ThaiPublica > คอลัมน์ > อคติในใจกับคำถามที่คนส่วนใหญ่ตอบกันไม่ได้

อคติในใจกับคำถามที่คนส่วนใหญ่ตอบกันไม่ได้

25 มีนาคม 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

คุณว่าคุณสามารถหาคำตอบให้กับปัญหานี้ได้ไหมถ้าคุณไม่เคยได้ยินมันมาก่อน

ป.ล. ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาเชาว์เเละก็ไม่ใช่ปัญหาที่เป็นตรรกวิทยานะครับ เเต่ผมขอบอกไว้ก่อนว่ามีน้อยคนนักที่สามารถตอบคำถามนี้ได้ทันทีถ้าไม่เคยได้ยินมาก่อน

“ผู้ชายคนหนึ่งกำลังขับรถพาลูกชายเเท้ๆ ของเขาไปดูบอลด้วยกันที่สนามราชมังคลาฯ เเต่ระหว่างทางได้เกิดอุบัติเหตุทำให้รถที่เขาขับชนกับต้นไม้ข้างทาง ผู้ชายคนนั้นเสียชีวิตทันที ส่วนลูกชายของเขาได้รับบาดเจ็บสาหัสเเละถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง ขณะที่ตัวลูกชายกำลังนอนอยู่บนเตียงเพื่อรอการผ่าตัดอยู่นั้น หัวหน้าหมอผ่าตัดก็ได้เดินเข้ามาในห้องผ่าตัดพร้อมกันกับผู้ช่วยหมอผ่าตัดอีกสามคน เเต่ทันทีที่หัวหน้าหมอผ่าตัดคนนั้นมองไปเห็นเด็กผู้ชายที่กำลังนอนอยู่บนเตียงเขาก็เกือบที่จะต้องทรุดลงไปนั่งอยู่กับพื้น นั่นก็เป็นเพราะว่าเด็กผู้ชายที่กำลังนอนอยู่บนเตียงนั้นไม่ใช่ใครอื่นเเต่เป็นลูกเเท้ๆ ของเขานั่นเอง

คำถามก็คือว่า หัวหน้าหมอผ่าตัดคนนี้เป็นอะไรกับเด็กผู้ชายที่นอนอยู่บนเตียง”

อคติในใจที่เรามองไม่เห็น

คุณว่าคุณเป็นคนที่มีอคติกับคนที่ด้อยโอกาสกว่าคุณไหม

ยกตัวอย่างเช่น คุณว่าคนที่มีการศึกษาน้อยกว่าตัวคุณควรที่จะมีเสียงที่ดังเท่ากับคุณไหม เเล้วคุณว่าคนที่พิการควรที่จะมีโอกาสที่จะได้ทำงานเท่าๆ กันกับคนที่ไม่พิการหรือเปล่า เเล้วผู้หญิงล่ะ คุณว่าผู้หญิงควรที่จะมีสิทธิเท่าเทียมกันกับผู้ชายในสังคมยุคนี้เเล้วหรือยัง

ผมขอเดาว่าคุณผู้อ่านส่วนใหญ่ก็คงจะเห็นด้วยกันกับผมก็คือ คนทุกคนในโลกควรที่จะมีสิทธิเท่าเทียมกันในหลายๆ เรื่อง อย่างน้อยก็คือเรื่อง basic rights ไม่ว่าจะรวยหรือจน ไม่ว่าจะพิการไม่พิการ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย คนทุกคนในโลกควรที่จะมีสิทธิเท่าเทียมกันในการที่จะมีโอกาสออกเสียง โอกาสทางด้านการศึกษา โอกาสทางด้านการได้รับการดูเเลสุขภาพจากรัฐ เเละผมก็เชื่ออีกว่าพวกเราหลายคนก็คงจะไม่อายในการยอมรับความคิดที่เป็น basic human rights เหล่านี้กับคนอื่นๆ ทั่วไป

เเต่มันเป็นความจริงหรือที่เราจะคิดอย่างนั้นจริงๆ จากประสบการณ์ของผมในการทำวิจัยเกี่ยวกับความสุขเเละการพฤติกรรมของคน มันจะมีประสบการณ์อยู่ประสบการณ์หนึ่งที่ผมมักจะเห็นอยู่บ่อยๆ นั่นก็คือ เวลาคนเราถูกถามคำถามที่ค่อนข้างจะ sensitive (อย่างเช่นคุณมีเงินเดือนเท่าไหร่ หรือคุณเกลียดคนที่จนกว่าคุณไหม) คนเราส่วนใหญ่มักจะให้คำตอบที่ทำให้ตัวเองดูดีกว่าความเป็นจริงทั้งในสายตาของคนที่ถามเเละในสายตาของตัวเราเองด้วย นักจิตวิทยาเรียกพฤติกรรมในการให้คำตอบกับคนอื่นที่ฟังดูดีกว่าความเป็นจริงว่า social desirability bias เเละเรียกพฤติกรรมในการให้คำตอบที่ทำให้ตัวเราเองรู้สึกดีกับตัวเราเองว่า self-serving bias

Project Implicit

social desirability bias เเละ self-serving bias เป็นต้นเหตุที่ทำให้คนเราส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยรู้หรือไม่ค่อยยอมรับความรู้สึกจริงๆ ที่อยู่ในใจของตัวเอง เเละก็เป็นสาเหตุที่ทำให้การวัดความคิดเห็นจริงๆ ที่คนส่วนใหญ่มีต่อคนกลุ่มน้อยในสังคมเป็นอะไรที่ทำได้ยาก

ด้วยเหตุผลนี้นี่เองทำให้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Havard) เเละมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (Virginia) ได้คิดค้นวิธีการที่จะใช้วัดความคิดเห็นจริงๆ จากจิตใต้สำนึกของคนที่ปราศจาก social desirability bias เเละ self-serving bias โดยวิธีการวัดของนักวิจัยเหล่านี้เป็นการวัดความคิดที่เป็นอัตโนมัติของคน (เเทนที่จะใช้คำตอบที่กลั่นมาจากการไตร่ตรองว่าคนอื่นๆ จะคิดกับคำตอบของเรายังไง) พวกเขาเรียกการโปรเจกต์ของพวกเขาตัวนี้ว่า Project Implicit

ผมขอไม่อธิบายวิธีการของ Project Implicit ไว้ ณ ที่นี้เพราะ Project Implicit เป็นอะไรที่คุณควรผู้อ่านควรจะประสบด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้าคุณผู้อ่านอยากทราบว่าจริงๆ เเล้วนั้นคุณผู้อ่านมีอคติกับคนกลุ่มน้อย (ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ คนเเก่ หรือเพศหญิง) มากน้อยเเค่ไหน ผมขอเเนะนำให้คุณผู้อ่านไป log in เเละทำการทดลองกับตัวเองที่ https://implicit.harvard.edu/implicit/ เเละเลือก Project Implicit Social Attitudes นะครับ (สำหรับคุณผู้อ่านที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษสามารถเลือกภาษาไทยได้โดยไปที่ https://implicit.harvard.edu/implicit/thailand/ นะครับ

เเล้วหัวหน้าหมอผ่าตัดคนนี้เป็นอะไรกับเด็กผู้ชายที่นอนอยู่บนเตียงล่ะ

อ้อ ผมเกือบลืมเฉลยคำตอบให้กับคนที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เเต่ก่อนอื่นผมต้องบอกก่อนว่าคำถามที่ผมถามไปเบื้องต้นนั้น เป็นคำถามที่ใช้หลักการการวัดความคิดเห็นจริงๆ ในใจของเราคล้ายๆ กันกับกลไกที่ใช้ใน Project Implicit ผมจำได้ว่าครั้งเเรกที่ผมได้ยินคำถามนี้ผมก็หาคำตอบไม่ได้เหมือนกัน เอาเป็นว่าตัวผมเองก็มีอคติในใจที่ผมในตอนนั้นก็มองไม่เห็นเหมือนกัน

คำตอบก็คือหัวหน้าหมอผ่าตัดคนนี้เป็นคุณเเม่ของเด็กผู้ชายคนนั้นครับผม