภาพข้าว จากการที่เจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่การเพาะปลูกข้าวพบว่าข้าวมีคุณภาณต่ำ หากเทียบกับในปีก่อนๆ เนื่องจากภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลต่อราคา (ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 7,800-8,200 บาท/ตัน แล้วแต่คุณภาพ และประเภทข้าว) โดยรัฐบาลจะเข้าไปช่วยให้ได้มากที่สุด โดยการลดต้นทุนให้กับชาวนา

ตั้งงบ 582 ล้าน อุ้มดอกเบี้ย 3% หนุนโรงสีเก็บสต๊อกข้าว

พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกข้าวนาปรัง ปี 2558 โดยชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินสำหรับซื้อข้าวในตลาด ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวไม่ตก ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีสภาพคล่อง

“ปัจจุบันมีโรงสีเข้าร่วมโครงการในการรับซื้อข้าวทั้งหมด 140 ราย ใน 34 จังหวัด ผ่านธนาคารทั้งหมด 9 ธนาคาร วงเงินกู้ทั้งหมดที่เสนอมาตอนนี้คือ 38,796 ล้านบาท แต่ว่ารัฐบาลใช้เงินงบประมาณในการพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยเพียง 582 ล้านบาท”

นางสาวชุติมา กล่าวต่อไปว่า พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานต่อที่ประชุมเพิ่มเติมถึงการเชิญสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยมาหารือ ได้ข้อสรุปว่าทางสมาคมฯ จะทำการลดราคาปุ๋ยให้แก่ชาวนา เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2558 เป็นต้นไป โดยจะราคาปุ๋ยจะลดลง 50 บาท/กระสอบ

สถานการณ์การตลาดข้าว รายงานชี้ไทยยังเป็นผู้นำตลาด

นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ข้าวโลก โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ ปีการผลิต 2557/58 ผลผลิตข้าวโลกจะมีประมาณ 474.86 ล้านตัน ลดลงจากปีการผลิต 2556/57 ร้อยละ 0.47 เนื่องจากผลผลิตข้าวอินเดียและปากีสถานลดลงเป็น 102.50 ล้านตัน และ 6.5 ล้านตัน ตามลำดับ

ทั้งนี้ผลผลิตข้าวโลกดังกล่าวต่ำกว่าการบริโภคข้าวโลก ซึ่งมีปริมาณ 483.67 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 1.82 ในขณะที่ปริมาณสต็อกข้าวโลกต้นปี 2557/58 อยู่ที่ประมาณ 106.46 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 3.35

เนื่องจากสต๊อกข้าวของจีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ ลดลงเหลือประมาณ 46.81 ล้านตัน 22.65 ล้านตัน และ 11.24 ล้านตัน ตามลำดับ และในปี 2558 คาดว่าการค้าข้าวโลกจะมีประมาณ 42.62 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนซึ่งมีปริมาณ 43.22 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 1.39 เนื่องจากคาดการณ์ว่าอินเดีย และปากีสถานจะส่งออกข้าวลดลงเหลือประมาณ 9.00 ล้านตัน และ 3.9 ล้านตัน ในขณะที่ฟิลิปปินส์ สหภาพยุโรป และแองโกลาจะนำเข้าข้าวลดลง เป็น 1.70 ล้านตัน 1.50 ล้านตัน และ 0.45 ล้านตัน ตามลำดับ

รายงานในที่ประชุมระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2558 ไทยส่งออกข้าวมากที่สุดประมาณ 1.47 ล้านตัน รองลงมาเป็นอินเดีย 1.46 ล้านตัน ปากีสถาน 0.95 ล้านตัน และเวียดนาม 0.78 ล้านตัน อีกทั้ง ราคาส่งออกข้าวขาวของไทยสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแม้ว่าจะทรงตัว และปรับตัวลดลงโดยข้าวขาว 5% สูงกว่าคู่แข่ง ตันละ 10 – 45 เหรียญสหรัฐฯ ข้าวขาว 15% สูงกว่าตันละ 40 – 65 เหรียญสหรัฐฯ และข้าวขาว 25% สูงกว่าตันละ 15 – 60 เหรียญสหรัฐฯ

ขณะเดียวกันสถานการณ์ข้าวไทยคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวนาปีดูใหม่ออกสู่ตลาดเกือบทั้งหมด ประมาณ 26.88 ล้านตันคิดเป็นร้อยละ 99.17 และในเดือนมีนาคม 2558 ออกสู่ตลาดประมาณ 0.12 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 0.43 ซึ่งในเดือนมกราคม 2558 ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเจ้ามีมากที่สุด ประมาณ 0.61 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบจากเดือนมกราคม 2557 ร้อยละ 7.07 รองลงมาเป็นข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวประมาณ 0.04 ล้านตัน และข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ประมาณ 0.03 ล้านตัน ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกข้าวไทยตั้งแต่ 1 มกราคม – 25 มีนาคม 2558 ไทยส่งออกข้าวประมาณ 2.15 ล้านตัน มูลค่า 1,112 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (36,108 ล้านบาท) ลดลงจากช่วงเดียวกันของ ปี 2557 ซึ่งประมาณ 2.36 ล้านตัน มูลค่า 1,225 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 8.90 และ 9.22 ตามลำดับ ขณะที่ตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยส่วนใหญ่เป็นตลาดภูมิภาคแอฟริกา โดยมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 41.34 ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมาได้แก่ตลาดภูมิภาคเอเชีย อเมริกา และยุโรป ร้อยละ 39.22 ร้อยละ 8.66 และร้อยละ 5.23 ตามลำดับ

นอกจากนี้แนวโน้มการส่งออกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับตลาดนำเข้าข้าวในต่างประเทศพยายามที่จะเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตข้าว เพื่อให้เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ และลดการนำเข้าข้าว ได้แก่ อินโดนีเซีย และไนจีเรีย เป็นต้น ที่สำคัญประการหนึ่งตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยในภูมิภาคแอฟริกายังคงนิยมสั่งซื้อข้างนึง และปลายข้าวส่วนภูมิภาคเอเชีย และอเมริกา นิยมบริโภคข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว และข้าวหอมปทุมธานี ในขณะที่ภูมิภาคยุโรปนิยมสั่งซื้อข้าวกล้องเป็นส่วนใหญ่