ThaiPublica > คอลัมน์ > สงครามระหว่าง e-books และ print books

สงครามระหว่าง e-books และ print books

5 ธันวาคม 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

การพัฒนาและการแพร่กระจายของเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมามีผลกระทบต่อการผลิตหนังสือและรสนิยมของคนอ่านหนังสือที่เรียกว่า e-books เกิดขึ้นมากมายมาแทนที่หนังสือที่ใช้กระดาษธรรมดา (print books) มีคนพยากรณ์ว่าในเวลาไม่ช้า print books จะไม่มีที่ยืน ทางโน้มของทั้งโลกคือการกลายเป็น e-books หมด ลองมาดูกันว่าคำทำนายเช่นนี้จริงไหม

หลังจากมนุษย์ประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นเมื่อ 6,000 ปีก่อน ความพยายามในการพิมพ์ตัวอักษรก็ตามมา เมื่อ 5,000 ปีก่อนมนุษย์ก็รู้จักวิธีพิมพ์ภาพ พิมพ์ตัวอักษรลงบนผ้า แผ่นหนัง ฯลฯ ในอินเดียและจีน โดยการใช้ลูกกลิ้งหินและไม้ประทับอักษรแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก

สิ่งที่เรียกว่าหนังสือหรือข้อความที่เขียนอยู่ในรูปของม้วน ๆ อยู่ยาวนานจนกระทั่งเมื่อ 2,000 ปีก่อนจึงคิดทำเป็นเล่มหนังสือ (codex) ดังที่เราอ่านกันอยู่ในปัจจุบันเพราะสะดวกกว่าที่เป็นม้วนมาก

เมื่อการพิมพ์ด้วยลูกกลิ้งมีข้อจำกัด จึงใช้การคัดลอกหนังสือแทน ถ่ายทอดกันต่อๆ มา อย่างไรก็ดี การลอกข้อความนั้นมีราคาแพงมาก ค่าจ้างคัดลอกอยู่ในราคาหนึ่งเหรียญ florin ต่อหน้า (ปัจจุบันมีราคา 200 เหรียญสหรัฐฯ) ถ้าหนา 100 หน้า ก็ต้องจ่าย 100 florins ซึ่งเท่ากับ 20,000 เหรียญในราคาปัจจุบัน ราคาแพงเช่นนี้หนังสือจึงไม่แพร่หลาย คนส่วนใหญ่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เฉพาะคนชั้นสูงและเศรษฐีเท่านั้นที่เข้าถึงหนังสือ

จุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์โลกก็คือการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์โดย Johannes Gutenberg ชาวเยอรมัน ใน ค.ศ. 1450 ภายในเวลา 200 ปีหลังจากนั้นจากจำนวนหนังสือเป็นหมื่นเล่มที่มีอยู่ในโลกได้เพิ่มเป็น 12 ล้านเล่ม ความคิด ปรัชญา ความคิดเห็น คำสอนในศาสนา ฯลฯ แพร่กระจายสู่คนธรรมดา ซึ่งแหลมคมยิ่งกว่าอาวุธเสียอีก และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หนังสือเป็นเล่มจากการพิมพ์ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก

จากหนังสือแบบใช้ตัวโลหะเรียงพิมพ์ก็พัฒนาขึ้นเป็นการพิมพ์ในระบบออฟเซตสมัยใหม่และกลายเป็น e-books ที่ไม่ต้องใช้กระดาษเลยในที่สุด เมื่อ e-books เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อนมีคำพยากรณ์มากมาย เช่น (ก) คนจะเลิกอ่าน print books ภายในเวลา 20 ปี (ข) ก่อนหน้าปี 2013 ครึ่งหนึ่งของจำนวนหนังสือจะเป็น e-books

อย่างไรก็ดี สถิติที่นิตยสาร The Economist นำมาแสดงเมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ (ก) ในปี 2013 ตลาดขายหนังสือสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของโลกมียอดรายได้เพียงร้อยละ 30 ของยอดรายได้ทั้งหมดที่มาจาก e-books (ข) ในตลาดเยอรมนี (อันดับ 3 ของโลก) มียอดรายได้เพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่มาจาก e-books

ยิ่งไปกว่านั้น ในระหว่างปี 2009-2018 การคาดการณ์ก็คือในปี 2018 ยอดรายได้จาก e-books กับ print books ใกล้เคียงกันในตลาดสหรัฐฯ ส่วนญี่ปุ่นนั้นในปี 2018 ยอดรายได้จาก print books ลดลง แต่ของ e-books นั้นเพิ่มมากก็จริงแต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมากของยอดรายได้ทั้งหมด

สำหรับเยอรมนี ยอดรายได้จาก print books ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ยอดรายได้จาก e-books เป็นสัดส่วนที่น้อยมากของรายได้ทั้งหมด ในปี 2018 สถานการณ์ในจีน อิตาลี และอังกฤษ ก็คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ยอดรายได้จาก print books ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนยอดของ e-books เพิ่มไม่มาก และเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของยอดรายได้ทั้งหมด

กล่าวโดยสรุปก็คือ คำพยากรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการตายของ print books ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด print books ยังคงมีสุขภาพดี โดยสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ของโลกพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ายอดขาย print books จะยังคงอยู่ในลักษณะเดิม กล่าวคือเป็นสัดส่วนใหญ่ของยอดขายหนังสือทั้งหมดไปอีกหลายทศวรรษ หรืออาจตลอดไปก็เป็นได้

คำถามก็คือ เหตุใดผู้คนยังคงพิสมัย print books อยู่ถึงแม้ e-books จะเป็นเครื่องมือที่สะดวก ไม่ต้องแยกหนังสือหลายเล่มซึ่งรวมกันมีราคาแพงกว่ามาก เครื่องอ่าน e-books ที่มีชื่อว่า Kindle มีขนาดเท่าฝ่ามือ บางและเบา ซึ่งมีจอไม่เป็นไฟสว่างหากมีลักษณะเหมือนกระดาษ สามารถดาวน์โหลดหนังสือได้นับพันเล่ม แต่ละเล่มสามารถดาวน์โหลดจาก Amazon.com ได้ในเวลาไม่กี่วินาที และถ้าหากเป็น tablets/mobiles/computers ก็สามารถดาวน์โหลดหนังสือจำนวนมากได้ฟรี

สาเหตุที่ print books มีสุขภาพดีก็เพราะ (1) สะดวกในการเปิดพลิกและค้นดูทั้งเล่มกลับไปมา (2) หนังสือที่ใช้สำหรับอ้างอิงเหมาะที่จะอยู่ในรูป print books (3) ไม่ทำร้ายสายตาและมีแบตเตอรี่ตลอดชีวิต (4) ความเคยชินกับวัฒนธรรมการอ่าน print books อีกทั้งชอบสัมผัสกระดาษและความเป็นธรรมชาติ และ (5) ให้ immersive experience ซึ่งหมายถึง “การอิน” “การฟิน” “การดื่มด่ำ” กับหนังสือที่เป็นเล่มแบบธรรมดาเป็นพิเศษ

e-books เหมาะสำหรับการอ่านที่ “ฉาบฉวย” ไม่จำเป็นต้องพลิกกลับไปเพื่ออ้างอิง เช่น นวนิยายทั้งหลายไม่ว่าเรื่องรัก นักสืบ ผจญภัย วิทยาศาสตร์ ฯลฯ และนี่คือคำอธิบายว่าเหตุใดหนังสือพิมพ์จึงมียอดขายตกกันทั่วโลก เนื่องจากข่าวในแต่ละวันอ่านแล้วก็ผ่านไป ข่าววันใหม่ก็มาแทน คนไม่แคร์ที่จะทิ้งไปหรือให้ใครไป e-books จึงเป็นที่นิยมเพราะถูกกว่าทันใจกว่า (ซื้อได้ทันทีและจ่ายเงินออนไลน์ในเวลาไม่กี่นาที) ดูทันสมัย สะดวกในการพกพา

ในอนาคตเชื่อว่า print books จะอยู่ยั้งยืนยง โดยไม่ใช่สิ่งที่ถูกทดแทน (substitute) หากเป็นสิ่งที่ใช้ร่วมกัน (complement) กับ e-books ตัวอย่างเช่นใช้ตำราคู่กับแผ่น DVD ที่เฉลยแบบฝึกหัดซึ่งมากับตำรา

การที่สินค้าใดจะอยู่ได้นานเพียงใดขึ้นอยู่กับประโยชน์และรสนิยมของผู้ใช้เป็นสำคัญ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 2 ธ.ค. 2557