ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 35 ปี ไทม์ไลน์การใช้อินเทอร์เน็ตโลก เปิดมูลค่าร้านค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่ 3 เจ้ารวม 5.1 แสนล้านดอลลาร์

35 ปี ไทม์ไลน์การใช้อินเทอร์เน็ตโลก เปิดมูลค่าร้านค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่ 3 เจ้ารวม 5.1 แสนล้านดอลลาร์

17 ธันวาคม 2014


ย้อนไปในอดีตราวสี่ทศวรรษ บรรดาสาวหนุ่มอาจชักชวนกันไปเดินช็อปปิ้งตามตรอกซอกซอยถึงห้างสรรพสินค้า อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย การซื้อของออนไลน์ยังเป็นเรื่องที่ผู้คนไม่คาดคิด ในปี 2557 นี้ประชากรกว่า 3 พันล้านคน หรือคิดเป็น 40% ของประชากรโลก เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ไทยพับลิก้าชวนอ่านไทม์ไลน์ 35 ปี จากอดีตสู่ปัจจุบันของการช็อปปิ้งออนไลน์ ทิ้งการเดินซื้อของแบบเก่ามาใช้เวลาแค่วินาทีก็สามารถบริโภคสินค้าและบริการจากร้านค้าทั่วโลก

ในปัจจุบันผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนมากใช้บริการช็อปปิ้งออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน (application) ซึ่งสามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมงจากที่บ้าน ที่ทำงาน ที่โรงเรียน อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือที่ใดก็ตามที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึง ต่างจากการออกไปเลือกซื้อถึงร้านค้าปลีกโดยตรงซึ่งคงเสียเวลาหลายชั่วโมง อีกทั้งในการช็อปปิ้งออนไลน์นั้น หากมีปัญหาสินค้าไม่ถูกต้องตรงใจ หลายๆ บริษัทก็มีนโยบายมารองรับปัญหาเหล่านี้แล้ว ด้วยการคืนเงินหรือส่งคืนสินค้า

เมื่อมีจำนวนร้านค้าออนไลน์มากขึ้น การแข่งขันย่อมสูงขึ้นด้วย หลายๆ บริษัทจึงมีนโยบายที่แตกต่างกัน ด้วยการจัดส่งสินค้าโดยไม่คิดค่าขนส่ง หรือไม่ต้องเสียค่าบริการหากยกเลิกไม่เอาสินค้านั้นแล้ว ในขณะเดียวกัน ร้านค้าออนไลน์ต้องอธิบายรายละเอียดสินค้า มีรูปภาพและสื่ออื่นประกอบด้วย ทดแทนการทำงานของร้านค้าปลีกทั่วไปที่ผู้ซื้อสามารถทดลองใช้หรือลองใส่ได้ บางร้านค้าแทรกลิงก์คำแนะนำเกี่ยวกับสินค้า วิธีการใช้ คู่มือต่างๆ รวมถึงฮาวทู (how-to) และวิธีการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นไว้ด้วย เพื่อประกอบการตัดสินใจของลูกค้า

Screen Shot 2557-12-12 at 6.15.35 PM
ช่องบนยูทูบของมิเชล ฟาน

บางร้านค้าเปิดให้ลูกค้าคอมเมนต์ติชมหรือให้คะแนนสินค้าเหล่านั้นได้ พร้อมทั้งแสดงหน้าเว็บไซต์ที่มีการวิจารณ์สินค้าหรือที่เรียกว่า “รีวิว” (review) เพื่อให้ลูกค้าเห็นความแตกต่างของสินค้า ข้อดี ข้อเสีย ร้านใดขายถูก ร้านใดขายแพง รวมถึงบล็อกของเหล่าบล็อกเกอร์ชื่อดังที่ทำการรีวิวสินค้านั้นๆ ไว้ ในยุคนี้บล็อกเกอร์ชื่อดังในต่างประเทศมีมากมาย ไม่ต้องเป็นดาราดังก็สามารถรีวิวได้ เช่น มิเชล ฟาน กูรูด้านการแต่งหน้าชื่อดังจากสหรัฐฯ ที่เริ่มจากการสอนแต่งหน้าและรีวิวเครื่องสำอางลงช่องยูทูบ ปัจจุบันมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง และมีสาวๆ รู้จักไปทั่วโลก

การอ่านรีวิวประกอบการตัดสินใจซื้อ ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่เข้ามาแทนที่คำแนะนำของเหล่าพนักงานขายตามร้านในโลกจริง โดยบางร้านเปิดให้ถาม-ตอบแบบเรียลไทม์ผ่านอินเทอร์เน็ต ทางอีเมล และทางโทรศัพท์ เพื่อให้คำตอบแก่ลูกค้าอย่างทันใจด้วย

สำหรับการจ่ายเงินชำระค่าสินค้าและบริการสำหรับลูกค้ามีได้หลายช่องทาง เช่น การจ่ายด้วยบัตรเครดิต บัตรเดบิต การใช้บริการของ Paypal การโอนเงินโดยตรง การจ่ายเงินด้วยมือถือ ด้วยเช็ค บัตรของขวัญ ธนาณัติ บิตคอยน์ หรือจากวิธีอื่นๆ บางร้านอาจจะไม่รับบัตรเครดิตต่างชาติ ซึ่งเงื่อนไขของแต่ละร้านค้าแตกต่างกันไป

ตัวอย่างธุรกิจออนไลน์

เมื่อลูกค้าจ่ายเงินเรียบร้อย ทางผู้ขายก็จะทำการจัดส่งสินค้าตามที่อยู่ตามช่องทางที่ลูกค้าและผู้ขายตกลงกัน เช่น ทางเรือ ทางเครื่องบินแบบธรรมดา ทางเครื่องบินแบบด่วน ค่าขนส่งก็จะขึ้นอยู่กับความรวดเร็ว (เว้นแต่บางเจ้าไม่คิดค่าขนส่ง) หากสินค้าเป็นสินค้าดิจิทัลก็จะเปิดให้ดาวน์โหลดได้หลังจ่ายเงินแล้ว เช่น เพลง หนัง หรือรูปภาพ

ฉะนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าข้อดีของการช็อปปิ้งออนไลน์คือความรวดเร็วทันใจในการค้นหาสินค้าและบริการจากร้านค้าหลายๆ ราย แถมยังช่วยหาด้วยว่าร้านใดเปิดขายใกล้บ้าน ในขณะนี้ค่าขนส่งทางเรือก็ลดลงเพื่อส่งเสริมการช็อปปิ้งออนไลน์ (ขึ้นอยู่กับนโยบายในแต่ละพื้นที่) ซึ่งการขนส่งสินค้าน้อยชิ้นทางเรือไปต่างประเทศแพงกว่าการส่งสินค้าจำนวนมากชิ้น ร้านค้าที่ขายสินค้าฟุ่มเฟือยบางเจ้าจึงยกเว้นค่าขนส่งหากมีมูลค่ามากพอ

ประวัติการค้าออนไลน์โลก

ในโลกของความสัมพันธ์การค้าออนไลน์ สามารถจำแนกการค้าออกไปได้สองแบบ แบบแรกคือการค้าระหว่างบริษัท/ร้าน กับลูกค้า เรียกว่าการค้าแบบ บีทูซี (B2C) มาจากคำว่า business-to-consumer และการค้าออนไลน์แบบที่สองคือการค้าระหว่างบริษัทกับบริษัท เรียกว่าการค้าแบบบีทูบี (B2B) มาจากคำว่า business-to-business

ปัจจุบันบริษัทการค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดตกเป็นของ www.alibaba.com (อาลีบาบา) มีมูลค่าราว 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 9 ล้านล้านบาท โดยนายแจ็ก หม่า (Jack Ma) เจ้าของธุรกิจนี้กลายเป็นชายที่รวยที่สุดในจีนและในเอเชีย ตามด้วย Amazon.com (อเมซอน) มูลค่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์ และเว็บไซต์ประมูลสินค้า eBay (อีเบย์) มูลค่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมมูลค่ายักษ์ใหญ่ 3 เจ้า เท่ากับ 5.1 แสนล้านดอลลาร์ จากการเติบโตของการค้าออนไลน์เห็นได้ชัดว่าไม่ได้มาจากร้านค้าในโลกจริงเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการเปิดโอกาสให้ตลาดใหม่ๆ ได้เกิดขึ้นด้วย(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

การค้าออนไลน์
ไมเคิล อัลด์ริช (Michael Aldrich) ชายชาวอังกฤษเป็นผู้คิดค้นการค้าออนไลน์คนแรกบนโลกเมื่อปี 1979 หรือเมื่อ 35 ปีที่แล้ว ระบบของเขาทำงานด้วยการเชื่อมต่อโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และสายโทรศัพท์แบบเรียลไทม์ เป็นการเผยแพร่ข้อมูลด้านการค้าออกไปสู่โลกภายนอก ต่อมาพัฒนาจนกลายเป็น “e-Business” ซึ่งทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในหลายทาง จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันซึ่งเป็นยุคอินเทอร์เน็ตแพร่หลายและใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือสื่อสาร

ต่อมาในปี 2523 ไมเคิลเริ่มเปิดตลาดเป็นครั้งแรก แต่เป็นการค้าขายแบบบีทูบี หรือระหว่างบริษัทกับบริษัทเป็นหลัก ระบบนี้ถูกติดตั้งขึ้นในอังกฤษ ไอร์แลนด์ และสเปน ระบบของเขาถูกใช้จนถึงปี 2543 ส่วนการค้าแบบบีทูซี หรือระหว่างบริษัทกับลูกค้าโดยตรงเพิ่งจะมีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อตอนที่คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตแพร่หลายในยุคทศวรรษ 1990 หรือปี 2533

สถิติการใช้อินเทอร์เน็ตโลกโดยรวม-ไทม์ไลน์การค้าออนไลน์

จากข้อมูลของเว็บไซต์ internetlivestats.com พบว่า ปัจจุบัน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 3 พันล้านราย นับตั้งแต่ปี 1993 คิดเป็น 40% ของประชากรโลกทั้งหมด ในขณะที่ปี 2538 หรือเมื่อ 19 ปีที่แล้วมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตน้อยกว่า 1% ซึ่งจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 10 เท่านับตั้งแต่ปี 2542- 2556 นอกจากนี้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแตะจำนวนพันล้านแรกเมื่อปี 2548 พันล้านถัดมาเมื่อปี 2553 หากมองสถิติปี 2557 เป็นภูมิภาค ทวีปเอเชียมีปริมาณผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงสุดถึง 48.4% รองลงมาเป็นอเมริกา 21.8 ยุโรป 19% แอฟริกา 9.8% และโอเชียเนีย 0.9%

หากจำแนกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประเทศ แน่นอนว่าจีนครองแชมป์อันดับหนึ่ง 640 ล้านราย รองลงมาคือสหรัฐฯ 270 ล้านราย ตามด้วยอินเดีย 240 ล้านราย และญี่ปุ่น 100 ล้านราย ส่วนไทยอยู่ที่อันดับที่ 29 มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเกือบ 20 ล้านราย จาก 198 ประเทศทั่วโลก

ส่วนสถิติด้านเว็บไซต์ในปี 2557 พบว่าโลกนี้มีจำนวนเว็บไซต์ทั้งหมดราว 1,100 ล้านเว็บ มีการส่งอีเมลกว่า 2 แสนล้านครั้ง ในเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างกูเกิลพลัสมีผู้ใช้เกือบ 765 ล้านราย ทวิตเตอร์ 300 ล้านราย อินสตาแกรมกว่า 130 ล้านราย ยูทูบมียอดผู้ชมรวมเกือบ 8,000 ล้านวิว และเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีผู้นิยมใช้มากที่สุดที่สุดคือเฟซบุ๊ก 1,300 ล้านราย นอกจากนี้สถิติยังพบอีกว่ามีการขายคอมพิวเตอร์ออกไปแล้วกว่า 7.3 แสนเครื่อง สมาร์ทโฟน 3 ล้านเครื่อง และแท็บเล็ต 7.5 ล้านเครื่อง

นอกจากข้อมูลข้างต้นแล้ว ในตอนต่อไปไทยพับลิก้าจะติดตามขั้นตอนการจัดเก็บภาษีทั้งในไทยและต่างประเทศ เหตุใดบางพื้นที่จึงมีการเสียภาษีและบางพื้นที่ได้รับการยกเว้น ติดตามอ่านไทยพับลิก้าซีรีส์การค้าออนไลน์ได้ในตอนต่อไป

สำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคหญิงในเอเชีย

Vipshop และ The Economist Intelligence Unit เผยรายงานสำรวจว่าด้วยพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคเพศหญิงในเอเชียว่า เกือบ 90% นิยมซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับผ่านทางออนไลน์ ขณะที่ 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามเข้าชมเว็บไซต์ของร้านค้าเป็นประจำทุกวัน

Vipshop Holdings Limited (NYSE: VIPS, vip.com) ผู้จัดจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษบนระบบออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับแบรนด์ต่างๆ ทั้งในจีนและทั่วโลก และผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้หญิงอันดับหนึ่งของจีน ได้ริเริ่มและจับมือกับ The Economist Intelligence Unit ของ Economist Group เพื่อจัดทำแบบสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเพศหญิงในเอเชีย

VIP-1

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 มีรายงาน “On the rise and online: Female consumers in Asia” ได้มีการสำรวจผู้บริโภคเพศหญิง 5,500 รายตามเมืองใหญ่ๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เช่นเดียวกับบรรดานักวิเคราะห์ผู้บริโภค ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ และเจ้าของแบรนด์ ผลการสำรวจพบว่า เพศหญิงกำลังขับเคลื่อนการเติบโตด้านการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ในภูมิภาค โดยมีผู้บริโภคจำนวนมากที่นิยมซื้อของแบบออนไลน์มากกกว่าตามร้านค้าทั่วไป โดยในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่าผู้บริโภคเพศหญิง 63% ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้งเพื่อค้นหาสินค้าและบริการ โดยมีผู้บริโภคเกือบ 30% ที่มีพฤติกรรมดังกล่าววันละสองครั้งหรือมากกว่า ขณะที่ผู้หญิงเกือบ 80% ในภูมิภาคมีพฤติกรรมซื้อข้าวของเครื่องใช้ผ่านระบบออนไลน์ 83% สำหรับการซื้อเครื่องสำอาง และเกือบ 90% สำหรับเสื้อผ้าและเครื่องประดับ

นายอีริก เฉิน ประธานและซีอีโอของ Vipshop กล่าว “ผู้หญิงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญและมีลักษณะเฉพาะตัวในตลาดเอเชีย โดยสมาชิกของ Vipshop กว่า 80% จากทั้งหมด 90 ล้านคนนั้นเป็นเพศหญิง ซึ่งช่วยสร้างยอดขายให้กับเราถึง 90% ทั้งนี้ ความร่วมมือกับ EIU ได้เปิดโอกาสให้เราสามารถเรียนรู้ถึงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค และสานต่อความเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีกออนไลน์ของจีน”

อาจเป็นเรื่องน่าวิตกสำหรับผู้ค้าปลีกที่ดำเนินธุรกิจผ่านหน้าร้าน เมื่อผลการสำรวจพบว่า ผู้หญิงเกือบครึ่งหนึ่งที่ร่วมตอบแบบสำรวจ หรือ 49% มีความรู้สึกเห็นด้วยหรือเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเขามีความพึงพอใจกับประสบการณ์การซื้อของออนไลน์มากกว่าหน้าร้านทั่วไป โดยตัวเลขดังกล่าวปรับตัวสูงแตะระดับ 69% สำหรับผู้บริโภคในจีนแผ่นดินใหญ่

นอกจากนี้การสำรวจยังพบว่า

– ผู้หญิงตามเมืองใหญ่ๆ ในเอเชียมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยผู้ตอบแบบสำรวจเพศหญิงราว 43% ทำงานในสายงานการจัดการ บริหาร หรือบริการวิชาชีพ ขณะที่ 83% มีบทบาทต่อรายได้ครัวเรือน

– ผู้หญิงส่วนใหญ่มีอำนาจในการจัดระเบียบด้านการเงินสำหรับเครื่องสำอาง (81%) เสื้อผ้าและเครื่องประดับ (73%) ข้าวของเครื่องใช้ (67%) และผลิตภัณฑ์สำหรับแม่และเด็ก (57%) และมีส่วนร่วมตัดสินใจสำหรับสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และบริการการท่องเที่ยว

– สำหรับภาพรวมที่ปรากฏบนอินเทอร์เน็ต หญิงชาวเอเชียส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีพฤติกรรมซื้อของให้ผู้อื่นหรือสมาชิกในครอบครัว โดยผู้หญิงกว่า 62% ซื้อของให้ตนเองเป็นส่วนใหญ่ผ่านระบบออนไลน์ และในจีนแผ่นดินใหญ่นั้นตัวเลขดังกล่าวได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 74% และสูงแตะ 77% สำหรับวัย 18-29 ปี

– ผู้หญิงมีเหตุผลมากมายในการเลือกซื้อของออนไลน์ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับราคา (62%) และการประหยัดเวลา (60%) แต่ผู้บริโภคเหล่านี้ยังรู้สึกด้วยว่าผู้ค้าออนไลน์นั้นสามารถพึ่งพาได้ในการค้นหาสินค้าที่ต้องการซื้อ (59%) และผู้บริโภครู้สึกพึงพอใจกับความหลากหลายของสินค้าออนไลน์ (56%)

– ในส่วนของการเลือกผู้ค้าออนไลน์ ผู้บริโภคเพศหญิงยกให้ราคา (83%) เป็นปัจจัยสำคัญหรือสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับคุณภาพ (83%) ความแท้ของสินค้า (82%) และความสะดวกสบาย (77%)

– การเลือกใช้ข้อความก็เป็นอีกส่วนสำคัญ โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 56% รู้สึกดึงดูดกับข้อความที่ระบุถึงตัวผู้บริโภคในฐานะลูกค้าผู้มีอุปการะคุณ ขณะที่ 54% รู้สึกดึงดูดต่อข้อความที่ระบุถึงตัวผู้บริโภคในฐานะภรรยา คุณแม่ หรือคนรัก

– อนาคตของการซื้อของออนไลน์มีแนวโน้มทำธุรกรรมผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่และมีการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจที่มีอายุน้อยที่สุด (18-29 ปี) เป็นสัดส่วน 58% มีการซื้อของออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนที่บ้าน เมื่อเทียบกับ 38% ของกลุ่มวัย 40-49 ปี ขณะที่ในภาพรวมนั้น 43% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดนิยมใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์มากกว่าหน้าร้านทั่วไป และตัวเลขดังกล่าวปรับตัวสูงแตะ 56% สำหรับวัย 18-29 ปี ส่วนผู้หญิงวัย 18-29 ปีกว่าครึ่งหนึ่งมีแนวโน้มซื้อของออนไลน์โดยไม่ตั้งใจ

ลอเรล เวสต์ ผู้เรียบเรียงรายงานการสำรวจ กล่าวว่า “ผู้หญิงมีอำนาจควบคุมการใช้จ่ายในสินค้าประเภทต่างๆ ตามที่ควรจะเป็น เช่น เสื้อผ้าและเครื่องประดับ เครื่องสำอางและข้าวของเครื่องใช้ อย่างไรก็ตาม เพศหญิงก็มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในสินค้าที่มีราคาสูง เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น แบรนด์ต่างๆ จึงเล็งเห็นถึงจุดนี้ และพยายามสร้างความเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้บริโภคเพศหญิงให้ความสำคัญ”

โดยรายงานของ EIU ที่ระบุว่า หญิงชาวเอเชียให้ความสำคัญกับคุณภาพ (83%) ราคา (83%) และความแท้ของสินค้า (82%) ในการเลือกผู้ค้าออนไลน์ และเพศหญิงมีอำนาจในการควบคุมการใช้จ่ายออนไลน์ในส่วนของเสื้อผ้าและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สำหรับแม่และเด็ก รวมถึงสินค้าภายในครัวเรือน

ดูรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://www.economistinsights.com/marketing-consumer/analysis/rise-and-online หรือ http://going-global.economist.com/.