ThaiPublica > คอลัมน์ > ความเห็นผู้ปลูกสวนป่าต่อร่าง พ.ร.บ.สวนป่า ฉบับแก้ไข

ความเห็นผู้ปลูกสวนป่าต่อร่าง พ.ร.บ.สวนป่า ฉบับแก้ไข

26 พฤศจิกายน 2014


เครือข่ายผู้ปลูกไม้เศรษฐกิจและเครือข่ายธนาคารต้นไม้

ในขณะที่รัฐบาลยุคปฏิรูปกำลังเร่งรัดปฏิบัติการการทวงคืนผืนป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ตามแผนแม่บทป่าไม้ที่ประกาศไว้ อีกความเคลื่อนไหวสำคัญของการเพิ่มพื้นที่ป่าที่กำลังเดินหน้าคือการแก้ไขกฎหมายสวนป่า พ.ศ. 2535 นัยยะของการเข้ามาจัดการยกร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อยู่ตรงที่ภาครัฐต้องการปักป้ายพื้นที่ของสวนป่าให้ได้ตามเป้าหมาย การสร้างพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 15% ภายใต้เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่า 40% ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บท แม้ร่าง พ.ร.บ.สวนป่า ฉบับแก้ไขจะได้ผ่านความเห็นชอบวาระ 1 ของคณะกรรมาธิการมาแล้วตั้งแต่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา และกำลังเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ในวันที่ 4 ธ.ค. นี้ แต่การรับรู้ถึงปมปัญหาและผลกระทบของการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวยังอยู่ในวงจำกัดและขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะจากเกษตรกรผู้ปลูกไม้เศรษฐกิจ ต่อไปนี้คือเสียงสะท้อนของผู้เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายฉบับนี้

เท้าความ พ.ร.บ.สวนป่า

ที่มาของการบัญญัติกฎหมายสวนป่านั้นสืบเนื่องมาจากการประกาศปิดป่าเมื่อปี 2532 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการลดลงอย่างรวดเร็วของปริมาณไม้ที่ผลิตได้ในประเทศ ตามตัวเลขของสำนักงานสารนิเทศ กรมป่าไม้ ปี 2539 พบว่าปริมาณไม้ที่ผลิตได้ในปี 2530 มีปริมาณกว่า 2 แสนลูกบาศก์เมตร และลดลงเหลือเพียง 4 หมื่นลูกบาศก์เมตรในปี 2539 ในขณะที่ความต้องการใช้มีมากกว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยเหตุนี้รัฐบาลในสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน จึงผลักดันให้มี พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 ขึ้น โดยเหตุผลที่ได้เขียนไว้แนบท้ายคือ เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกสร้างสวนป่าเพื่อการค้าในที่ดินของรัฐและเอกชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนมีงานทำและผลิตไม้เพื่อเป็นสินค้า ตลอดจนเพิ่มพื้นที่ทำไม้ให้มีปริมาณมากขึ้น และเพื่อให้ผู้ที่จะทำการปลูกสร้างสวนป่ามีความมั่นใจในสิทธิและโยชน์ที่จะได้รับจากการปลูกสร้างสวนป่า

หลังจากการประกาศใช้กฎหมายสวนป่าและการส่งเสริมของรัฐบาลผ่านโครงการส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจปี 2537-2543 ซึ่งให้การอุดหนุนด้านการเงินแก่เกษตรกรไร่ละ 3,000 บาท นั้นทำให้มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการช่วงปี 2537-2541 มากถึง 1.6 แสนราย ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 2 ล้านไร่ แต่ต่อมาจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการลดลงอย่างรวดเร็ว และมีการถอนตัวออกจากโครงการและการขึ้นทะเบียนสวนป่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนในปัจจุบันมีจำนวนพื้นที่สวนป่าน้อยกว่า 4 แสนไร่

ปมปัญหาของ พ.ร.บ.สวนป่า ไม่ส่งเสริมแล้วยังควบคุม

แม้วัตถุประสงค์ของการมี พ.ร.บ.สวนป่าจะระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นไปเพื่อการส่งเสริมและสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกร แต่ตลอดระยะเวลา 22 ปีของการบังคับใช้กฎหมายนี้ ผู้ปลูกสวนป่าต่างชี้ชัดถึงปัญหาความยุ่งยากและซับซ้อนของกฎหมายและระเบียบ รวมถึงการปฏบัติงานที่ไม่ซื่อตรงของพนักงานเจ้าหน้าที่ สุดท้าย พ.ร.บ.สวนป่าจึงกลายเป็นโซ่ตรวนเส้นใหญ่ของการเติบโตของธุรกิจสวนป่าและธุรกิจไม้มาตลอด

ในร่าง พ.ร.บ.สวนป่า ฉบับแก้ไข ที่กำลังพิจารณานี้เอง ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ย้ำเน้นว่าเป้าหมายของการแก้ไขคือเพื่อทำให้ผู้ประกอบการสวนป่าสะดวกขึ้น ง่ายขึ้น และส่งเสริมให้เอกชนเข้าร่วมการปลูกป่า แต่จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ชัดว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่มีส่วนใดที่สะท้อนมาตรการส่งเสริมและการสนับสนุนตามที่ตั้งไว้ในวัตถุประสงค์ ยิ่งไปกว่านั้น อาจจะก่อให้เกิดความยุ่งยากและการเอาผิดที่รุนแรงขึ้นอีก

ยุ่งยากแค่ไหน ไม่ส่งเสริมอย่างไร

ปัญหาสำคัญของกฎหมายสวนป่าคือ เนื้อหาของกฎหมายเน้นการควบคุมบังคับและการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจพิจารณาอนุญาตผู้จัดทำสวนป่า ไม่ว่าจะขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียน การตีตราไม้ การตรวจสอบ จนไปถึงการตัดโค่น ซึ่งกลายเป็นการเปิดช่องให้เกิดการเรียกรับเงิน

และในแต่ละขั้นตอนการขออนุญาต ไม่มีการกำหนดช่วงเวลาว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องพิจารณายาวนานเท่าไร รวมถึงความไม่พร้อมของพนักงานเจ้าหน้าที่ มักอ้างว่าต้องมีการตรวจร่วมหลายฝ่าย ทำให้การพิจารณามีความล่าช้ามาก ซึ่งภาระการเดินเอกสารและประสานงานเจ้าหน้าที่เหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนที่เกษตรกรผู้ปลูกต้องแบกรับ

นอกจากนี้ ในร่างแก้ไขยังมีการเพิ่มข้อกำหนดให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนสวนป่าจัดทำบัญชีแสดงชนิดและจำนวนไม้ที่ปลูกขึ้นตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด และหากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดทางอาญา ซึ่งตามข้อวิจารณ์ของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าข้อกำหนดดังกล่าวยากต่อการปฏิบัติและเกินความจำเป็น โดยที่ระเบียบที่จะกำหนดขึ้นมานั้นอาจจะเป็นช่องทางของการทุจริต ทำให้กฎหมายฉบับนี้นอกจากไม่สร้างแรงจูงใจในการปลูกสวนป่าแล้ว ยังเป็นกฎหมายที่ก่อให้เกิดการเอาผิดที่รุนแรงเกินควรอีกด้วย

ที่สำคัญ เนื้อหาของ พ.ร.บ. นี้ถือว่าเข้าข่ายการละเมิดสิทธิในทรัพย์ส่วนบุคคล เพราะการปลูกสวนป่านี้จัดทำขึ้นในที่ของเอกชน ซึ่งมีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้อง และลงทุนโดยทรัพย์สินส่วนตัว ต้นไม้ที่ปลูกขึ้นคือทรัพย์สินที่ชอบธรรมของผู้ปลูก รัฐและกฎหมายไม่ควรก้าวล่วงในทรัพย์สินของบุคคล หรือมีสมมติฐานว่าผู้ปลูกสวนป่าคือผู้ร้าย การตั้งสมมติฐานว่าจะมีการสวมตอไม้หรือการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้นควรจะเน้นควบคุมไปในพื้นที่ป่าของรัฐเท่านั้น

ข้อเสนอแนะ

1. คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติควรพิจารณายกเลิกร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขที่กำลังเสนอเข้าสู่วาระที่ 2 เพราะตามการศึกษาของทั้งฝ่ายวิชาการและเกษตรกรนั้นพบว่าปมปัญหาสำคัญของกฎหมายสวนป่าไม่ได้ถูกแก้ไขในร่างที่กำลังมีการพิจารณา ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ร่างกฎหมายที่เสนอแก้ไขนี้จะมีส่วนส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจได้ตามหลักการเหตุผลที่ให้ไว้

2. สภานิติบัญญัติแห่งชาติควรพิจารณาแก้ไขกฎหมายสวนป่าที่เน้นการส่งเสริมสร้างแรงจูงใจและรูปแบบการปลูกต้นไม้อย่างหลากหลายในพื้นที่เกษตร ทั้งในรูปแบบสวนป่าและการปลูกผสมกับพืชเกษตร ลักษณะป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง รวมถึงให้การสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกรผู้ปลูกสวนป่า โดยจะต้องมีมาตรการสนับสนุนทางการเงิน เช่น กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนสวนป่า การลดหย่อนทางภาษีต่อผู้ปลูกป่า เป็นต้น เพราะการปลูกสวนป่าเป็นการลงทุนระยะยาว และการปลูกสวนป่ายังเป็นการให้ประโยชน์ทางนิเวศและสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศและโลก

พื้นที่ป่าของประเทศไทยจะฟื้นคืนมาได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายเปลี่ยนการมุ่งเน้นการปราบปราม กำกับ และควบคุม มาสู่การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกและตัดไม้เศรษฐกิจทั้งในที่ส่วนตัวและที่สาธารณะของชุมชนได้ภายใต้ระเบียบที่ง่าย ชัดเจน และปฏิบัติได้จริง