ThaiPublica > เกาะกระแส > กรุงเทพฯหนาวมาก – กรุงเทพฯเย็นกำลังดีได้อย่างไร

กรุงเทพฯหนาวมาก – กรุงเทพฯเย็นกำลังดีได้อย่างไร

14 พฤษภาคม 2014


เสวนากรุงเทพเย็น2

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม จัดงานนิทรรศการและเสวนาในหัวข้อ “กรุงเทพฯ – เย็นกำลังดีได้อย่างไร” โดยมีวิทยากรจากหลายสาขาอาชีพ ได้แก่ นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก, นายยรรยง บุญหลง สถาปนิก/นักเขียน, นายพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร พิธีกร/นักแสดง ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และนายวิรัช ตันชนะประดิษฐ์ ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร ดำเนินรายการโดย ดร.สุปรียา หวังพัชรพล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเครือข่ายปฏิบัติการชุมชน

หลังการเสวนามีการฉายหนังสารคดี Urbanized (2011) กำกับโดย แกรี ฮัสต์วิต (Gary Hustwit) ความยาว 85 นาที เป็นหนังสารดคีที่ฉายภาพการวางผังเมืองและสร้างเมืองใหญ่ในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้คนในเมืองมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่คนรวยเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนในเมืองทุกคนด้วย

สุปรียา: ในฐานะสถาปนิก บทบาทที่เราออกแบบสถาปัตยกรรมและเมืองมันจะช่วยให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นและเย็นขึ้นได้อย่างไร

ดวงฤทธิ์: เป็นคำถามที่กว้างมาก ถ้ามองจากมุมมองว่าอยากเห็นกรุงเทพฯ มีความสบายมากกว่านี้โดยไม่ต้องใช้ระบบปรับอากาศหรือพลังงาน สถาปัตยกรรมเป็นตัวช่วยในการทำให้สภาพแวดล้อมเข้าสู่สมดุลได้ และก็เป็นตัวที่ทำให้สภาพแวดล้อมไม่มีสมดุลเหมือนกัน

จริงๆ แล้วเวลาคนมองตึกหรือศูนย์การค้าใหญ่ๆ จะมองว่าเป็นตัวทำลายมากกว่า เพราะสถาปนิกเองไม่ได้มองว่าตึกเป็นกลไกสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดผลกระทบ สำนึกเรายังไม่ได้ไปตรงนั้น ผมเองก็ไม่ได้บอกว่าผมเป็นคนดี เพราะก็สร้างตึกใหญ่ๆ ที่ทำลายธรรมชาติเลย แต่อย่างหนึ่งที่มองเห็นคือเวลาสถาปนิกคุยกัน เราจะมองปัจจัยอยู่ 2-3 อย่างด้วยกัน เช่น พลังงาน เราก็จะมุ่งไปที่ปัจจัยนี้อย่างเดียวโดยไม่มองปัจจัยอื่นๆ วันนี้ผมอยากจะเสนอว่ามันมีปัจจัยหลายด้านที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสร้างตึก ในวิธีที่จะทำให้มันสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมได้

เวลาเราพูดถึงสภาพแวดล้อมคนส่วนใหญ่จะนำไปโยงกับเรื่องพลังงาน ผมถูกเชิญไปบรรยายที่คอสตาริกา หลายคนก็พูดถึงสารพัดเทคโนโลยีที่จะประหยัดพลังงาน ผมเลยพูดถึงรีสอร์ทที่ผมออกแบบว่าบริเวณล็อบบี้ไม่มีแอร์ การที่บอกว่าอุณหภูมิที่นั่งสบาย คือ 24 องศา มันไม่จริง มันเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น 30 องศา ก็สบายได้ เมื่อให้ผู้ร่วมประชุมเลือกผลงานขึ้นมาหนึ่งชิ้นเพื่อเป็นตัวแทนของการประชุม เขาเลือกงานของผม เพราะถือเป็นบทสนทนาใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อพูดถึงระบบนิเวศ

ปัญหาของระบบนิเวศไม่ได้ถูกอย่างที่ควร เพราะสิ่งที่ถูกสร้างไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง พูดกันเสมอว่า ตัวเลข 22-24 องศา คือระดับที่สามารถอยู่สบาย สถาปนิกจึงทำทุกอย่างเพื่อลดอุณหภูมิ เช่น เพิ่มฉนวนเข้าไป ทำกันแดด คิดจนทำให้ตึกกลายเป็นตู้เย็น ทำไมเราไม่สามารถอยู่ใน 30 องศาได้โดยไม่ต้องการความเย็น ทำไมเราไม่ทำใจให้สบายๆ แล้วอยู่ได้ เปลี่ยนความต้องการ มันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างถ้าเราจะทำให้ระบบนิเวศเข้าสู่สมดุล

วิธีคิดของสถาปนิกสมัยนี้มองปัญหาแบบเส้นตรงที่จะต้องเข้าไปถึงจุดๆ หนึ่ง ให้ได้ คือ การประหยัดพลังงานสูงสุด เช่น การทำกันสาด เราเอาพลังงานไปทำกันสาดอีกเท่าไหร่ มุมมองของผมมองแบบกลับไปกลับมา มันเป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่มองไปทางเดียว

ทุกท่านที่อยู่ตรงนี้คงรู้สึกว่าอากาศอุ่นๆ แต่พอสักพักก็อยู่ได้สบาย ทุกอย่างยังโอเค เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วคุณสามารถทำงานได้ในอุณหภูมิแบบนี้ การลดความต้องการของคนลงคือสิ่งที่ผมอยากเสนอตรงนี้

สุปรียา: คุณยรรยงนอกจากจะเขียนหนังสือแล้วยังมีบทบาทในการออกแบบเพื่อชุมชน ร่วมกับชุมชน ซึ่งปัจจุบันก็มีโปรเจกต์ที่น่าสนใจ

ยรรยง: คนในชุมชนส่วนใหญ่มีเทคโนโลยีการ Cooling (กระบวนการทำให้เย็น) มาตั้งแต่โบราณ เช่น กินของเผ็ด เหงื่อไหล ไม่ใส่เสื้อ ลมพัด ก็เย็นแล้ว พอเอาเสื้อมาใส่ก็ไม่เย็นเพราะกำจัดเหงื่อไม่ได้ ของเผ็ดก็ไม่ได้กินแล้ว ไปกินสปาเกตตีแทน

Solar Cell (เซลล์แสงอาทิตย์) จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ทำได้ ตอนนี้รัฐบาลรับซื้อไฟ 6.96 บาท/kWh และ 3 บาท/kWh
ถ้าเราขายได้ตรงนั้นคือกำไรล้วนๆ ตอนนี้เราติดตั้งโซลาร์เซลล์ไป 40 กว่าชุมชนแล้ว รวมทั้งโครงการบ้านมั่นคงด้วย เราทำหลายที่ เช่น สมุทรปราการ สะพานไม้บริเวณเขตหลักสี่ ( กทม. ) ผมพยายามโน้มน้าวเพื่อนจากสิงคโปร์เข้ามาลงทุน 20% และชุมชนลงทุนเอง 80% ซึ่งมีองค์กรให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี เป็นเงินกู้เพื่อพลังงานเลย ร่วมกันขายไฟให้รัฐ

สุปรียา: คุณพิพัฒน์ในฐานะเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ เป็นคนเมือง และเป็นผู้ออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย เป็นไปได้ไหมว่าคนเมืองจะตระหนักถึงการประหยัดพลังงาน เป็นไปได้แค่ไหน

พิพัฒน์: ผมว่าเป็นไปได้และเชื่อว่าผู้ที่ฟังอยู่ในที่นี้ทุกท่านมีความรู้สึกสนใจสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน มันก็คงเป็นไปได้ น่าจะเป็นการเริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ ที่ตัวเองสามารถทำได้ ส่วนเรื่องที่ดูแล้วรู้สึกไม่ถนัดก็ไม่ต้องทำ ถึงแม้จะมีการประชาสัมพันธ์มากมายแล้วรู้สึกว่ามันไม่ได้เข้ากับเราเลยก็อย่าทำ

เช่น มีการรณรงค์ให้ปั่นจักรยาน มีคนปั่นมากมาย แต่ตัวเราเองไม่สามารถปั่นไปที่ทำงานได้ หรือไม่สามารถปั่นกลับมาบ้านได้ เหตุผลหลากหลายจากการจราจรที่น่ากลัว แดดร้อน หรือยังไม่มีจักรยานสวยๆ ไปโชว์เพื่อน ก็ยังไม่ต้องทำก็ได้ ผมเองวันนี้ก็นั่งรถมาเหมือนกันทั้งๆ ที่รู้ว่าการปั่นจักรยานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์ แต่ถ้าผมปั่นจักรยานจากบ้านที่รัชดามาถึงคลองสานนี่ก็คงจะได้คุยกันประมาณเที่ยงคืน

เสวนากรุงเทพเย็น3

สุปรียา: บางอย่างมันเหมือนเป็นกระแสหรือเปล่า

พิพัฒน์: ถ้าเกิดเป็นกระแสที่ทำให้คนส่วนมากหันมาสนใจมันอาจจะเป็นระยะเวลาที่ไม่นานมาก หากคนเริ่มต้นสนใจสิ่งแวดล้อมเพราะว่าเกาะกระแสมันก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างน้อยมันก็ได้เริ่มต้นแล้ว เมื่อเริ่มเกาะกระแสแล้วสามารถทำได้ ต่อไปก็จะไม่ใช่แค่เรื่องชั่วคราวและสามารถทำได้ต่อเนื่อง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ผมเริ่มต้นจากสิ่งที่สนใจ จากภาพยนต์เรื่อง An Inconvenient Truth (2006) เพียงเรื่องเดียว ผมเรียนจบออกแบบผลิตภัณฑ์มาผสมกับเรื่องที่สนใจ พัฒนาไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็คิดว่าของมันน่าจะมีแหล่งที่คนสามารถมาเจอได้ ก็เลยตั้งเป็นร้าน Eco Shop ขึ้นมา จนได้ไปเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมแก่โรงงานต่างๆโดยใช้แอลซีเอ (LCA: Life Cycle Assesment) หรือวัฏจักรผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมาเป็นแนวคิดในการออกแบบ

สุปรียา: ในฐานะที่เป็นหน่วยงานท้องถิ่นของ กทม. เอง มีแผนหรือการรณรงค์เพื่อประหยัดไฟฟ้าใน กทม. อย่างไร

วิรัช: ผมคงเป็นภาครัฐคนเดียวที่มานั่งในที่นี้ การทำงานของข้าราชการต้องทำตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับมากมาย ในมุมมองของท้องถิ่นเองหน้าที่หลักคือบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับคนใน กทม. แผนของเราจะมีเรื่องการขนส่ง การจรจร การใช้พลังงาน การกำจัดขยะ บำบัดน้ำเสีย และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่ กทม. กำลังดำเนินการอยู่

ทุกคนอาจจะเคยเห็นโครงการ Earth Hour ปิดไฟ 1 ชั่วโมงให้โลกพักในทุกสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนของทุกปี เราทำมา 5 ปี ก็เห็นว่ามันเป็นแค่การปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ มันก็เป็นกระแสช่วงหนึ่งแล้วก็เงียบไป เราก็เริ่มเห็นว่าควรจะไปปลูกฝังที่เด็กๆ ก่อน กทม. มีโรงเรียนอยู่ประมาณ 400 กว่าโรง จึงมีโครงการโรงเรียนใหญ่ รอยเท้าเล็ก รอยเท้านี้หมายถึงรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) มันคือสิ่งที่เรากระทำในแต่ละวัน ไม่ว่าจะอาบน้ำ แปรงฟัน เดินทาง เราจะทิ้งรอยคาร์บอนไว้ตลอด

เราคัดเด็ก ป. 5 มาเข้าค่ายร่วมกิจกรรมทั้งหมดประมาณ 2,000 กว่าคน หลังจากเข้าค่ายก็มีความกระตือรือร้นในสิ่งใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้ เขามีการคำนวณเองว่าถ้าเปลี่ยนจากขึ้นรถไปเป็นเดินจะลดคาร์บอนลงได้เท่าไหร่ ซึ่งสามารถลดจำนวนคาร์บอนได้จริง

เมื่อเป้าหมายกลุ่มโรงเรียนผ่านไป จึงเกิดโครงการกรุงเทพฯ สูง คาร์บอนต่ำ ขยายไปสู่กลุ่มอื่น เช่น อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และโรงแรม โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้ามีคนเปรียบเปรยว่าใช้พลังงานเท่ากับเขื่อนหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้กำลังเตรียมงานอยู่ ในเรื่องกฎหมายทาง กทม. ยังไปไม่ถึง เพราะเราไม่ได้ดูแลเอง จึงทำในส่วนรณรงค์ไปก่อน

สุปรียา: ในความเป็นเมืองน่าจะมีมาตรการอะไรบ้างที่มาช่วยเรื่องนี้

ดวงฤทธิ์: ผมเสนอไปหลายรอบแล้วในเรื่องผังเมืองที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ ตอนนี้เมืองของเราวางผังเข้าสู่ส่วนกลาง เมื่อเรากำหนดแบบนี้การพัฒนาอยู่ตรงกลาง สีเขียวล้อมรอบ คนก็ต้องเข้ามาทำงานในเมือง มีการเดินทางมหาศาล จริงอยู่ที่เรามีขนส่งสาธารณะแต่มันก็ไม่รองรับคนได้ทั้งหมด ก็ยังต้องมีรถส่วนตัวอยู่ดี

ผมเคยเสนอเรื่องการวางผังเมืองให้มีหลายศูนย์กลาง ไม่ใช่มีศูนย์กลางเดียว อยู่เขตไหนก็มีศูนย์กลางเขตนั้น กำหนดความหนาแน่น โละผังเมืองแบบเก่าออกให้หมด มันทำให้แต่ละศูนย์กลางอาศัยอยู่ด้วยตัวเองได้ (Self-sustained) โดยไม่ต้องวิ่งเข้ามาศูนย์กลาง มันสามารถลดพลังงานการเดินทางได้อย่างมหาศาลมาก ทำให้เมืองสอดคล้องกับระบบนิเวศได้ดีขึ้น ผมพูดไปเกือบ 20 ปีแล้ว มันใหม่เกินไปสำหรับสำนักผังเมืองผมพูดตรงๆ

ยรรยง: อยากเสริมเกร็ดนิดหนึ่ง ใครรู้บ้างว่ากระทรวงไหนในสหรัฐฯ รักโลกมากที่สุด คิดเรื่องโซลาร์เซลล์อะไรแบบนี้ พอมีใครเดาได้ไหม นั่นคือกระทรวงกลาโหมครับ เป็นกระทรวงแรกที่คิดค้นเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อแข่งกับโซเวียต เป็นแนวคิดที่ว่าต้องดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ในภาวะสงครามที่เปลี่ยนแปลง เรือดำน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ จีพีเอส ระบบอินเทอร์เน็ต กระทรวงกลาโหมก็คิด

ปัจจุบันงบประมาณด้านการทหารของสหรัฐฯ ประมาณ 2 หมื่นล้าน ใช้ไปกับพลังงานการทหาร และแนวโน้มในปี 2030 งบประมาณ 1 หมื่นล้านจะหมดไปกับพลังงานหมุนเวียน อย่าง โซลาร์และลม เพราะมันยั่งยืนกว่า ถ้าเกิดข้าศึกไม่ส่งพลังงานให้ก็ยังสามารถอยู่ได้ เรื่องการทหารกับการมีชีวิตอยู่รอดก็เป็นที่มาของพลังงานสีเขียว ไม่ได้มาจากคนรักโลก หรือจริงๆ แล้วทหารอาจจะรักโลกก็ได้

สุปรียา: บางครั้งการพัฒนาเมืองเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ

วิรัช: ถ้ามองในเรื่องความเหลื่อล้ำจะเห็นบ้านที่ทำจากสังกะสี อยู่ท่ามกลางขยะบ้าง น้ำครำบ้าง ขยับไปอีกนิดก็เป็นตึกสูง เป็นสิ่งที่เห็นได้โดยทั่วไป ใน กทม. เองก็พยายามกระจายความเป็นธรรมในการเข้าไปดูแลคนด้อยโอกาส

กรุงเทพหนาวมาก

ยรรยง: มีชุมชนบางวัวที่ได้ไปจัดนิทรรศการที่นิวยอร์ก เพราะเป็นต้นฉบับของการพัฒนาชุมชนแออัดที่ กทม. เข้าไปช่วย เรามีคลอง และคลองทั้งหลายก็เต็มไปด้วยชุมชนแออัด กทม. เข้าไปพัฒนาเรื่องบ้านมั่นคง แนวทางเป็นอย่างไรครับ

วิรัช: เราทำทุกอย่างให้เขาช่วยตัวเองได้ ไม่ใช่ให้อย่างเดียว ให้มีการรวมกลุ่มและคัดเลือกผู้นำชุมชนก็จะมีแนวทางหลายด้านให้เขาเข้ามาช่วยกันคิด

ยรรยง: กทม. เป็นคนริเริ่มในการใช้คลองเป็นทางสัญจรที่สามารถเชื่อมต่อกับบีทีเอสได้ และได้ยินว่าจะมีการพัฒนาระบบเรือให้ดีกว่านี้ด้วย ให้มีลักษณะเป็นสากลมากขึ้น

วิรัช: กทม. เป็นคนริเริ่มจริงแต่เป็นการให้สัมปทานไปทำ กทม. พยายามทำให้บริการดีขึ้น

ดวงฤทธิ์: อยากกลับไปที่ประเด็นชุมชน ไม่รู้ประเทศนี้มีปัญหาอะไรกับสลัม เวลาเราพูดถึงสลัมแล้วแปลว่าด้อย ถ้ากรุงเทพฯ ไม่มีสลัมนี่หายนะ คนที่มาทำงานในโรงแรม เป็นพนักงานทำความสะอาด ส่วนหนึ่งก็อยู่ใน กทม. ถ้าให้เขาไปอยู่นอกเมืองค่าเดินทางสูงมาก เขาก็จะทำงานอยู่แถวๆ นั้น สมมติว่าโรงแรมไม่มีคนทำงานก็ตายหมด

ประเด็นคือทำอย่างไรให้สลัมกับเมืองทำงานด้วยกัน เรียกว่า Incentive planning เช่น นายทุนสร้างตึกสูงได้ แต่ต้องแลกกับการไปสร้างห้องสมุดในสลัม แบบนี้ทำให้เมืองอยู่ด้วยกัน สอดคล้องกัน สลัมก็เติบโตไปพร้อมกับเมือง

ผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อโลกสีเขียว (All green learning center) มาช่วยทำโครงการติดตั้งโซลาร์ขึ้นมาในชุมชน เคยเป็นเอ็นจีโอ เคยทำงานกระทรวงพลังงาน ตอนนี้ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานและสิ่งแวดล้อม จึงเข้าใจแต่ละฝ่ายว่าคิดอะไรกันบ้าง

โครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นโครงการแรกที่ทำให้คนในชุมชนเป็นเจ้าของพลังงาน ปัญหาหลักคือเมื่อเราติดตั้งแผงไปแล้ว เตรียมจะใช้แล้วก็เป็นปัญหาว่าลักษณะที่ติดตั้งนั้นเป็นแบบโรงงาน ต้องขอใบอนุญาต (ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน) เป็นประเทศเดียวที่มองว่าการติดตั้งแผงโซลาร์เล็กๆ 2-3 กิโลวัตต์หรือเท่ากับผลิตไฟฟ้ามูลค่า 1 พันบาทต่อเดือนนี้คือโรงงาน เขาบอกว่านี่คือการทำผิดกฎหมาย มาติดตั้งก่อนได้อย่างไรไม่ขออนุญาต

ตอนนี้ชาวบ้านเป็นหนี้แล้ว ติดตั้งเรียบร้อยก็ยังจ่ายไฟไม่ได้ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเพราะคนอยากร่วมมาก การติดแผงโซลาร์เซลล์นี้ลงทุนประมาณ 1.8 – 2 แสนบาท เราร่วมลงทุนด้วย จะคืนทุนภายใน 7-8 ปี ในขณะที่แผงโซลาร์มีอายุถึง 25 ปี มันอาจจะดีกว่าซื้อรถด้วยซ้ำ แต่เมื่อเรามี ร.ง. 4 เราก็เท่ากับว่าคน กทม. ทำอะไรไม่ได้เลย

ดวงฤทธิ์: ผมออกแบบตึกใหญ่ๆ มากมาย ไม่ใช่คนดีอะไร จึงทำสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นการไถ่บาป ตั้งบริษัทที่ชื่อ Eco Future ขึ้นมา ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิธีลดคาร์บอนโดยตรง ถ้าเราปลูกป่า ต้องใช้เวลาหลายปีถึงจะเห็นผล เราเลยคิดถึงพืชที่ปลูกในระยะเวลา 3 เดือนแล้วโต นั่นคือสาหร่าย เรากำลังหาว่าสาหร่ายชนิดไหนปลูกขึ้นได้ดีในน่านน้ำไทย การดูดคาร์บอนจากน้ำดีกว่าดูดจากอากาศเพราะคาร์บอนสะสมในน้ำมากกว่า สร้างการดูดซับมหาศาล

สมมติว่าวันหนึ่งอยากเป็นคนดีคุณก็มาซื้อหน่วย Eco Unit เท่ากับ 1 Carbon Unit คุณอยากซื้อเท่าไหร่ก็ซื้อแล้วผมจะปลูกสาหร่ายเท่ากับจำนวนที่คุณซื้อ มีการติดตามผลและส่งรีพอร์ทให้คุณ สิ่งที่เราทำได้มีมากมาย ไม่เกี่ยวกับวิชาชีพก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ทำมา 2 ปี แล้ว เราทำวิจัยว่าสาหร่ายจำนวนเท่าใดถึงจะดูดซับคาร์บอนได้ ต้องใช้ความพยายามในการคำนวน
ค่อนข้างสูง

เสวนากรุงเทพเย็น

“ฝ้ายคำ หาญณรงค์” ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Climate Justice) เล่าถึงที่มาขององค์กรนี้ว่า เป็นเครือข่ายเอ็นจีโอที่มีอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่องค์กรใหม่ เมื่อปี 2008 มีการประชุมโลกร้อนใหญ่ที่ไทย เป็นจุดเริ่มให้ภาคประชาสังคมไทยเห็นว่าโลกร้อนเป็นประเด็นที่ต้องสนใจ จึงเกิดการรวมตัวกัน

ทำไมถึงโลกเย็นแล้วต้องเป็นธรรมด้วย เพราะจริงๆ แล้วเวลาจะแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นตอ ต้องดูว่าใครมีส่วนในการทำให้เกิดโลกร้อน ปล่อยก๊าซคาร์บอน ก๊าซเรือนกระจก ในระดับโลกอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วมีการปล่อยก๊าซก็มีการรวมตัวทำอนุสัญญาลดคาร์บอน ขณะที่เรามองไปในอนาคตประเทศกำลังพัฒนาก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเหมือนกัน เช่น จีน ประชากรเพิ่มขึ้นมาก มีการปล่อยก๊าซมากกว่าอเมริกา อย่างในไทยเช่นกันก็มีคนปล่อยมาก ปล่อยน้อยไม่เหมือนกัน จึงอยากชวนคนให้มาคุยกัน แก้ปัญหาที่ต้นตอ

วิธีการแก้ปัญหาด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) บางครั้งกลายเป็นวิธีการทำให้คนที่มีเงินผลักภาระออกไปจากตัวได้ เช่น ประเทศที่รวย มีอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษมาก ก็ยังคงปล่อยก๊าซต่อไป ขณะเดียวกันไม่ได้เกิดการลดลงจริงๆ ก็ยังทำปัญหาอยู่

เมื่อก่อนเราก็มีกิจกรรมพูดคุยบ้าง นี่ก็เป็นแคมเปญแรกที่มาทำกับคนเมือง เพราะถ้าดูจากข้อมูลจะพบว่า กรุงเทพฯ ใช้เงิน 1 ส่วน 3 ของประเทศทั้งหมด ภาคพลังงานเป็นภาคที่ปล่อยคาร์บอน 60-70 เปอร์เซ็นต์ เรารู้ว่าส่วนใหญ่ที่นำมาผลิตไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน แล้วเราก็รู้อีกว่าต่อไปในอนาคตรัฐบาลยังไม่มีแผนอะไรที่ชัดเจนในการลดพลังงาน เรายังเห็นเรื่อยๆ ว่าจะมีการเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพิ่มอะไรต่างๆ เราก็เลยคิดว่าเมื่อไหร่เราจะหยุด

ฉะนั้นเราจึงเห็นว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ใช้พลังงานมาก ในฐานะที่เราเป็นคนกรุงเทพฯ จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีความสุขกับการที่เป็นแบบนี้ และอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเป็นสาเหตุ ก็เลยคิดว่าน่าจะเอาเรื่องแบบนี้เป็นประเด็นสาธารณะ อยากสื่อสารปัญหา

ในการจัดงานครั้งนี้พยายามชวนคนที่ไม่ใช่เอ็นจีโอ ชวนคนจากหลายๆ อาชีพ เพราะคำตอบของเมืองมีได้หลากหลาย ผู้ใช้ไฟในกรุงเทพฯ มากๆ คืออาคารขนาดใหญ่และห้างสรรพสินค้า การใช้ไฟในกรุงเทพฯ เท่ากับประเทศนิวซีแลนด์ใช้ไฟทั้งปี และการใช้ไฟของห้างสรรพสินค้าเท่ากับที่ประเทศลาวใช้ การใช้ไฟเพิ่มไปเรื่อยๆ

เราเห็นคนในกรุงเทพฯ มีไอเดียเยอะในการเปลี่ยนเมือง แต่ก็ยังไม่ได้มีการนำเสนอมากเท่าไหร่ ทั้งนี้มันยังไม่ได้เป็นเรื่องของพลังงานโดดๆ มันยังเชื่อมไปสู่พื้นที่สีเขียว การใช้ชีวิต ความสุขของคนที่อยู่ในเมือง มันควรจะเป็นเมืองแบบไหนที่ไม่ต้องแต่มีคนรวยอยู่

ดูตัวอย่างจากสารคดี Urbanized เราจะเห็นว่านายกเทศมนตรีของโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เขาอธิบายชัดเจนว่า เมืองเป็นเมืองของทุกคน ไม่ใช่เมืองคนรวยเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีการจัดลำดับความสำคัญว่าคนทุกคนมีสิทธิเท่ากันจึงเกิดประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญของเขา รถบัสหนึ่งคันที่บรรจุคน 100 คน มีสิทธิในพื้นที่ถนนเท่ากับรถยนต์ 100 คัน มันจึงเป็นที่มาของการที่เขาสร้างเลนรถบัสพิเศษในเมือง หรือการสร้างทางจักรยานและทางคนเดินให้เชื่อมต่อกับย่านที่อยู่อาศัยของคนเงินน้อย

ในแง่นโยบายเราก็หวังได้น้อยเหลือเกิน มันไปช้ามากจนไม่ทันโลกเขาหมุนอยู่แล้ว ถ้าคนรู้แล้วมาช่วยกันทำ อาจจะทำให้มันเปลี่ยนไวขึ้น นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยากนำเรื่องนี้มาพูดคุย อยากให้ทุกคนมาช่วยกันเสนอไอเดีย

ป้ายคำ :