ThaiPublica > คอลัมน์ > ความขัดแย้งของคนดี…..เรื่อง “ทวงคืน พลังงานไทย”

ความขัดแย้งของคนดี…..เรื่อง “ทวงคืน พลังงานไทย”

17 มีนาคม 2014


บรรยง พงษ์พานิช

สองสามวันที่ผ่านมา ผมได้ไปเข้าร่วมเสวนาเรื่องของพลังงานในหลายเวที และติดตามการถกเถียงโต้ตอบในเรื่องนี้

อยากบอกว่า…ผมแน่ใจว่า ข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจ ของกลุ่มผู้ที่ลุกขึ้นมา พยายาม “ทวงคืนพลังงานไทย” เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เข้าใจผิด ไม่ตรงข้อเท็จจริงอย่างมาก ซึ่งทำให้ประชาชนไม่น้อยพลอยเข้าใจคลาดเคลื่อนไปด้วย

ปิยสวัสดิ์9 (2)

อยากบอกว่า…ต่อให้ท่านหวังดี เจตนาดีแค่ไหน หากมีการดำเนินการตามที่ท่านเรียกร้อง เช่น ลดราคาน้ำมันและก๊าซให้ได้อย่างฮวบฮาบ ยึดคืน ปตท. เปลี่ยนวิธีการสัมปทานจัดหา (ไม่ว่าจะเปลี่ยนของเก่า หรือที่จะให้ใหม่) ผมมั่นใจว่า เราจะเจอหายนะทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ถ้าอย่างรุนแรงก็เป็นวิกฤติในทันที ถ้าอย่างเบาหน่อย ก็จะทำให้การพลังงานของชาติมีปัญหา เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่ำยาวนาน

อยากบอกว่า…เรากำลังหลงประเด็นกันครับ ข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สุดคือ เรามีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (Proven Reserve) ของก๊าซธรรมชาติ เหลือใช้ไปได้อีกเพียง 9 ปี ของคอนเดนเสท 6 ปี ของน้ำมันดิบ 4 ปี ซึ่งทั้งคอนเดนเสทกับน้ำมันดิบอาจไม่น่ากลัวมาก เพราะถ้าหมด เราก็นำเข้าในราคาตลาดโลกเหมือนทุกวันนี้ แต่ก๊าซนี่สิครับ ถ้าหมดลง เราต้องนำเข้าในราคาสูงกว่าเท่าตัวของราคาที่ผลิตเอง ค่าไฟฟ้าต้องเพิ่มทันทีกว่า 30% แถมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักคงต้องลำบากสุดๆ อาจจะล้มละลายไปเลยไม่น้อย แถมก๊าซที่แหล่งยาดานานก็ดันเป็นก๊าซแห้งที่ทำปิโตรเคมีไม่ได้อีก

อยากบอกว่า…ถ้าไม่มีการขุดเจาะสำรวจเพิ่ม หรือต่ออายุสัมปทาน ก็จะไม่มีการลงทุน (เวลานี้ทุกอย่างหยุดชะงักเพราะข้อโต้แย้งทั้งหลาย) อีกไม่นาน แค่เจ็ดแปดปี (ผมยังอายุไม่ถึงเจ็ดสิบเลย) เราก็จะมีปัญหาพลังงานและปิโตรเคมีครั้งใหญ่ ยุค “โชติช่วงชัชวาลย์” ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2525 สมัยป๋าเปรมเป็นนายกฯ ก็คงจะสิ้นสุดอับแสงลง

ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ที่เราขัดแย้งกัน มันเป็นเพราะความไม่รู้ ไม่ยอมฟัง ไม่ยอมเข้าใจ ซึ่งทั้งหมดถูกกำกับด้วย “ความไม่เชื่อ”

จริงอยู่ครับ ในประเทศไทยมีเรื่องไม่ควรเชื่อเยอะแยะมาก โดยเฉพาะข้อมูลราชการ ข้อมูลที่มาจากนักการเมือง (เห็นต้นทุนของ “ความไม่ไว้วางใจ” ไหมครับ)

แต่ในเรื่องพลังงาน ผมขอยืนยันความเห็นที่เคยเรียนไว้แล้วว่า เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ผมมั่นใจว่ามีโครงสร้างที่ถูกวางไว้อย่างดีพอสมควร (ถึงแม้ว่าจะยังปรับปรุงพัฒนาได้ แต่ไม่ใช่รื้อถอน กลับหลังหันอย่างที่ตะโกนเสนอกันอยู่) ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

– ตั้งแต่เรามีวิกฤติการขาดแคลนพลังงานครั้งสุดท้าย เมื่อสมัย พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ปี 2521-2522 แล้ว เราไม่เคยมีวิกฤติการขาดแคลนพลังงานเลย ทั้งๆ ที่ปริมาณการพลังงานเพิ่มขึ้นจาก 300,000 บาร์เรล (เทียบเท่า) ต่อวัน ในปี 2521 เป็น 2.2 ล้านบาร์เรลในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีการพบก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ แต่ก็ผลิตได้เพียงประมาณครึ่งเดียวของการใช้เท่านั้น แต่ที่เหลือต้องนำเข้า สังเกตได้ว่า แม้เราจะเจอวิกฤติเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ แต่ก็ไม่เคยขาดแคลนพลังงาน (อินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์มีวิกฤติพลังงานหลังวิกฤติการเงิน)

– ราคาที่บ่นกันว่าแพงแสนแพง (จริงๆ บางชนิด เช่น เบนซิน มีส่วนของภาษีเยอะ) แต่เทียบจริงแล้วไม่แพงกว่าประเทศส่วนใหญ่ (นอกจากประเทศที่มีการอุดหนุนโดยรัฐ) อีกอย่าง เราบริโภคพลังงานอย่างฟุ่มเฟือย ไม่มีประสิทธิภาพ เราใช้พลังงานมากถึง 18.8% ของ GDP ขณะที่ประเทศที่มีประสิทธิภาพเขา ใช้กันแค่ไม่เกิน 12.5% ถ้าลดราคา (ซึ่งก็คือต้องลดภาษี หรือทำการอุดหนุนโดยรัฐ) ก็จะยิ่งฟุ่มเฟือยไปใหญ่ แล้วก็ในระดับราคาปัจจุบัน มันยังไม่ค่อยคุ้มทุนกับการทำพลังงานทดแทนอยู่เลย ยิ่งลดเลยยิ่งไม่มีเข้าไปใหญ่ ซึ่งเรื่องส่งเสริมพลังงานทดแทนนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกทุ่มเท ของเรามัวมุ่งจะเอาถูก เอาง่ายวันนี้ วันหน้าลูกหลานจะใช้อะไรไม่ค่อยสนใจ

ปิยสวัสดิ์1 -2

– ถ้าจะย้อนไปดูประวัติศาสตร์ ต้องนับว่าเราโชคดี ที่รากฐานกลยุทธ์พลังงานของชาติในระยะเริ่มต้นนั้นถูกวางไว้อย่างค่อนข้างดี โดยบุคคลที่มีความสามารถ และได้ชื่อว่าซื่อสัตย์มีคุณธรรม ผมขอยกตัวอย่างนะครับ คุณศุลี มหาสันทนะ เป็นรัฐมนตรีที่ดูแลด้านพลังงานตลอดยุคแปดปีของรัฐบาลป๋าเปรม คุณเกษม จาติกวณิชย์ ที่ก่อตั้งและบริหารการ ผลิตไฟฟ้ามายาวนาน คุณศิววงศ์ จังคศิริ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ที่ดูแลด้านสัญญา ด้านกฎหมาย มรว.จัตุมงคล โสณกุล ที่ช่วยต่อรองเรื่องการซื้อก๊าซ วางรากฐานสัมปทาน และโรงกลั่น ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ที่ทำเรื่องพลังงานมากว่าสามสิบปี แม้แต่ข้าราชการปัจจุบันอย่าง ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ที่เป็นนักเรียนทุนคนแรกด้านวิศวกรรมปิโตรเลียม ก็คร่ำหวอดมานาน ถ้ามีแต่เรื่องโกหกปิดบังชั่วร้ายตามที่หลายคนพยายามปลุกปั้นให้คนคล้อยตาม มันหมายถึงต้องมีกระบวนการความร่วมมือในวงกว้าง ตกทอดต่อกันมายาวนานเลยทีเดียว ซึ่งนอกจากเป็นไปไม่ได้แล้ว การระแวงอย่างไร้เหตุผล ยังเท่ากับเราเนรคุณไม่เห็นความดีของผู้ที่ทุ่มเททำประโยชน์ แล้วอย่างนี้ คนดีที่ไหนเขาจะอาสามาทำงานล่ะครับ

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไขว้เขวก็คือ มีการประโคมกันว่า เรามีก๊าซ มีน้ำมันดิบเยอะแยะไปหมด เจาะตรงไหนก็เจอ เรียกว่าเป็น “ซาอุฯ แห่งตะวันออก” กันเลยทีเดียว แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เรามีปริมาณสำรองแค่จิ๊บจ้อย ใช้แค่ไม่เกินสิบปี ทุกอย่างก็จะหมด

พอเริ่มต้นผิดอย่างนั้น ก็เลยเดินต่อออกทะเลกันไปหมด อย่างสัมปทาน ที่ต้องรีบเอาออกมาประมูล สัมปทานที่ต้องรีบเจรจาต่ออายุ ก่อนที่ Proven Reserve จะหมดลง ก็เลยมีการขัดขวาง จะให้เรียกร้องเยอะๆ เปลี่ยนรูปแบบ ทั้งๆ ที่ แปลงที่จะเอาไปขายมันก็ไอ้พื้นที่เดิมที่เขาแห้วมาแล้ว มันเหมือน…ขอโทษนะครับ ลูกสาวขี้เหร่ นมกระเปาะเล็กๆ (หลุมก๊าซไทยเป็นกระเปาะกระจาย เจาะยาก ต้นทุนสูง) แถมไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง แล้วจะให้โขกสินสอดสูงๆ ใครเขาจะมาขอครับ

นี่แหละครับ ก่อนที่จะปฏิรูปอะไร ข้อมูล ความรู้ต่างๆ มันต้องตรงกับข้อเท็จจริงเสียก่อน

เหมือนกลัดกระดุมแหละครับ พอเริ่มเม็ดแรกก็กลัดผิดแล้ว ที่เหลือจะไม่ให้บิดเบี้ยวได้อย่างไร