ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิชัย เบญจรงคกุล” เสนอตั้ง “สภาไอซีที” รับเศรษฐกิจดิจิทัล คนภาครัฐต้องปรับตัว เลิกทำงานแบบแอนะล็อก

“วิชัย เบญจรงคกุล” เสนอตั้ง “สภาไอซีที” รับเศรษฐกิจดิจิทัล คนภาครัฐต้องปรับตัว เลิกทำงานแบบแอนะล็อก

11 ธันวาคม 2014


นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ TFIT เปิดเผยว่าสมาคมฯ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกรวม 20 กลุ่ม ได้จัดทำข้อเสนอเพื่อการพัฒนานโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เสนอไปยัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และนายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที เมื่อ 1 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากที่ประชุมสมาชิกเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพื่อส่งเสริมศักยภาพไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการขนาดใหญ่แต่รวมไปถึงขนาดกลางและขนาดเล็กให้สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจยุคใหม่ได้ โดยรัฐบาลต้องเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น หรืออาจเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ

นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย
นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย

นายวิชัยกล่าวว่า TFIT มีข้อเสนอทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านธุรกิจและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ด้านการพัฒนาบุคลากร และด้านภาครัฐ โดยด้านโครงสร้างพื้นฐาน รัฐต้องผลักดันให้มีโครงข่ายบรอดแบนด์ (Broadband) ทั้งแบบสายและไร้สายให้ครอบคลุมพื้นที่และจำนวนประชากร ให้สามารถเข้าถึงบริการเชื่อมการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 30 MB ครอบคลุม 90% ภายในปี 2559 พร้อมการเสนอสร้างอินเตอร์เนชันแนลเกตเวย์ (International Gateway) เครือข่ายใยแก้วใต้ทะเลเชื่อมโยงกับปลายทางอีก 5 เครือข่ายภายใน 5 ปี โดยกำหนดยุทธ์ศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการส่งข้อมูลความเร็วสูงในภูมิภาคอาเซียน

ส่วนในด้านธุรกิจและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ รวมทั้งผลักดันให้เติบโตในระดับภูมิภาค ผลักดันกฎหมายและระเบียบรับรองเอกสารทางการค้าในรูปแบบดิจิทัลภายในปี 2558 การพัฒนากระบวนการบริหารจัดการให้กับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME) โดยประยุกต์ใช้ไอทีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมตั้งเป้าหมายในการลดต้นทุนการบริหารจัดการของธุรกิจเอสเอ็มอีร้อยละ 10 ครอบคลุมจำนวนผู้ประกอบการ 5,000 รายในปี 2558 และ 15,000 รายในปี 2560 ส่วนด้านการพัฒนาบุคลากร เสนอให้ภาครัฐจัดงบพัฒนาบุคลากร สร้างมาตรฐานวิชาชีพนักไอซีที สร้างมาตรฐานหลักสูตรการพัฒนาบุคลากร พร้อมส่งเสริมบุคลากรสร้างสรรค์ รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลดิจิทัลแห่งชาติภายในปี 2560

และสุดท้าย ด้านภาครัฐ ต้องมีการพัฒนาสู่รัฐบาลดิจิทัลเพื่อลดความซับซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพ ต้องปรับกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล พัฒนาบุคลากร การปรับกฎหมาย กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการทำงานแบบดิจิทัล โดยผลักดันให้ออกกฎหมายและระเบียบต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการจัดตั้งสภาไอซีทีให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 ด้วย เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา รวมไปถึงเพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าต้องใช้เงินประมาณ 2 แสนล้านเป็นงบประมาณตั้งต้นในพัฒนาทั้ง 4 ด้านนี้

นอกจากนี้รายงานของสมาคม TFIT ระบุว่า ปัจจุบันการค้าออนไลน์เแม้จะสามารถทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อยู่แล้ว แต่ข้อจำกัดทางกฎหมายหรือระเบียบราชการบางประการทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปได้ จึงเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายและระเบียบรับรองเอกสาร เช่น ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี และเอกสารด้านโลจิสติกส์อื่นๆ ให้ใช้ในรูปแบบดิจิทัลได้ภายในปี 2558 พร้อมสร้าง Thailand E-Commerce Framework และกำหนดตัวชี้วัดภาพรวมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซภายในประเทศไทย (ทั้งภาครัฐและเอกชน) รัฐยังต้องเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยกระบวนการ e-Learning และส่งเสริมการสร้างดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) ภายในประเทศ โดยส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการด้าน e-Learning ให้ผลิตคอนเทนต์ป้อนภาคการศึกษา ธุรกิจและอุตสาหกรรม พร้อมทั้งปรับรูปแบบธุรกิจดั้งเดิมให้สอดคล้องกับการแข่งขันในยุคปัจจุบัน ทั้งยังขอการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Animation และ Gaming เพื่อเพิ่มมูลค่าตลาดเกมในประเทศเป็น 15,000 ล้านบาทในปี 2560

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงปัญหาของการพัฒนาการทำงานแบบดิจิทัลด้วยระบบไอทีของไทย นายวิชัยตอบว่า เท่าที่สัมผัส การทำงานของคนภาครัฐนั้นพบว่าวิธีคิดของคนทำงานโดยทั่วไปยังพอเปลี่ยนกันได้ แต่ระเบียบของคนภาครัฐเป็นข้อจำกัดมาก เมื่อคุยกับเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง ระดับกลาง หรือแม้กระทั่งผู้ปฏิบัติงาน ทุกคนเห็นประโยชน์ของการทำงานแบบดิจิทัล และอยากจะให้เกิดขึ้น แต่ระเบียบและข้อบังคับของหน่วยงานไม่สอดคล้องกับการทำงานแบบดิจิทัล

“งานชิ้นแรกต้องแก้ไขที่กฎระเบียบ ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างของหน่วยงานราชการและรีบแก้ไขด้วย มักจะมีการอ้างว่าระเบียบแก้ยาก ต้องเสนอ มีขั้นตอน แต่ถ้าทำจริงๆ ระยะเวลาไม่นาน ทุกอย่างทำได้ อยู่ที่จะทำหรือเปล่า อย่างภาคเอกชน การแก้ระเบียบบริษัทผมก็ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที”

นายวิชัยกล่าวต่อไปว่า ระเบียบของหน่วยงานภาครัฐนั้นไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ซับซ้อนและทับซ้อน หลายฝ่ายหลายกระทรวงต้องช่วยกันให้เป็นการบริหารงานแบบไอซีที และระหว่างที่รอการพัฒนานั้น อะไรที่แก้ไขได้ก็ควรแก้ไขก่อน

ทางสมาคม TFIT จึงมีความเห็นว่าภาครัฐบาลจึงต้องพัฒนาสู่รัฐบาลดิจิทัล ลดความซับซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพ ภายในปี 2559 พร้อมออกหรือปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมดิจิทัลและธุรกิจไอซีทีให้ทันสมัย เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายจ้างแรงงานต่างชาติ ภายในปี 2558 และออกหรือปรับแก้กฎหมายและวางโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการบันทึกและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการใช้ข้อมูล พร้อมทั้งกำหนดบทบาทและหน้าที่ตลอดจนขนาดของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใหม่ เพื่อให้มีความรับผิดชอบในการส่งเสริมกิจการสื่อสารและการกระจายภาพและเสียงออกอากาศ และกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการด้วยความรู้ความชำนาญมากกว่ามาจากตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อการประหยัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น

dnp
ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/SimpliIT


ด้านนายดนุพล สยามวาลา สมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย (The Association of Thailand Open Source Federation) หนึ่งในสมาชิกสมาคม TFIT ระบุว่า วิธีคิดของคนทำงานภาครัฐคือทำไปเรื่อยๆ ไม่มีความกระตือรือร้น เมื่อไม่มีความรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลง โอกาสที่จะไปผลักดันจึงทำได้ยาก หากมีการกระตุ้นให้มีมาตรฐานบางอย่างก็จะทำให้เกิดความก้าวหน้า การเปลี่ยนแปลงทำจากบนลงล่างไม่เพียงพอ แต่ต้องมีการเปลี่ยนวิธีคิดและมาตรฐานใหม่ใส่เข้าไปก่อนด้วย

“คนทำงานภาครัฐยังติดอยู่กับโลกเดิมๆ วิธีการเดิมๆ เช่น สมมติว่ามีการปรับระบบโดยการลดกระดาษในการทำงาน ถ้าทุกคนยังยึดอยู่กับกระดาษจะลำบาก การที่จะไปผลักดันอะไรต่างๆ ก็จะยากเพราะมีกระแสต่อต้านมาก ฉะนั้น คนทำงานภาครัฐจึงมี 2 ตัวเลือก คือ ถ้าเขาปรับตัวไม่ได้ก็จะถูกย้ายที่ (replace) หรือทดแทน ต้องปรับตัวยกระดับขึ้นมาให้เข้ากับมาตรฐานใหม่ให้ได้”