ThaiPublica > เกาะกระแส > สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี-วัดธรรมกาย ปล่อยกู้ทำบุญ 230 ล้านบาท – สมาชิกโวยถอนเงินไม่ได้ เกี่ยวโยง”ศุภชัย ศรีศุภอักษร” สหกรณ์ฯคลองจั่น

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี-วัดธรรมกาย ปล่อยกู้ทำบุญ 230 ล้านบาท – สมาชิกโวยถอนเงินไม่ได้ เกี่ยวโยง”ศุภชัย ศรีศุภอักษร” สหกรณ์ฯคลองจั่น

25 กุมภาพันธ์ 2015


ตั้งแต่ต้นปี 2558 วัดพระธรรมกายอยู่ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมมาโดยตลอด ตั้งแต่กิจกรรมเดินธุดงค์ธรรมชัยโปรยดอกดาวเรือง ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยขบวนพระสงฆ์กว่า 1 พันรูปเดินผ่านหลายพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือน เรียกทั้งความศรัทธาและคำต่อว่าจากชาวกรุงที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาจราจร จนมาถึงกรณีกรรมาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หยิบยกพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชเมื่อปี 2542 ที่ระบุว่าเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต้องอาบัติปาราชิก จนโฆษกมหาเถรสมาคม (มส.) ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงล่าสุด

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่วัดธรรมกายและพระได้รับเงินบริจาคจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และกำลังเป็นคดีฟ้องร้องเรียกเงินคืนนั้น ล่าสุดสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกรายหนึ่งของสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี ว่าไม่สามารถถอนเงินในบัญชีของตนและครอบครัวรวมแล้วกว่า 4 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินที่ฝากไว้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นอีก 3 ล้านบาท เป็น 7 ล้านบาท ทั้งนี้ได้ขอลาออกเพื่อปิดบัญชีมากว่า 1 ปีแล้ว

สหกรณ์มงคลเศรษฐี-1

สมาชิกรายนี้เปิดเผยว่า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐีตั้งอยู่ในวัดพระธรรมกาย เป็นสหกรณ์ที่มีความเกี่ยวพันกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยมีอดีตผู้บริหารและผู้ก่อตั้งสหกรณ์ทั้ง 2 แห่ง เป็นคนเดียวกัน คือ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ซึ่งปัจจุบันถูกตั้งข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์ ฉ้อโกงประชาชนในกรณีสหกรณ์ฯ คลองจั่นกว่า 10,000 ล้านบาท และถูกยึดทรัพย์มูลค่ามากกว่า 4,000 ล้านบาท

สมาชิกรายนี้เปิดเผยต่อว่า ภรรยาของตนเป็นลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย และได้รับการชักชวนจากกัลยาณมิตรของวัด รวมทั้งเชื่อใจนายศุภชัยเนื่องจากเป็นศิษย์คนสำคัญของวัด อีกทั้งในขณะนั้นสหกรณ์ฯ ทั้งสองให้ผลตอบแทนในระดับสูง โดยจ่ายปันผลสำหรับหุ้นถึง 8% และจ่ายดอกเบี้ยออมทรัพย์พิเศษสำหรับเงินฝากถึง 3.5-5.25% จึงนำเงินเก็บทั้งชีวิตและเงินบำนาญมาฝากที่สหกรณ์ฯ มงคลเศรษฐี และสหกรณ์ฯ คลองจั่น แต่หลังจากทราบข่าวว่านายศุภชัยถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตั้งข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์ และถูกยึดทรัพย์ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2556 จึงตัดสินใจขอปิดบัญชีทั้งส่วนเงินฝากออมทรัพย์และเงินลงทุนในหุ้นที่จะถอนได้เมื่อลาออก

“ได้ยื่นเรื่องขอลาออกตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2556 แต่ได้รับคำบ่ายเบี่ยงโดยอ้างว่าสหกรณ์ประสบภาวะขาดสภาพคล่อง เนื่องจากไม่สามารถถอนเงินก้อนใหญ่ที่ฝากไว้กับสหกรณ์ฯ คลองจั่น 357 ล้านบาท ทั้งที่ในรายงานประจำปีระบุว่า ‘ยังจะไม่ถอนเงิน’ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่น และเมื่อทราบว่าประธานสหกรณ์ นายศุภชัย ถูกตั้งข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์ สมาชิกสหกรณ์บางส่วนก็เป็นกังวลและลดจำนวนเงินที่นำมาฝาก โดยสหกรณ์ฯ ก็พยายามผ่อนปรน อนุญาตให้สมาชิกทุกคนถอนเงินฝากออมทรัพย์ได้ 5,000 บาทต่อเดือนจนกว่าจะถอนส่วนออมทรัพย์ได้ครบ แต่ส่วนของหุ้นกว่า 4 ล้านบาทจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้คืน” สมาชิกรายนี้กล่าว

สมาชิกรายนี้ยังกล่าวอีกว่า ผู้ฝากเงินกับมงคลเศรษฐีส่วนใหญ่จะเป็นลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย โดยหลายคนเลือกมาใช้ชีวิตในวัดและนำเงินฝากทั้งหมดไว้ที่นี่

จากการรวบรวมข้อมูลของ “ไทยพับลิก้า” เกี่ยวกับสหกรณ์ฯ มงคลเศรษฐี จากเอกสาร รายงานประจำปี เว็บไซต์สหกรณ์ และการลงพื้นที่ พบความเกี่ยวพันระหว่างสหกรณ์กับวัดพระธรรมกาย และพบรูปแบบการทำธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ของสหกรณ์ฯ มงคลเศรษฐีก็คือ “ปล่อยสินเชื่อเพื่อการกุศล”

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐีก่อตั้งโดยนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และคณะ รวม 44 คน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2543 มีทรัพย์สินเริ่มต้นราว 50,000 บาท โดยรายงานประจำปี 2556 ระบุว่ามีทรัพย์สินรวม 2,448 ล้านบาท มีจำนวนสมาชิก 13,683 ราย มีทุนเรือนหุ้น 902 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 104 ล้านบาท ทำให้จ่ายปันผลแก่สมาชิกในอัตรา 8% เป็นจำนวนเงินกว่า 69 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีทรัพย์สินมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น (ดูผลประกอบการสหกรณ์ฯมงคลเศรษฐี)

สหกรณ์ฯ มงคลเศรษฐีมีสาขาทั้งสิ้น 4 แห่ง ได้แก่ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ชัยภูมิ และสำนักงานใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระธรรมกาย ส่วนผู้บริหารปัจจุบันมีนายสมเดช สุประดิษฐอาภรณ์ เป็นประธานกรรมการดำเนินการ ต่อจากที่นายศุภชัยถูกปลดจากตำแหน่งประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่น ตั้งแต่ปี 2556 โดยคำสั่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำให้ถูกปลดจากทุกตำแหน่งที่เกี่ยวข้องในทุกๆ สหกรณ์โดยอัตโนมัติ

สำหรับผู้บริหารสหกรณ์ฯ มงคลเศรษฐี มีนายศุภชัยเป็นผู้ก่อตั้งและชนะเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานบริหาร คณะผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นชุดเดียวกับที่บริหารสหกรณ์ฯ คลองจั่น การบริหารจัดการสหกรณ์โดยเฉพาะนโยบายการลงทุนของทั้งสองสหกรณ์จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกัน อาทิ ลงทุนในบริษัทสหประกันชีวิต นอกจากนี้การว่าจ้างผู้สอบบัญชีเอกชนเป็นคนเดียวกัน คือ นายแสงประทีป นำจิตรไทย ซึ่งปัจจุบันถูกกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ลงโทษ พักใบอนุญาตสอบบัญชี 3 ปี หลังจากนายศุภชัยถูกตั้งข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์

จากรายงานประจำปี 2556 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2557) ด้านงบดุล ส่วนของสินทรัพย์ 2,448 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินฝากในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 357 ล้านบาท เงินลงทุนใน บริษัท สหประกันชีวิต จำกัด 200 ล้านบาท (สหกรณ์ฯ คลองจั่นลงทุน 300 ล้านบาท) ดอกเบี้ยค้างรับ 100 ล้านบาท รวมทั้งเงินให้กู้ยืมระยะสั้นและยาวสะสมรวมกัน 1,664 ล้านบาท ในส่วนของหนี้สิน 1,343 ล้านบาท พบว่าส่วนใหญ่เป็นเงินรับฝาก 1,320 ล้านบาท โดยมาจากสมาชิกสหกรณ์ฝากไว้ 883 ล้านบาท รับฝากจากสหกรณ์อื่น 437 ล้านบาท

ด้านงบกำไรขาดทุน เนื่องจากสหกรณ์มีรายได้จาก 2 ทาง ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อทำรายได้จากดอกเบี้ยรับเงินให้กู้ 208 ล้านบาท แต่เป็นดอกเบี้ยค้างรับถึง 88 ล้านบาท หรือ 42% กำไรสุทธิ 119.5 ล้านบาท อีกหนึ่งธุรกิจคือจัดหาสินค้ามาจำหน่าย โดยสหกรณ์ลงทุนในร้านค้าสหกรณ์ และสถานีบริการนํ้ามันบางจาก บริเวณทางเข้าวัดพระธรรมกาย ติดถนนคลองหลวง โดยสร้างตั้งแต่ปี 2548 เพื่ออำนวยความสะดวกให้อุปกรณ์ก่อสร้างในวัด สามารถนำมาเติมนำ้มันได้ง่าย ซึ่งทั้งสองกิจการขาดทุนสุทธิไป 1.1 ล้านบาท โดยสรุปแล้วสหกรณ์ฯ มงคลเศรษฐีมีกำไรสุทธิปี 2556 จำนวน 104 ล้านบาท

เงินให้กู้สหกรณ์มงคลเศรษฐี

สำหรับรายละเอียดประเภทสินเชื่อพบว่า ในรอบปีบัญชี 2555 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2556) สหกรณ์ปล่อยสินเชื่อทั้งหมด 1,774 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสินเชื่อ 2 ประเภท คือ 1) เพื่อ “การลงทุนประกอบอาชีพ” 1,419 ล้านบาท และ 2) เพื่อ “การกุศล” 232 ล้านบาท ขณะที่ในรอบปีบัญชี 2556 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2557) ปล่อยสินเชื่อทั้งหมด 173 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด โดยส่วนใหญ่แบ่งเป็นเพื่อ “การลงทุนประกอบอาชีพ” 80 ล้านบาท และเพื่อ “การกุศล” 33 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามกับสมาชิกสหกรณ์รายหนึ่งที่เป็นอดีตศิษย์วัดพระธรรมกาย ก็ได้รับคำอธิบายว่า สินเชื่อเพื่อการกุศลมีความหมายตรงตามตัว โดยสหกรณ์ทำโครงการประสานกับวัดพระธรรมกาย เพื่อให้สมาชิกสามารถทำบุญได้ตามความต้องการ โดยคิดดอกเบี้ย 12% ต่อปี อย่างกรณีเมื่อปี 2551 ที่วัดจัดสร้างรูปหล่อทองคำหนัก 1 ตัน ของพระมงคลเทพมุนี หรือหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ได้เคยมีการระดมทุนผ่านช่องทางนี้ โดยสมาชิกที่กู้จะได้รับคูปองแทนเงินสดสำหรับทำบุญ โดยบนคูปองจะระบุชัดเจนว่าเพื่อโครงการอะไร

(ตอนต่อไป ติดตามความสัมพันธ์ 3 องค์กร การลงทุนของสหกรณ์ฯมงคลเศรษฐี – เงินกู้จากสหกรณ์ฯคลองจั่น – วัดพระธรรมกาย)