พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ช่วงนี้ประเด็นเรื่องแรงงานกลับกลายมาเป็นประเด็นฮ็อตฮิตอีกครั้ง ทั้งเรื่องการ “ตื่นตระหนก” ของแรงงานต่างด้าวบางส่วน และเรื่องการค้าแรงงาน ผมขอชวนคุยเรื่องปัญหาระยะยาวของแรงงานไทยจากประเด็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรก่อนนะครับ
หลายปีที่ผ่านมา ทุกคนคงได้รับรู้รับทราบถึงแรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย หลายๆคนคงเคยตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศไทยจึงต้องมีคนงานต่างด้าวเยอะขนาดนี้? คนไทยหายไปไหนหมด? เป็นไปได้หรือที่ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานน้อยกว่าร้อยละหนึ่ง (ผมว่าน่าจะต่ำที่สุดในโลกแล้วนะเนี่ย)
นี่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนภัยแบบเบาๆกับปัญหาที่รอเราอยู่ในอนาคต
ผมขอโชว์รูปที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรไทยหน่อยนะครับ ทั้งหมดนำมาจาก World Population Prospects: The 2012 Revision ของสหประชาชาตินะครับ เขาทำประมาณการเรื่องประชากรโลก ไปข้างหน้าอีกเกือบร้อยปีเลยทีเดียว ใครสนใจเข้าไปดูได้ มีสถิติและประมาณการเกี่ยวกับประชากรเยอะเลย
รูปแรกแสดงให้เห็นถึงอัตราการเกิด (จำนวนเด็กที่เกิดต่อประชากรผู้หญิงหนึ่งคน หรือพูดง่ายๆคือจำนวนลูกเฉลี่ยของครอบครัว) สังเกตเห็นได้ว่า ในรอบห้าสิบปีที่ผ่าน อัตราการเกิดของไทยลดลงอย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค จากครอบครัวขนาดใหญ่ มีลูกหกเจ็ดคนเป็นเรื่องปกติ ปัจจุบันขนาดครอบครัวไทยลดลงมาก การวางแผนครอบครัวประสบความสำเร็จดีเกินคาด การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมทำให้คนแต่งงานแล้วไม่มีลูกก็เยอะ อัตราการเกิดก็เลยต่ำ และน่าจะต่ำกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคไปอีกสักระยะ นอกจากนี้อายุเฉลี่ยของประชากร (รูปทางขวา) ของไทยก็ดีกว่าประเทศอื่นๆ ประชากรมีอายุยืนนานขึ้น
ผลที่เกิดขึ้นคือ จำนวนเด็กที่เข้าสู่วัยทำงาน มีน้อยกว่าผู้ใหญ่ที่อายุมากขึ้น และกำลังจะเกษียณอายุออกจากวัยทำงานไป วันนี้อายุเฉลี่ยของประชากรไทยอยู่ที่ประมาณสามสิบปลายๆ และจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
ข่าวดีคือ การเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมา ที่คนอายุยืนยาวขึ้น และเราเปลี่ยนจากประเทศที่มีลูกเยอะๆ และลดจำนวนลูกลงอย่างรวดเร็ว ทำให้สัดส่วนของจำนวนประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้น และคนวัยทำงาน มีภาระน้อยลง จากเดิมคนทำงานในครอบครัวต้องหาเลี้ยงทั้งเด็กและคนแก่จำนวนหลายคน ตอนนี้จำนวนเด็กลดลงไปเยอะ และคนแก่ก็ยังเพิ่มขึ้นไม่มาก คนวัยทำงานสามารถทำงานได้ผลมากขึ้น เศรษฐกิจก็เติบโตได้ดี เพราะแรงงานโดยรวมมีผลิตผลสูง ตรงนี้เป็นสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า ระยะเก็บเกี่ยวด้านประชากร หรือ demographic dividend
แต่ข่าวร้ายคือเรากำลังจะผ่านช่วงเวลาที่ดีที่สุดนี้ไป นับจากนี้ คนจะเข้าสู่วัยเกษียณจะมีมากขึ้น และเพิ่มขึ้นเร็วกว่าเด็กที่จะเข้าสู่วัยทำงาน สัดส่วนของคนสูงอายุในประเทศไทยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และสัดส่วนของคนวัยทำงานต่อคนไม่ได้ทำงาน (เด็กและคนแก่) จะค่อยๆลดลง ภาระที่คนทำงานหนึ่งคนต้องแบก (หรือเรียกว่า dependency ratio จะค่อยๆสูงขึ้น) ภาระนี้จะถ่วงทำงานเศรษฐกิจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะต้องเอาทรัพยากรส่วนหนึ่งมาดูแลผู้สูงอายุ
เราพร้อมแล้วหรือยัง? ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการของเราพร้อมดูแลคนเหล่านี้หรือไม่
และสิ่งที่ผมว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง คือจำนวนประชากรวัยทำงานของไทย น่าจะได้มาถึงจุดสูงสุดแล้ว จากนี้ไปจำนวนคนอายุในวัยทำงานจะค่อยๆลดลงจึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะประสบปัญหาแรงงานขาดแคลนจนต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ เพราะความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามเศรษฐกิจที่โตขึ้น แต่ปริมาณแรงงานกลับกำลังลดลง
และไม่น่าแปลกใจเท่าไร ที่ใครๆก็บ่นว่าแรงงานเดี๋ยวนี้แพง หาคนงานไม่ค่อยได้ หาได้ก็ไม่อยากทำงานด้วย บางอุตสาหกรรมเรียกว่าไม่มีคนไทยทำแล้วด้วยซ้ำ (คนงานบ้านเดี๋ยวนี้จากแพงกว่าข้าราชการจบใหม่เสียอีก)
แรงงานจึงเป็นข้อจำกัดสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต นี่ผมพูดแค่จำนวน หรือปริมาณนะครับ ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องคุณภาพของแรงงานเลย แล้วเราจะทำอย่างไรกับปัญหาอันหนักอึ้งนี้?
มีสองทาง (ที่อาจต้องทำควบคู่กันไป) ครับ หนึ่งคือเพิ่มแรงงาน ซึ่งก็มีอีกสองวิธี คือเพิ่มอัตราการเกิด แต่นั่นคงใช้เวลานานทีเดียวกว่าลูกจะทันใช้ และสองคือยอมรับปัญหานี้ และนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศต่อไป แต่โจทย์ใหญ่ก็คือภาระทางสังคมและเศรษฐกิจที่จะตามมา ที่เราต้องเตรียมพร้อมอีกเยอะ และคงต้องคิดดีๆว่าเราอยากได้แรงงานแบบไหน และจะจัดการให้เป็นระบบอย่างไร
และความเสี่ยงคือ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าประเทศเพื่อนบ้านเราเจริญขึ้น ค่าแรงสูงขึ้นและแรงงานไม่อยากมาทำงานในไทยแล้ว?
และทางที่สอง คือเราต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแรงงานปัจจุบันของเรา นำประชากรเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น พัฒนาคุณภาพของแรงงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลงทุนในการศึกษา นำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้การผลิตมากขึ้น ลดต้นทุนและปัจจัยหน่วงในการผลิต (เช่น ต้นทุนค่าขนส่ง) เพื่อให้ประสิทธิภาพโดยรวมของเศรษฐกิจสูงขึ้น
เราเตรียมตัวกับปัจจัยเหล่านี้และความท้าทายที่จะมาถึงในไม่ช้าแล้วหรือยัง? นี่ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆนะครับ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ไม่มีทางออก ประเทศอย่างญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรป กำลังเจอปัญหาไม่ต่างจากเรา โชคดีที่เราพอจะเรียนรู้จากประเทศเหล่านี้ได้
แต่รูปสุดท้ายครับเปรียบเทียบแนวโน้มประชากรวัยทำงานของประเทศในเอเชีย จะสังเกตว่า มีแค่ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ที่มีแนวโน้มแย่กว่าเรา ประเทศต่างๆใน ASEAN ยังไม่เจอปัญหานี้ไปอีก 10-20 ปี ถ้าเราเป็นนักลงทุนและเห็นภาพนี้ เราจะเลือกไปลงทุนที่ไหน?
เห็นไหมละครับ ปัญหานี้ไม่แก้ ไม่เตรียมพร้อมไม่ได้จริงๆนะครับ ไม่งั้นเราโตไม่ทันเพื่อนบ้านจริงๆด้วยนะ