ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 คงดอกเบี้ย 2% ชี้เศรษฐกิจทรุดมาจากการเมือง คาด Q1-Q2 โตติดลบ เตรียมปรับตัวเลขจีดีพีปีนี้อีกรอบ

กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 คงดอกเบี้ย 2% ชี้เศรษฐกิจทรุดมาจากการเมือง คาด Q1-Q2 โตติดลบ เตรียมปรับตัวเลขจีดีพีปีนี้อีกรอบ

23 เมษายน 2014


ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)วันที่ 23 เมษายน 2557 มีมติ 6 ต่อ1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% โดยคณะกรรมการอีกเสียงเห็นควรให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25%

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ กนง. แถลงผลการประชุมว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังขึ้นอยู่กับการเมืองเป็นสำคัญ ทำให้คณะกรรมการส่วนใหญ่มองว่าดอกเบี้ยปัจจุบันผ่อนคลายมากแล้ว การผ่อนปรนนโยบายการเงินอีกอาจจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจ รวมไปถึงการดำเนินนโยบายการเงินมีพื้นที่เหลือน้อยลง ทำให้ต้องระวังในการใช้นโยบายการเงิน

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากลดดอกเบี้ย ทำให้ต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงนั้นด้วย ขณะที่กรรมการ 1 เสียงที่มีความเห็นให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25% ให้เหตุผลว่า เพื่อให้มีความต่อเนื่องของการผ่อนคลายนโยบายการเงินในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ

“ต้องเรียนว่ากรรมการมีการอภิปรายกันมาก ถึงประสิทธิภาพประสิทธิผลของนโยบายการเงินในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเงิน ประการที่สอง พื้นที่ของนโยบายการเงินที่ลดลงไปเรื่อยๆ อยู่ในระดับที่ต่ำ ก็ต้องมีความระมัดระวังในการที่เราจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น ให้มีความต่อเนื่องและเพียงพอ ในขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักถึงผลข้างเคียงของความเสี่ยงด้านการเงินในระยะยาวด้วย” นายไพบูลย์กล่าว

ขณะที่ผลการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งที่ผ่านมาต่อเศรษฐกิจ ก็พบว่าธนาคารพาณิชย์มีการตอบสนองด้วยการลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากค่อนข้างมาก ส่งผลต่อต้นทุนการเงินของเอกชนและประชาชน แต่มีข้อจำกัด เนื่องจากไม่ได้เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าไร แต่เป็นเรื่องของสถานการณ์การเมืองมากกว่า

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน

“เราต้องยอมรับว่าข้อกำจัดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบัน มันไม่ใช่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านสภาพคล่องหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนการเงินเท่าไรนัก จากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการเกี่ยวกับข้อกำจัดในการทำธุรกิจ อันดับแรกคือความไม่แน่นอนทางการเมือง มากกว่าเรื่องของดอกเบี้ยต่ำหรือความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนความเชื่อมั่นที่ลดลงที่มีผลต่อการขยายตัวของการใช้จ่ายในประเทศ ก็มาจากปัจจัยทางการเมืองเป็นหลัก” นายไพบูลย์กล่าว

สำหรับการประเมินภาวะเศรษฐกิจ นายไพบูลย์กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ชะลอตัว โดยเฉพาะจีนที่ชะลอลงจากการลงทุนและความเสี่ยงของภาคการเงิน ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียมีอุปสงค์ในประเทศลดลง แต่การส่งออกก็ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกได้

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2557 มีแนวโน้มหดตัวกว่าเป้าหมายที่ได้คาดไว้ เป็นผลจากการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชน การท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ยังไม่สามารถชดเชยได้ โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านการเมืองเป็นสำคัญ ทำให้ตัวเลขจีดีพีเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2556 น่าจะติดลบ และมีความเป็นไปได้ที่จะติดลบต่อเนื่องถึงไตรมาสที่สอง ส่งผลให้อาจจะมีการปรับประมานการณ์ตัวเลขจีดีพีปีนี้ลงอีกจากครั้งที่แล้วที่ประมาณการณ์ไว้ 2.7% ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้

“ไตรมาสแรกก็ต่ำกว่าที่เราประเมินไว้เดิม ก็ทำให้ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำว่าที่เราประกาศไปในครั้งที่แล้ว ส่วนการประกาศตัวเลขใหม่ ก็จะทำในการประชุม กนง. ครั้งหน้า” นายไพบูลย์กล่าว

ทั้งนี้ การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อไรนั้นไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ทำให้มีความไม่แน่นอนสูงในการประมาณการณ์

สำหรับอัตราดอกเบี้ยของไทย เมื่อเทียบดอกเบี้ยที่แท้จริงในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยติดลบ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังคงเป็นบวก แต่เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจหลักไม่สามารถเทียบได้เพราะประเทศเหล่านั้นมีปัญหาในภาคการเงินที่ลึกกว่าและต้องการนโยบายการเงินเป็นพิเศษ