ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สื่อ-นักวิชาการวิพากษ์ 3 ปี กสทช. ต้องบริหารงบประมาณโปร่งใส ทบทวนภารกิจที่ซ้ำซ้อนขัดแย้งกันเอง

สื่อ-นักวิชาการวิพากษ์ 3 ปี กสทช. ต้องบริหารงบประมาณโปร่งใส ทบทวนภารกิจที่ซ้ำซ้อนขัดแย้งกันเอง

21 กรกฎาคม 2014


เมื่อ 21 ก.ค. โครงการวิเคราะห์และติดตามร่างกฎหมาย (Thai Law Watch) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “3 ปี กสทช.: ความฝัน ความเป็นจริง และการปฏิรูปกฎกติกา”

นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง
นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอผลการศึกษา “บทวิเคราะห์พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และข้อเสนอในการปรับปรุง” ใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1 ด้านการเปิดข้อมูลข่าวสาร กสทช. ต้องเปิดเผยรายงานการประชุมพร้อมทั้งผลมติของที่ประชุมตามเวลาที่กำหนด แต่ที่ผ่านมา กสทช. ยังไม่เปิดเผยข้อมูลหรือเปิดเผยไม่ทันเวลาที่กำหนด เช่น รายงานการประชุมของคณะกรรมการฯ ผลการศึกษาที่ว่าจ้างหน่วยงานภายนอก ฯลฯ เพราะมีการระบุว่าใช้งบประมาณจำนวนมากกับรายงานเหล่านั้น ดังนั้น กฎหมายควรกำหนดระยะเวลาในการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญให้ชัดเจน และเพิ่มบทลงโทษกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามโดยให้ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ในประมวลกฎหมายอาญา พร้อมทั้งบัญญัติให้ กสทช. และสำนักงานฯ ถือเป็นหน่วยงานอิสระ ใน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540

ประเด็นที่ 2 ด้านการกำหนดนโยบาย การแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อเสนอความคิดเห็นเชิงนโยบายที่ผ่านมายังดำเนินการผ่านระบบโควตา กฎหมายควรกำหนดให้ กสทช. คำนึงถึงความรู้ความเชี่ยวชาญ และการเปิดเผยข้อมูลด้านคุณสมบัติของอนุกรรมการด้วย

ประเด็นที่ 3 ด้านการรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภค กสทช. ไม่สามารถจัดการเรื่องร้องเรียนให้เสร็จภายใน 30 วันตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย การจัดการเรื่องร้องเรียนยังมีลักษณะการตัดสินโดยขาดกลไกยกระดับเรื่องร้องเรียนให้เป็นการบังคับใช้ทั่วไป นอกจากนี้ อนุกรรมการผู้บริโภคตั้งขึ้นตามโควตา กฎหมายควรมีการกำหนดให้มีการตั้งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ที่เป็นหน่วยงานอิสระแทนอนุกรรมการด้านผู้บริโภคฯ ตามมาตรา 31 และควรมีการตั้งคณะกรรมการด้านเนื้อหา (Content Board) ที่เป็นอิสระ และมีหน้าที่ เช่น พิจารณาเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา และจัดทำประกาศกำกับดูแลเนื้อหาและผังรายการให้ กสทช.

ประเด็นที่ 4 ด้านการใช้งบประมาณ หนึ่งในปัญหาหลักของ พ.ร.บ.องค์กร คือ การให้อำนาจสำนักงานในการจัดทำงบประมาณ ประจำปี และให้ กสทช. มีอำนาจในการอนุมัติงบ ซึ่งทั้งสองฝ่ายทำงานเป็นเนื้อเดียวกันมากกว่าการตรวจสอบกัน ดังนั้นควรมีการปรับแก้กฎหมายให้งบประมาณนั้นต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ โดยผ่านการตรวจสอบและอนุมัติจากรัฐสภา และให้องค์กรภายนอกที่ชำนาญด้านงบประมาณมาตรวจสอบให้ความเห็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และเนื่องจาก กสทช. มีรายรับจำนวนมาก ที่ผ่านมาสำนักงานฯ มีแนวโน้มในการตั้งงบประมาณที่ใกล้เคียงกับรายได้โดยขาดการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ควรมีการปรับลดที่มาของรายได้ กสทช. ให้ไม่มากเกินไป เช่น รายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ ให้ลดลงจากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 รวมถึงรายได้จากค่าธรรมเนียมเลขหมายซึ่งเป็นเงินค่อนข้างมาก ให้ส่งเข้าคลังโดยตรง

ประเด็นที่ 5 กลไกการตรวจสอบจากภายในและภายนอก แม้กฎหมายจะพยายามสร้างกลไกตรวจสอบ แต่ที่ผ่านมามีปัญหาที่เกิดจากการตีความ กสทช. ที่ขอบเขตขององค์กรตรวจสอบยังครอบคลุมไปไม่ถึง และการออกแบบกฎหมายให้ กสทช. มีอิทธิพลต่อการทำงานขององค์กรตรวจสอบ เช่น มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณหรือแต่งตั้งกรรมการ ดังนั้น กฎหมายควรแก้ไขให้ ครม. เป็นผู้ออก พ.ร.ก. กำหนดรายได้และค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ไม่ใช่ให้ กสทช. เป็นผู้จัดสรรงบประมาณ และต้องกำหนดให้ สตง. หรือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีอำนาจในการเปิดเผยรายงานการตรวจสอบบัญชีโดยตรง นอกจากนี้อยากให้ กสทช. และสำนักงานฯ เป็นเจ้าพนักงานภายใต้อำนาจในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้ผู้ตรวจการมีอำนาจสอบสวนและเป็นหน่วยงานที่ยื่นฟ้องแทนผู้บริโภคได้

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “3 ปี กสทช.: ความฝัน ความเป็นจริง และการปฏิรูปกฎกติกา” ร่วมอภิปรายโดย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม, ผศ. ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์, ผศ. ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินการอภิปรายโดย ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า การใช้กฎหมายในเรื่องหนึ่งๆ ให้สำเร็จต้องอาศัยคน และการมีส่วนร่วมไปพร้อมๆ กัน

“ไม่อยากให้มองว่ากฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการปฏิรูปสื่อ มันไม่ใช่ทั้งหมด ต่อให้ไม่แก้กฎหมายก็ยังทำงานได้ สิ่งที่จะทำได้คือการวางระบบที่ดี การแก้กฎหมายไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด วางระบบให้ดี เอาคนไม่ดีออกไป ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น การจะแก้การกำกับดูแลต้องแก้หลายฉบับไม่ใช่ฉบับเดียว ตอนนี้หลายคนตั้งคำถามว่าผู้มีอำนาจเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือเปล่า ต้องทำให้โปร่งใส และมีการแข่งขันเสรีเป็นธรรม” นพ.ประวิทย์กล่าว

นพ.ประวิทย์กล่าวด้วยว่า กรณีเรื่องการประมูล ต้องถามว่าเราทำเพื่อประโยชน์ของใครกันแน่ ต้องมีการประมูลเพื่อการจัดสรรคลื่นที่ดีที่สุด หลักของการประมูลไม่ได้อยู่ที่เงินแต่อยู่ที่การนำคลื่นไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด การพยายามแก้กฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการประมูลเป็นอันตรายต่อประเทศ นอกจากนี้ไม่ควรมีการเซ้งคลื่น เพราะจะเกิดการกักคลื่นไว้เก็งกำไร ผู้ประมูลคลื่นได้ควรวางระบบเองได้เต็มที่

นอกจากนี้ กระบวนการแก้กฎหมายต้องมีธรรมาภิบาลด้วย ต้องมีส่วนร่วมของสังคม ไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแก้กฎหมายได้ ต้องมีทุกฝ่ายมาให้ความเห็น โดยหลักแล้วต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล ทั้งนี้ ทุกคนใน กสทช. ต้องมีสิทธิในการให้ความเห็นต่อสาธารณชน ไม่ใช่อ้างว่าต้องฟังแต่มติการประชุมเท่านั้น

นพ.ประวิทย์กล่าวทิ้งท้ายว่า การเปิดเผยข้อมูลของ กสทช. เอง ในบางครั้งตนยังขอรายงานบางฉบับไม่ได้เลย ควรมีการออกกฎว่าหากไม่เปิดเผยข้อมูลให้ออกจากตำแหน่งไปเสีย การทำงานควรเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ บุคลากรต้องผ่านการทดสอบความรู้ความสามารถอย่างจริงจัง อันตรายที่สุดขณะนี้คือการที่ผู้มีอำนาจได้รับข้อมูลที่ผิดๆ มีการสรรเสริญเยินยอ ควรมีความคงเส้นคงวาในการให้ความเห็นของฝ่ายต่างๆ ลดการเห็นแก่ตัว เป็นเรื่องที่ต้องทำ สุดท้ายแล้วประเทศจะเดินไปในทางที่ถูก

ผศ. ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า การแก้กฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ แต่อยู่ที่คุณภาพคนด้วย กฎหมายควรชัดเจน ระบบขณะนี้เหมือนจะใช้งานได้แต่ก็ไม่เต็มที่ คนที่จะเข้ามาทำงานต้องมีความรู้ เพราะมีเนื้อหาซับซ้อน เช่น การพิจารณาด้านเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่ตัดสินง่าย ต้องมีความรู้ไม่ใช่จากประสบการณ์

“ใน กสทช. เองค่อนข้างมีความเห็นที่หลากหลาย ความเห็นไม่ตรงกัน ในการประชุมมีประธานได้แค่ 1 ใน 2 คนเท่านั้น ถือว่านี่เป็นการล็อกตำแหน่งไว้ซึ่งส่งผลต่อความสมดุลของการใช้อำนาจ และการเปิดเผยข้อมูลบางครั้งก็ไม่มีการใส่ความเห็นของใคร ใส่เพียงแค่ข้อสรุปสั้นๆ ไม่แสดงให้เห็นว่ามีความเห็นต่าง ผลที่ออกมาคือ กสทช. ทั้งหมดถูกตำหนิ รวมถึงคนที่มีความเห็นแย้งกับมติประชุมด้วย” ดร.ธวัชชัยกล่าวและว่า องค์กรกำกับดูแลของไทยไม่เคยมีพื้นฐานการดูแลแบบมาตรฐานแบบต่างประเทศ มีแต่การมาเรียกร้องเพื่อพวกพ้องตัวเอง ยอมรับว่าการทำงานภายในองค์กรนั้นทำงานอย่างหนักแต่ประสิทธิภาพต่ำ ประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคก็พยามยามสนับสนุนเท่าที่ทำได้ แต่องค์กรตรวจสอบก็ยังคงทำงานได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าใดนัก

ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การใช้งบประมาณนั้นสิ้นเปลืองไปกับเบี้ยประชุมของอนุกรรมการ ที่ปรึกษาและพนักงานอื่นๆ ของ กสทช. นับ 100 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้มีคณะกรรมการควบคุมเนื้อหาฯ ตามมาตรา 37 ในประเด็นความมั่นคง สิ่งลามกอนาจาร มีกรรมการอีกชุดที่ทำงานคล้ายๆ กันแต่ทั้งสองคณะนี้ไม่ได้มีการคุยกันและมีความเห็นไม่ตรงกันด้วย

สุดท้าย ผศ. ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่ กสทช. ทำได้ ประเด็นแรก คือ การปฏิรูปนโยบายกฎหมายการกำกับดูแลสื่อ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันสื่อในสังคม การปรับเปลี่ยนเนื้อหา จัดสรรส่งเสริมเนื้อหาบางประเภท การส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง การผลักดันสื่อให้เป็นอิสระ และการสร้างการรู้เท่าทันสื่อซึ่งถือว่า กสทช. ทำได้น้อยมาก ถ้าเทียบกับองค์กรกำกับดูแลสื่อในต่างประเทศ

กสทช. ต้องมีความเป็นอิสระ และมีความสามารถในการตรวจสอบได้ แต่ซูเปอร์ดบอร์ดและเงินสนุบสนุนมาจาก กสทช. เป็นเรื่องแปลกที่องค์กรที่มาตรวจสอบต้องอาศัยเงินจากองค์กรที่ถูกตรวจสอบ กลไกการตรวจสอบที่ถูกออกแบบให้ถูกผูกไว้กับโครงสร้างการจัดสรร นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของสาธารณะทำเป็นพิธีกรรมมากกว่าเพื่อเปิดพื้นที่ในการปรึกษาหารืออย่างแท้จริง เน้นการกลบข่าวร้ายขยายข่าวดี และงบประชาสัมพันธ์มีถึง 3 ก้อน คือ งบกลาง กทค. และ กสช.

“ประเด็นการแบ่งงานกันทำอย่างมีประสิทธิภาพบนหลักการของการกำกับดูแล มีการตั้งอนุกรรมการที่มีขอบเขตการทำงานที่ซับซ้อนและขัดแย้งกัน แทนที่จะบูรณาการเชิงความรู้และทรัพยากร ทั้งนี้ ความชอบและอุปนิสัยส่งผลต่อการทำหน้าที่ขององค์กรมากกว่าความรู้ ความเชี่ยวชาญ” ดร.พิรงรองกล่าว