ThaiPublica > คอลัมน์ > From Space Satellite to Solar Co-op จากดาวเทียมสู่สหกรณ์โซลาร์

From Space Satellite to Solar Co-op จากดาวเทียมสู่สหกรณ์โซลาร์

31 กรกฎาคม 2014


ยรรยง บุญ-หลง
[email protected]

โซล่าเซล-11

“สมัยผมเป็นทหารอยู่ในป่า ผมพึ่งพาโซลาร์เซลล์มาตลอด” ผู้พันสมชายย้ำอย่างหนักแน่น แกมีใบหน้าที่เข้มและนิ่งเหมือนนายกฯ รัฐมนตรี โจว เอินไหล ของสาธารณะรัฐประชาชนจีน

“สมัยนั้นโซลาร์เซลล์เป็นเรื่องของความอยู่รอดครับ ไม่ใช่เรื่องรักโลก”

ในปัจจุบันผู้พันสมชายเป็นผู้นำชุมชนสหกรณ์สะพานไม้ ริมคลองบางบัว ที่หลักสี่

“ตอนผมมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ มันเป็นย่านเสื่อมโทรมที่อันตรายมากครับ มีแก๊งมาเฟียยิงกันเหมือนสนามรบเลย” ผู้พันหัวเราะ “กทม. ถึงกับต้องสร้างกำแพงคอนกรีตล้อมรอบตัวชุมชนไว้ … เขากลัวเรามาก”

คุณป้าร่างท้วมวัย 50 เดินถือถุงโอเลี้ยงมาอย่างช้าๆ แกกระซิบบอกผมว่า “พวกเราต้องคลานเข้าบ้านผ่านทางรูเล็กๆ ในผนังคอนกรีต” แกกลืนน้ำลาย “เคยมีคนถูกยิงตายคารูแห่งนี้ เขาพยายามจะหนีเจ้าหนี้ แต่เขาตัวอ้วนใหญ่เกินไปที่จะมุดผ่านทางเข้าไปได้”

ในปัจจุบันเราจะไม่เห็น “รู” ในผนังคอนกรีตอีกต่อไป รวมทั้งกำแพงคอนกรีตก็ไม่มีเหลือให้เห็นอีกแล้ว ในปัจจุบันชุมชนริมคลองบางบัวได้จัดตั้งสหกรณ์บ้านมั่นคงขึ้นมา และกลายเป็นชุมชนตัวอย่างของโลก มีชาวต่างชาติมาดูงานและศึกษาวิธีการจัดการตัวเองของชุมชน

องค์กร Smithsonian Institute ได้นำรูปแบบและโมเดลของชุมชนไปจัดนิทรรศการในนครนิวยอร์ก และได้เป็นหนึ่งในชุมชนตัวอย่างที่หนังสือพิมพ์ New York Times กล่าวขานถึง

โซล่าเซล-10

เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ทางหน่วยงาน “บ้านมั่นคง” (พอช.) กำลังทดลองทำ “ชุมชนสหกรณ์โซล่า” ที่ชุมชนริมคลองบางบัว และอีก 4 ชุมชนในบริเวณพื้นที่ใน กทม. รวมทั้งหมด 5 ชุมชน โดยทาง พอช. ได้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนพลังงานโซลาร์โดยเฉพาะ

เรามีไอเดียว่าทำไมไม่ติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาชุมชน แล้วสมัครเข้าโครงการโซลาร์รูฟทอป (Solar Rooftop: หลังคาพลังแสงอาทิตย์) ของกระทรวงพลังงาน โดยทางชุมชนจะสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์ในอัตตราที่สูงถึง 6.96 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง (ในขณะที่เราซื้อไฟฟ้าจากรัฐที่ประมาณ 3.4 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง)

เนื่องจากทางโครงการโซลาร์รูฟทอปมีทั้งมิเตอร์ขาย (6.96 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง) และมิเตอร์ซื้อ (3.4 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง) กำไรที่ได้จากการขายก็จะถูกนำเข้าสหกรณ์ โครงการเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในสหกรณ์หลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก อังกฤษ และเยอรมัน แต่สหกรณ์เหล่านี้ล้วนเป็นสหกรณ์คนรวยทั้งสิ้น

โครงการที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยนี้ จะเป็นโครงการแรกที่เน้นการสร้างรายได้ให้สหกรณ์ของผู้มีรายได้น้อย โดยที่รัฐรับประกันราคาซื้อถึง 25 ปี (Subsidized Rate)

ผู้บริหารธนาคารแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ได้วิเคราะห์ว่า

“ผลตอบแทนตลอดทั้งโครงการ (IRR: Internal Rate of Return)
รายปี = 8.47%
รายเดือน = 0.71%
ค่า NPV (มูลค่าปัจจุบันสุทธิ) เป็นบวก ที่อัตราดอกเบี้ยคิดลด
4% = 114,902 บาท
6% = 54,046 บาท
8% = 8,843 บาท
ระยะเวลาคืนเงินลงทุนในปีที่ 10”

ถ้าดูจากผลตอบแทนในขั้นต้น (ยังไม่คิดค่าใช้จ่ายที่อาจมีผลต่อการลงทุนตามที่ระบุในหมายเหตุ) สหกรณ์ได้ประโยชน์จากการลงทุน เนื่องจากสหกรณ์กู้เงินมาลงทุน (อัตราดอกเบี้ยต่ำ) เต็มจำนวนเงินลงทุน และรายได้จากอัตรารับซื้อค่าไฟฟ้าที่ 6.96 บาทต่อหน่วย เมื่อนำมาหักค่าใช้จ่ายตามข้อมูล สหกรณ์ยังมีรายรับสุทธิสูงกว่ารายจ่าย

สหกรณ์จึงแบกรับความเสี่ยงจากการบริหารต้นทุนดำเนินงาน (operating cost) และความเสี่ยงจากประสิทธิภาพของแผงผลิตไฟฟ้าในช่วงระยะเวลา 25 ปี ส่วนนโยบายรับซื้อของรัฐที่จะมีผลต่อรายได้ หากมีการรับประกันอัตราการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าตลอด 25 ปี ก็น่าจะลดความเสี่ยงลงไปได้….”

อายุของแผงโซลาร์ในปัจจุบัน โดยมากจะรับประกันประสิทธิภาพอยู่ที่ 25 ปี หากเจ้าของบ้านอยู่ในบ้านในช่วงกลางวัน ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ก็จะถูกนำมาใช้ในชุมชน แม้ว่ากระแสไฟจะวิ่งผ่านมิเตอร์ “ขาย” แล้วก็ตาม

ตามหลักฟิสิกส์แล้ว กระแสไฟก็จะถูกดึงเข้ามาใช้ในจุดที่ใกล้แหล่งผลิตของมันที่สุด (คล้ายๆ กับระบบท่อน้ำ บ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้แทงก์น้ำ เมื่อเปิดก๊อก ก็จะได้ใช้น้ำจากแทงก์น้ำก่อนบ้านที่อยู่ไกลออกไป)

บริษัทเอกชนสามารถเข้ามาร่วมลงทุนกับชุมชนได้ หรือในอนาคตอาจได้รูปแบบของ “Crowd Funding” หรือขอเช่าหลังคาชุมชนก็ยังได้ โดยทางชุมชนจะต้องเก็บค่าบำรุงรักษาและค่าตอบแทนอื่นๆ

“ข้อดีของโครงการนำร่องอันนี้ก็คือ ถ้าทำได้จริงทั้ง 5 ชุมชน ทาง พอช. ยังมีหลังคาให้ทำอีกกว่า 100,000 หลังคา” ผู้พันเสริม

“แน่นอนครับ ไม่ใช่ทุกหลังคาบ้านจะเหมาะสมกับการติดตั้งแผงโซลาร์ เราจึงพยายามใช้ “สหกรณ์” เป็นเครื่องมือในการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างพลังงานใหม่ๆ”

“จะติดบนหลังคาไหนก็ได้ครับ เอาอันที่ได้แดดเยอะๆ แล้วกัน …เราจะแบ่งรายได้กันตามจำนวนหุ้นของสหกรณ์ที่สมาชิกได้ร่วมลงทุน” ผู้พันสมชายอธิบาย เขาชี้ไปบนหลังคาบ้านในชุมชนของเขา

“เราพร้อมที่จะขายไฟให้การไฟฟ้าแล้ว การไฟฟ้าก็พร้อมที่จะรับซื้อแล้วเช่นกันครับ”

รูปแบบของโครงการบ้านมั่นคงริมคลองบางบัว
รูปแบบของโครงการบ้านมั่นคงริมคลองบางบัว

โซล่าเซล-8

แต่สิ่งที่น่าแปลกก็คือ ทาง “กรมส่งเสริมสหกรณ์” กลับบอกว่าทำไม่ได้ เพราะไม่ใช่การทำเพื่อใช้ในครัวเรือนอย่างพอเพียง แต่เป็น “การลงทุนทางธุรกิจ” ที่มีผลกำไรและความเสี่ยง ไม่มีบทบัญญัติสหกรณ์ให้ชุมชนสามารถขายไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์!

เนื่องจากบทบัญญัติสหกรณ์นั้นได้เขียนไว้ตั้งแต่สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม กว่า 60 ปีที่แล้ว เราคงจะไม่สามารถหาบทบัญญัติว่าด้วยเรื่อง “โซลาร์เซลล์” ได้

“ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ควรจะต้องไปดูงานที่ยุโรป ที่ยุโรปเขามีสหกรณ์โซลาร์ที่ขายไฟฟ้ารวยกันไปหลายแห่งแล้ว” คุณป้าหัวเราะ

“คุณต้องกระจายความรวยอย่างพอเพียง… ไม่ใช่กระจายความจนอย่างพอเพียง”

โซล่าเซล-7

โซล่าเซล-6

โซล่าเซล-5

“เราต้องมองไปที่อนาคต” ผู้พันกล่าวอย่างเย็นๆ ลูกชายของเขากำลังเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ดูแลระบบโซลาร์ด้วยตัวเอง เขามีความรู้เรื่องวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นทุนอยู่แล้ว

“ลูกหลานเราควรต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ … เราจะสานตะกร้า ขายข้าวแกงกันตลอดไปไม่ได้หรอกครับ มันเป็นเรื่องของความอยู่รอด ไม่ใช่เรื่องรักโลกนะครับ”

แนวคิดของแสงกับกระแสไฟฟ้ามาจากงานเขียนของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เมื่อ 110 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1905) ในบทความที่มีชื่อว่า “On a Heuristic Point of View Concerning the Production and Transformation of Light”

 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

ไอน์สไตน์ในวัยหนุ่มมีเวลามากสำหรับการคิด เขา “เลือก” ที่จะทำงานเป็นเสมียนในสำนักงานจดสิทธิบัตรในสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการสมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อาจารย์ของไอน์สไตน์ต่างมองเขาว่าเป็นเด็ก “ขี้เกียจ” และไม่มีใครกล้ารับรองเขาอย่างจริงจัง

ภายในเวลาเพียง 1 ปี พนักงานของสำนักงานสิทธิบัตรผู้นี้ก็สามารถเขียนทฤษฎีเปลี่ยนโลกได้ถึง 5 ชิ้น นอกจากงานเขียนเรื่องทฤษฎีเรื่องแสงกับไฟฟ้าแล้ว ยังมีทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Theory of Relativity) และทฤษฎีที่โด่งดังเรื่องพลังงานนิวเคลียร์อยู่ด้วย

โซล่าเซล-4

ในช่วงปี ค.ศ. 1958 ทางสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงด้วยการวิจัย และตั้งสถาบัน Defense Advance Research Project Agency (DARPA) ขึ้นมา และได้คิดค้นวิธีการนำโซลาร์เซลล์มาใช้ผลิตพลังงานบนดาวเทียม เพื่อคานอำนาจทางการทหารของโซเวียตรัสเซีย โซลาร์เซลล์เป็นเรื่องของความมั่นคงทางการทหารและความอยู่รอดของสหรัฐอเมริกา (สถาบัน DARPA ยังได้คิดค้นระบบอินเทอร์เน็ต ระบบ GPS รวมทั้งระบบ Air-bag นวัตกรรม Computer Animation ระบบเครื่องบินไร้คนขับ (Drone) และระบบการผ่าตัดทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ Tele-Surgery)

ในปัจจุบัน กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกามีแผนที่จะใช้งบประมาณถึง 10,000 ล้านเหรียญในพลังงานสีเขียว (งบพลังงานทั้งหมดของกองทัพอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านเหรียญในปี ค.ศ. 2012)

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ไม่ได้ “รักโลก” แต่มองเรื่องของยุทธศาสตร์และความปลอดภัยเป็นหลัก

ชุมชนใช้รอกในการติดตั้งโซล่า (เร็วกว่าการยกแผงขึ้นไป)
ชุมชนใช้รอกในการติดตั้งโซลาร์ (เร็วกว่าการยกแผงขึ้นไป)

การใช้โซลาร์เซลล์หรือพลังงานลม แน่นอน มีความเสี่ยงเรื่องความสม่ำเสมอของกระแสไฟฟ้า แต่ข้อดีของมันก็คือมันเป็นระบบกระจายศูนย์ เช่นเดียวกับระบบอินเทอร์เน็ตที่ DARPA เป็นผู้คิด

หน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐฯ พบว่า หากสามารถเชื่อมต่อแผงโซลาร์เซลล์กับโครงข่าย grid ไฟฟ้าได้ด้วยแล้ว ความมั่นคงของฐานทัพก็จะเพิ่มขึ้นหลายเท่า เพราะศัตรูไม่สามารถทำลายล้างศูนย์ผลิตไฟฟ้าได้ในสถานที่เดียว เพราะมันเป็นระบบลูกผสม (hybrid) ที่มีแหล่งผลิตกระจายศูนย์เชื่อมต่อกับระบบ grid ไฟฟ้า

โซล่าเซล-2

Eco PowerCube วิจัยระบบอาคารเคลื่อนที่พร้อม Wi-fi และระบบน้ำใช้
Eco PowerCube วิจัยระบบอาคารเคลื่อนที่พร้อม Wi-fi และระบบน้ำใช้

หากจะทำลายระบบ grid เสาไฟฟ้าทั้งหมด ระบบโซลาร์เซลล์ก็ยังผลิตพลังงานให้ฐานทัพได้อยู่ ในทางกลับกัน หากศัตรูทำลายระบบโซลาร์เซลล์ที่ฐานทัพ ระบบเสาไฟและ grid ก็ยังจ่ายไฟให้ฐานทัพได้อยู่เช่นกัน

“จำตอนน้ำท่วมเมื่อ 3 ปีก่อนได้ไหมครับ เราแทบจะไม่มีไฟฟ้าใช้เลย” ผู้พันสมชายรำลึกถึงเหตุการณ์น้ำท่วมปี ค.ศ. 2011

เขามีความฝันว่าอีกไม่นานนัก จะเห็นโซลาร์เซลล์บนหลังคาของทุกบ้านทุกอาคาร

“ที่บ้านผม ตัวหลังคาเอง ทำหน้าที่กันน้ำเข้าบ้าน และทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าได้ในตัวเลย”

ผู้พันกำลังพูดถึงหลังคา Building Integrated Photovoltaic (BIPV) ที่มีวัสดุหลังคาเป็นโซลาร์เซลล์ในตัวของมันเลย

โซล่าเซล

ในปัจจุบัน 70% ของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะสูญหายไปเป็นความร้อนและหายไปในสายส่งที่ยาวไกล ก่อนจะถึงบ้านคนในเมือง

ยิ่งสายส่งยาวมากเท่าไร เราก็จะเสียกระแสไฟฟ้าไปมากขึ้นเท่านั้น

“คุณจะไปซื้อที่ดินทำโซลาร์ฟาร์มไกลๆ ทำไมครับ เปลืองเงินเปล่าๆ มาใช้หลังคาบ้านผมและชุมชนในเมืองไม่ดีกว่าหรือครับ” ผู้พันเชิญชวน