ThaiPublica > คนในข่าว > “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” 4 ทศวรรษ แก้จนสไตล์คุณชายชายขอบ “ไม่ใช่ทำแบบอำมาตย์ ต้องทำแบบไพร่”

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” 4 ทศวรรษ แก้จนสไตล์คุณชายชายขอบ “ไม่ใช่ทำแบบอำมาตย์ ต้องทำแบบไพร่”

27 มกราคม 2015


ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล อยู่กลางดิน กินกลางภูเขา ตั้งสำนักงานอยู่ชายป่ามานานกว่า 40 ปี ในพื้นที่ทรงงานตามโครงการพระราชดำริ ทั้งโครงการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และโครงการปิดทองหลังพระ

เพื่อนร่วมงานของ “คุณชายดิศ” มีทั้งปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการเกษตร ไปจนถึงชาวเขาหลากเผ่าพันธุ์ ทุกคนก่อนจะได้เริ่มงานต้องปฏิบัติการ “ขุดดิน คำนวณน้ำ ฝึกปลูกพืช” และที่สำคัญ ต้องผ่านการอบรมการเข้ามวลชนอย่างน้อย 2 เดือน

คุณชายบอกว่า “คนจนเขาไม่มีโอกาส ไม่มีทางเลือกที่ดี ต้องบุกรุกป่า บางครอบครัวต้องค้าประเวณี เพราะเขาไม่มีโอกาส แต่ผมนะ ยินดีจะกราบไหว้พวกค้าประเวณีเพราะยากจน ไม่มีจะกิน แต่จะไม่ไหว้พวกฉ้อราษฎ์บังหลวง”

“ผมอยากให้ชาวบ้านที่ยากจน ไม่มีโอกาส ได้อยู่รอด ไม่อดข้าว มีกินตลอดปี ไม่มีหนี้สิน อยู่อย่างพอเพียง เหมือนอย่างที่ในหลวงเคยตรัสว่า เมื่อมีผลกระทบจากข้างนอก พวกเขาต้องยืนบนขาตัวเองให้ได้ และคิดเป็น แก้ปัญหาตัวเองเป็น มีความสุขตามอัตภาพ อย่างยั่งยืน…วันหนึ่งเมื่อไม่มีใครช่วย ไม่มีโครงการปิดทองหลังพระ พวกเขาก็อยู่กันเองได้ ไม่เดือดร้อน”

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ

ระหว่างที่ใจกลางโครงสร้างอำนาจในรัฐสภากำลังจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ วางเค้าโครงปฏิรูประเทศ 16-18 มกราคม 2558 “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงสร้างฝาย ปลูกป่า เตรียมดิน และวางแผนนำเสนอวาระต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558

คุณชายดิศ เปิดการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานให้สื่อมวลชนฟังว่า “ปัญหาประเทศไทยต้องแก้หลายอย่าง มีคนพูดว่าจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ แก้อะไรก็แล้วแต่ ต้องแก้สันดานคนไทยด้วย”

“ความพยายามในการสร้างฝาย สร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยให้ชาวบ้านร่วมคิด ร่วมลงแรง ช่วยกันทำ ร่วมเป็นเจ้าของ ใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ทั้งระบบน้ำ ระบบเพาะปลูก จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้ อยู่ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาทุนใหญ่ในเมือง การปลูกป่าจะยัดเยียดให้ชาวบ้านปลูกแบบเดิมไม่ได้แล้ว เรื่องเหล่านี้รัฐมนตรีบ้านเรารู้กันบ้างหรือไม่ ถ้าไม่รู้ก็ควรเรียนรู้จากพื้นที่จริง ประเทศจะได้เจริญขึ้น ผมเป็นคนปากหมา พูดของจริง เอาความคิดมาจากชาวบ้าน ไม่ได้เอาความคิดมาจากพวกเจ้านาย”

หลังจากขึ้นดอยไปขลุกอยู่กับชาวเขาชาวไร่ในจังหวัดน่านตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน “คุณชายดิศ” ตั้งใจแก้โจทย์ “ภูโกร๋น” หรือภูเขาที่เต็มไปด้วยไร่ข้าวโพด ไม่มีต้นไม้ เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม ให้กลับฟื้นคืนมาเป็นภูเขาที่เขียวขึ้นอีกครั้ง

ผ่านไป 7 ปี ไร่ข้าวโพดบนเขา ย้ายลงมาปลูกในพื้นที่นา สายน้ำที่ไม่ไหลตามร่องตามรอย ถูกทำท่อ สร้างฝาย จัดอ่างกักเก็บ เพื่อทำการเกษตร ทั้งปลูกผัก ปลูกใบยา แต่การเดินหน้าก็ทำได้เพียงบางส่วน ยังมีพื้นที่สูงอีกมหาศาลที่ยังไม่ผ่านการพัฒนา และไม่ได้รับโอกาสจากส่วนราชการ

เหตุใดนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจึงใช้ “น่านโมเดล” เพื่อการแก้ปัญหาความยากจน “คุณชายดิศ” อธิบายว่า

“พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งใจจะให้ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ เป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลอยากรู้ว่าจะทำกันอย่างไร อยากจะหารือกับทางมูลนิธิปิดทองหลังพระ ผมกับท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ และกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ ก็ได้หารือกับ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ว่าจะนัดไประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ท่านนายกรัฐมนตรีแสดงความจำนงว่าจะนำรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมด้วย จากนั้นจึงได้ประชุมร่วมกันครั้งแรกที่สำนักงานทรัพย์สินฯ และมีการอนุมัติแผนงานพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง 19,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ เมื่อเดือนตุลาคม 2557”

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา

โครงการนี้ ถูกมอบหมายให้ 3 รัฐมนตรี “3 พงษ์” 3 กระทรวง รับผิดชอบ

“นายกรัฐมนตรีใส่ใจ ตั้งใจจริง อนุมัติให้ 3 รัฐมนตรี คือ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ร่วมกับปลัดกระทรวง ร่วมทำงานกับมูลนิธิปิดทองฯ ด้วยการลงพื้นที่ทั้งจังหวัดน่าน อุดรธานี กาฬสินธุ์”

หลังลงพื้นที่ 3 โครงการ เห็นการทำงาน เห็นบารมีรัฐบาลทหาร ในการเดินหน้าโครงการ เมื่อเห็นทิศทางร่วมกันแล้ว ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวง จะลงพื้นที่จังหวัดน่าน คาดว่านายกรัฐมนตรีจะใช้เวลาเพื่อติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นโมเดลในการแก้ปัญหาความยากจน (น่านโมเดล) การแก้ปัญหาระบบน้ำด้วยระบบฝาย การทำพื้นที่เกษตรบนที่สูง ด้วยการระดมทุนจากธุรกิจเอกชนที่ทำเกษตรพันธสัญญา มาร่วมจัดตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์พืช

ในรัฐบาลอำนาจพิเศษชุด พล.อ. ประยุทธ์ กำลังเร่งเดินหน้าโครงการ พอเห็นทิศเห็นทาง “คุณชายดิศ” ตอบคำถามเรียบๆ เรื่องรัฐบาลที่ผ่านมา กับการทำงานร่วมกันเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีทั้งรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร-รัฐบาลพลังประชาชน-รัฐบาลประชาธิปัตย์ และรัฐบาลเพื่อไทย

“ที่ผ่านมาโครงการปิดทองฯ ไม่เคยมีปัญหากับรัฐบาลไหนเลย อดีตนายกรัฐมนตรีทุกคนก็บอกเอาด้วย เห็นด้วย เพียงแต่เมื่อมีการประชุมกันแล้ว เมื่อลงรายละเอียด ไม่มีใครไปทำต่อ งานไม่เดิน ดังนั้น จากนี้ไปเราต้องเปลี่ยนการทำงาน ไม่ใช่ทำแบบอำมาตย์ ต้องทำแบบไพร่แล้ว”

“ในสมัย พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เราก็ทำไปตามปกติ มีงบประมาณปีละ 300 ล้านบาท ตอนรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ท่านก็ให้การสนับสนุนเรา ไม่มีอะไรขัดกัน ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ท่านก็อยู่ไม่นาน เลยไม่ได้ทำอะไรร่วมกัน”

“ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ตั้งต้นติดต่อกันผ่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บอกนโยบายว่าอยากจะทำเรื่องปลูกป่า มีอยู่วันหนึ่งท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ โทรศัพท์มาหา ปกติผมก็รับแต่โทรศัพท์พวกนายก อบจ. นายก อบต. แต่วันนั้นท่านอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์แจ้งว่า อยากจะเชิญให้ร่วมเป็นประธานโครงการปลูกป่าทั่วทั้งประเทศ ผมก็ถามท่านกลับไปว่า ท่านจะสร้างภาพหรือเอาจริง ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีตอบว่าจะเอาจริง จะทำให้ดี เป็นเกียรติ เป็นศิริมงคล แก่ครอบครัวและวงศ์ตระกูลด้วย”

“จากนั้นผมก็ถามท่านอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ว่า ท่านมีนโยบายเรื่องปลูกป่า เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร ท่านก็บอกว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการ และให้ผมเป็นประธานเรื่องการปลูกป่า”

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุลและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

“แต่ต่อมาภายหลัง ก็มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงองค์คณะและมีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย หรือ กยอ. ซึ่งมี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ที่ทับซ้อนเหลื่อมกัน และในที่สุดตลอดสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้มีการประชุมต่ออีกเลย ได้มีโอกาสพบกับอดีตนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก็ตอนที่นำคณะทำงานเข้ากราบทูลฯ เรื่องปัญหาน้ำท่วม ปี 2554 ครั้งนั้นมีพระราชดำริเรื่องการปลูกป่าระยะยาว และผมก็รับใส่เกล้าฯ มาทำที่จังหวัดน่านให้เป็นต้นแบบ”

“สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เขา support เรามากที่สุด ทั้งเรื่องปลูกป่า การบริหารจัดการน้ำ ผมเคยเชิญเขามาที่โครงการดอยตุง ในช่วงเดือนมกราคม 2555 ในสมัยนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก ก็เข้าร่วมด้วย และเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นหัวหน้ารัฐบาล เขาก็ยิ่งกว่า support เราอีก เพราะท่าน พล.อ. ประยุทธ์ทำเรื่องนี้มากับมือกว่า 40 ปีแล้ว”

“รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์เหนือชั้นกว่า นำเอาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ให้เร่งดำเนินการ 19,000 หมู่บ้าน แสดงว่าเขาทำจริง พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่การกระทรวงมหาดไทยเอาจริง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้โครงการยังไม่เกิด ท่านนายกรัฐมนตรีต้องไปกระทืบให้เกิด”

เสียงของ “คุณชายดิศ” ที่ดังมาจากเชิงเขา จะเข้าถึง เข้าใจ พัฒนาไปสู่การปฏิบัติการ ของ “พล.อ. ประยุทธ์” ที่ทำเนียบรัฐบาลได้หรือไม่ จะแทรกวาระแห่งชาติเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไว้ตรงไหน ในโรดแมปร้อนๆ ก่อนคืนอำนาจประชาธิปไตย ทุกจังหวะก้าวจากนี้ไป จึงระทึกใจ ทั้งคนวงในและคนชายขอบ