ทีมข่าว Inside Thai Parliament
เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยได้รายงานว่าปี 2557 นอกจากจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว ยังมีการเลือกตั้ง ส.ว. อีกด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดย ส.ว. ชุดปัจจุบันได้หมดหน้าที่เป็นที่เรียบร้อยหลังจากดำรงตำแหน่งมาครบ 6 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ ส.ว. ที่จะมาจากการเลือกตั้งในวันที่ 30 มี.ค. จะมีด้วยกันทั้งสิ้น 77 คน แบ่งกันไปคนละจังหวัด ซึ่งจำนวน ส.ว. เพิ่มขึ้นจากในอดีตที่มี 76 คน เนื่องจากมีจังหวัดบึงกาฬเพิ่มเข้ามา
สำหรับผู้สมัคร ส.ว. เลือกตั้งหลังจากสิ้นสุดการรับสมัครตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมามีจำนวน 457 คน ลดลงจากการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อ พ.ศ. 2551 ที่มีผู้สมัครถึง 505 คน
จังหวัดที่มีผู้สมัครมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) 18 คน ส่วนภาพรวมของภูมิหลังของผู้สมัคร ส.ว. นับว่าล้วนมีความสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองในทุกสีเสื้อและทุกพรรคการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมแทบทั้งสิ้น
‘คุณหญิงจารุวรรณ’ เต็งหนึ่ง ส.ว. กทม.
เริ่มกันที่สนามเลือกตั้งในกทม.มีตัวเต็งที่น่าจับตามองมากที่สุดคือคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แม้จะไม่เคยมีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง แต่สำหรับท่าทีทางการเมืองแล้วต้องถือว่าจัดเป็นหนึ่งในขั้วตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทยอย่างสิ้นเชิง ดังจะเห็นได้จากการเข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
นอกจากนี้ยังมี ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นภาคประชาชนคนสำคัญที่ตรวจสอบโครงการบริหารจัดน้ำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนศาลปกครองมีคำสั่งระงับหลายโครงการ
อีกคนที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ตรีรัตน์ เซ่งไพเราะ ภรรยาของ วัฒนา เซ่งไพเราะ อดีตโฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีต ส.ส. กทม. พรรคไทยรักไทย รวมไปถึง โฆสิต สุวินิจจิต อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.
ภาคกลางชิงเก้าอี้เข้มข้น
ปริมณฑลและภาคกลาง เป็นอีกพื้นที่ที่การแข่งขันน่าจะเข้มข้น โดยเฉพาะปทุมธานี เนื่องจาก เอมอร ซำศิริพงษ์ ภรรยาของไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ ส.ว. ปทุมธานี ที่เพิ่งลาออก ได้ลงสมัครเพื่อสานงานต่อให้กับสามี แต่ทว่ามีคู่แข่งสุดหินอย่าง มาลา หาญสวัสดิ์ สะใภ้ของครอบครัวหาญสวัสดิ์ ซึ่งเป็นครอบครัวการเมืองเมืองที่คุมพื้นที่ปทุมธานีอย่างยาวนาน และปัจจุบันยังคงอยู่ในชายคาของพรรคเพื่อไทย
ไม่ต่างจากสุพรรณบุรี เพราะมีบิ๊กในพรรคชาติไทยพัฒนาลงสมัครแข่งกันเอง นำโดย จองชัย เที่ยงธรรม อดีตส.ส. สุพรรณบุรี เบนเข็มจากสนาม ส.ส. มาสู่สนาม ส.ว. มาแข่งกับ วิทวัส โพธสุธน หลานชาย ‘ประภัตร โพธสุธน’
เพชรบุรี จะชิงดำกันระหว่าง ลักขณา สุภาแพ่ง น้องสาว ‘อภิชาติ สุภาแพ่ง’ อดีต ส.ส. เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กับ นฤมล สุตะวิริยะวัฒน์ หลาน ‘สุมล สุตะวิริยะวัฒน์’ อดีต ส.ว. เพชรบุรี เจ้าของพื้นที่เดิม
จังหวัดชัยนาท วรรณอนงค์ ทรัพย์รวงทอง น้องสาว ชัยวัฒน์ ทรัพย์รวงทอง อดีต ส.ส. ชัยนาท พรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ยรรยง พวงราช) ตัดสินใจลงสมัคร โดยจะแข่งกับ มณเฑียร สงฆ์ประชา อดีตรองเลขาธิการพรรคชาติไทย พี่ชาย นันทนา สงฆ์ประชา ผู้สมัคร ส.ส. ชัยนาท พรรคเพื่อไทย
เพื่อไทยผนึกแดงครอง ‘เหนือ-อีสาน’
ถัดมาที่ภาคเหนือและอีสาน บรรดาผู้สมัครจำนวนมากมีสายสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดง
กฤษณพงษ์ พรมบึงรำ แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ลงสมัคร ส.ว. เชียงใหม่ โดยมี ถาวร เกียรติไชยากร อดีต ส.ว. เชียงใหม่ปี 2543 – 2549 และ อดีตผู้สมัคร ส.ส. เชียงใหม่ พรรคพลังประชาชน เป็นคู่แข่งคนสำคัญ
เชียงราย ศักดิ์ชัย จงสุขธนามณี น้องชาย มงคล และ จิราวรรณ จงสุขธนามณี ซึ่งในรายหลังปัจจุบันเป็น ส.ว. เชียงรายที่กำลังอำลาตำแหน่ง ลงสมัครแข่งกับ เตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว. เชียงรายรุ่น พ.ศ. 2543-2549 และ พนิดา มะโนธรรม แกนนำคนเสื้อแดง
แพร่ ด.ต.บุหลัน ราษฎร์คำพรรณ อดีตเลขานุการของ อนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ลงสมัคร ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าอนุวัธมีสายสัมพันธ์อันดีกับ นพ.นิยม วิวรรธนดิฐกุล อดีต ส.ส. แพร่ พรรคเพื่อไทย โดยมี สามชาย พนมขวัญ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2550 พี่ชายของ ขวัญชัย พนมขวัญ อดีต ส.ว. แพร่ และโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ เป็นคู่แข่งคนสำคัญ
ในส่วนของภาคอีสานนั้นมีอดีตนักการเมืองบุคคลในเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยลงสู่สนามกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็น ประดุจ มั่นหมาย อดีต ส.ส. สุรินทร์ พรรคไทยรักไทย อดีตรองหัวพรรคมัชฌิมาธิปไตย ลงสมัคร ส.ว. สุรินทร์ ณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์ อดีตนายกเทศมนตรี อ.วารินชำราบ ภรรยา พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ลงสมัคร ส.ว. อุบลราชธานี
อาพร สาราคำ ภรรยาขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ลงชิงเก้าอี้ ส.ว. อุดรธานี ตามด้วย วิฑูรย์ วงษ์ไกร อดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 พรรคไทยรักไทย ผู้สมัคร ส.ว. ยโสธร
เสริมศักดิ์ ทองศรี พี่ชาย ทรงศักดิ์ ทองศรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งปัจจุบันเป็นแกนนำพรรคภูมิใจไทยลงสมัคร ส.ว. บุรีรัมย์ โดยจะเจอกับ การุณ ใสงาม อดีต ส.ว. บุรีรัมย์ ปี 2543- 2549 ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ลงสมัคร ส.ว. บุรีรัมย์ แต่เสริมศักดิ์ถูกตัดสิทธิ์เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557 โดยผู้อำนวยการการเลือกตั้งบุรีรัมย์ระบุขาดคุณสมบัติ
มหาสารคาม จะเป็นการชิงชัยกันระหว่าง ศรีเมือง เจริญศิริ อดีต รมว.ศึกษาธิการ สมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน อดีต ส.ว. มหาสารคามปี 2544-2549 และ วิทยา มะเสนา อดีต ส.ว. มหาสารคามรุ่นปีเดียวกัน
ร้อยเอ็ด จิรภา ธีระกนก ภรรยา นพ.จตุรงค์ ธีระกนก อดีต ส.ว. ร้อยเอ็ดที่เพิ่งลาออกหลังครบวาระ 6 ปี จะต่อสู้กับ สมเกียรติ พื้นแสน น้องชาย พล.ต.ต.วิรุฬ พื้นแสน อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
‘ใต้-ออก’ พื้นที่นี้ของ ปชป. และ กปปส.
ลงมากันที่่ภาคใต้ ภาพรวมของผู้สมัครก็มีลักษณะไม่แตกต่างกัน คือ มีความเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมือง แต่จะเน้นไปทางกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) และ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
อาทิ สุทรรศ พะลัง น้องชาย สุวโรช พะลัง อดีต ส.ส. ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ และ พงศา ชูแนม อดีตเจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่เคยขึ้นปราศรัยของ กปปส. ลงสมัคร ส.ว. ชุมพร
สมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ พี่ชาย สมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส. ตรัง ประชาธิปัตย์ ลงสมัคร ส.ว. ตรัง อดิเรก เอ่งฉ้วน ญาติกับอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส. กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัคร ส.ว. กระบี่
พ.ต.อ.จรงค์ ภักดีวานิช อดีต ผกก.สภ.อ.ควนขนุน จ.พัทลุง น้องชาย เจริญ ภักดีวานิช ส.ว. พัทลุง ลงสมัคร ส.ว. พัทลุง แข่งกับ ทวี ภูมิสิงหราช แกนนำ กปปส. พัทลุง
ปิดท้ายที่ภาคตะวันออกต้องจับตาไปที่ศึกชิง ส.ว. ชลบุรี เพราะมีคนดังอย่าง สุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ลงสมัคร ซึ่งในอดีตเคยเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยกลุ่มเดียวกับ สนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรมและหัวหน้าพรรคพลังชล
เช่นเดียวกับจังหวัดสระแก้ว ที่ปรากฏว่ามีคนในตระกูล ‘เทียนทอง’ ลงสมัครด้วย คือ ดวงพร เทียนทอง ลูกสาวของวิทยา เทียนทอง อดีต ส.ส. สระแก้วหลายสมัย น้องชาย เสนาะ เทียนทอง แกนนำพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ ครอบครัวปิตุเตชะ ส่ง สุรชัย ปิตุเตชะ ญาติ สาธิต ปิตุเตชะ อดีต ส.ส. ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัครเพื่อรักษาฐานการเมืองที่ระยอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประวัติและที่มาของผู้สมัครและว่าที่ ส.ว. เหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองอยู่บ้าง แต่นั่นไม่ใช่เป็นตัวชี้วัดว่าใครดีหรือใครไม่ดี เพราะสิ่งที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ในอนาคตคือผลงานหลังจากได้รับความไว้วางใจจากประชาชน