ThaiPublica > คนในข่าว > ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ค้นเครื่องมือจับโกงตำรวจ-แก้ธุรกิจเถื่อนเงินใต้โต๊ะ-สินบน-ค่าคุ้มครอง ยังเฟื่องหวังผู้นำออกกฏเหล็ก-ใช้ยาแรง ด้วยโมเดล “ฮ่องกง”

ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ค้นเครื่องมือจับโกงตำรวจ-แก้ธุรกิจเถื่อนเงินใต้โต๊ะ-สินบน-ค่าคุ้มครอง ยังเฟื่องหวังผู้นำออกกฏเหล็ก-ใช้ยาแรง ด้วยโมเดล “ฮ่องกง”

12 ธันวาคม 2014


การทุจริตคอร์รัปชันในวงการาชการ และวงการเมือง อยู่คู่โครงสร้างอำนาจไทย มาตั้งแต่รัชสมัยที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จาก “ค่าน้ำร้อน น้ำชา” มาถึงการ “กินตามน้ำ” ลงไปถึง “เงินใต้โต๊ะ” กลายเป็น “ระบบกินเมือง” สู่รูปแบบการทุจริต ที่แนบเนียนพัฒนาสู่ “ผลประโยชน์ทับซ้อน”

อาจกล่าวได้ว่าแทบทุกรูปแบบการทุจริต ทั้งใต้ดิน-บนดิน ในวงราชการ วงการเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ และธุรกิจการเมือง ระบบเถื่อน ล้วนเคยผ่านการศึกษาอย่างเจาะลึกของ “ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร” ไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง

เมื่อเกิดปรากฏการณ์กวาดล้างขั้วอำนาจในวงตำรวจ โดยใช้ปมทุจริตเถื่อน-โพยส่วย และมูลค่าการซื้อ-ขายตำแหน่ง ที่มีมูลค่าของกลางมหาศาล ข้อคิดเห็นและแนววิเคราะห์ของปัญญาชนที่คร่ำหวอดวงการทุจริต อย่าง “ดร.ผาสุก” อาจทำให้ผู้อ่าน เห็นภาพที่ซ้อนอยู่ทั้งในเบื้องหน้า และเบื้องหลัง ครบทุกมิติ

ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ไทยพับลิก้า : ภาพการคอร์รัปชันไทย โดยเฉพาะวงการตำรวจ ในเวลานี้สะท้อนอะไร

ระดับการทุจริตประพฤติมิชอบในภาคราชการรวมทั้งตำรวจด้วย จากการสำรวจความเห็นและประสบการณ์ของกับหัวหน้าครัวเรือนทั่วๆ เมื่อต้นปีนี้เทียบกับเมื่อ 15 ปีที่แล้ว มีความเป็นไปได้ว่ามีแนวโน้มดีขึ้น เพราะว่าประชาชนมีความตื่นตัวมีช่องทางในการร้องเรียนมากขึ้น สื่อก็ได้ช่วยเรื่องนี้ และหน่วยงานที่กำกับดูแล ระบบจริยธรรม ความโปร่งใส ประสิทธิภาพในการให้บริการภาครัฐของข้าราชการในระดับล่าง และระดับกลางจนถึงเกือบบนนั้นได้มีการปฏิรูปเกิดขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และในกระบวนการปฏิรูปนี้ก็มีข่าวดี คือมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่นมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีการปรับปรุงลดขั้นตอนการให้บริการ มีการลดภาระของประชาชนที่มาติดต่อ

ดังนั้นเราจึงพบว่าจำนวนของความถี่ที่ประชาชนมาติดต่อกับหน่วยงานราชการลดลง แล้วก็มีองค์กรที่ต่อต้านเรื่องสินบนในระดับราชการ ก็มีการตรวจทางลับ มีการประเมินผลการทำงานจากคนภายนอก จากคนภายใน มีการตั้งคณะกรรมการหลายระดับที่จะมาช่วยสร้างความตื่นตัวในระบบราชการ แต่มาตรการเหล่านี้ก็ได้มีการยอมรับว่ายังเข้าไม่ถึงข้าราชการระดับสูง ซึ่งอาจจะไปเกี่ยวโยงกับนักการเมือง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช ที่อาจจะต้องทำงานมากกว่านี้ รวมทั้ง ป.ป.ท.ด้วย

และในกระบวนการของตำรวจเองก็มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการสืบสวนสอบสวนผู้ที่ถูกดำเนินคดี คือใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ให้ทนายเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสืบสวนสอบสวนด้วยได้ ซึ่งก็อาจจะช่วยภาคประชาชนได้มากกว่าเดิม

แต่ว่าในกรณีของตำรวจ ในการกำกับควบคุมเศรษฐกิจนอกกฏหมาย เศรษฐกิจนอกระบบ ช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งมันเป็นแหล่งรายได้ผิดปรกติที่มากับสินบนการคุ้มครองธุรกิจเหล่านี้ที่สำคัญ เพราะฉะนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่า การเรียกรับสินบนของตำรวจบางส่วนนั้นขยับจากประชาชนคนธรรมดา ไปสู่พวกนักธุรกิจหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผิดกฎหมายต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม

เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงอยากจะพูดถึง “ยาแรง” แบบที่ฮ่องกงใช้ในระบบตำรวจ ที่จะทำให้ ป.ป.ช. สามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติของข้าราชการได้ทุกระดับ แล้วก็มีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น นอกจากการถูกยึดทรัพย์แล้ว ต้องถูกไล่ออกและ ยังมีบทลงโทษจำคุก 10 ปี

กฎหมายฉบับนี้ของฮ่องกง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฮ่องกงอวดได้ว่าตำรวจฮ่องกงนั้นเป็นตำรวจที่มีประสิทธิภาพแห่งหนึ่งในโลก ถ้าจะมาใช้กับไทย เราต้องมีระบบ “นิติรัฐ” Rule of Law ก็คือว่ากฎหมายนั้นสามรถใช้ได้กับคนทุกคน ไม่ใช่มีบางคนอยู่เหนือกฎหมาย คือถ้าคุณร่ำรวยคุณจ่ายได้อย่างนี้ไม่ได้ ในฮ่องกงนี้อาจารย์คิดว่าใครไปจ่ายกระบวนการยุติธรรมเขาไม่ได้

ไทยพับลิก้า : เรื่องคอร์รัปชัน ในวงการตำรวจ ในงานวิจัยครั้งล่าสุด มีข้อค้นพบอะไรบ้าง

งานวิจัยที่ทำครั้งล่าสุด (2557) เป็นงานสำรวจภาพรวมของการคอร์รัปชันจากมุมมองและประสบการณ์ของคนธรรมดา และตำรวจก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง พูดกันจริงๆ เลย คือพบว่าวงการตำรวจยังเป็นหน่วยงานที่หัวหน้าครัวเรือนตอบว่า เรียกสินบนอยู่ในอันดับต้นๆ ภาพนี่ยังแทบไม่ได้เปลียน

หากปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในวงการตำรวจ ออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ประชาชนในชีวิตประจำวันประสบ กับส่วนที่ เกี่ยวโยงกับเรื่องของธุรกิจนอกกฎหมาย

กล่าวได้ว่าส่วนที่โยงกับประชาชนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ว่าส่วนที่โยงกับธุรกิจนอกกฎหมายเรายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร
ในภาพรวมก็ดูเหมือนว่า ในแง่ของโครงสร้างอำนาจการบังคับบัญชาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ยังอยู่ในรูปแบบที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก

ไทยพับลิก้า: ในแง่โครงสร้างอำนาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก แต่ปัญหาการคอร์รัปชันมีพัฒนาการเปลี่ยนไป เป็นอย่างไร

จากที่สอบถามหัวหน้าครัวเรือนที่ทำการติดต่อกับพนักงานตำรวจ ความถี่ของการถูกเรียกรับสินลดลง และจำนวนเงินก็ลดลงด้วย ซึ่งตรงนี้มันมีความเป็นไปได้ เพราะว่าช่วง 15 ปีที่ผ่านมาจากที่ได้ทำการสำรวจ ครั้งแรกในปี 2542 ในปีนั้นประชาชนมีการตื่นตัวต่อปัญหาการถูกเรียกรับสินบน แล้วก็ทางภาคราชการเองก็ได้มีการพยายามเข้าไปปรับปรุง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ก็อาจจะมีส่วนทำให้การทุจริตปรพฤติมิชอบที่หัวหน้าครัวเรือนประสบในชีวิตประจำวันลดลงได้ เป็นไปได้

แต่ว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไร ในเรื่องของธุรกิจนอกกฎหมาย คือเคยเป็นอย่างไรก็ยังเป็นอย่างนั้น เราไม่ได้มีมาตรการที่จะนำธุรกิจนอกกฎหมายขึ้นมาอยู่บนกฎหมาย จากใต้โต๊ะให้มาอยู่บนโต๊ะ หรือมีการจัดระบบการบริหารจัดการให้มันเป็นเรื่องเป็นราว มันก็ยังเถื่อน อะไรที่เคยเถื่อนก็ยังเถื่อนอยู่

ซึ่งตรงนี้มันก็เป็นการเปิดช่อง อาจจะมีการเปิดช่องให้ใช้อำนาจที่จะไปเรียกค่าคุ้มครอง เรียกรับสินบน อย่างที่เราได้เห็นกัน
แล้วทีนี้ถ้าข้อสันนิษฐานของอาจารย์เป็นไปได้จริงว่าการเรียกรับสินบน เปลี่ยนย้ายจากเรื่องของประชาชนธรรมดา มาเป็นเรื่องธุรกิจเถื่อนๆ มันก็มีความเป็นไปได้สูงนะ ว่าธุรกิจเถื่อนได้กลายเป็นแหล่งของรายได้สำคัญในเรื่องของสินบน การเรียกค่าคุ้มครอง กับกระบวนการตำรวจ

คือคณะวิจัยเองก็ได้ทำงานต่อมาเกี่ยวกับเรื่องของ ธุรกิจการพนันซึ่งเป็นแหล่งสำคัญ ของธุรกิจเถื่อน ธุรกิจนอกกฎหมายในบ้านเรา โดยเฉพาะพวกคาสิโน คือการมาเล่นการพนันหลายรูปแบบมาก ที่กฎหมายยังควบคุมไม่ถึง และที่กฎหมายเข้าไปควบคุมก็คุมได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ไทยพับลิก้า: หมายถึงว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถควบคุมคนดำเนินการที่ผิดกฏหมายได้

ดร.ผาสุก: คือว่า ในเรื่องธุรกิจการพนัน กฎหมายที่มีอยู่เปิดให้มีธุรกิจการพนันถูกกฎหมายได้บางประเภท เช่น การแข่งม้า หรือการแข่งวัว หรือแม้การเปิดให้เล่นการพนันโดยใช้ใบอนุญาต แต่ว่ากฎหมายจะกำหนดเวลาที่ชัดเจน คือ ถ้าคุณไปขออนุญาต ขออนุญาตจากเวลาไหนถึงเวลาไหน และเมื่อถึงเวลาต้องปิด ทีนี้เวลาคนเล่นการพนันมันแล่นไม่เป็นเวลา ให้ปิดเก็ยังอยากจะเล่นต่ออีก ก็อาจจะขอเปิดต่อไปอีก

ดังนั้นก็ต้องแอบเปิด โดยยอมจ่ายตำรวจก็เปิดต่อได้ได้ ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้นที่เราทราบกัน ที่ได้ไปศึกษา
แล้วก็มีบ่อนหลายประเภทมากเลย คือบ่อนถาวร บ่อนวิ่ง คือธุรกิจการพนันเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเงิน โดยเฉพาะเลย เพราะฉะนั้นวงเงินที่เกี่ยวข้องนี่เยอะมาก รวมถึงธุรกิจค้าของเถื่อนด้วย

ไทยพับลิก้า: งานวิจัยในปี 2537 พูดถึงระบบกินเมืองในวงการตำรวจ เวลานี้ที่เวลาผ่านไปกว่า 2 ทศวรรษ ระบบกินเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ที่เราได้รับฟังในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ตลอดเวลา แล้วก็เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ทำให้เราอดจะมีบทสรุปไม่ได้ว่าไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่มีนัยสำคัญ

แล้วก็ระบบการเลื่อนขั้น ระบบการโยกย้าย หรือระบบการแต่งตั้งภายในตำรวจเอง ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ยังคงเป็นระบบโครงสร้างที่ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในคนระดับสูง ซึ่งก็เป็นการเปิดช่องให้มีการซื้อตำแหน่งได้ง่าย

ไทยพับลิก้า: การซื้อตำแหน่งที่มีอัตราสูง จากในปี 2537 เก้าอี้สารวัต 7 แสน ถึง 1 ล้าน เทียบกับในเวลานี้ที่เป็นข่าวคือ เงินซื้อตำแหน่งเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่า แสดงว่าพัฒนาการในการแก้ไขปัญหาไม่มี แต่พัฒนาการในการคอร์รัปชันกลับมีอัตราเพิ่มขึ้น

ใช่…มีพัฒนาการในการคอร์รัปชัน เพราะว่าเราไม่ได้มีการปรับปรุงระบบที่จะเข้าไปกำกับการคอร์รัปชันเหล่านี้เลยในช่วง 15 ปี
ป.ป.ช.ก็เข้าไม่ถึง เรื่องร้องเรียนที่เคยศึกษา เรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับตำรวจที่เข้าไปที่ ป.ป.ป. สมัยก่อนจะเป็นเรื่องค่อนข้างเล็กน้อย เช่น นายตำรวจไม่จ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงให้กับตำรวจชั้นผู้น้อย ซึ่งเป็นวงเงินไม่มาก แต่ในระยะหลังนี้ยังไม่ได้ไปดู แต่ก็ได้ทราบว่าในทุกๆ ปีทางตำรวจก็มีการให้ออกหรือไล่ตำรวจออกจำนวนหนึ่งที่กระทำความผิด

ไทยพับลิก้า: ภาพในอดีตที่ไม่เคยเห็นว่าตำรวจถูกไล่ออกเพราะกระทำความผิด แต่ในระยะหลังมีภาพของตำรวจที่ถูกไล่ออกจากการกระทำความผิดมากขึ้น

มีค่ะ อย่างเช่น คณะกรรมการจริยธรรมที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเขาได้ทำอะไรไปบ้าง แล้วก็มีกรณีเรื่องของวินัยเรื่องของอะไรที่เกิดขึ้น

แต่ว่ามาตรการเหล่านี้บอกได้เลยจากการที่ไปสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)มาตรการเหล่านี้เข้าไม่ถึงข้าราชการระดับสูงๆ ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวโยงกับการทุจริตประพฤติมิชอบในวงเงินมากๆ หลายล้านบาท

ไทยพับลิก้า: เพราะว่าระบบในการคอร์รัปชันมันถูกออกแบบให้อยู่ในคนระดับสูงไปใช่ไหม

คือคณะกรรมการจริยธรรมนั้น การเข้าไปกำกับทางด้านจริยธรรมของข้าราชการ โดยผู้ที่เป็นหัวหน้าดูแลก็อาจจะเป็นรองปลัด ที่เป็นระดับสูงที่สุด ต่ำลงมาก็เป็นระดับอธิบดี คือถ้าอธิบดีเข้าไปเป็นหัวหน้าคณะกรรมการจริยธรรมเอง เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอีกแบบ
แต่ว่าในกรณีที่ สั่งการให้กับรองปลัดเป็นผู้ดูแล มันก็ทำให้การทำงานของเขาเข้าไม่ถึงคนระดับสูง คือเราจะพบว่ากรณีการทุจริตประพฤติมิชอบนั้นวงเงินมหาศาล และเครือข่ายมาก จะต้องมีการเกี่ยวโยงของข้าราชการระดับสูงด้วย ซึ่งคณะกรรมการตรงนี้เข้าไม่ถึง แล้วก็วงการตรวจสอบคอร์รัปชัน อย่างเช่น ป.ป.ช. ดูเหมือนว่าจะเน้นไปในระดับนักการเมืองมากกว่าจะมองไปถึงพวกข้าราชการระดับสูง แม้ว่าข้าราชการซี 9 ขึ้นไปจะอยู่ในขอบข่ายการตรวจสอบของ ป.ป.ช.แต่ว่าเขาจะดูก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น

ไทยพับลิก้า: การออกกฏหมาย หรือใช้ยาแรง เพื่อเอาผิดข้าราชการระดับสูง ต้องอาศัย “ความมุ่งมั่นทางการเมือง” ของผู้นำประเทศ คิดว่าจะมีความหวังได้หรือไม่

คิดว่าโดยทั่วไป ผู้มีอำนาจในบ้านเราไม่ค่อยได้สนใจ ภาระหรือว่า ผลที่มันเกิดขึ้นกับคนระดับกลาง ระดับล่างมากสักเท่าไร อาจจะสนใจกับความอยู่รอดของกลุ่มตัวเองเป็นหลัก แล้วบางทีก็อาจจะพร้อมที่จะร่วมมือกับผู้ที่ร่ำรวยแบบผิดกฎหมายเพื่อคงสภาพโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่เอาไว้ก็เป็นได้

ดังนั้นเราจึงไม่เคยได้เห็น สิ่งที่เราเรียกว่าความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขคอร์รัปชัน การทุจริตประพฤติมิชอบในระบบตำรวจ ในภาคราชการอาจารย์สามารถจะพูดได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลง ในภาคราชการทั่วๆ ไปได้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้นมากมาย
แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสนใจว่า สื่อมวลชนแล้วก็ชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งไม่ได้ให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงในทางดีๆ ที่เกิดขึ้น เพราะดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นการทำดีเสมอตัว

ไทยพับลิก้า: เป็นเพราะอะไร ความสนใจเรื่องการคอร์รัปชันของข้าราชการ จึงน้อยกว่าการคอร์รัปชันของนักการเมือง

ก็อยากจะฝากว่าข่าวดีมีนะในวงราชการ แล้วเขาก็ทำงานกันแข็งขันมาก แต่เขาก็ยอมรับ ว่าสิ่งที่เขาทำมันเข้าไม่ถึงข้าราชการระดับสูง แล้วข้าราชการระดับสูง ไม่ใช่ว่าเขาจะทำการทุจริต ประพฤติมิชอบด้วยตัวเองไม่ได้นะ อันนี้ไม่จริง แน่นอนว่าโครงการใหญ่ๆ ที่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ เช่นโครงการก่อสร้างอะไรต่างๆ ใหญ่ๆ อาจจะต้องไปเกี่ยวโยงกับนักการเมือง

แต่ก็ยังมีโครงการอื่นๆ อีกเยอะแยะเลยที่อาจจะไม่เกี่ยวกับนักการเมืองก็ได้ ทำกันได้ภายในภาคราชการเอง แล้วก็นักการเมืองบางทีเขาทำอะไรก็มีขีดจำกัดนะ ต้องได้รับความร่วมมือจากข้าราชการ ซึ่งจริงๆ แล้วภาคราชการนั้นเป็น “หัวใจ” แต่ขณะนี้กระแสออกไปในทางที่ว่าผู้ร้ายนี่คือนักการเมือง

คือจริงๆ แล้วเนี่ยอาจารย์ไม่ได้ปฏิเสธว่านักการเมืองหลายคนเป็นผู้ร้าย แต่นักการเมืองที่เป็นผู้ร้ายนี้บางทีจะทำอะไรไม่ได้หากไม่ได้รับความรวมมือจากข้าราชการ

ทีนี้ถ้าเราบอกมีข่าวดีเกี่ยวกับระบบราชการดีขึ้นไม่มีใครไปลงข่าวเลย เอาแต่ข่าวร้ายหมดเลย แล้วทุกคนก็มีความรู้สึกว่าระบบราชการ นั้นดีอยู่แล้ว คนที่ไม่ดีเป็นนักการเมือง แต่จริงๆ มันไม่ใช่ แล้วระบบราชการไทยเปลี่ยนแปลงได้ เปลี่ยนไปในทางที่ดีได้ด้วย จากข้อมูลที่เราได้ทำการศึกษามันบ่งชี้ว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในระบบราชการ แต่มันยังเป็นการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการที่โยงกับข้าราชการระดับกลางๆ หรือระดับล่างๆ แต่ข้าราชการระดับสูงๆ มาตรการในการดำเนินการตรงนี้ยังเข้าไม่ถึง
ซึ่งมันมีนัยยะว่า ป.ป.ช. ต้องทำงานมากกว่านี้ ต้องทำงาน ไม่ใช่จะไปกระจุกอยู่ที่เรื่องของระดับนักการเมืองเท่านั้น แล้วก็เป็นหนัก อาจเป็นระดับนักการเมืองเฉพาะจุดด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นงานหนักนะ

ไทยพับลิก้า: เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในรัฐบาลที่มีลักษณะพิเศษ ปรากฏการณ์ตรวจสอบคอร์รัปชันเ มีมากขึ้นกว่ารัฐบาลธรรมดา ทำให้สัดส่วนการคอร์รัปชันผ่านระบบธุรกิจการเมืองลดลง

ยังตอบไม่ได้เนื่องจากยังไม่ได้ลงไปศึกษา แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ยังเป็นช่วงระยะต้นๆ อยู่ ทางรัฐบาลก็ได้ออกมาพูดอย่างแข็งขัน เพราะฉะนั้นก็เป็นไปได้ว่ามีความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในช่วงนี้

แต่เราก็ไม่ได้เห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมอะไร ที่ออกมา ที่จะทำให้เราวางใจ แต่แน่นอนในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา มันมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือ ภาคธุรกิจเอกชนบางกลุ่มได้ปรับเปลี่ยนทัศนะคติต่อการคอร์รัปชัน และได้มีการจัดตั้ง “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน” เป็นเรื่องเป็นราว และได้ดำเนินการต่อต้านคอร์รัปชันผ่านสื่อมวลชน ผ่านกิจกรรมขององค์กร ก็คือ “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย”

ซึ่งพูดได้ว่าสมัยนี้ เปลี่ยนไปจากสมัยที่คณะวิจัยของเราเริ่มทำวิจัยเมื่อ 15-16 ปีที่แล้ว ในครั้งนั้นจำได้เลยว่าได้ชักชวนนักธุรกิจบางท่านให้มาร่วมมือในการให้ข้อมูล ในการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่นักธุรกิจท่านหนึ่งได้ตอบว่า “สำหรับพวกเราการอยู่รอดของธุรกิจของเราสำคัญกว่า แล้วถ้าเราจ่ายได้เราก็จ่าย” ซึ่งในสมัยนั้นเป็นสมัยต้นทศวรรษ 1990 ก็คือ พ.ศ. 2534-2535 ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูสุดขีด อันนั้นก็เป็นทัศนะคติของนักธุรกิจที่เราเข้าไปคุยด้วยในตอนนั้น อาจจะไม่ใช่กลุ่มเดียวกับกลุ่มนี้

แต่ว่าตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยน โดยเฉพาะหลังปี 2540 ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจซบเซา เราก็ได้เห็นปรากฎการณ์ที่เจ๊ ที่มีรถขนส่งจำนวนมาก ออกมาแฉโพยเรื่องส่วยทางหลวง แล้วสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งก็ได้ไปถ่ายภาพการจ่ายส่วยทางหลวงให้เราได้เห็นกันทางโทรทัศน์ ก็เป็นเรื่อง ฮือฮากันพักหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นนักธุรกิจอื่นๆ ก็ออกมาร้องเรียนมากหลังปี 2540 ก็เพราะว่าอัตรากำไรลดลง แต่อัตราการเรียกสินบนไม่ลด ผู้ที่รับสินบนคุ้นเคยกับการได้รับสินบนจำนวนขนาดนี้มาเป็นระยะเวลายาวนานอยู่ๆ จะลดจำนวนลงไป แต่นักธุรกิจต้องการจ่ายลดลง จึงออกมาร้องเรียนกันมากเลยโดยเฉพาะร้องเรียนเกี่ยวกับภาษี เกี่ยวกับศุลกากร

แล้วคนที่ออกมาร้องเรียนไม่ใช่เฉพาะนักธุรกิจในประเทศ นักธุรกิจต่างประเทศด้วย ผ่านหอการค้าต่างประเทศ ผ่านการได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีเวลาเดินทางไปต่างประเทศ หรือผ่านตัวแทนของประเทศต่างๆ เมื่อเข้ามาในประเทศไทย

เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาก จึงเป็นหน่วยงานที่โยงกับธุรกิจต่างประเทศ เช่นกรมศุลกากร หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกับต่างประเทศก็เช่นกระทรวงการต่างประเทศ แต่หน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ได้โยงกับต่างประเทศ เช่นกรมที่ดิน กรมตำรวจ ก็มีการเปลี่ยนแปลงผ่านการปฏิรูประบบราชการบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีการกำจัดไปอย่างเด็ดขาด เพราะว่าเจ้าสังกัดระดับสูงๆ อาจจะไม่ได้ให้ความใส่ใจมากเท่ากับหน่วยงานที่มีนักธุรกิจร้องเรียน

อย่างไรก็ตามกรณีที่ดินน่าสนใจว่า ยังไม่เคยเห็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไปร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการให้บริการ ในเรื่องของการออกโฉนด การแบ่งโฉนด ที่กรมที่ดิน แต่ว่าเรามีประชาชนร้องเรียน เกี่ยวกับศุลกากร เกี่ยวกับส่วยทางหลวง และหน่วยงานเหล่านี่ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก

ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ไทยพับลิก้า: ภาพที่เป็นภาพใหญ่คือ เป็นการคอร์รัปชัน หรือโกงกิน ยังอยู่ในระบบราชการ โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง

ก็หมายความว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลส่วนบนจะต้องทำงานมากกว่านี้ คือเท่าที่ผ่านมาในอดีตเขาไม่ได้ทำ แต่ในการที่ไปตรวจระดับล่างนั้นทำ การตรวจสอบในระดับล่างนั้นทำได้บ้าง แต่ระดับสูงทำมันยากเพราะว่าผลประโยชน์มันเกี่ยวข้องและเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก

คือคุณแปลกใจไหมว่า ถ้าไม่มีการปล้นบ้านของอดีตปลัดกระทรวงคนหนึ่ง แล้วเรื่องแดงขึ้นมาเนื่องจากมีเงินอยู่ในบ้าน เป็นเงินสดที่ส่งมาจากธนาคาร ยังมัดอยู่ด้วยตราของธนาคารหลายล้านบาท ถ้าหากไม่มีการปล้นดังกล่าวประชาชนทั่วไปไม่มีโอกาสได้รับรู้ ว่าข้าราชการระดับสูงมีการรับเงินกันแบบนี้

อดีตปลัดกระทรวงที่พูดถึงนี่ “ถูกปลดออก” แต่ยังได้บำนาญ แล้วไม่มีโทษอื่นด้วยในขณะนี้ คุณคิดว่ามันใช้ได้ไหมสำหรับพฤติกรรมที่เป็นที่น่าสงสัยขนาดนี้ เรายังไม่มีข้อมูลที่จะไปบอกว่าเขารับมาจากใคร เพราะยังไม่มีใบเสร็จยืนยัน

แต่ที่แน่นอนก็คือว่าเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงด้วยเยอะแยะ ที่เขามีโครงการที่กำลังประมูลอยู่ ข่าวมันจึงเงียบไปหมด แล้วธนาคารนี้บอกได้ไหมว่าชื่อธนาคารอะไร ถ้าเขียนทำไมไม่ลงข่าวเสียที แล้วจะไปปิดทำไมตราธนาคารนั้น นี่ไม่ใช่เป็นความลับราชการนะ

แล้วอันนี้เป็นกรณีเดียวหรือเปล่า อาจไม่ใช่ แล้วทำไมถึงเป็นแบบนี้ คือองค์กรต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบระดับปลัดกระทรวงที่มีผู้ดูแลเป็นระดับรองปลัดนั้น มีกิจกรรมอะไรบ้าง แสดงว่าการตรวจสอบยังเข้าไม่ถึง

ไทยพับลิก้า: ความพยายามในการเอาผิดคนคอร์รัปชัน จึงไปไม่ถึงข้าราชการระดับสูง ทุกกระทรวง

ก็คือมาตรการยังไม่ได้ผลไง ถึงได้พูดถึงเรื่องยาแรงว่า ยาแรงเป็นเรื่องของกฎหมาย “ข้าราชการห้ามโกง”
ขณะนี้ หากเป็นเงินผิดปรกติ ทางการก็เอาผิดได้ว่าร่ำรวยผิดปกติถูกยึดเงินไป แต่ยังไม่มีโทษอื่น และคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบสวนสอบสวนว่าเงินนี้ได้มาอย่างไรก็ได้ข้อสรุปว่า ยังไม่มีข้อมูลว่าเงินได้มาอย่างผิด จึงแค่เพียงถูกปลดออก ยังคงได้บำนาญอยู่ ดังนั้นเรื่องก็ไปอยู่ที่สำนักงาน ป.ป.ช. แต่เราก็ลืม ผ่านเวลามานานเท่าไรแล้วเราก็ยังไม่ได้ระแคะระคายว่าผลมันคืออะไร แล้วจะใช้เวลาอีกเท่าไร แล้วอายุความจะหมดเมื่อไร

แต่ถ้าเป็นกฎหมายยาแรง เมื่อพบว่าไม่สามารถอธิบายได้ว่าเงินนี้ได้มาจากไหน โทษจำคุก 10 ปีเลย ซึ่งตรงนี้ที่ว่าเป็นยาแรงก็คือถ้ามันมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้องและโปร่งใส มันก็จะเป็นตัวป้องกันให้คนที่ทำต้องคิดหน้าคิดหลังนาน

แต่ตอนนี้ก็คืออดีตปลัดท่านนั้น ก็ถูกยึดทรัพย์ไป แล้วจบ เรื่องไปที่ ป.ป.ช. ใช้เวลาเท่าไร หมดอายุความเมื่อไร ซึ่งบางคดีสอบสวนเสร็จแล้วพบว่าคดีหมดอายุความ เราก็ตั้งคำถามว่า แล้วสวนสอบสวนไปถึงไหนอายุความถึงหมด จึงเอาผิดใครไม่ได้เลย