ThaiPublica > เกาะกระแส > ผลงาน 6 เดือนกระทรวงศึกษากับหลักสูตร-เกณฑ์ใหม่ปีการศึกษา’58 ลดกิจกรรมครู ฟื้นโครงการคุรุทายาท หนุนสร้างเด็กอาชีวะ

ผลงาน 6 เดือนกระทรวงศึกษากับหลักสูตร-เกณฑ์ใหม่ปีการศึกษา’58 ลดกิจกรรมครู ฟื้นโครงการคุรุทายาท หนุนสร้างเด็กอาชีวะ

24 เมษายน 2015


กระทรวงศึกษาธิการแถลงผลงานในรอบ 6 เดือน เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2558
กระทรวงศึกษาธิการแถลงผลงานในรอบ 6 เดือน เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2558

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนของกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกอบด้วย 6 กลุ่มงาน พบผลงานเด่นเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและครู โดยลดวิชาสอบโอเน็ต ลดกิจกรรมดึงครูออกนอกห้องเรียน แก้ปัญหาการขาดแคลนครูด้วยโครงการพิเศษ และเปลี่ยนเกณฑ์การประเมินครูที่เน้นคุณภาพในห้องเรียน ด้านอาชีวศึกษาผุดหลายโครงการใหม่เพื่อส่งเสริมการศึกษาสายอาชีพและผลิตกำลังคนให้ต้องความต้องการของตลาด พร้อมเปิดเผยว่าพอใจผลงานของทุกองค์กร

เมื่อวันที่ 24 เมษายน พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า พึงพอใจกับการทำงานของทุกองค์กร ที่ทุ่มเททำงานจนประสบความสำเร็จในหลายเรื่อง และจะขยายผลการทำงานต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาด้านต่างๆ ซึ่งน่าจะเห็นรูปธรรมที่ชัดเจนในปีการศึกษา 2558 สำหรับผลงานของกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมา 6 เดือนนั้น แบ่งเป็น 6 กลุ่มคือ 1. การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ 2. การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 3. การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา 4. การผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับการพัฒนาประเทศ 5. การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ และ 6. การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ลดกิจกรรมครู ลดวิชาสอบโอเน็ต ปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน

พลเรือเอก ณรงค์กล่าวว่า ที่ผ่านมามีกิจกรรมจำนวนมากในโรงเรียนมีปัญหากระทบต่อเวลาเรียนของนักเรียนในชั้น และดึงครูออกจากห้องเรียน ดังนั้น กระทรวงฯ จึงปรับลดกิจกรรมที่ดึงครูและนักเรียนออกจากห้องเรียนให้เหลือเพียงร้อยละ 10 ของเวลาเรียนทั้งหมด หรือประมาณ 20 วัน โดยการตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นทิ้งและบูรณาการบางกิจกรรมเข้าด้วยกัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในปีการศึกษาหน้า

อีกทั้งปรับลดการทดสอบทางการศึกษาโอเน็ตเหลือเพียง 5 กลุ่มสาระวิชาที่จำเป็นจากเดิมที่ต้องสอบ 8 กลุ่มสาระ และนำวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ มาบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา และปรับปรุงหลักสูตรที่เน้นการเพิ่มพูนความรู้และเสริมสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ ยังกระจายอำนาจบริหารจัดการศึกษาจากส่วนกลางไปสู่โรงเรียนรวม 300 แห่งใน 20 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ที่โรงเรียนจัดหลักสูตรการศึกษาและรูปแบบการเรียนการสอนได้เอง โดยส่วนกลางจะประเมินผลทุก 3 หรือ 6 เดือน รวมทั้งได้จัด Reform Lab และ Coaching Lab เพื่อพัฒนาผู้บริหารในเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน และครูซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

ส่วนปัญหาการอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ของผู้เรียนนั้น กระทรวงฯ ลงพื้นที่สำรวจปัญหาอย่างครบถ้วนและแก้ปัญหานักเรียนรายบุคคล โดยมีเป้าหมายให้ปีการศึกษา 2558 เป็นปีปลอดเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ รวมทั้งยังได้ปรับการเรียนการสอนภาษาไทยในชั้นเรียน โดยเน้นการแจกลูกสะกดคำให้เป็นไปตามหลักภาษาไทยที่ถูกต้อง เสริมด้วยการจัดทำแบบฝึกอ่านภาษาไทยให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ซึ่งได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการนิเทศเพื่อพัฒนาเทคนิคการสอนให้กับครูทั่วประเทศ

ฟื้นโครงการคุรุทายาท แก้ปัญหาขาดแคลนครู เปลี่ยนเกณฑ์เลื่อนวิทยฐานะ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวต่อว่า ด้านการพัฒนาครูได้ผลักดันคุรุสภาให้ออกประกาศเพื่อกำหนดประเภทวิชาและสาขาวิชาวิชาชีพที่ขาดแคลน โดยผ่อนปรนให้ผู้ที่มีคุณวุฒิสาขาขาดแคลนสามารถขอหนังสืออนุญาตให้ปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพจากคุรุสภาสำหรับใช้ในการสมัครสอบครูผู้ช่วยได้ตามหลักเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนด ซึ่งที่ผ่านมาผ่อนผันไปแล้วกว่า 100 สาขาวิชาทั้งครูในระบบสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา

นอกจากนี้ ยังปรับปรุงหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง โยกย้าย และการเลื่อนวิทยฐานะ โดยการประเมินครูจากห้องเรียน ที่สะท้อนคุณภาพของผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งส่งผลให้ครูใช้เวลาในการสอนมากกว่าทำผลงานทางวิชาการ ทั้งนี้คาดว่าจะประกาศใช้เกณฑ์การประเมินแบบใหม่นี้ภายใน 1 เดือน อีกทั้งยังเปลี่ยนระบบการพัฒนาครูจากการอบรมครูนอกสถานที่มาจัดการอบรมแบบ Coaching Team ให้กับครูในพื้นที่โดยตรง เพราะสร้างประโยชน์ในการเรียนได้มากกว่าเนื่องจากครูไม่ต้องทิ้งห้องเรียนและช่วยประหยัดงบประมาณ

“ขณะนี้กระทรวงฯ กำลังดำเนินการฟื้นโครงการคุรุทายาทกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้ผลิตครูได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นและสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูและปัญหาการย้ายครูได้ในระยะยาว ซึ่งอาจจะมีการทำสัญญากับนักเรียน ม.6 ที่จะเข้าร่วมโครงการว่าต้องกลับไปเป็นครูในภูมิลำเนา” พลเรือเอก ณรงค์กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ปัญหาหนี้สินครู โดยกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีหนี้สินขั้นวิกฤติ โดยจะช่วยประสานให้ผู้เกี่ยวข้องชะลอการฟ้องรองดำเนินคดี การบังคับคดี และให้มีการชำระหนี้เฉพาะเงินต้นเป็นเวลา 3 ปี โดยพักดอกเบี้ย ระยะปานกลาง เพื่อช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในภาวะใกล้วิกฤติหรือมีหนี้ค้างมากกว่า 12 เดือน และระยะยาว เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ชั้นดี โดยพิจารณาลดดอกเบี้ยควบคู่กับการส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงินและสามารถวางแผนการดำเนินชีวิตที่ดี

ส่งเสริมการศึกษาอาชีวะ

พลเรือเอก ณรงค์กล่าวต่อว่า อาชีวศึกษามีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการต้องผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการตลาด โดยเฉพาะเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญ เช่น ระบบราง ระบบการบริหารจัดการน้ำ และระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเพิ่มกำลังคนให้เพียงพอต่อความต้องการ และแก้ปัญหาความขาดแคลนแรงงานอาชีพในปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงฯ ได้สร้างความร่วมมือกับเอกชนในการจัดการศึกษา แบ่งเป็น

1. การจัดการศึกษาแบบทวิภาคี ระหว่างสถาบันอาชีวศึกษากับผู้ประกอบการ ที่ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู รวมทั้งเพิ่มทักษะวิชาชีพให้แก่นักเรียน โดยการฝึกอาชีพตามหลักสูตร และฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ เพื่อผลิตกำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคบริการ โดยขยายผลการดำเนินงานตามกรอบงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) ซึ่งโครงการนี้ทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน และรับประกันได้ว่าจะมีงานทำแน่นอนหลังสำเร็จการศึกษา โดยปัจจุบันมีภาคเอกชนกว่า 8,000 แห่งที่เข้าร่วมทวิภาคีดังกล่าว ซึ่งมีนักเรียนในโครงการกว่า 60,000 คน

2. จัดหลักสูตรการศึกษาแบบทวิศึกษา คือ การจัดหลักสูตรสายสามัญควบคู่สายอาชีพอาชีวศึกษา ให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาเรียนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งหลักสูตรนี้เกิดขึ้นได้จากการร่วมมือกันระหว่างสถาบันการศึกษาสายสามัญกับสถาบันการศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งเริ่มโครงการแล้วที่ร้อยเอ็ดและมหาสารคาม และเมื่อจบการศึกษาแล้วผู้เรียนจะได้วุฒิการศึกษาทั้ง 2 สาย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดทักษะทางอาชีพของแรงงานที่ออกจากระบบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา และส่งเสริมศักยภาพให้กับนักเรียนที่ต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงานให้เป็นแรงงานมีฝีมือ รองรับการพัฒนา SMEs ของประเทศ รวมทั้งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการศึกษาต่อ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการทุนช่างเทคนิคและนักปฏิบัติ หรือ TTS (Technician & Technologist Scholarship) ที่เปลี่ยนมาจากโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (ODOS) เพื่อจัดสรรทุนให้กับผู้เรียนสายอาชีพได้ศึกษาต่อเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการภาคเอกชน เขตเศรษฐกิจ และท้องถิ่น อย่างแท้จริง ซึ่งอาจต้องทำสัญญาด้วยว่าต้องใช้ทุนโดยเป็นครูในสายอาชีพ ขณะที่โครงการ ODOS ทั้งหมด 4 รุ่นที่ผ่านมาสร้างประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปปีละกว่า 10,000 ล้านบาท แต่สร้างบุคลากรสายอาชีพได้เพียงคนเดียว

สำหรับปัญหาความรุนแรงของนักเรียนสายอาชีวศึกษา กระทรวงแก้ไขปัญหาในระยะยาวโดยใช้หลักสูตรเตรียมอาชีวศึกษา (Pre.Voc.Ed.) เพื่อให้นักเรียนที่จะเข้าเรียนอาชีวศึกษาต่างสถาบันเข้าค่ายร่วมกันประมาณ 1 เดือน เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสพบกันและฝึกระเบียบวินัยและการอยู่ร่วมกัน ซึ่งจากการเริ่มทดลองโครงการในปลายปี 2557 พบว่าผู้ปกครองไว้วางใจอาชีวศึกษามากขึ้น นักเรียนรักใคร่กลมเกลียวกัน ซึ่งกระทรวงฯ จะขยายผลต่อไปโดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ให้นักเรียนของสถาบันอาชีวศึกษาที่มีความขัดแย้งมาอยู่ร่วมกัน

เรียนผ่านดาวเทียมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

“เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาที่เป็นปัญหามายาวนาน กระทรวงฯ จึงขยายผลโครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันประสบความสำเร็จมาก มีโรงเรียนได้รับประโยชน์แล้ว 15,369 แห่ง ครอบคลุมนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 1,015,974 คน และกำลังขยายผลการดำเนินโครงการสู่การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและมีความเหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ครู ณ จุดปลายทางก็ยังเป็นส่วนสำคัญมากในการศึกษา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าว

ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ

รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ให้ความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษามาโดยตลอด ที่สอดคล้องกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และซูเปอร์บอร์ดด้านการศึกษาโดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง มีแนวทางสำคัญ 2 ระยะ คือ

ระยะเร่งด่วน เน้นสร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนเป็นหลัก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนโดยตรง ดังนั้น กระทรวงฯ จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ ที่สำคัญก่อนและขยายผลออกไปเรื่อยๆ

สำหรับในระยะยาวนั้น กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเรียนรู้ การพัฒนาหลักสูตร ปรับปรุงระบบการทดสอบทางการศึกษา ระบบการผลิตและพัฒนาครู ปรับปรุงกฎหมายการศึกษา และพัฒนาระบบงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษา ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและการติดตามประเมินผล ให้มีความทันสมัยและเอื้อต่อการจัดการศึกษาในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตที่มีความสำคัญอย่างมากในอนาคต

เตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

ในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้นต้องพัฒนาการศึกษาซึ่งเป็นพื้นฐานการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยวางยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอาเซียนศึกษาในภูมิภาค 13 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมเสริมความรู้ทั้งด้านภาษาอาเซียน วัฒนธรรมและประเพณีอาเซียน รวมทั้งจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 48 ซึ่งจะมีรัฐมนตรีด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 11 ประเทศ และประเทศสมาชิกสมทบ 8 ประเทศ มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสานความร่วมมือด้านการศึกษาร่วมกัน