ThaiPublica > คอลัมน์ > ส่องดูอนาคตประเทศไทย

ส่องดูอนาคตประเทศไทย

21 เมษายน 2014


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ระหว่างนี้ที่เมืองไทยกำลังเจอมรสุมทางการเมืองเล่นงานจนเศรษฐกิจตกสะเก็ด เราลองมานั่งดูอนาคตเศรษฐกิจประเทศไทยกันดีกว่า ว่าเรากำลังเจอความท้าทายอะไรกันบ้าง

ตอนนี้คงไม่ต้องเน้นย้ำกันอีกแล้ว เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ภาวะชะลอตัว ปัญหาทางการเมืองที่รุมเร้าเป็นเครื่องฉุดเอาความมั่นใจของผู้บริโภค นักลงทุน และคู่ค้า ทำเอาเครื่องบินเศรษฐกิจไทยบินไปแบบเหมือนไม่มีเครื่อง เมื่อเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยทั้งการบริโภค การลงทุน การส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐ พากันมีปัญหาพร้อมๆ กัน เหมือนเครื่องบินกำลังจะหยุด

มองไปข้างหน้า มีมรสุมใหญ่อีกหลายลูกที่เรากำลังต้องเผชิญ ยกตัวอย่างเช่น

หนึ่ง คือเรากำลังบินไปข้างหน้าแบบไม่ค่อยแน่ใจว่า จะบินไปทางไหน

รายได้ต่อหัวของประชากรไทยต้องเรียกว่าอยู่ในระดับประเทศรายได้ปานกลาง ถ้าเทียบกันเฉพาะรายได้ต่อหัว เราอยู่ในอันดับประมาณเก้าสิบกว่าๆ จากร้อยแปดสิบประเทศทั่วโลก รายได้ต่อหัวเราตกอยู่ประมาณ 5,674 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งโลกที่อยู่ที่ประมาณ 10,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี

ถ้าเป็นนักเรียนก็เรียกว่าตกมีน (mean) แต่สอบได้อยู่ประมาณคนกลางๆ

ถ้าเทียบกับระดับค่าครองชีพ เราอาจจะดูดีขึ้นมานิดนึง เพราะค่าครองชีพ “โดยเฉลี่ย” ของเราต่ำกว่าหลายๆ ประเทศ เงินเท่ากันเลยซื้อของบ้านเราได้มากกว่า แต่อันดับโลกก็ไม่มากนัก

ถ้าเทียบกับประเทศแถวๆ นี้ รายได้ต่อหัวของมาเลเซียสูงกว่าเราประมาณเกือบๆ สองเท่า ช่วงก่อนวิกฤติปี 40 รายได้ของมาเลเซีย เคยสูงกว่าเราแค่เท่าครึ่ง แต่เขาโดนผลกระทบจากวิกฤติน้อยกว่า และฟื้นกลับมาเร็วกว่า

ที่น่าสนใจคือจีน เมื่อปี 1990 รายได้ต่อหัวเขาเป็นแค่ “หนึ่งในสี่” ของเราเท่านั้น วันนี้เขาแซงเราไปแล้ว

ปัญหาคือเราติดอยู่แถวๆ นี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว และเป็นระดับที่นักเศรษฐศาสตร์ เรียกว่ากับดักรายได้ปานกลาง และดูเหมือนว่าหลายๆ ประเทศใกล้ๆ บ้านเรา เช่น เกาหลี และไต้หวัน สามารถก้าวข้ามไปได้อย่างสวยงาม ในขณะที่เรายังลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ (จำได้ไหมครับ ที่เราเคยได้ชื่อว่าเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย เคยถูกจัดอยู่ในลีกเดียวกับเกาหลี ไต้หวัน วันนี้เราถูกเปรียบเทียบกับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กลายเป็นประเทศกลุ่ม TIP อีกไม่นานถ้าเรายังก้าวข้ามปัญหาของเราเองไม่พ้น เราคงลงอยู่กับ CLMV เป็นแน่)

คำถามที่น่าสนใจคือ ประเทศเรามีอะไรเจ๋ง และเราอยากจะแข่งอะไรกับคนอื่นเขา ในขณะที่เขาพัฒนาไปเรื่อยๆ

ที่มา: The Economist
ที่มา : The Economist

ปัญหาคืออะไร ผมว่าประเทศเรามีศักยภาพอะไรดีๆ เยอะ แต่ปัญหาที่เราเจอคือไม่สามารถยกระดับประสิทธิภาพในการผลิตของเราขึ้นได้ จะด้วยปัญหาอะไรก็แล้วแต่ การขาดการพัฒนาคน พัฒนาความรู้ การขาดการลงทุน ทำให้เราไม่สามารถยกระดับรายได้ต่อหัวของประชากรขึ้นอย่างยั่งยืน

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ การอุดหนุนสินค้าเกษตร หรือการกระตุ้นการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย โดยหวังจะยกระดับรายได้ของประชากร เป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นมาก และเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุแบบไม่มองอนาคต

สุดท้ายแล้ว การเพิ่มระดับรายได้ของประชากรแบบยั่งยืน คือการยกระดับความสามารถ และประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานในทุกอุตสาหกรรม ทั้งสินค้าและบริการ ซึ่งทำได้ทั้งโดยการเพิ่มคุณภาพของแรงงานและประชากร และการลงทุนในเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักร เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐาน ที่ทำให้แรงงานเท่าเดิมสามารถผลิตสินค้าและบริการได้มากขึ้น แข่งกับประเทศอื่นเขาได้มากขึ้น

ตั้งแต่หลังวิกฤตปี 2540 เป็นต้นมา บ้านเราขาดการลงทุนเป็นเวลานาน การลงทุนภาคเอกชนเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย ส่วน การลงทุนภาครัฐเหลือไม่ถึงร้อยละยี่สิบของงบประมาณ งบที่เหลือกลายเป็นงบประจำที่ทำให้รัฐใหญ่ขึ้นโดยไม่จำเป็น การใช้จ่ายเหล่านี้ยังถูกดูดกินจากภูติผีคอร์รัปชัน ที่ทำให้ผลของการลงทุนมีน้อยลงไปอีก

ระหว่างที่ค่าแรงเราสูงขึ้นเรื่อยๆ เรากลับมึนๆ งงๆ สงสัยว่าประเทศเราจะเป็นประเทศที่ผลิตอะไรขายดี สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ ถ้าไม่ใช่สินค้าเกษตร ก็เป็นสินค้าที่นักลงทุนต่างชาติเลือกเราเป็นฐานการผลิต และฐานการผลิตหลายอย่างเริ่มมีสัญญาณว่าอาจจะโดนย้ายออกไป ถ้าค่าแรงและประสิทธิภาพการผลิตของเราสู้คนอื่นไม่ได้ สินค้าหลายชนิดเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มน้อย เราได้แค่ส่วนแบ่งเล็กๆ ในขณะที่มูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

นักลงทุนในหลายอุตสาหกรรม เลือกประเทศไทยเป็นฐาน เพราะค่าแรงที่ (เคย) ถูก ราคาพลังงานที่ไม่แพงนัก และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ค่อนข้างมั่นคง

แต่ถ้าเราไม่ดูแลตัวเราเองให้ดี มัวแต่กินบุญเก่า ผมว่าไม่นานถ้านักลงทุนเหล่านี้มีตัวเลือกในการลงทุนมากขึ้น เราก็อาจจะถูกบอกเลิกได้ง่ายๆ

นึกภาพนะครับ ถ้าค่าแรงเราเพิ่มสูงขึ้น โดยไม่มีการเพิ่มของประสิทธิภาพของแรงงาน ราคาพลังงานที่อาจจะต้องปรับสูงขึ้นถ้าก๊าซธรรมชาติเราเริ่มร่อยหรอ และเรายังมีปัญหาการเมืองกันอย่างเนืองๆ ไม่จบไม่สิ้น

ปัญหาที่สอง ที่น่าเป็นห่วง และเกี่ยวพันกับปัญหาข้อแรก คือการเข้าสู่ภาวะการชราภาพของประชากร อย่างที่เคยเล่าให้ฟังครับ ระดับการเกิดของประชากรไทยลดลงต่ำกว่าระดับที่จะรักษาจำนวนประชากรให้เท่าเดิม และอายุขัยของประชากรเพิ่มสูงขึ้น อายุเฉลี่ยของประชากรกำลังเพิ่มสูงขึ้น และจำนวนประชากรวัยแรงงานกำลังจะเริ่มลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เลยไม่แปลกใจที่เราจะได้ยิน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างแพร่หลาย และมีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ปกติ การขาดแคลนแรงงานเป็นบีบบังคับให้ประเทศต้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น การนำเข้าแรงงานต่างด้าวเป็นการซื้อเวลาไปกลายๆ

ที่มาภาพ : http://news.mthai.com
ที่มาภาพ: http://news.mthai.com

แต่ปัญหานี้รอเราอยู่แน่ๆ ในอนาคต ถ้าประเทศเพื่อนบ้านเกิดบูมขึ้นมา แรงงานเริ่มกลับบ้าน เราจะทำอย่างไร?

นอกจากนี้ ปัญหาประชากรชราภาพยังจะสร้างภาระแก่ฐานะการคลัง เศรษฐกิจและสังคมอีกมหาศาล เราเตรียมพร้อมแล้วหรือยัง?

แล้วเราทำอะไรกับมรสุมที่รออยู่ข้างหน้า

ผมว่าเราต้องเอาจริงเอาจังกับปัญหาประสิทธิภาพของแรงงาน การศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงาน การสนับสนุนการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพของเอกชน และเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด (ผมยังไม่ได้ขอรถไฟความเร็วสูงนะครับ แต่ขอรถไฟความเร็วปกติวิ่งให้ได้เต็มความเร็ว ตรงต่อเวลา ต้นทุนต่ำ (เมื่อเทียบกับการขนส่งทางถนน) และเป็นที่พึ่งของคนและการขนส่งได้ก็บุญแล้ว)

สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นมากกับอนาคตประเทศ ไม่งั้นเราคงย่ำต๊อกอยู่กับที่ รอให้คนอื่นๆ มาแซงหน้าเราไปอีก

อ้อ ผมขออีกข้อเล็กๆ เลิกทะเลาะ และเห็นแก่ประโยชน์ระยะสั้นส่วนตนกันเถอะครับ เรามีปัญหาระยะยาวให้แก้ไขกันอีกเยอะ จับมือกันแล้วหันมาช่วยกันทำเพื่อประเทศและลูกหลานเรากันเถอะนะครับ