ThaiPublica > คอลัมน์ > ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชัน (ตอนที่ 4): Arvind Kejriwal จากนักต่อต้านคอร์รัปชันข้างถนนสู่พรรคการเมืองต้านโกง

ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชัน (ตอนที่ 4): Arvind Kejriwal จากนักต่อต้านคอร์รัปชันข้างถนนสู่พรรคการเมืองต้านโกง

24 เมษายน 2014


Hesse004

ตอนที่แล้ว

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ เคยเขียนบทความเรื่อง “แผ่นดินไหวคอร์รัปชัน ในอินเดีย” 1 บทความดังกล่าวได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของอินเดียในช่วงปลายปี 2556

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เปรียบเสมือน “แผ่นดินไหว” นั้น ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรค BJP และพรรค Indian National Congress ที่ต่างต้องตระหนักถึงความนิยมที่ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงอันเนื่องมาจากความเบื่อหน่ายต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ทำได้เพียงแค่ “ลูบหน้าปะจมูก” หรือสักแต่ว่าแก้ปัญหาแบบ “ขอไปที”

แผ่นดินไหวดังกล่าว เกิดขึ้นจากแรงสั่นสะเทือนที่มาจากขบวนการต่อต้านคอร์รัปชันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดีย ซึ่งนำโดยนายอันนา ฮาซาเร (Anna Hazare) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Anna Movement

ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดียที่นำโดยนายอันนา ฮันซาเร ที่มาภาพ :http://www.thehindu.com/multimedia/dynamic/00755/16VBG_HAZARE_KOLKAT_755801f.jpg
ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดียที่นำโดยนายอันนา ฮันซาเร
ที่มาภาพ: http://www.thehindu.com/multimedia/dynamic/00755/16VBG_HAZARE_KOLKAT_755801f.jpg

อันนา และทีมงานของเขา (Team Anna) ได้สร้างปรากฏการณ์การเดินขบวนต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผ่านกฎหมาย Jan Lok Pal หรือ Citizen’s Ombudsman Act

แต่อย่างไรก็ดี คนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในขบวนการต่อต้านคอร์รัปชันของอินเดียนั้นกลับเป็น “คนหนุ่ม” ที่มีอุดมการณ์มุ่งมั่นที่จะต่อสู้ปัญหาคอร์รัปชันเช่นเดียวกับอันนา ฮาซาเร

เขาคนนั้น คือ อาร์วินด์ เคจ์ริวาล (Arvind Kejriwal)

อาร์วินด์มีประวัติชีวิตที่น่าสนใจมาก ณ วันนี้ เขาเป็นคนหนุ่มที่น่าจับตามองที่สุดคนหนึ่งในวงการเมืองแดนภารตะ

อาร์วินด์ เคจ์ริวาล ชายหนุ่มผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันของอันนาจากนักต่อสู้คอร์รัปชันข้างถนนสู่นักการเมืองพรรคคนเดินดิน ต่อต้านคอร์รัปชัน ที่มาภาพ : http://goldsilverreports.com/wp-content/uploads/gsr-2142596.jpg
อาร์วินด์ เคจ์ริวาล ชายหนุ่มผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันของอันนาจากนักต่อสู้คอร์รัปชันข้างถนนสู่นักการเมืองพรรคคนเดินดิน ต่อต้านคอร์รัปชัน
ที่มาภาพ: http://goldsilverreports.com/wp-content/uploads/gsr-2142596.jpg

จากนักต่อสู้คอร์รัปชันข้างถนนสู่นักการเมืองพรรคคนเดินดิน ต่อต้านคอร์รัปชัน

อาร์วินด์เกิดเมื่อปี 1968 ทางตอนเหนือของรัฐ Haryana เขาเติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นกลางซึ่งแตกต่างจากประวัติชีวิตของอันนา ฮาซาเร ที่มาจากครอบครัวยากจน

เขาจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีทางวิศวกรรมศาสตร์จาก Indian Institute of Technology หรือ IIT ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของอินเดีย

หลังจบการศึกษา เริ่มต้นทำงานให้กับกลุ่มบริษัท Tata ยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจของอินเดีย ก่อนจะลาออกมารับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษี (Revenue Officer)

อย่างไรก็ดี อาร์วินด์เบื่อหน่ายและผิดหวังกับระบบราชการ ทำให้เขาลาออกจากราชการและอุทิศตัวเองเต็มที่ในการสร้างมูลนิธิพัฒนางานวิจัยที่ชื่อ Public Cause Research Foundation ซึ่งตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในภาครัฐและส่งเสริมให้ชาวอินเดียตระหนักถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ

ในปี 2006 อาร์วินด์ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award) ในฐานะที่อุทิศตัวเพื่อทำงานให้กับสังคมและรณรงค์อย่างจริงจังที่จะต่อต้านปัญหาคอร์รัปชันในอินเดีย

ในปี 2008 อาร์วินด์และอันนา ฮาซาเร ได้ร่วมกันก่อตั้งองค์กร NGO ขึ้นมาเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ชื่อ India Against Corruption หรือ IAC

หลังจากนั้นเป็นต้นมา IAC ทำงานต่อต้านคอร์รัปชันอย่างแข็งขัน โดยมี “อันนา” เป็นศูนย์กลางและสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับคอร์รัปชัน ส่วน “อาร์วินด์” ทำหน้าที่เป็นเบื้องหลังของอันนา ทั้งในแง่การสร้างภาพลักษณ์ให้ IAC ออกแคมเปญต่อต้านคอร์รัปชัน ร่างสุนทรพจน์ สรุปรายงานสำคัญๆ เพื่อจะติดต่อกับสื่อมวลชน

พูดง่ายๆ ว่า อาร์วินด์เปรียบเสมือน “มือขวา” ให้กับอันนา ในการต่อต้านคอร์รัปชัน

สองนักเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชั่น อันนา ฮาซาเร และ อาร์วินด์ เคจ์ริวาล ที่มาภาพ : http://www.thehindu.com/multimedia/dynamic/01701/28TH_HAZARE_1701204f.jpg
สองนักเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชัน อันนา ฮาซาเร และ อาร์วินด์ เคจ์ริวาล
ที่มาภาพ: http://www.thehindu.com/multimedia/dynamic/01701/28TH_HAZARE_1701204f.jpg

เป็นที่น่าสังเกตว่า การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันของอาร์วินด์นั้น จะเน้นไปที่การผลักดันกฎหมายต่างๆ ที่เป็นเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐ หรือ The Right to Information Act หรือ กฎหมาย Lok Pal ที่ให้อำนาจภาคประชาชนทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมือง ข้าราชการ ในฐานะ “ผู้ตรวจการแผ่นดินภาคประชาชน”

การเคลื่อนไหว กดดันในนามของ IAC และได้แนวร่วมจากภาคประชาชนมาช่วยด้วยนั้น ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันในอินเดียเติบโตและประสบผลสำเร็จอย่างสูงในช่วงปี 2011-2012 มีการเดินขบวนเพื่อกดดันรัฐบาลนายมานโมฮานห์ ซิงห์ (Manmohan Singh)

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 2 ตุลาคม ปี 2012 ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิด 143 ปีของท่านมหาตมะคานธี อาร์วินด์ได้ประกาศตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อว่า Aam Aadmi Party ซึ่งใช้ชื่อย่อว่า AAP พรรคนี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Common Man’s Party หรือ พรรคสามัญชนคนธรรมดา

ท่านอาจารย์วรากรณ์ แปลว่า พรรคคนเดินดิน…เห็นชื่อพรรคแล้ว นึกถึง “พรรคพลังธรรม” ของมหาจำลองขึ้นมาทันที

ที่มาภาพ : http://kanpuria.com/wp-content/uploads/2013/12/AAP_Kanpur.jpg
ที่มาภาพ: http://kanpuria.com/wp-content/uploads/2013/12/AAP_Kanpur.jpg

สัญลักษณ์ของพรรค AAP ที่เป็นไม้กวาดทางมะพร้าว บ่งบอกถึงอุดมการณ์และจุดมุ่งหมายของพรรคการเมืองนี้ได้เป็นอย่างดี พรรค AAP เปิดตัวภายใต้อุดมการณ์ชัดเจนว่า พวกเขาต้องการเข้ามาในสภาเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกยาวนานในสังคมอินเดีย

การประกาศตัวเปิดพรรคการเมือง เพื่อลงเล่นในระบบรัฐสภาครั้งนี้ ทำให้อาร์วินด์ถูกดูหมิ่นว่า เขาคงไปได้ไม่กี่น้ำ โดยเฉพาะในวันที่ไม่มีกูรูจอมอดอาหารอย่าง “อันนา ฮาซาเร” เคียงข้างกาย

แต่ด้วยภาพลักษณ์การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันที่เขาได้ทำมาต่อเนื่องยาวนาน และการตั้งพรรคการเมืองก็มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะเข้ามาในสภาเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันด้วยแล้ว ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่ผลการเทคะแนนเลือกตั้งใน 5 รัฐเมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา พรรค AAP ของอาร์วินด์จะประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น โดยกวาดที่นั่งมาได้ถึง 28 ที่นั่งจาก 70 ที่นั่ง เป็นรองแค่พรรค BJP และเอาชนะพรรค Indian National Congress พรรครัฐบาลที่ได้เพียง 8 ที่นั่ง

ชัยชนะของพรรค AAP นี้ ยิ่งทำให้ภาพของอาร์วินด์โดดเด่นขึ้นมาในฐานะ “นักการเมืองน้ำดี” และความหวังใหม่ของชาวอินเดียหลังจากได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งช่วงปลายปี 2556 แล้ว อาร์วินด์ขึ้นดำรงตำแหน่งมุขมนตรีของเดลี (Chief Minister of Delhi) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2013 และสิ่งแรกที่เขาพยายามทำ คือ การผลักดันกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชัน Jan Lok Pal Bill ที่เขาเพียรพยายามมาตลอดการต่อสู้ แต่จนแล้วจนรอด กฎหมายนี้กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากสภา ทำให้เขาประกาศลาออกจากตำแหน่งมุขมนตรีของเดลีโดยดำรงตำแหน่งเพียง 49 วันเท่านั้น !!

อย่างไรก็ดี เมื่อพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว ล่าสุด ระหว่างที่อาร์วินด์รณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่จะมาถึง เขาถูกผู้ไม่หวังดีแฝงตัวเข้ามาคล้องพวงมาลัยและ “ตบหน้า” เขาอย่างแรง 2 เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นถึง 2 ครั้งภายในไม่กี่วัน

…นั่นแสดงให้เห็นว่ายังมีคนที่ไม่ชอบขี้หน้าอาร์วินด์และไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรค AAP

อาร์วินด์นับเป็น Anti Corruption Hero อีกคนหนึ่งที่กล้าต่อสู้กับคอร์รัปชันโดยเริ่มจากท้องถนนและเดินเข้าสู่สภาผ่านกระบวนการเลือกตั้ง โดยเชื่อว่าพรรคของเขาซึ่งมีอุดมการณ์ชัดเจนในการต่อต้านคอร์รัปชันจะช่วยให้อินเดียดีขึ้นสักวัน

หมายเหตุ: 1 ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์อาหารสมอง น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 7 ม.ค. 2557 ผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ในเว็บไซต์ Thaipublica

2 ผู้สนใจสามารถดูได้ที่นี่การตบหน้าอาร์วินด์ที่นี่