ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. เสียงแตก 6:1 คงดอกเบี้ย 2% ห่วงเบิกจ่ายภาครัฐล่าช้ากว่าที่คาด – ส่งออกอาจจะติดลบ

กนง. เสียงแตก 6:1 คงดอกเบี้ย 2% ห่วงเบิกจ่ายภาครัฐล่าช้ากว่าที่คาด – ส่งออกอาจจะติดลบ

5 พฤศจิกายน 2014


DSC_5394A
นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงหลังการประชุม กนง. ว่า ที่ประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2% เป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกัน โดยมีกรรมการ 1 คน เห็นว่าควรลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นการฟื้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการลงทุนภาครัฐล่าช้า ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขเบิกจ่ายต่ำกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ รวมไปถึงความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน

“การฟื้นตัวขึ้นอยู่กับหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งก็คือภาครัฐ มีโอกาสลงทุนล่าช้ากว่าที่คิด ถ้าเป็นแบบนี้อยู่ ก็มีความกังวล แต่ถ้าทำได้ตามแผนก็จะช่วยเศรษฐกิจได้ ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนก็จะเพิ่มขึ้น จะช่วยให้เขาตัดสินใจลงทุนได้ชัดเจนขึ้นว่าจะทำอะไรเมื่อไหร่” นายเมธีกล่าว

นายเมธีกล่าวอีกว่า ตัวเลขการส่งออกปีนี้มีแนวโน้มที่จะปรับลดลง จากเดิมเมื่อเดือนกันยายนคาดการว่าจะไม่เติบโตหรือเติบโตที่ 0% ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกติดลบ 2 ปีติดต่อกัน เช่นเดียวกับตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจหรือจีดีพีในภาพรวมทั้งปีนี้และปีหน้าที่อาจจะปรับลดลง สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ยังชะลอตัว แต่ต้องรอแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในไตรมาสสุดท้ายของปียังไม่สามารถชดเชยการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งการส่งออกและด้านอื่นๆ ได้ ถ้ารัฐบาลสามารถทำได้ตามเป้าหมาย นโยบายนี้จะมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้ตามที่ ธปท. คาดการณ์ไว้

“ปีนี้ภาพรวมจะปรับลง ต้องไปดูแต่ละตัวว่าจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสมมติฐานของเดือนที่เหลืออยู่ของเรา มันอาจจะปรับตัวดีขึ้นก็ได้ แต่รอบนี้การส่งออก ‘มีความเป็นไปได้’ ว่าจะติดลบ แต่เรายังไม่ได้ฟันธง มีความเป็นไปได้” นายเมธีกล่าว

นายเมธีกล่าวอีกว่า แนวโน้มนโยบายการเงินที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยุโรปที่จะดำเนินนโยบายผ่อนคลายมากขึ้น ไม่น่าจะสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงิน เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเป้าหมายของนักลงทุน อย่างไรก็ตาม ธปท. ได้มีแผนรองรับโดยพยายามชี้แจงกับตลาดให้เตรียมรับมือความเสี่ยง รวมไปถึงพยายามแก้ปัญหาความเสี่ยงบางส่วนที่สูงกว่าปกติ ขณะที่การยุตินโยบายผ่อนปรนเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) เมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินสหรัฐอเมริกาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งทาง ธปท. ระบุว่าปัจจุบันตลาดการเงินไทยยังมีเสถียรภาพค่อนข้างดีและจะปล่อยให้กลไกตลาดการเงินทำงานโดยไม่มีการแทรกแซง ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในระยะต่อไป ธปท. จะติดตามการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

“ไม่ค่อยเป็นห่วงเรื่องญี่ปุ่นและยุโรป เราดูพฤติกรรมนักลงทุนสองกลุ่มนี้ เขาไม่ค่อยมาทางแถบนี้ จะไปอเมริกา ไปประเทศพัฒนาแล้ว เรื่องค่าเงินบาทที่อ่อน ตอบแบบกำปั้นทุบดินคือดอลลาร์มันแข็ง แข็งกับทุกสกุล จริงๆ มันก็เป็นเรื่องที่คนอื่นก็เผชิญ มันเป็นเรื่องการปรับตัวของตลาดมากกว่า ธปท. คงไม่ได้เข้าไปทำอะไร ให้เป็นไปตามกลไลตลาด ตอนนี้เราก็สอดคล้องตามประเทศอื่นๆ อยู่”นายเมธีกล่าว

ขณะที่การคาดการณ์ว่าจะมีเงินทุนเคลื่อนย้าย (capital flow) ไหลออกจากประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ยังอยู่ในกรอบที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยเป็นช่วงฟื้นตัวและมีการขยายตัวมากขึ้น (growing path) จึงยังไม่เป็นห่วงในประเด็นนี้เท่าไรนัก

“คงไม่ถึงขั้นนั้น เรื่องการชะลอตัวจะทำให้เงินไหลออกมากขึ้น ถ้าเราดู อย่างที่ผมเรียนไป การฟื้นตัวมันก็อยู่ในระดับใช้ได้ 4% กว่าของปีหน้า” นายเมธีกล่าว