ThaiPublica > คนในข่าว > “กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล” กลุ่มเพื่อนปลูกเพื่อนกิน สร้างเครือข่ายตลาดCSA เกษตรแบ่งปัน – ดูแลธรรมชาติ ฟื้นฟูวิถีชาวนาอินทรีย์

“กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล” กลุ่มเพื่อนปลูกเพื่อนกิน สร้างเครือข่ายตลาดCSA เกษตรแบ่งปัน – ดูแลธรรมชาติ ฟื้นฟูวิถีชาวนาอินทรีย์

4 สิงหาคม 2014


จากวิกฤตโครงการรับจำนำข้าวที่เกิดขึ้น นับเป็นการ”เปลี่ยน”ครั้งสำคัญทั้งในฝั่งผู้กินและผู้ปลูก ที่กลับมาฉุกคิดบทบาทของตนเองในฐานะผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อทบทวนและแบ่งปันกันอย่างไรในการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ดูแลธรรมชาติ ฟื้นฟูวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดกินเปลี่ยนโลก แนวคิดพลังผู้บริโภคเปลี่ยนสังคม จึงเป็นที่มาของโครงการเพื่อนปลูกเพื่อนกิน โดยมีแนวคิด หัวใจของโครงการคือคำว่า “เพื่อน”…ใครก็ไม่รู้ปลูก ให้ใครก็ไม่รู้กิน มาเป็น”เพื่อนปลูก”ให้”เพื่อนกิน”เพราะหากคนปลูกและคนกิน คบหาสมาคมกันฉันท์เพื่อนด้วยความเข้าใจห่วงใยและหวังดี เราก็จะพึ่งพากันเองได้อย่างยั่งยืน

“กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล” สถาปนิก บริษัทสถาปนิก สเปชไทม์ จำกัด หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง “กลุ่มเพื่อนปลูกเพื่อนกิน”เล่าถึงความมุ่งมั่นที่จะช่วยชาวนาไม่ใช่แค่ในฐานะจิตอาสาเท่านั้น เธอเล่าให้เราฟังว่า

กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล
กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล

ไทยพับลิก้า : ที่มาของโครงการเพื่อนปลูกเพื่อนกิน

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าปัญหาชาวนาเราจะแก้ได้ด้วยวิธีไหน อะไร อย่างไรบ้าง เพราะว่าเราก็ไม่ได้มีความรู้ทางด้านนี้มาก่อน ระหว่างที่พยายามคุยกับผู้รู้ก็จะจัดเป็นเหมือนกับว่าจัดที่บ้านตัวเอง เป็นวงสนทนา 6 คน 7 คน 8 คน เราก็เริ่มชวนคนที่เรารู้จัก แล้วก็คิดว่าเขาอาจจะสนใจมานั่งคุยกันแล้วก็ทำให้เราได้มีความรู้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีแนวร่วมเข้ามามากขึ้น

พอทำไปสักพักหนึ่ง มันก็เริ่มมีทิศทาง เช่นว่า ใครคือผู้ที่เป็นผู้รู้ ที่เราไปคุยด้วย แล้วมีโอกาสเกิดเป็นโครงการที่เป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด ซึ่งก็มาลงที่คุณธวัชชัย โตสิตระกูล กับทางมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ในขณะที่เพื่อนๆ ที่สนใจ สนับสนุน พอคุยด้วยกันไปสักพักหนึ่ง ก็เริ่มมีกลุ่มของคนที่เขาเห็นใกล้เคียงกับเรา มาร่วมแนวทางในการทำงานตรงนี้ด้วยกันมากขึ้น

ตอนนี้ก็เลยมีแกนนำกันอยู่ประมาณสัก 9 คน แล้วก็มาเป็นพันธมิตรกันกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน โดยที่เรามองว่า ในส่วนของผู้ผลิต ถ้าเราไม่จับกับคนที่เขาทำอยู่แล้วเราก็ไม่มีองค์ความรู้ใดๆ ที่เราจะไปต่อติดแล้วสามารถเอามานำเสนอให้กับผู้บริโภคได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

เพราะฉะนั้น การที่มีพันธมิตรเป็นหน่วยงานที่เขาส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อยู่แล้วในพื้นที่ แล้วก็มีประสบการณ์ นั่นคือสิ่งที่เรามองว่าเป็นปัจจัยหรือพื้นฐานสำคัญ

การเกิด “โครงการเพื่อนปลูกเพื่อนกิน” ขึ้นมา มาจากการระดมความคิดของเพื่อนๆ ที่อยู่ในทีมแกนนำด้วยกัน บางคนเขาก็มีความสนใจในด้านนี้มาหลายปีแล้ว ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ฟอร์มไอเดียขึ้นมาได้ แล้วก็ทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินเองก็ให้ข้อมูลหลายอย่างที่ทำให้เกิดมาเป็นโครงการ

หลักๆ คือ ตอนนั้นเรามีความเข้าใจว่า ในส่วนของผลิตผลในพื้นที่ ก็คือข้าวหอมมะลิ และการที่จะเปลี่ยนคนที่ทำนาเคมีมาทำนาอินทรีย์ มันไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราสนับสนุนให้เกิดการปลูกข้าวอินทรีย์จำนวนมากขึ้นมาได้ มันก็จะช่วยไปในทุกๆ เรื่อง ทั้งเรื่องของวิถีชีวิตของชาวนาเอง เรื่องของสุขภาพของทั้งคนกิน คนปลูก เรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของรายได้

สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินมีความเข้มแข็งคือ เรื่องของกองทุน Fair Trade ซึ่งตรงนี้มันไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของการซื้อข้าวจากชาวนา แต่ว่ามันเป็นเรื่องของการที่มีระบบหรือโครงสร้างที่ค่อนข้างครบวงจรในการที่จะช่วยทำให้ชุมชนเข้มแข็งด้วย

เพราะว่าในกลุ่มเรา เราก็คุยกันมาตลอดว่า เราทำงานจิตอาสา เราไม่ได้อยากที่จะทำในลักษณะระยะสั้นที่เป็นการช่วยในเชิงการบริจาค หรือว่าการกุศล แต่เราสนใจที่จะทำอะไรบางอย่างในภาคประชาชนที่เข้าไปเสริมคนที่เขาทำอยู่แล้ว ในส่วนที่เขาอาจจะยังไม่ได้เข้มแข็งมาก เช่น เรื่องของการตลาดในการเชื่อมโยงมายังผู้บริโภค แล้วก็อยากที่จะให้แนวคิดนี้มันต่อไปเป็นแนวคิดที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน ก็เลยทำให้เรื่องของ CSA: Community Supported Agriculture หรือ เกษตรแบ่งปัน เข้ามาเป็นแนวคิดด้วย เพราะมันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว หลายประเทศทำอยู่แล้ว ในประเทศไทยก็มีคนทำอยู่แล้วระดับหนึ่ง

ก็เลยเอาเรื่อง CSA เข้ามา มูลนิธิสายใยแผ่นดินซึ่งมีเรื่องกองทุน Fair Trade อยู่แล้ว ก็มีแนวทางในการทำงานที่มีความคล้าย CSA อยู่แล้ว และแนวคิดของคนในกลุ่มพวกเราก็เป็นแนวคิดในลักษณะนี้อยู่แล้ว

“ก็เลยทำให้เรายิ่งรู้สึกว่าโครงการนี้มันมีความเข้มแข็ง เพราะว่ามันเป็นเรื่องของการสร้างสังคม แล้วก็ชุมชนที่เข้มแข็ง แล้วก็อยู่ได้ในระยะยาว เป็นลักษณะของโครงการที่ยั่งยืน เพราะว่าเขาก็มีโรงสีชุมชนของเขาอยู่แล้ว เขาก็มีสหกรณ์อยู่แล้ว สิ่งที่อาจจะยังคงต้องการหรือขาดไปก็คือคนที่จะมาช่วยสื่อสาร แล้วเชื่อมโยงผู้บริโภคให้กับศักยภาพที่เขามีอยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า : การเกิดโครงการนี้ มันเหมือนกับว่าเป็นจังหวะด้วยหรือเปล่า

คือถ้าพูดถึงจังหวะ มันอาจจะเป็นจังหวะในเชิงของสถานการณ์การบ้านการเมือง เพราะว่ามันก็เป็นช่วงที่ทุกคนมีความตื่นตัวสูง เป็นช่วงที่ปัญหาหลายๆ อย่างมันเหมือนกับว่า น้ำลดตอผุด แล้วก็สปิริตของคนจำนวนมากในช่วงนั้น มันมีความพร้อมที่จะทำในสิ่งเหล่านี้ จะด้วยปัจจัยอะไรทั้งหมดก็แล้วแต่

เพราะฉะนั้น ในเรื่องของความพร้อมของกลุ่มจิตอาสา คิดว่ามันก็เป็นเพราะสถานการณ์ และบรรยากาศในช่วงนั้น (ชาวนามีปัญหาเรื่องการจำนำข้าวแล้วไม่ได้เงิน) แต่เรื่องความพร้อมของคนในพื้นที่ (ผู้ผลิตข้าวอินทรีย์) เราคิดว่าจริงๆ เขาพร้อมมาตั้งนานแล้ว เขาทำกันมาตั้ง 20 ปีแล้ว ต้องพูดว่าคนเมืองหรือผู้บริโภคเองต่างหากที่ตามเขาไม่ทัน เลยไม่ได้ใช้โอกาสในการที่จะสนับสนุนสิ่งที่เขาได้ทำกันมาตั้งนานแล้ว

ไทยพับลิก้า : ที่บอกว่าพลังของผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนสังคมได้

เราคุยกันในประเด็นนี้หลายครั้งว่า สินค้าทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรกรรมหรือสินค้าประเภทอื่น มันเกิดขึ้นจากอุปสงค์ของผู้บริโภค เพราะฉะนั้น บางทีเราก็ไม่ได้มองตัวเองว่าเรามีอำนาจและพลังในฐานะผู้บริโภคอยู่ในมือ

แต่ถ้าเรามองเห็นศักยภาพตรงนั้น เราก็จะรู้ว่าเราคือคนสร้างอุปสงค์ คราวนี้พอเรารู้ว่าเราเป็นคนสร้างอุปสงค์ แล้วเรามีอำนาจตรงนั้นอยู่ในมือ อย่างแรกที่เราต้องทำคือเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โลกที่เราอยากเห็นกับสิ่งที่เราทำได้ในเชิงรูปธรรม หรือก็คือสินค้าที่เราซื้ออยู่ทุกวัน มันเชื่อมโยงกันยังไง

อย่างการที่เราทำโครงการเพื่อนปลูกเพื่อนกินตรงนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องการทำในเรื่องของการให้ความรู้กับผู้บริโภคไปด้วย เพราะว่าเราคิดว่าวิถีอินทรีย์มันจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อผู้บริโภคมีความเข้าใจในวิถีอินทรีย์ เมื่อเขาเข้าใจในวิถีอินทรีย์ ซึ่งหมายถึงไม่ได้เอาความต้องการของตัวเองเป็นตัวตั้งอีกต่อไป แต่เอาความเข้าใจในธรรมชาติ และกระบวนการธรรมชาติเป็นตัวตั้ง

เมื่อมีความเข้าใจตรงนั้นแล้ว อุปสงค์ที่มันจะเกิดขึ้น สิ่งที่เราจะเรียกร้อง มันก็จะเริ่มพัฒนาไปตามความเข้าใจที่เรามี ซึ่งเราคิดว่าตรงนั้นต้องมาก่อน เสร็จแล้วเราก็จะเริ่มเห็นด้วยว่าวิถีแบบนี้มันเชื่อมโยงไปยังเรื่องของความมั่นคงกับความเข้มแข็งของชุมชนยังไง

ถ้าสมมติว่าสังคมและชุมชนเข้มแข็งขึ้น อีกหน่อยภาครัฐก็จะเข้มแข็งตามไปเอง คือบางทีคนชอบมองว่าภาครัฐต้องเป็นคนทำให้เกิดทุกสิ่งทุกอย่าง พอภาครัฐไม่เข้มแข็งปุ๊บเราก็รู้สึกว่าสังคมนี้หมดหวัง แล้วก็ไม่มีโอกาสที่จะทำให้ประเทศดีขึ้น

แต่ว่าจริงๆ ถ้าเราทำเอง เราก็ไม่ต้องไปรอใคร ไม่ต้องไปพึ่ง ไม่ต้องเอาความหวังไปไว้กับคนอื่น คือเราก็หันกลับมามองศักยภาพของพวกเรากันเอง ถ้าเราเริ่มสร้างพื้นฐานของชุมชน แล้วก็ภาคประชาชนให้เข้มแข็ง คือเราหมายถึงชุมชนเมืองและชุมชนชนบท เมื่อประชาชนเข้มแข็งแล้วภาครัฐต้องเข้มแข็งตาม เพราะไม่อย่างนั้นภาครัฐก็ไม่มีทางที่จะอยู่ได้ แล้วประชาชนก็จะเริ่มช่วยทำให้ภาครัฐเข้มแข็ง คือเราก็เริ่มมองว่าในกรณีของประเทศไทยมันคงจะต้องเป็นลักษณะนี้

แต่ทีนี้ ในฐานะผู้บริโภค อำนาจที่เรามีอยู่ในมือก็คือสิ่งที่เราจับจ่ายใช้สอย ด้วยการเอาเงินไปแลกว่าเราจะซื้ออะไรเข้ามาใช้ในชีวิตทุกวัน ถ้าเราเลือกซื้อในสิ่งที่มันเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เราก็จะได้มีส่วนร่วมในการที่จะสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตรงนั้น

บางทีเราก็รู้สึกว่าปัญหามันดูใหญ่เหลือเกิน ไม่มีภาครัฐแล้วจะแก้กันได้ยังไง แต่ว่าจริงๆ แล้วพลังผู้บริโภคที่เรามีอยู่ในเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยในฐานะผู้บริโภค เป็นพลังที่มันค่อนข้างยิ่งใหญ่ และก็เข้มแข็งมาก เพราะฉะนั้นแค่เพียงตรงนี้แล้วเราไม่ได้ต้องไปเปลี่ยนแปลงชีวิตอะไรเรามากมาย คือหลายคนรู้สึกว่าในการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ฉันจะต้องเปลี่ยนชีวิตฉันทั้งหมด เพราะฉะนั้นมันเปลืองตัวเหลือเกินที่จะต้องทำตรงนี้ เราก็อยากจะให้เห็นว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นลักษณะนั้น ทุกคนยังคงวิถีชีวิตตนเองเอาไว้ได้อย่างเดิม เพียงแต่เปิดใจที่จะรับรู้ข้อมูล หาข้อมูล ทำความเข้าใจกับสิ่งที่มันเป็น แล้วก็เอาตรงนั้นมาเชื่อมกันกับโลกและสังคมที่เราอยากเห็น ถ้าเราเชื่อมกันกันได้เราก็รู้ว่า โอเค ฉันควักกระเป๋าในแต่ละวัน ฉันจะเอาเงินของฉัน เอาศักยภาพของฉัน ไปส่งเสริมให้เกิดอะไรขึ้นในอนาคต

เพื่อนกินลงพื้นที่พบเพื่อนปลูกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก คนกินข้าวช่วยคนปลูกข้าว https://www.facebook.com/khonkinkhao
เพื่อนกินลงพื้นที่พบเพื่อนปลูกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก คนกินข้าวช่วยคนปลูกข้าว https://www.facebook.com/khonkinkhao
เพื่อนกินลงพื้นที่พบเพื่อนปลูกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก คนกินข้าวช่วยคนปลูกข้าว https://www.facebook.com/khonkinkhao
เพื่อนกินลงพื้นที่พบเพื่อนปลูกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก คนกินข้าวช่วยคนปลูกข้าว https://www.facebook.com/khonkinkhao

ไทยพับลิก้า : คนมีอำนาจมากที่สุดคือตัวเรา

ใช่ อำนาจในเรื่องการบริโภค อันนั้นเป็นอำนาจที่สำคัญมาก ถึงได้มีกลุ่มที่เขาเรียกตัวเองว่า “กินเปลี่ยนโลก” ขึ้นมาซึ่งมันก็เป็นคำพูดที่มีพลังมาก

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้แต่ละกลุ่ม แต่ละเครือข่าย ต่างมีจุดแข็งของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้มีการมาเชื่อมกัน วันนี้สิ่งที่กลุ่ม “เพื่อนปลูกเพื่อนกิน” ทำก็เป็นอีกเครือข่ายหนึ่งที่เชื่อมแต่ละกลุ่มเข้ามา

คิดว่าการเชื่อมกันก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่อีกอย่างหนึ่งก็คือการที่คนเราคิดที่จะทำอะไรในระยะยาวด้วย เพราะว่าบางครั้งคนเรามาเชื่อมต่อกันได้ แต่พอเวลาผ่านไปสักพักหนึ่ง ทุกอย่างมันก็อ่อนแอลง เสร็จแล้วก็มลายหายไป

คราวนี้สิ่งที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ อันนี้คิดว่ามันอาศัยความคิด มันต้องมีความมุ่งมั่นอยู่ด้วย มันต้องมีความมุ่งมั่นอยู่ในตัวผู้บริโภคด้วย แล้วก็อยู่ในตัวทีมจิตอาสาด้วย ว่ามันไม่ใช่เรื่องของการที่วันนี้ฉันช็อปปิ้งสิ่งนี้วันหน้าฉันช็อปปิ้งอย่างอื่น แต่เป็นเรื่องที่เราเลือก ว่าเมื่อไรที่เราพบไอเดียที่เราคิดว่าเป็นไอเดียที่ถูกต้องและเหมาะสม เราก็ต้องให้การสนับสนุนไอเดียนั้นในระยะยาว เราก็ต้องไม่เบื่อง่าย ไม่เปลี่ยนใจง่าย ไม่ท้อแท้ง่าย เพราะแน่นอนว่าทุกอย่างที่ทำนี้มันไม่มีอะไรที่มันจะราบรื่น 100% อยู่ตลอดเวลา แนวคิดของเกษตรแบ่งปันหรือ CSA ถึงได้พูดเรื่องของการที่เรามาร่วมรับความเสี่ยงด้วยกัน ความเสี่ยงในการที่เราจะร่วมสร้างสังคมใหม่ด้วยกัน แต่ไม่ใช่เป็นความเสี่ยงที่ใครคนใดคนหนึ่งจะต้องรับไปทั้งหมด เรามาแบ่งกันคนละหน่อย แล้วก็มาทำในรูปแบบของความเป็นเพื่อน เราจึงตั้งชื่อโครงการว่า “เพื่อนปลูกเพื่อนกิน”

เพราะเราคิดว่า ถ้าสมมุติเรามองเรื่องของการค้าขาย เป็นการค้าระบบ “เพื่อน” แทนที่จะเป็นการค้าระบบ “ทุนนิยม” คำว่าเพื่อนนี่มันเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจได้ แล้วถ้าเราเริ่มต้นจากตรงนั้น คือมันง่ายกว่า ที่เราเริ่มต้นจากความไว้วางใจกัน คนเราเมื่อได้รับความไว้วางใจ เราก็มีโอกาสที่จะตอบแทนความไว้วางใจนั้นด้วยความซื่อสัตย์ เพราะฉะนั้นเราเริ่มต้นด้วยการคิดในเชิงบวกด้วย ในการที่จะมาตกลงค้าขายกัน หรือมาสร้างความสัมพันธ์กัน

ไทยพับลิก้า : ในแง่ของการวางระบบที่จะให้ยั่งยืน ต้องดูบริบท ต้องศึกษาอะไร ต้องทำอย่างไร

ในส่วนของผู้ผลิต เนื่องจากว่ามูลนิธิสายใยแผ่นดินเขาทำงานมานานแล้ว เราก็รู้ว่าเขามีความยั่งยืน เพราะว่าเขาทำมา 20 ปีเขาก็ยังทำอยู่

ในส่วนของชาวนาที่อาจจะมีจำนวนขึ้นๆ ลงๆ ตามสภาวะ อันนั้นก็คือปัญหาของการที่ภาคบริโภคไม่มีความเข้มแข็งในการสนับสนุน เขาก็ต้องไปพึ่งพาภาคอื่นที่ ขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่นโยบายแต่ละยุคสมัย

ในการที่เราจะทำให้ยั่งยืน เราในฐานะทีมจิตอาสาที่จะเข้ามาเชื่อมโยงผู้บริโภคเข้ากับผู้ผลิต หรือเชื่อมโยงเพื่อนกินเข้ากับเพื่อนปลูก เราเองต้องมีพันธะสัญญาก่อน เพราะว่างานจิตอาสาเป็นงานที่เวลาคุยกับใครทุกคนก็จะบอกว่ามันไม่ง่ายเลยนะที่จะทำ เพราะทุกคนก็จะทำในเวลาจำกัดที่ตัวเองมีอยู่ มันเป็นงานที่ยากที่จะทำให้มันเป็นเรื่องเป็นราวได้ เพราะว่า ด้วยธรรมชาติของความเป็นจิตอาสา เมื่อชีวิตของคนที่เข้ามาทำจิตอาสาเปลี่ยนไปเขาก็อาจจะต้องหยุดทำสิ่งนี้เพื่อที่จะไปดูแลเรื่องอื่น เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เป็นเรื่องหลักเขา เราเองเข้ามาทำจิตอาสาตรงนี้ต้องเข้ามาทำด้วยมุมมองที่ว่าเราเองจะอยู่ตรงนี้ไปจนมันตลอดรอดฝั่ง ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันจะใช้เวลานานเท่าไร แต่เราไม่ได้ตั้งใจว่าเราจะต้องมาอยู่ที่นี่ (เพื่อนกินเพื่อนปลูก) ตลอดไป

ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี หรือมากกว่านั้นก็ได้ ในการที่จะเชื่อมผู้บริโภคเข้ากับผู้ผลิตได้อย่างเข้มแข็ง ผู้ผลิตเขาก็มีสหกรณ์อยู่แล้ว มีโรงสีชุมชน มีหน่วยงานอยู่แล้ว ซึ่งก็อาจจะต้องร่วมกันพัฒนาไปเพื่อให้รองรับกับผู้บริโภคได้

เมื่อตรงนั้นพัฒนา เราก็มองว่าเป็นหนึ่งในหน้าที่เราที่จะช่วยพัฒนาระบบหรืออะไรต่างๆ เมื่อพัฒนาไปถึงจุดที่เขาเริ่มอยู่ได้ มันก็จะเริ่มเป็นประโยชน์ของเขาเอง

พอเริ่มเป็นประโยชน์ของเขาเอง เราจะถอยออกมาแล้วให้เขาดูแลจัดการระหว่างตัวเขาเองกับผู้บริโภค มันก็มีโอกาสที่จะยั่งยืน เพราะมันเป็นของของเขาเอง

เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็เป็นปัจจัยที่เราคิด เพียงแต่ว่าตัวเราเองต้องอยู่ ณ จุดนี้ แล้วก็ผลักดันมันไป ในตอนนี้ ระยะเวลาก็ยังมองไม่เห็นว่ามันจะกี่ปี แต่ว่าเราคงเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ว่าถ้าเราทำไปแล้ว เมื่อไรที่สหกรณ์เขาก็อยู่ได้ด้วยตัวเขาเองและผู้บริโภคก็มีความเป็นแฟนพันธุ์แท้แล้ว จิตอาสาก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ตรงนี้ เราก็สามารถที่จะสลายตัวในโครงการนี้ไปได้

ไทยพับลิก้า : โครงการเพื่อนกินเพื่อนปลูกมีการสนับสนุน 2 รูปแบบ คือมีเรื่องข้าวปลอดสารเคมี กับข้าวอินทรีย์ อยากให้อธิบายในส่วนของข้าวปลอดสารเคมี

เรื่องนี้มาจากการที่คุยกับทางมูลนิธิสายใยแผ่นดิน และการลงพื้นที่ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม แล้วก็คุยกับทางฝ่ายเกษตรกรเองด้วย ก็ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า ในเชิงทัศนคติ ทำไมมันถึงยากสำหรับชาวนาที่จะเปลี่ยนจากการทำนาเคมีมาเป็นทำนาปลอดสารและทำนาอินทรีย์ เพราะว่าปุ๋ยเคมีเป็นอะไรที่มันฝังรากลึกมาก ว่าถ้าไม่ใช้ปุ๋ยผลิตผลก็จะไม่ดี แล้วก็ความกลัวในการที่จะเปลี่ยนมาทำข้าวปลอดสารหรือข้าวอินทรีย์ก็คือ ผลิตผลจะลดลงอาจจะเหลือแค่ 1/3 เท่านั้น

เราก็เลยมองว่าการที่ทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินเขามีเจ้าหน้าที่ส่งเสริม ซึ่งคอยเป็นพี่เลี้ยงตรงนี้ มันก็เป็นความอุ่นใจของชาวนาในระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน ชาวนาที่เข้ามาร่วมโครงการ หลายคนเขาก็ไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นอินทรีย์ในทันที เขาก็รู้สึกว่าขอแบบเหยียบเรือสองแคมไว้นิดหน่อย ขอเอาสักครึ่งทาง

คือการใช้ปุ๋ย จะว่าไปมันก็คล้ายๆหรือแทบจะเหมือนเป็นยาเสพติดอย่างหนึ่ง คือถ้าจะเลิกยาจะหักดิบ ไม่ใช่เรื่องง่าย เราก็เลยมองว่า ตรงนี้เราไม่อยากที่จะตัดคนเหล่านี้ทิ้งไป เพราะเราคิดว่าการที่คนเหล่านี้ให้ความสนใจที่จะปรับเปลี่ยนจากการทำนาเคมี คือเป็นสิ่งที่เราต้องยิ่งพยายามส่งเสริมแล้วก็ดึงเขาเอาไว้ เพราะว่าเขาได้ตัดสินใจแล้วที่เขาจะเปลี่ยน

ดังนั้น โครงการเพื่อนกินเพื่อนปลูกก็เลยไม่ได้มุ่งไปเฉพาะคนที่ต้องเปลี่ยนไปเป็นข้าวอินทรีย์เท่านั้น คนที่ยินดีที่จะมาอยู่ระหว่างกลางตรงนี้เป็นหน่วยคนที่เราอยากจะสนับสนุน คือเขาใจไม่ถึง แต่ไม่เป็นไร เราก็มีทั้งคนใจถึงกับใจไม่ถึง เช่นเดียวกันกับผู้บริโภค

ปรากฏว่าเรามีชาวนาที่เข้าร่วมโครงการที่เป็นปลอดสารในปริมาณที่เยอะกว่าอินทรีย์ 3-4 เท่า เราก็อยากที่จะให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าบางทีผู้บริโภคอาจจะเน้นแต่สิ่งที่ดีต่อสุขภาพตนเอง ซึ่งแน่นอนว่านาอินทรีย์ที่ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีใดๆ ไม่มีการใช้สารพิษใดๆ เป็นสิ่งที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ในเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

แต่ว่าถ้าเรามองว่าเราทำเพื่อระยะยาว เพราะฉะนั้นคนที่เขาต้องการโอกาส เพราะว่าเขาเพิ่งเริ่มปรับเปลี่ยน ก็เป็นสิ่งที่เราต้องสนับสนุน เพราะว่าถ้าเราไม่สนับสนุนเขา ณ จุดนี้เขาก็ไม่สามารถที่จะเดินต่อไปยังขั้นบันไดถัดๆ ไป การทำนาอินทรีย์เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากเห็นในที่สุด

แล้วบางครั้งในตลาดก็อาจจะมุ่งเน้นไปที่ข้าวอินทรีย์เป็นหลัก ก็ทำให้คนที่ทำข้าวปลอดสารอาจจะยิ่งไม่ค่อยมีผู้สนับสนุน โครงการเราก็เลยต้องการที่จะสนับสนุนคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ แล้วก็อยากที่จะสื่อสารให้คนที่อยากจะเข้าร่วมกับโครงการเราเข้าใจว่าตรงนี้เป็นเรื่องของการให้โอกาสคนที่เขาอยากจะเริ่มต้น ในการที่จะเปลี่ยนวิถีจากการทำนาเคมีเป็นทำนาอินทรีย์

ไทยพับลิก้า : การทำสนับสนุนการตลาดแบบ CSA เป็นเรื่องของการส่งเสริมวิถีชีวิตของชาวนาไม่ใช่อาชีพชาวนา

ที่บอกว่าไม่ใช่อาชีพ แต่เป็นวิถีชีวิต ก็คือตอนที่ไปลงพื้นที่แล้วก็ได้ไปพูดคุยกับชาวนาที่เขาทำนาอินทรีย์มาเป็นเวลาแบบ 30 กว่าปีแล้ว คือเขาก็เล่าถึงในแต่ละปี เขาก็อาจจะได้กำไรแค่ไม่กี่หมื่นบาท แต่ว่าเขาก็ดูมีความสุขกับชีวิตเขามาก เขาเพิ่งปลดหนี้ที่ส่งลูกไปเรียนได้เมื่อปีที่แล้ว อายุ 63 ปีแล้ว ทำนาอินทรีย์มาโดยตลอด แต่ว่าเขาก็ไม่ได้มีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ หรือรู้สึกว่าเขาไม่ประสบผลสำเร็จ

คือเราเริ่มสัมผัสได้ว่าพอเวลาคนเรามาทำนาอินทรีย์ ซึ่งการทำนาอินทรีย์มันเป็นเรื่องของการปรุงดินให้สมบูรณ์ เน้นไปในเรื่องของการปรุงดิน ดูแลดินให้ดี…. คือเป็นการที่คนเรากลับไปดูแลสิ่งแวดล้อมที่มันอยู่รอบตัว เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ คนเราพอไปทำอะไรแบบนั้น มันเปลี่ยนวิธีคิดของเราไปด้วยในตัว

คือมันเหมือนกับจรรโลงจิตใจไปด้วยในตัว ในกระบวนการของการทำนาอินทรีย์ ทำให้เราเห็นว่าคนเหล่านี้เขาไม่ได้มีความต้องการในเรื่องของวัตถุอะไรมากมายเลย เขาก็พูดอย่างไม่ได้เป็นการโฆษณา แค่เพราะเราไปฟังสิ่งที่เขาพูด แต่เราก็สัมผัสได้ว่ามันเป็นความจริงใจว่าเขาก็มีความสุขกับชีวิตเขาแบบนี้ แล้วเขาก็ดูเป็นคนที่มีสุขภาพดี มีแนวความคิดในเรื่องต่างๆ ที่ดี มีความต้องการที่น้อย แล้วก็มีความเข้าใจในเรื่องของระบบนิเวศที่อยู่บนพื้นนาเขาค่อนข้างมาก

เราก็เลยรู้สึกว่า การทำนาอินทรีย์มันไม่ใช่แค่เป็นอาชีพอย่างที่ชาวนาเขาพูดจริงๆ มันคือวิถีชีวิตเขาตั้งแต่ตื่นเช้ามาจนยันเย็น มันเป็นเรื่องของการอยู่และดูแลธรรมชาติ และในการดูแลธรรมชาติตรงนั้น มันมีผลผลิตเกิดขึ้นมาที่เราใช้กินได้ด้วย จึงรู้สึกว่ามันเป็นอะไรอย่างนั้นมากกว่าที่จะปลูกเพื่อที่จะเอาไปขาย เพื่อที่จะให้เป็นอาชีพแล้วจะได้มีเงินไปซื้ออะไรอย่างอื่นมาเพื่อดำรงชีวิตอยู่ แต่เหมือนกับเกิดมาเพื่อดูแลสภาพแวดล้อม แล้วก็ได้ผลผลิตที่กินได้และยังชีพมาด้วยจะรู้สึกว่าเป็นแบบนั้น

กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล
กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล
ไทยพับลิก้า : ทราบว่าชาวนากลุ่มนี้ที่ยโสธร เขาทำนาครั้งเดียวแต่มีการปลูกพืชหลังนาด้วย

มันก็เป็นส่วนหนึ่งของวิถีอินทรีย์ มันไม่ใช่แค่เรื่องข้าว จริงๆ ต้องพูดว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องของการกลับไปเข้าใจธรรมชาติ และอยู่กับธรรมชาติแล้วมีกินได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเขาก็ส่งเสริมวิถีเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อเป็นการลดต้นทุนของตนเองไปด้วยในตัว ไม่ต้องไปซื้อกิน แต่ว่าปลูกกินเอง

ข้าวก็เหมือนกัน ก็ปลูกข้าวเหนียวกินแล้วก็ที่เหลือก็ค่อยไปขายเพื่อมาเป็นรายได้เพิ่ม สร้างความมั่นคงเพิ่มเติมให้กับครอบครัว มันก็เป็นวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมันเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เวลาที่เราเปลี่ยนมาเอาธรรมชาติเป็นตัวตั้ง แล้วสิ่งเหล่านี้มันก็เกิดขึ้นมา

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้ถือว่าเป็นเฟสแรกของเพื่อนปลูกเพื่อนกินหรือเปล่า

เราก็ไม่ได้คิดเป็นเฟสกันสักเท่าไร เพราะเราไม่ได้คิดในเชิงที่อยากจะขยายโดยเอาอาศัยทางเราเป็นศูนย์กลาง เรามองว่า โอเค เราจับกับชุมชนนี้ ซึ่งก็มีจำนวนอยู่พอสมควร เราอยากทำมันให้สำเร็จกับชุมชนนี้ แล้วยั่งยืนได้จริง โดยที่ถ้าพูดถึงการขยายผลเราอยากจะขยายผลในเชิงการแบ่งปันแนวคิดมากกว่า มากกว่าที่จะบอกว่าเป็นการขยายผลในของปริมาณที่เราดูแลอยู่

เราไม่ต้องทำใหญ่ แต่ว่าทำให้มันสำเร็จและยั่งยืนได้จริง ให้มันไม่กลายเป็นอะไรที่เหมือนกับคนเมืองตื่นเต้นอยากช่วยเพราะเกาะกระแสของการพึ่งพาภาคประชาชนแบบชั่วครู่ชั่วคราว แต่เราคิดว่าเราอยากจะทำให้มันสำเร็จอย่างยั่งยืนจริงๆ เพราะมันก็จะเป็นสิ่งที่เป็นต้นแบบที่ช่วยให้คนมีความมั่นใจ แล้วก็มีกำลังใจ ที่จะมองว่าเออ…ตนเองก็มีอาชีพอย่างอื่นอยู่ แต่คิดอยากจะทำ ไม่ต้องรักนวลสงวนตัวมากจนเกินไป สามารถที่จะแบ่งปันจัดสรรเวลาของตนเองลงมาทำส่วนอื่นได้ด้วย แล้วก็เป็นส่วนที่มันมีประโยชน์ต่อสาธารณะโดยรวม

เราก็มองว่าอยากที่จะทำส่วนนี้ ที่เรามีอยู่นี้ให้มันได้สำเร็จจริงจัง ซึ่งมันก็พอสมควรแล้ว แต่เราอยากจะขยายในเชิงแนวคิดไปยังกลุ่มอื่นๆ ที่อยากจะมาทำโครงการคล้ายๆ กันกับชุมชนอื่นๆ

เราเปิดเพจมา เปิดเว็บไซต์มา มีเกษตรกรจำนวนมาก ที่เขาสนใจที่อยากจะมาเป็นเพื่อนปลูก แล้วเขาก็อยู่ตามจังหวัดอื่นๆ ซึ่งทางมูลนิธิสายใยแผ่นดิน เขาก็บอกว่าถ้าเกิดรวมตัวกันได้สัก 10 คนก็ติดต่อมา เดี๋ยวเขาก็พยายามจะจัดสรรหาคนไปพูดคุย เนื่องจากศักยภาพทุกคนมันก็มีจำกัดอยู่ คือเราก็มองว่ามันควรจะต้องเกิดเป็นกลุ่มลักษณะนี้ และเป็นมูลนิธิลักษณะนี้ขึ้นมาอีกเยอะๆ

“เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำให้มันเล็กๆ เข้าไว้มันถึงจะได้ผล เพราะว่าความเล็กมันคล่องตัวแล้วก็มีความหลากหลาย แล้วมันก็มีส่วนร่วมของทุกๆ คนได้ง่ายขึ้น เมื่อไรมันใหญ่มาก มันก็ต้องมีเป็นนโยบาย มีกฎระเบียบมีอะไรต่ออะไร ซึ่งตรงนี้มันก็จะเริ่มทำให้สิ่งที่พยายามทำ มันไม่ได้ผลโดยสูตรของมันเอง”

ไทยพับลิก้า : พอเป็นที่เป็นจำนวนมากแล้วมันก็ต้องทำเหมือนกันหมด ทั้งๆ ที่แต่ละที่มันมีบริบทไม่เหมือนกัน ต้องทำไม่เหมือนกัน

ใช่ๆ เพราะฉะนั้นมันเหมือนกับเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์ที่มันต้องเล็กๆและหลากหลาย ถ้าเราไปทำอะไรอะไรที่มันผิดธรรมชาติก็เหมือนกับเราไม่เข้าใจวิถีอินทรีย์ การพัฒนาสังคมหรือประเทศก็ต้องพัฒนาในแนววิถีอินทรีย์

ไทยพับลิก้า : โครงการจำนำข้าว ถือเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสที่ดี

คือบางที พอเรารู้สึกว่าคนที่ดูแลเราทำไมได้ เราก็ต้องมาดูแลตัวเองกันมากขึ้น หรือว่าดูแลซึ่งกันและกันมากขึ้น ซึ่งก็อาจจะเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับประเทศไทย ที่เราจะได้เลิกเอาความหวังไปฝากไว้กับสิ่งที่มันไม่ใช่ตัวเราเอง

เครือข่ายโครงการเพื่อนปลูกเพื่อนกิน ร่วมกันหาสมาชิก"เพื่อนกิน"ในงานมหกรรมอาหารและสุขภาพ เมื่อ24-27 กรกฎาคม 2557
เครือข่ายโครงการเพื่อนปลูกเพื่อนกิน ร่วมกันหาสมาชิก”เพื่อนกิน”ในงานมหกรรมอาหารและสุขภาพ เมื่อ24-27 กรกฎาคม 2557

……

เพื่อนปลูกเพื่อนกิน

เพื่อนกินจะช่วยเพื่อนปลูกได้อย่างไร โดยเพื่อนกินช่วยเพื่อนปลูกด้วยการชักชวน “เพื่อนกิน” ทุกคน มาร่วมลงขันในกองทุนที่สนับสนุน”เพื่อนปลูก”

ข้าวของ”เพื่อนกิน”มาจาก”เพื่อนปลูก”จากจังหวัดยะโสธรที่ตั้งใจเปลี่ยนวิถีจากการทำนาเคมีมาเป็นนาอินทรีย์ โดยมีมูลนิธิสายใยแผ่นดินที่มีประสบการณ์ในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งมากกว่า 20 ปี คอยเป็นพี่เลี้ยงในการทำนาปลอดสารพิษและนาอินทรีย์ โดยข้าวที่ปลูกสำหรับโครงการนี้เป็นข้าวหอมมะลิแท้พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และร่วมกับโรงสีชุมชน 3 แห่งที่จังหวัดยะโสธร คือ1.โรงสีข้าวชมรมรักษ์ธรรมชาติ ต. นาโส่ อ.กุดชุม 2.โรงสีข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาบากเรือ ต.บากเรือ อ.มหาชนะชัย และ 3.โรงสีข้าวสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ เลิงนกทาและไทยเจริญ จำกัด ต.สามัคคี อ.เลิงนกทา ซึ่งรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ จำกัด โดยมีมูลนิธิสายใยแผ่นดินเป็นร่วมผู้ถือหุ้นและช่วยบริหารจัดการ

ที่มาภาพ : http://farmerandfriend.org/
ที่มาภาพ : http://farmerandfriend.org/
ที่มาภาพ : http://farmerandfriend.org/
ที่มาภาพ : http://farmerandfriend.org/

“เพื่อนกิน”ทุกคนสามารถช่วยสนับสนุน”เพื่อนปลูก”ได้ 3 วิธี

1.ช่วยเป็นสมาชิก กรณีรายบุคคล ด้วยการบอกรับเป็นสมาชิก กรอกใบสมัครในเว็บไซต์ http://farmerandfriend.org/จะจัดส่งข้าวให้ถึงบ้านตามความถี่และราคาที่ระบุในตารางด้านล่าง

กรณีกลุ่มใหญ่หรือองค์กร ที่ต้องการซื้อข้าวเกิน 1,000 กิโลกรัม(1ตัน)ต่อการส่งข้าว 1 ครั้ง แจ้งรายละเอียดทางอีเมล์ [email protected] ทางกลุ่มจะติดต่อกลับไป

2.ช่วยหาสมาชิก ด้วยการบอกต่อ และดาวโหลดข้อมูลโครงการตามข้อ 1

3.ช่วยบริจาคข้าว ด้วยการซื้อข้าวบริจาคให้กับองค์กรอื่นๆเช่น โรงเรียน โรงพยาบาล วัด และอื่นๆ แจ้งชื่อตามอีเมล์ในข้อ 1

ที่มาภาพ : http://farmerandfriend.org/
ที่มาภาพ : http://farmerandfriend.org/

และสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเพื่อนกินเพื่อนปลูกได้ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/khonkinkhao