ThaiPublica > คนในข่าว > ส่องเสนาบดี “ปีติพงศ์” ผู้มีชื่อ ในราชสกุล “พึ่งบุญ ณ อยุธยา” ใส่หัวโขน “พญานาค 1” สั่งห้ามรับเงินพ่อค้า หาทุนจากที่ดิน “ต้องห้าม”

ส่องเสนาบดี “ปีติพงศ์” ผู้มีชื่อ ในราชสกุล “พึ่งบุญ ณ อยุธยา” ใส่หัวโขน “พญานาค 1” สั่งห้ามรับเงินพ่อค้า หาทุนจากที่ดิน “ต้องห้าม”

19 กันยายน 2014


ชื่อของคน นามของไม้ ย่อมบ่งบอกเหง้า และรากของชีวิตคนผู้หนึ่งได้

กว่าจะมาจะแตกสาแหรก เป็นคนในราชสกุล คนในราชตระกูล ราชนิกุล และตระกูลหนึ่งๆ ล้วนมีที่มาจากการสืบสายพระโลหิต สืบสายเลือด จากองค์ต้นตระกูล ทั้งระดับที่เป็นสายตรงแห่งราชวงศ์จักรี และที่สืบเชื้อสายจากเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

ชื่อของ “ปีติพงศ์” นามของราชสกุล “พึ่งบุญ ณ อยุธยา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นคณะรัฐมนตรี คณะที่ 61 จึงมีที่มา บ่งบอกสาแหรกแห่งชีวิต

เพราะราชสกุล “พึ่งบุญ” นั้นมีองค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าไกรสร” ทรงเป็นพระโอรสในรัชกาลที่ 1 กับเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว

รัชกาลที่ 1 ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “ทองด้วง” หลังจากขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 ทรงมีพระราชโอรส 17 พระองค์ พระราชธิดา 25 พระองค์ รวมทั้งสิ้น 42 พระองค์ และทรงมีพระราชทายาทสืบราชสกุลรวมทั้งสิ้น 8 ราชสกุล

ราชสกุล “พึ่งบุญ” เป็น 1 ใน 8 ราชสกุล ที่สื่บเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 1 ที่มีทั้งราชสกุล “ฉัตรกุล-ดวงจักร-ดารากร-ทัพพะกุล-สุทัศน์-สุริยกุล และอินทรางกูร”

ชื่อคนราชสกุลสาย “พึ่งบุญ” จึงถูกจารึกไว้ในชื่อของบ้าน-นามของเมือง

ดังเช่น ชื่อ “บ้านนรสิงห์” หรือตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลนั้น มาจากชื่อเดิมว่า “ตึกไกรสร” ซึ่งเจ้าของบ้าน คือ “เจ้าพระยารามราฆพ” หรือ ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ซึ่งได้นำพระนามย่อของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งมีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าไกรสร และเป็นต้นราชสกุล “พึ่งบุญ” มาตั้งเป็นชื่อบ้าน

ถูกสร้างขึ้นควบคู่ ชื่อ “บ้านบรรทมสินธุ์” หรือ บ้านพิษณุโลก ซึ่งครอบครองโดย “เจ้าพระยาอนิรุธเทวา” หรือฟื้น พึ่งบุญ ณ อยุธยา ต้นธารแห่งคนในสกุล “อนิรุธเทวา”

บ้านทั้ง 2 หลัง ได้รับพระราชทานเป็นอนุสรณ์ประวัติศาสตร์ของคนในราชสกุล “พึ่งบุญ” ที่ได้รับการบันทึกโดดเด่นที่สุดในฐานะ 2 พี่น้องผู้รับใช้ถวายงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จวบจนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ

คนรุ่นหลังรู้จัก “นายปีติพงศ์” ในฐานะข้าราชการกระทรวงเกษตร ที่คร่ำหวอดกับวงการการปฏิรูปภาคเกษตร การเป็นผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในคณะผู้แทนไทยเพื่อการเจรจาข้อตกลง GATT และ WTO ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มาภาพ : http://www.okmd.or.th
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ที่มาภาพ : http://www.okmd.or.th

“ปีติพงศ์” กลับเข้าสู่วงราชการที่เขาคุ้นเคยมาทั้งชีวิตอีกครั้ง หลังเกษียณอายุราชการเมื่อ 7 ปีที่แล้ว

เมื่อเข้าทำงานในฐานะเสนาบดี ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าของรหัส “พญานาค 1” วันแรก “ปีติพงศ์” ประกาศจะทำนโยบายที่เขาบอกว่ายากที่สุด ที่เคยพูด เคยฟัง และเคยทำกันมาตั้งแต่เขาเริ่มรับราชการ จนกระทั่งเกษียณ

ความยากที่ “ปีติพงศ์” จะทำคือการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม ลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร เร่งรัดโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบตลาด ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชาวนา

โมเดลปฏิบัติงานระยะสั้น ตามคำขวัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ว่า “ทำทันที” คือ 1. โค่นต้นยางทิ้ง ยกเลิก เลิกปลูกข้าว เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น 2. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนารูปแบบให้มีลักษณะเฉพาะ เช่น เกษตรอินทรีย์ หรือปลูกพืชลักษณะพิเศษ 3. ปรับโครงสร้างการผลิตตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง หรือเกษตรผสมผสาน

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งใหม่ ประกาศสดๆ ในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 คือ จะมีสร้างแบรนด์สินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก เทียบกับสินค้าเกษตรที่แพ็กเกจสวยงาม ทรงคุณค่าตามแบบฉบับสินค้าโอทอปของดินแดนอาทิตย์อุทัย

ทั้งนายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ มีแนวคิดตรงกันว่า ทุกนโยบายต้องไม่สร้างหนี้สาธารณะเพิ่ม “ปีติพงศ์” จึงประกาศเป็นเดิมพันชีวิตว่า “แนวนโยบายของผม ไม่ใช้รูปแบบเงินกู้หรือส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นหนี้ เพราะตอนนี้เกษตรกรแบกรับภาระหนี้หนักมาก ครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมจะทำสงครามกับความยากจน สิ่งที่อยู่ในใจผมเสมอมาคือทำอย่างไรให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

“ปีติพงศ์” นึกงานแบบเร็วๆ ในสมอง และเรียบเรียงออกมาเป็นเรื่องเร่งด่วนในโรดแมปส่วนตัว คือ แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และเร่งฟื้นฟูกิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

และนโยบายที่ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ต้องจัดเป็นแผนงาน และแนวปฏิบัติ คือ โครงการที่สอดคล้องกลับหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และ “โครงการตามพระราชดำริ” ที่ถูกบรรจุไว้ในตารางงบประมาณ ปี 2558

ภารกิจการบริหารการครอบครองที่ดิน ที่มีเอกสารสิทธิยืนยันการถือครองถึง 10 แบบ โดยเฉพาะการถือครองเอกสารสิทธิที่เรียกว่า “สปก.4-01” หรือ “สค.1” หรือเอกสารสิทธิอื่นๆ ซึ่งมักเป็นที่มาของอุบัติเหตุการเมือง เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลชวน หลีกภัย และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

“ปีติพงศ์” บอกว่า จะดำเนินการทั้งมาตรการเชิงลบและมาตรการเชิงบวก โดยจะหาทางเก็บเงินจากนายทุนที่ครอบครอง “ที่ดินต้องห้าม” และกลุ่มที่ครอบครองที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องใช้กฎหมายภาษีสิ่งปลูกสร้างและภาษีมรดกเข้าร่วมบังคับใช้

ในอนาคตอันใกล้ อาจได้เห็น “กองทุนปฏิรูปที่ดิน” เพื่อบริหารแลนด์แบงก์ของรัฐ และนำเงินรายได้ส่วนนี้ไปพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 40 ล้านไร่

เรื่องซื้อ-ขายตำแหน่ง ที่เคยหนาหูในกระทรวงเกษตร จากนี้ไป ในยุค “ปีติพงศ์” หากมีเงินจากพ่อค้ามาหล่นบนโต๊ะจีน หรือซุกอยู่ใต้โต๊ะข้าราชการ จะถูกจัดการขั้นเด็ดขาด

“เพราะทุจริตคอร์รัปชัน เป็นบ่อเกิดของความชั่วร้ายทั้งหมด แต่ถ้าเกิดขึ้นกับทีมงานของผม ก็พร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบ” ทายาทราชสกุลพึ่งบุญ ประกาศต่อหน้าข้าราชการทั้งกระทรวง

ชื่อของคน นามของไม้ แม้มีที่มาด้วยการสืบเชื้อสาย ต่อสาแหรกแห่งสายเลือด ก็อาจมัวหมองได้ หากคนข้างกายไม่ร่วมขัดสี ส่งเสริม ให้เพิ่มความสง่าราศี

ทีมกุนซือของ “ปีติพงศ์” มีทั้งฝ่ายวิชาการ สนธิกำลังกับฝ่ายบู๊และบุ๋น มาจากหลายสารทิศ อาทิ พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย อดีตสมาชิกวุฒิสภาเชียงใหม่ หรือ “เสธฯ ยอด” ที่คณะรัฐมนตรีรับทราบว่าเป็นที่ปรึกษาประจำตัว “ปีติพงศ์”

นอกจากนี้ยังมี นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย อดีตเลขาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อดีตอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นายบุญมี จันทรวงศ์ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมเป็นทีมงาน

“ปีติพงศ์” เป็นคนอารมณ์ดี รื่นรมย์ กับชีวิตและงานเสมอ แม้ในยามวิกฤติเศรษฐกิจ เขาไม่เคยอ้าง หรือโหน โอนอวยตัวเองในฐานะเป็นคนใน “ราชสกุล”

แต่การสวมหัวโขนเสนาบดี ย่อมมีคนลอบติดตามส่องเขาทั้งในที่มืดและที่สว่าง เพื่อพิสูจย์ว่านาม “ปีติพงศ์” นั้น ยังคงพึ่งบุญเก่า หรือสั่งสมบารมีใหม่ ให้มีแสงสว่างในตัวเองได้หรือไม่ ในระยะเวลา 1 ปี