ThaiPublica > เกาะกระแส > ดันไทยให้ก้าวพ้น “กับดัก” ผู้นำส่งออกข้าว “เชิงปริมาณ” แก้โจทย์ปลูกมาก-คุณภาพต่ำ-ราคาตก แนะเอกชน-ชาวนา จับคู่ธุรกิจ

ดันไทยให้ก้าวพ้น “กับดัก” ผู้นำส่งออกข้าว “เชิงปริมาณ” แก้โจทย์ปลูกมาก-คุณภาพต่ำ-ราคาตก แนะเอกชน-ชาวนา จับคู่ธุรกิจ

17 ตุลาคม 2014


นวัตกรรมสามารถสร้าง “การเปลี่ยนแปลง” ได้เสมอ ข้าวไทยจะไม่ได้มีค่าแค่เพียง “อาหาร” แต่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง ที่เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว ยารักษาโรค รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เหล่านี้เป็นการยกระดับคุณภาพของข้าว ให้ประเทศไทยไปไกลกว่าการเป็นผู้นำในการส่งออกข้าว “เชิงปริมาณ” แต่เป็นผู้นำที่ส่งออกข้าว “เชิงคุณภาพ”

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “Thai’s Rice for the World IRC 2014” โดยมีนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ “ทิศทางในการพัฒนา เพื่ออนาคตของข้าวไทย”

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เป็นผู้กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ “ทิศทางในการพัฒนา เพื่ออนาคตของข้าวไทย”
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ “ทิศทางในการพัฒนา เพื่ออนาคตของข้าวไทย”

นายปีติพงศ์กล่าวว่า สิ่งที่ต้องยอมรับให้ได้ก่อนในขณะนี้ ข้าวไทยขายไม่ได้ราคาเพราะเป็นข้าวที่ด้อยคุณภาพ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวให้เกิดความยั่งยืน ประเทศไทยต้องเป็นผู้นำในการผลิตข้าวให้มีคุณภาพมากกว่าการเน้นปริมาณการผลิต
“การที่ประเทศจะก้าวไปข้างหน้าได้นั้น ก่อนอื่นประเทศไทยต้องเคลื่อนตัวออกจากกับดัก กับดักที่คิดว่าตนเองเป็นผู้ส่งออกข้าวที่สูงที่สุดในโลก วงเล็บข้าวห่วย ให้มีการปรับปรุงคุณภาพข้าว เพื่อเกิดการพัฒนา”

นายปีติพงศ์กล่าวถึงแนวทางในการพัฒนาคุณภาพข้าวว่ามี 3 แนวทางที่สำคัญ คือ 1. การพัฒนาและปรับปรุงการผลิตข้าวคุณภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยนำเอางานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาดำเนินการให้มากขึ้นทั้งในเรื่องพันธุ์ข้าว การผลิต และการเก็บเกี่ยว ทำอย่างไรไม่ให้ข้าวมีความชื้นสูง ใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ ไม่ใช้ข้าวพันธุ์ผสมเพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพไปถึงผู้บริโภค รวมไปถึงการวิจัยในการกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 2. การส่งเสริมการผลิตข้าวที่มีความเหมาะสมตามสภาพภูมิศาสตร์หรือข้าว GI (Geographical Indications) ให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดเด่นและจุดแข็งของการผลิตข้าวของพื้นที่นั้นๆ ได้ เช่น ในเรื่องกลิ่น ความหอมของข้าว และรสชาติ 3. การพัฒนาสินค้าข้าวที่เป็นกลุ่มนิชมาร์เก็ต (niche market) อันเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ให้มีเพิ่มมากขึ้น อาทิ ข้าวเพื่อสุขภาพ ข้าวที่บริโภคแล้วไม่อ้วน หรือข้าวออร์แกนิก

“ในการดำเนินการทั้ง 3 แนวทางนั้น เป็นความเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่เกษตรกรจนถึงผู้ขาย เพื่อพัฒนาคุณภาพข้าวให้เกิดขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต พันธุ์ข้าว ปัจจัยการผลิตให้ได้คุณภาพ เน้นการศึกษาวิจัยเพิ่มขึ้นทั้งในด้านนวัตกรรมการผลิตและการทำวิจัยในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ ขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตให้แก่เกษตรกรโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ต้องเข้าไปดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกตามแบบเดิมๆ ให้เกิดความสมดุลระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่กับภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อสร้างความเข้มแข็งในเรื่องการตลาด” นายปีติพงศ์กล่าว

การที่ภาครัฐจะเข้าไปสนับสนุน ส่วนนี้ยังมีข้อจำกัดทั้งอัตรากำลังคนและงบประมาณ นายปีติพงศ์จึงเสนอแนวคิดว่า หากภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการสามารถเข้ามาดำเนินการเพื่อร่วมกันพัฒนาปรับปรุงคุณภาพข้าวของไทยอีกทางหนึ่ง โดยเข้าไปให้ความช่วยเหลือหรือพัฒนาเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ รัฐอาจจะมีมาตรการในการลด อันจะเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศได้อีกทางหนึ่ง และยังจะเป็นช่องทางให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจ หรือ business matching ได้ในอนาคต

สถานการณ์ข้าวไทยต้องวิจัย-แปรรูป แก้โจทย์ปลูกมากคุณภาพต่ำราคาตก

สำหรับการเสวนาในหัวข้อ “Thai’s Rice for the World” IRC 2014 ผู้ร่วมเสวนาคือ ดร.วิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว และ รองศาสตราจารย์ ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)

ดร.วิมลได้กล่าวถึงสถานการณ์ข้าวในตลาดโลกว่า ทั่วโลกมีการผลิตข้าวสารได้ประมาณ 450 ล้านตัน และประเทศที่มีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดก็คืออินเดีย ส่วนประเทศปลูกข้าวได้ปริมาณสูงที่สุดจริงๆ ก็คือประเทศจีน ตามมาด้วยอินเดีย อินโดนีเซีย บังกลาเทศ เวียดนาม และประเทศไทยเป็นอันดับที่ 6

แม้ผู้คนทั่วโลกเริ่มมีความกังวลในเรื่องของความมั่นคงด้านอาหาร แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ดร.วิมลย้ำชัดว่า ไทยยังคงมีความมั่นคงในการผลิตข้าว เพียงแต่ในเรื่องของเทคโนโลยีและนโยบายต่างๆ ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องนำมาคิดและวางยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับกรมการข้าวที่กำลังจะจัดทำแผนยุทธศาสตร์ใหม่ในปี 2558-2562

นายชาญพิทยา ฉิมพาลี
นายชาญพิทยา ฉิมพาลี

ด้านนายชาญพิทยา กล่าวถึงการดำเนินการของกรมการข้าวว่า ในส่วนของกรมการข้าวที่เป็นหน่วยปฏิบัติงานนั้น การดำเนินงานต้องเริ่มจากตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าการผลิตข้าวของไทยนั้นมีปัญหาอะไร แล้วจึงตั้งคำถามต่อไปว่าจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร ที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าส่วนใหญ่เป็นปัญหาในด้านราคา ซึ่งรัฐบาลก็ต้องหานโยบายและมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือชาวนา โดยมองจากตัวเกษตรกรหรือชาวนาเป็นหลักก่อน ว่าพวกเขามีรายได้ดีหรือไม่

“สำหรับการที่ราคาข้าวผันผวนมากนั้นอาจจะมาจากอุปสงค์และอุปทานในการซื้อขายข้าวไม่มีความสมดุลกัน การที่ประเทศไทยผลิตข้าวได้มาก เกินกว่าที่คนในประเทศบริโภค เนื่องจากไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวเยอะ ดังนั้นราคาข้าวจึงไปถูกกำหนดโดยตลาดภายนอกจึงต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องราคาผลผลิตให้กับชาวนาได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพในการผลิต พัฒนาคุณภาพข้าวไทยให้ดีขึ้น ซึ่งข้าวที่มีคุณภาพนั้นจะมีมูลค่าในตัวมันเอง ไม่จำเป็นต้องแข่งขันมาก สุดท้ายคือ ตัวเกษตรกร ที่กรมการข้าวมองไปถึงการพัฒนาให้ชาวนาไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยการเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (smart farmer)” นายชาญพิทยากล่าว

สำหรับการดำเนินงานของ สวก. รศ. ดร.พีรเดช กล่าวว่า ปัจจุบันมีการพัฒนายุทธศาสตร์วิจัยข้าวขึ้นมาแล้ว โดยความร่วมมือระหว่างกรมการข้าว สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สปว.) สวก. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อันเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะมียุทธศาสตร์ร่วมในการวิจัยข้าวที่มุ่งผลใน 3 เรื่อง คือ 1. ทำอย่างไรที่จะพัฒนาตัวเกษตรกรให้ได้ 2. ทำอย่างไรที่จะจัดการกับข้าวขาวทั่วไปที่มีการผลิตได้มาก 3. ข้าวคุณภาพสูงสำหรับตลาดเฉพาะ

รศ. ดร.พีรเดชกล่าวว่า งานวิจัยจะเข้าไปมีส่วนในการดำเนินการทั้ง 3 ส่วน ที่ผ่านมา วช. ได้มีการไปต่อรองกับรัฐบาล และได้มีการรวมกลุ่มกันสำหรับหน่วยงานให้ทุนต่างๆ เรียกว่า เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ซึ่งประกอบด้วย 6 หน่วงงานในสังกัด ได้แก่ วช. สกว. สวก. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่วางไว้ร่วมกัน ทำให้ผลงานที่ผ่านมาค่อนข้างตรงกับความคาดหมาย อาทิ การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากข้าวในการนำข้าวไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่มากไปกว่าการบริโภค นำไปทำเป็นเครื่องสำอาง ซึ่งข้าวแต่ละสายพันธุ์ ยกตัวอย่างข้าวพันธุ์สังข์หยด ข้าวเหนียวลืมผัว ซึ่งมีคุณประโยชน์มากไปกว่าที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจว่าข้าวนั้นเป็นแค่แป้ง ฉะนั้น จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการพัฒนาตลาดข้าวเข้าสู่ตลาดเฉพาะ

“บางคนบอกว่าเป็นเบาหวาน รับประทานข้าวมากไม่ได้ เนื่องจากข้าวจะไปเพิ่มน้ำตาลในร่างกาย ตอนนี้นักวิจัยค้นพบพันธุ์ข้าวที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานได้สำเร็จแล้ว โดยข้าวพันธุ์พื้นเมืองบางพันธุ์ของไทยนั้นเมื่อรับประทานเข้าไปจะสลายเป็นน้ำตาลได้ต่ำ ในส่วนนี้จะมีตลาดโลกรองรับเลย เนื่องจากต่อไปสังคมโลกจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ กินหวานมากไม่ได้” รศ. ดร.พีรเดชกล่าว

เรื่องสำคัญที่ คอบช. มุ่งเน้นคือ ตัวของเกษตรกร ที่ปัจจุบันนี้ชาวนาต่างยอมรับว่าผู้ที่ทำนาด้วยความรู้นั้นมีไม่ถึง 10% เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรที่จะให้ชาวนาอีก 90% นั้นเรียนรู้ ก็ต้องมองไปถึงกระบวนการส่งเสริม กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรูปแบบหนึ่งที่ชาวนาได้เสนอไว้นั่นคือ ให้ชาวนานั้นถ่ายทอดความรู้กันเอง โดยจะต้องสร้างเกษตรกรผู้นำ ซึ่งจะต้องหาทางในการทดสอบ อาศัยงานวิจัยเข้าไปช่วย

และอีกประการหนึ่งที่ คอบช. ให้ความสำคัญ คือ เรื่องของการจัดการพื้นที่ปลูก ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาข้าวล้นตลาด จากกรณีข้าวนาปรังที่ผลิตออกมาเกินความต้องการ โดยปีหนึ่งๆ ผลิตออกมาประมาณ 8 ล้านตัน ในส่วนนี้จะสามารถลดปริมาณได้หรือไม่ แล้วจะทำการชดเชยให้แก่ชาวนาอย่างไร

“ส่วนนี้ก็ต้องมีการศึกษาและเสนอเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายว่า หากมีการลดปริมาณการปลูกข้าว แล้วชาวนาจะต้องปลูกอะไรเป็นการทดแทน เช่น หากชาวนาปลูกถั่วแทนข้าว ถั่วก็จะไปบำรุงดิน สามารถช่วยลดการใช้ปุ๋ยได้เป็นการต่อไป ก็จะสามารถลดปริมาณการผลิตข้าวของประเทศลงได้ และในส่วนที่เป็นการชดเชยจากรัฐนั้นก็ต้องมีการศึกษากันต่อไปว่ารัฐจะต้องชดเชยอย่างไร และเท่าไรจึงจะเหมาะสม ซึ่งในส่วนนี้ผมคิดว่าทาง คอบช. นั้นสามารถเข้าไปช่วยได้”

แนวทางสร้าง “มูลค่า” ให้แก่ข้าวไทย : ขาย “ข้าว” ไม่เพียงขาย “แป้ง”

ดร.วิมลกล่าวถึงแนวทางการปรับปรุงคุณภาพข้าวว่า “แต่เดิมนั้นประเทศไทยมุ่งเน้นในการที่จะขายข้าวให้ได้ปริมาณสูง ขณะที่รายได้กลับได้น้อย เรา sell more for less แต่ต่อไป เราจะต้อง sell less for more หมายความว่าเราจะขายในปริมาณที่น้อยแต่ได้เม็ดเงินมาก ซึ่งทางเดียวที่เราจะทำได้คือ การปรับปรุงในเรื่องของคุณภาพ”

โดยเรื่องคุณภาพนั้นจะต้องให้ความสำคัญ และมองภาพทั้งห่วงโซ่การผลิต เริ่มตั้งแต่ระบบของผู้ปลูก การเลือกพื้นที่ เลือกทำเลในการเพาะปลูกให้เหมาะสม คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และเรื่องของการเข้าไปควบคุมมาตรฐานในการผลิต เรื่องของฟาร์ม ที่จะต้องดำเนินการให้ได้มาตรฐานทางการเกษตร (Good Agriculture Practices: GAP)

เรื่องนี้หน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตร ไม่ว่าจะเป็นกรมการข้าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง หากชาวนาปลูกข้าวตามแนวทาง เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ดี ไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ก็จะได้ข้าวคุณภาพมาตั้งแต่ต้นทาง

ต่อจากนั้น เมื่อส่งต่อออกไป เรื่องการขนส่งไปสู่โรงงานแปรรูป ระบบการขนส่งมีการควบคุม และด้านโรงงานแปรรูป ซึ่งก็คือ โรงสี หรือโรงงานบรรจุภัณฑ์ ก็ต้องได้มาตรฐาน เข้าหลักเกณฑ์การผลิตอาหารที่ดี (Good Manufacturing Practice: GMP) มีกระบวนการผลิตที่ใส่ใจและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย (social responsibility)

“คุณภาพข้าวนั้นจริงๆ ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่คุณภาพของสินค้าที่จะทำให้เป็นสินค้าคุณภาพชั้นดีในตลาดได้นั้นต่างประเทศเขาสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย หากผลิตข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็จะสามารถยกระดับราคาขึ้นมาได้”

นอกจากนี้ การวิจัยสามารถเข้ามาช่วยในการสร้างมูลค่าให้กับ “ข้าว” ได้อย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนข้าวให้เป็นยา ลักษณะของโครงการแบบนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้สอดแทรกเข้าไปร่วมกับการดูมาตรฐานฟาร์ม การดูมาตรฐานโรงงาน การควบคุมเรื่องความปลอดภัยอาหาร ซึ่งโดยรวมแล้วเป็นการดำเนินการปรับปรุงคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อความอยู่ดีกินดีของเกษตรกร และความมั่นคงของประเทศ

กรมการข้าวชู “ข้าวพื้นเมือง” ข้าวคุณภาพที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

นายชาญพิทยากล่าวถึงการดำเนินงานของกรมการข้าวว่า ตอนนี้กรมการข้าวได้เริ่มต้นด้วยการหาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง พันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เพื่อทำให้ข้าวมีมูลค่า

“ตัวอย่างเช่น พันธุ์ข้าวสังข์หยดพัทลุง ที่เมล็ดข้าวมีสีน้ำตาลแดง ซึ่งต้องอธิบายว่าสารสีที่เคลือบเมล็ดข้าวที่เราไปทำการสีออกนั้นมีสารอาหารเยอะ เช่น สีแดง ก็จะมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) สารพวกนี้จะเกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้งสิ้น สำหรับข้าวสังข์หยดแล้วมูลค่าของข้าวสร้างราคาในทางตลาดที่แตกต่างจากข้าวธรรมดาอย่างชัดเจน ข้าวธรรมดากิโลกรัมละ 30-40 บาท แต่ข้าวสังข์หยดราคากิโลกรัมละ 70-80 บาท ตรงนี้เป็นส่วนที่ชาวนาจะได้สูงขึ้นโดยไม่ต้องไปลงทุนทำบรรจุภัณฑ์ให้สวยก็สามารถขายได้ราคา ซึ่งก็ยังมีอีกหลายสายพันธุ์ เช่น ข้าวแดงโกเมนสุรินทร์” นายชาญพิทยากล่าว

ข้าวสังข์หยด พัทลุง ที่มาภาพ : จาก http://www.intouchmedicare.com/frontend/topic.php?topic_id=152
ข้าวสังข์หยด พัทลุง
ที่มาภาพ : จาก http://www.intouchmedicare.com/frontend/topic.php?topic_id=152

อีกส่วนหนึ่งที่เป็นการสร้างมูลค่าให้กับข้าวคือการสร้างแบรนด์ คือการทำข้าว GI อันเป็นข้าวที่มีความเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ เป็นการกำหนดเขตพื้นที่เฉพาะของข้าวสายพันธุ์นั้นๆ

“ข้าว GI นั้น หากปลูกในภาคใต้ก็ต้องเป็นข้าวลักษณะนี้ สายพันธุ์ประมาณนี้เท่านั้น ไม่สามารถหารับประทานได้ในเขตอื่น ซึ่งก็จะเป็นการสร้างมูลค่าให้กับข้าว สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อโดยการรับรองจากชุมชน ตัวอย่าง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวขาวกอเดียวพิจิตร คล้ายๆ กับประเทศฝรั่งเศสที่มีไวน์ลักษณะเฉพาะของแต่ละเมือง”

และข้าวอีกชนิดที่มีมูลค่าสูงที่กรมการข้าวสามารถเข้าไปส่งเสริมและให้การสนับสนุนได้คือ “ข้าวอินทรีย์” ซึ่งเป็นข้าวที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สารอินทรีย์ต่างๆ มากำจัดโรค กำจัดแมลง โดยข้าว GI และข้าวอินทรีย์นั้น เป็นการสร้างมูลค่าให้กับตัวข้าวเอง โดยที่ยังไม่ได้แปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น ส่วนข้าวที่นำผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น นำมาใช้ทางการแพทย์ในการห้ามเลือดหรือทำเครื่องสำอางนั้นเป็นอีกมิติหนึ่งที่ต้องอาศัยการวิจัยและนวัตกรรมในการเข้ามาช่วยในการพัฒนา

สวก. เผย ไทยมีสิทธิ์ซื้อข้าวประเทศอื่นกิน

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้และอนาคตประเทศไทยยังคงอยู่ในวังวนของปัญหา “ข้าว” โดย รศ. ดร.พีรเดชจัดกลุ่มปัญหาเรื่องข้าวที่ประเทศไทยต้องเผชิญไว้ 3 ระยะด้วยกัน คือ

ระยะสั้น คือ ข้าวในสต็อกที่มีอยู่จะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร นี่คือคำถามระยะเฉพาะหน้าที่ต้องหาคำตอบ

ระยะกลาง ปัญหาอยู่ที่การขาดแคลนแรงงาน ในจุดนี้อนาคตอาจต้องใช้เครื่องจักรกลเข้าไปช่วย โดยคนมักจะหนีออกจากภาคเกษตรกันหมดเนื่องจากความเชื่อที่ว่าทำนาทำเกษตรแล้วจน ซึ่งหากทำเกษตรด้วยความรู้ไม่มีคำว่าจน

ในระยะยาว คือเรื่องของการพัฒนาพันธุ์ข้าว การผลิตข้าวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากสภาวะโลกร้อนที่จะเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพาะปลูก จากพื้นที่ลุ่ม อาจกลายสภาพเป็นพื้นที่น้ำ จากดินจืด อาจกลายเป็นดินเค็ม จึงต้องมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ทนต่อสภาพเหล่านี้ได้ การเปลี่ยนแปลงลำดับถัดมาคือการเปลี่ยนรูปแบบของการระบาดของโรคแมลง ทำให้การพัฒนาพันธุ์ข้าวมีความจำเป็นต่อสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

หากไม่มีการเตรียมความพร้อมไว้เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นในอนาคต เมืองไทยมีสิทธิ์ซื้อข้าวประเทศอื่นกิน นี่ก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ต้องเตรียมรองรับ คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

“เนื่องจากผู้สูงอายุต้องการอาหารที่มีลักษณะพิเศษ อาหารที่เป็นยา หรือที่เรียกกันว่า ‘ธัญโอสถ’ ซึ่งข้าวพื้นเมืองบางสายพันธุ์ที่ท่านอธิบดีกรมการข้าวได้กล่าวถึงนั้นมีสรรพคุณทางยา มีการทดสอบในห้องทดลองพบว่าสามารถยั้งยั้งเซลล์มะเร็งได้บางตัว เป็นต้น แต่รายละเอียดคงต้องว่ากันอีกนาน”

หากประเทศไทยกำลังเดินไปในเส้นทางนี้ นั่นคือ เรากำลังสร้างความต่าง กำลังหนีออกจากตลาดที่ขายข้าวแบบ “แป้ง” สู่การขายข้าวแบบอื่น สิ่งนี้ก็คือการเตรียมการในอนาคต แต่เหล่านี้คือสิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ สวก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่

สำหรับด้านงานวิจัยที่จะนำข้าวมาผลิตเป็นสินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง ยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ นั้น สวก. ได้เริ่มดำเนินการเป็นะยะเวลา 2-3 ปีแล้ว รศ. ดร.พีรเดชเปิดเผยว่า ส่วนของการดำเนินงานในห้องปฏิบัติการทดลองได้ผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ทางคลินิก เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากข้าวนั้นสามารถนำออกสู่ตลาด และวางขายได้อย่างปลอดภัย