ThaiPublica > เกาะกระแส > 2 เวทีถกเถียง GMOs กรณี “พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ”

2 เวทีถกเถียง GMOs กรณี “พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ”

22 กุมภาพันธ์ 2015


ฝ่ายหนึ่ง “ผลักดัน” ฝ่ายหนึ่ง “ยื้อ” ต่างฝ่ายต่างยกเหตุผลเรื่องประโยชน์ของชาติ ซึ่งตัวกลางสำคัญอย่างรัฐบาลคงต้องคิดหนัก เพราะในช่วงเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่เว้นระยะห่างกันไม่ถึง 1 เดือน มีการจัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็มโอ (GMOs: Genetically Modified Organisms) ติดต่อกันถึง 2 เวที โดยเวทีเสวนาทั้ง 2 เวทีต่างมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกันคือ นโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรม โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. …

เวทีเสวนาแรกคือ เสวนา “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. …: ไพ่ใบสุดท้ายของบรรษัทเพื่อผลักดันการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย” โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เมื่อวันที่ 21 มกราคา 2558 และอีกเวทีคือ ประชุมวิชาการ “เรื่องความก้าวหน้าพืชเทคโนชีวภาพ หรือ GM” (global status of biotech GM crops) โดย สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพ (BBIC) CropLife Asia และ International Service for the Acquisition of Agri-biotech Applications (ISAAA) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558

กระแสของการปลูกพืชจีเอ็มโอมีให้เห็นทั้งสนับสนุนและกระแสต่อต้าน ปี 2544 เป็นปีแรกที่ไทยนำพืชจีเอ็มโอเข้ามาปลูก พืชดังกล่าวคือฝ้าย หรือที่หลายคนอาจรู้จักฝ้ายจีเอ็มโอชนิดนี้ในชื่อ “ฝ้ายบีที” ที่เกิดปัญหาหลุดรอดจากแปลงทดลองไปปนเปื้อนกับฝ้ายของเกษตรกรรายอื่น นำไปสู่การผลักดัน พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพโดยภาคประชาชน ต่อมาในปี 2547 ได้เกิดปัญหาการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ จนเกิดกระแสการปฏิเสธพืชจีเอ็มโอของเหล่าผู้บริโภค และล่าสุด ในปี 2550 จากกรณีที่มะละกอของประเทศไทยถูกสหภาพยุโรป (EU) ตีกลับเนื่องจากตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ

หลังจากปี 2550 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติห้ามปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมในแปลงเปิด ซึ่งยังคงเปิดช่องให้สามารถปลูกเป็นเฉพาะรายได้ แต่ต้องปลูกเฉพาะในพื้นที่ของราชการเท่านั้น รวมถึงต้องมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรืออีเอชไอเอ (EHIA) ให้สาธารณชนรับทราบ

เมื่อรัฐบาลคั่นเวลาประกาศนโยบายจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืช 4 ชนิด (roadmap) โดยคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 116/2557 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วม จัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย เพื่อขับเคลื่อนสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงานทดแทนจากสินค้าเกษตร ซึ่งคณะอนุกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถของพืชเศรษฐกิจทั้ง 4 ชนิด ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 และยุทธศาสตร์ของ คสช. ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งและความสมดุลของภาคเกษตร ตอบสนองมิติความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน

ในการเพิ่มขีดความสมารถให้กับพืชเศรษฐกิจทั้ง 4 ชนิดนั้น ประกอบไปด้วยแนวทางต่างๆ 5 แนวทาง ด้วยกัน ได้แก่ 1. การบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจ (zoning) 2. การปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ 3. การนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตและส่งเสริมการผลิตให้ได้มาตรฐานและมูลค่าเพิ่ม 4. การผลิตแบบเกษตรแผนใหม่ (modern farming) และ 5. การสร้างความร่วมมือในการพัฒนาการผลิตตลอดห่วงโซ่มูลค่า (value chain)

จากแนวทางทั้ง 5 ทำให้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานจัดทำยุทธศาสตร์เกษตรเป็นรายพืช 4 ชนิด ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม และผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย โดยให้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่อง “จีเอ็มโอ” เพื่อเตรียมผลักดันให้มีการทดลอง และปลูกเป็นเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย

โดยทั่วไปนั้น กลุ่มพืชที่นำมาดัดแปลงพันธุกรรมเริ่มจากพืชอุตสาหกรรมในกลุ่มพืชเส้นใย เช่น ฝ้าย จนขยายไปสู่ พืชอาหาร เช่น ข้าวโพด มัน มะละกอ และเริ่มมีการศึกษาและทดลองในส่วนของพืชพลังงาน ที่จะเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สำคัญในอนาคต ซึ่งพืชเศรษฐกิจ 3 ใน 4 ชนิด คือ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย อยู่ในกลุ่มพืชพลังงาน ที่จะสามารถนำมาปรับปรุงพันธุ์ให้ผลิตสารให้พลังงานได้มากขึ้น

ปัจจุบันการผลักดันให้มีการทดลองและปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์ยังอยู่ในขั้นตอนการประชุมเพื่อศึกษาผลทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการหากฎระเบียบรองรับก่อนจะตัดสินใจอีกครั้ง ปัจจุบันมีคณะทำงานดังกล่าวอันประกอบไปด้วยภาคราชการ ภาคธุรกิจ และตัวแทนจากองค์กรจากสาธารณประโยชน์ ได้ประชุมร่วมกันไปแล้ว 3 ครั้ง ล่าสุดคือเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 โดยมีมติเห็นพ้องกันว่าไม่ควรจะผลักดันให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอโดยที่ไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด และเห็นควรให้ยึดมติ ครม. ในปี 2550 ที่มีข้อกำหนดคุมเข้มในการดำเนินการทดลองเป็นสำคัญ

เวทีเสวนา “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. … : ไพ่ใบสุดท้ายของบรรษัทเพื่อผลักดันการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย”

เวทีเสวนา “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. … : ไพ่ใบสุดท้ายของบรรษัทเพื่อผลักดันการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย”
เวทีเสวนา “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. … : ไพ่ใบสุดท้ายของบรรษัทเพื่อผลักดันการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย”

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับชื่อเวทีสัมมนา ว่าเหตุใดร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพจึงเป็น “ไพ่ใบสุดท้าย” ทั้งนี้ นายวิฑูรย์ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของ พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่เริ่มต้นผลักดันโดยภาคประชาชนตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งคณะกรรมการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ประกอบขึ้นจากหลายภาคส่วน จนกระทั่งในปี 2548 ได้มีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาแทนคณะกรรมการชุดเดิม โดยคณะกรรมการชุดใหม่ล้วนเป็นผู้ที่ต้องการผลักดันให้พืชจีเอ็มโอ

อย่างไรก็ตามในปี 2550 ได้มีมติ ครม. ออกมาว่าสามารถเปิดให้มีการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรมได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด คือ ต้องได้รับการอนุมัติจาก ครม. เป็นกรณีๆ ไป ก่อนจะขออนุมัติจะต้องผ่านการเห็นชอบจากประชาชน ต้องทำในพื้นที่ของราชการ ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นต้น

นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า เมื่อ คสช. ได้ประกาศนโยบายจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืช 4 ชนิด และมติของคณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย ได้เห็นพ้องให้ยึดมติ ครม. ในปี 2550 เป็นสำคัญ ทำให้กลุ่มธุรกิจมีการเคลื่อนไหวอย่างหนักเพื่อผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพออกมามีผลบังคับใช้ เพราะเป็นทางออกสุดท้ายให้กับกลุ่มของตน

“ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกยกร่างขึ้นโดยกลุ่มผู้สนับสนุนเรื่องจีเอ็มโอ การผลักดันกฎหมายนี้ให้ผ่าน สนช. ไปโดยเร็วจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ แต่จะไม่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิเกษตรกร และกลุ่มธุรกิจอาหารท้องถิ่นที่จะได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนทางพันธุกรรรม” นายวิฑูรย์กล่าว

ด้าน รศ. ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคประชาชน กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากในรายละเอียดยังคงมี “จุดอ่อน” อยู่หลายจุด

ประการแรก คือ เรื่องมาตรการที่มีในกฎหมายนั้นยังไม่ได้มองในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีพอ ไม่ได้มองถึงมาตรการในการป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการปนเปื้อนกับสินค้าเกษตรในการที่จะส่งออก ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสินค้าเกษตร อาทิ ข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ

ประเด็นต่อมา คือ แม้จะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงผลเสีย แต่มีข้อมูลออกมาเรื่อยๆ ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการกินพืชจีเอ็มโอกับสถานการณ์ของความเจ็บป่วยในหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งหรืออะไรก็ตาม ซึ่งข้อมูลเริ่มสะสมมากขึ้น

รศ. ดร.จิราพรกล่าวว่า ประเด็นก็คือ เมื่อข้อมูลยังไม่ชัดเจนนั้น แต่มีสินค้าจีเอ็มโออยู่ในท้องตลาด สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือฉลาก เพราะว่าจะได้ “เลือก” ได้ ทำให้ไม่ต้องเข้าไปแบกรับความเสี่ยงตรงนั้น เพราะฉะนั้น จะเห็นจุดอ่อนเหล่านี้ จึงเป็นกระแสความกังวลของผู้บริโภค ซึ่งองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจะทำการจัดทำเป็นรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี รวมถึงส่งสารไปถึง สนช. ให้ช่วยคัดกรองกฎหมายอย่างละเอียดอีกชั้น(ดูเพิ่มเติมในเทปบันทึกการเสวนา ส่วนของการวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ)

[youtube http://www.youtube.com/watch?v=ZKVXtS2a9Q8?list=PLs7l-zYsBZRi0W33cqb4JPigfI7C8cG3a&w=560&h=315]

เช่นเดียวกับ ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า ยังมีประเด็นที่ควรปรับปรุง เนื่องจากยังคงมีข้อกฎหมายหลายข้อที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพและพิธีสารเสริมนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหาย ที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามไว้ เช่น กรณีผลกระทบจากกรณีจีเอ็มโอนั้น ในพิธีสารครอบคลุมถึงการคุ้มครองผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ และอนุญาตให้ใช้ดุลพินิจตามสมควรได้แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ในร่างกฎหมายระบุว่าต้องใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนแล้วเท่านั้น

นอกจากนี้ ควรปรับปรุงร่างกฎหมายในมาตรา 17 โดยควรบัญญัติในลักษณะห้ามมิให้มีการผลิตหรือนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมทุกชนิด เว้นแต่จะได้ประกาศยกเว้นไว้ ซึ่ง ดร.สมชายมองว่าข้อกฎหมายดังกล่าวเปิดกว้างเกิน และการกำหนดโทษในกรณีที่พืชที่นำมาทดลองหลุดไปปนเปื้อนยังมีความหละหลวม ซึ่งรูปแบบกฎหมายอาจขัดกับวัตถุประสงค์ของพิธีสารและไม่ได้คุ้มครองผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากพืชจีเอ็มโอซึ่งได้รับการอนุญาตให้มีการปลดปล่อยต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว (อ่านการวิเคราะห์ร่างกฎหมายฉบับเต็ม)

นายพีรโชติ จรัญวงศ์ นายกสมาคมผู้ค้าเกษตรอินทรีย์ไทยกล่าวถึงผลกระทบของจีเอ็มโอในเกษตรอินทรีย์ว่า การปรับตัวของผู้ส่งออกต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นการผลิต “สินค้าสำเร็จรูป” มากขึ้น สินค้าที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้คือข้าวโพดและถั่วเหลืองที่จะเป็นวัตถุดิบในการทำซอสปรุงรสต่างๆ สำหรับสินค้าที่ขายไม่ได้ในวงการเกษตรอินทรีย์ก็ขายไม่ได้มานานแล้ว เช่น มะละกอ จึงไม่กระทบอะไร แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือข้าว หากตรงนี้หมดไปวงการเกษตรอินทรีย์ก็อาจล่มสลายได้

“การทำเทคโนโลยีใดๆ นั้นต้องการความรู้ความเข้าใจ ซึ่งทางกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นผู้เสพข้อมูลข่าวสารอาจจะยิ่งตามหลัง ความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ทุกวันนี้คำว่าเกษตรอินทรีย์กับออร์แกนิกยังมีคนแยกไม่ออก เข้าใจว่าเป็นของต่างกันเสียด้วยซ้ำไป แล้วสิ่งดัดแปลงพันธุกรรมกับคำว่าจีเอ็มโอนั้นจะรู้ได้อย่างไร” นายพีรโชติกล่าว

สำหรับนายปรีชา จงประสิทธิ์พร จากบริษัท การ์นคอน จำกัด ผู้ส่งออกข้าวโพดหวาน ให้ความเห็นว่า ในส่วนของตนนั้นขอมองภาพใหญ่ว่าทำไมการเข้ามาของจีเอ็มโอในประเทศไทยจึงดูเร่งรัดมาก นั่นอาจเป็นเพราะแรงกดดันจากประเทศมหาอำนาจที่อันดับต้นๆ ในการผลิตพืชจีเอ็มโอ ที่มีนายทุนยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรคอยกุมบังเหียนทิศทางการเกษตร

นายปรีชากล่าวว่า จีเอ็มโอไม่ใช่สิ่งเลวร้าย สิ่งนี้ก็เป็นความรู้ของมนุษย์ เป็นความรู้ในการพัฒนา ซึ่งเคยมีการนำข้าวสาลีจีเอ็มโอไปปลูกในประเทศจีนสมัยเติ้งเสี่ยวผิง ก็มีนักข่าวถามว่า ปลูกข้าวจีเอ็มโอไม่กลัวหรือ เติ้งเสี่ยวผิงกล่าวว่าระหว่างกลัวจีเอ็มโอกับกลัวพลเมืองอดตายจะกลัวอะไรดี เพราะฉะนั้นจีเอ็มโอไม่ใช่ของเลวร้าย

“ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยจะเอาตัวเข้าไปเสี่ยงตรงนี้ ไทยยังไม่ได้อดอยาก สิ่งที่เขาจะนำมาทดลองจีเอ็มโอในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นไม่ได้ช่วยเพิ่มผลผลิตเลย มีแต่เพิ่มต้นทุน สำหรับประเทศไทยยังคงมีพืชผลที่ไม่ปนเปื้อนจีเอ็มโอก็ควรที่จะเก็บรักษาผลผลิตไว้สำหรับส่งออกในสิ่งที่เป็นของบริสุทธิ์ ซึ่ง ณ เวลานั้นอาจมีความต้องการสูงแบบพืชอินทรีย์ในปัจจุบันก็ได้ ผมก็มองว่าจีเอ็มโอไม่ใช่ของเลวร้าย วันข้างหน้าไทยอาจมีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องใช้ก็อาจมีการจัดโซนเพื่อแบ่งการแพร่กระจายของเกสรพืช แต่ตราบใดก็ตามที่มีการปลูกพืชต้นแรกที่เป็นจีเอ็มโอ พืชที่เหลือก็ไม่บริสุทธิ์แล้วครับ ความเสี่ยงมีอยู่ทั้งหมด” นายปรีชากล่าว

เวทีวิชาการ “เรื่องความก้าวหน้าพืชเทคโนชีวภาพ หรือจีเอ็ม”

ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ธีระ  สูตะบุตร  อดีตอาจารย์ภาควิชาโรคพืช ม.เกษตร  และอดีตอธิการบดี ม.เกษตร  และอดีตรมว.กระทรวงเกาตรและสหกรณ์ , ดร.ไคลฟ์ เจมส์ (Dr. Clive Jame) ประธานองค์การไอซ่า (ISAAA) และ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ ที่ปรึกษาสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ (จากขวาไปซ้าย)
จากขวาไปซ้าย ผศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ธีระ สูตะบุตร อดีตอาจารย์ภาควิชาโรคพืช อดีตอธิการบดี ม.เกษตร และอดีต รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ดร.ไคลฟ์ เจมส์ (Dr. Clive James) ประธานองค์การไอซ่า (ISAAA) และ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ ที่ปรึกษาสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ ที่ปรึกษาสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมางานวิจัยเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ หรือพืชจีเอ็ม ในประเทศไทย ถูกจํากัดอยู่แค่งานวิจัยในโรงเรือนปิดมากว่า 10 ปี ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอนุญาตให้มีการวิจัยระดับแปลง และขยายผลเชิงพาณิชย์เกือบหมดแล้ว ตามรายงานระบุว่า ประเทศในเอเชียที่มีการยอมรับการปลูกพืชจีเอ็มโอ ได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย บังกลาเทศ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ความไม่คืบหน้าของการวิจัยสืบเนื่องจากเหตุผลเรื่องความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภคและความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทําให้คนไทยขาดความเชื่อมั่นและหวาดกลัว แต่กลับยอมให้มีการนําเข้าผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชจีเอ็มโอมาบริโภคนานแล้ว อาทิ ถั่วเหลืองจีเอ็ม ที่นําเข้าถึง 80% นอกจากนี้ ปัจจุบันในบางพื้นที่ยังพบว่าเกษตรกรมีการปลูกพืชจีเอ็มโดยไม่ได้รับอนุญาต

ดร.สุทัศน์ให้ความเห็นว่า การที่ประเทศไทยยังจํากัดงานวิจัยเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพแค่ในโรงเรือนปิด โดยยกเรื่องความไม่ปลอดภัยและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆ มายืนยันเหมือนที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการปิดกั้นโอกาสของเกษตรกรไทยที่จะเข้าถึงเมล็ดพันธุ์หรือพันธุ์พืชใหม่ที่มีศักยภาพในการผลิตและทนทานโรค ซึ่งทําให้สินค้าเกษตรของไทยไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยซึ่งมีมูลค่าการส่งออกกว่าปีละ 4,000 ล้านก็จะไม่สามารถพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทยต้องพึ่งพาการนําเข้าวัตถุดิบซึ่งเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ด้าน ดร.ธีระ สูตะบุตร อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอดีต รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้มุมมองในเรื่องพืชจีเอ็มโอว่า ที่ผ่านมาตนได้พยายามผลักดันร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการนำเอากฎหมายเสนอ ครม. ปี 2550-2551 ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เกิดการสะดุดหยุดลง

ดร.ธีระกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเห็นได้ว่าหลายประเทศมีการเปิดรับพืชดัดแปลงพันธุกรรม รัฐบาลไทยเองก็ควรเปิดโอกาสในการนำมาใช้ในระดับแปลงทดลองและขยายต่อไปในเชิงพาณิชย์ อย่างน้อยก็เพื่อให้เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรจะดีกว่าปล่อยให้ล้าหลัง เสียโอกาสในหลายด้านที่จะสามารถเป็นศูนย์กลางในแง่ฐานทัพการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ และฐานทรัพย์การผลิตทรัพยากรที่ช่วยหล่อเลี้ยงพลเมืองโลก

ดร.ไคลฟ์ เจมส์ (Dr.Clive James) ประธานองค์การไอซ่า (ISAAA)ได้บรรยายถึงสถานการณ์การปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมในระดับโลกว่ามีการยอบรับการปลูกพืชจีเอ็มโออย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา บราซิล อินเดีย และอีกหลายประเทศในแอฟริกาและเอเชีย รวมไปถึงสหภาพยุโรปที่เคยปฏิเสธพืชดัดแปลงพันธุกรรมก็มีการปลูกพืชเทคโนโลยีชีวภาพในพื้นที่ 893,850 ไร่ ใน 5 ประเทศ (รายงานสถานการณ์จีเอ็มโอ)

ในตลอดระยะเวลา 19 ปี (ตั้งแต่ปี 2539 ที่มีการเริ่มปลูกจนถึงปี 2557) ซึ่งเริ่มจาก 6 ประเทศในปี 2539 เป็น 28 ประเทศในปี 2557 ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 เท่า จากพื้นที่ที่มีปลูก 10.6 ล้านไร่ในปี 2539 เป็น 1,134.4 ล้านไร่ในปี 2557 และมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3-4 ต่อปี (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

พืชจีเอ็มโอนั้นประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิต ในขณะที่ใช้พื้นที่เพาะปลูกลดลง ลดการบุกรุกพื้นที่ป่า ผลิตอาหารรองรับการเพิ่มขึ้นประชากรที่คาดว่าจะสูงขึ้นหลายพันล้านคนในอนาคต ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์จะช่วยลดการใช้สารเคมี ช่วยให้พืชทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น พืชทนแล้ง

รวมไปถึงการปรับปรุงพันธุ์ช่วยลดความเสี่ยงของผู้บริโภคจากโรคต่างๆ อาทิ มันฝรั่ง InnateTM ที่มีสาร acrylamide ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ และหากไทยสนับสนุนให้ปลูกพืชจีเอ็มโอจะช่วยลดการนำเข้าพืชถั่วเหลืองได้กว่า 80% อีกทั้งช่วยขยายตลาดการส่งออกมะละกอให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

ดร.ไคลฟ์กล่าวว่า หนทางสำคัญ 3 ประการ ที่จะช่วยให้ประเทศไทยเปิดรับพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่จะส่งเสริมให้ไทยก้าวหน้า คือ 1. เจตจำนงทางการเมือง โดยเฉพาะผู้นำประเทศ จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง 2. การนำเข้าไปสู่นโยบายประเทศ และ 3. การสื่อสารไปยังกลุ่มคนในสังคมให้มีการรับรู้และเข้าใจในข้อเท็จจริง

ที่ผ่านมามีกลุ่มเอ็นจีโอใช้งบประมาณกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ออกมาต่อต้านเพื่อสร้างกระแสให้เกิดความกลัวการใช้พืชจีเอ็มโอ ซึ่งข้อโต้แย้งต่างๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมายังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดมารองรับ

อ่านเพิ่มเติมข้อเท็จจริงจาก 2 เวที “ดี-เสีย จีเอ็มโอ”

ข้อเท็จจริง 10 ประการเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอ: จากองค์การไอซ่า

ความจริงเกี่ยวกับจีเอ็มโอ และ ผลประโยชน์ของจีเอ็มโอมีมูลค่ามหาศาลเกินกว่าจะประเมินได้: จากมูลนิธิชีววิถี