ThaiPublica > คนในข่าว > “ทวีเดช แสงทอง” แกนนำภาคตะวันตก กับทุกข์จาก “จำนำข้าว” บทเรียนรัฐบาลเลี้ยงให้ชาวนาโง่อย่างเดียว

“ทวีเดช แสงทอง” แกนนำภาคตะวันตก กับทุกข์จาก “จำนำข้าว” บทเรียนรัฐบาลเลี้ยงให้ชาวนาโง่อย่างเดียว

14 กุมภาพันธ์ 2014


เข้าสู่เดือนที่ 5 แล้วที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังจ่ายเงินให้ชาวนาจากโครงการรับจำนำข้าว ฤดูการผลิต 2556/2557ไม่ครบ ชาวนาแทบทุกภาคได้รับความเดือดร้อนและออกมาชุมนุมประท้วงกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การชุมนุมประท้วงต่างยกระดับและเดินหน้าทวงเงินค่าจำนำข้าว ตั้งแต่ปิดถนนทางภาคเหนือ ปิดถนนภาคใต้ และเดินทางมาประท้วงที่กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งการเดินสายขึ้นเวทีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(กปปส.)

ชาวนาชุมนุมประท้วงรัฐบาลให้จ่ายค่าจำนำข้าว ที่วังมะนาว
ชาวนาชุมนุมประท้วงรัฐบาลให้จ่ายค่าจำนำข้าว ที่วังมะนาว

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์แกนนำผู้ชุมนุม นายทวีเดช แสงทอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลเขาแร้ง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรีเล่าว่ากลุ่มชาวนาภาคตะวันตกมีสมาชิกที่มาจากจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม กาญจนบุรี นครปฐม และประจวบคีรีขันธ์บางส่วน ในช่วงแรกก่อนมารวมตัวกัน ต่างได้ยื่นหนังสือจังหวัดใครจังหวัดมัน โดยไปยื่นให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเรื่องโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ยื่นหนังสือมาสองครั้ง ครั้งแรกตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2556 ปรากฏว่าทางราชการก็เลื่อนไปเลื่อนมา จนเข้าสู่เดือนมกราคม ไปยื่นหนังสืออีกครั้งหนึ่ง ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเช่นกัน ทำให้ต้องออกมาปิดถนนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2557 บนถนนเพชรเกษม บริเวณใกล้แยกเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี โดยไม่ได้บอกไว้ล่วงหน้า

การชุมนุมปิดถนนในวันนั้นก็จบลงภายในเวลา 2 ชั่วโมง เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีกับตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางมาเจรจาว่าจะได้เงินภายในวันที่ 31 มกราคม 2557 ถ้าหากไม่ได้เงิน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ผู้ว่าฯ จะมานำเดินขบวนด้วยตัวเอง

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ชาวนาก็ออกมาประท้วงตามที่สัญญาไว้ ในขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีก็ไม่ได้ออกมาตามที่กล่าวไว้ คราวนี้มีผู้มาร่วมชุมนุมเกือบ 3 พันคน

ไทยพับลิก้า : การชุมนุมในครั้งนี้มีการบริหารจัดการกันอย่างไร?

เงินที่นำมาจัดการ พวกแกนนำก็หาสปอนเซอร์ที่เข้าใจพี่น้องชาวนา มีชาวบ้านทั่วไปที่บริจาคน้ำดื่ม อาหาร บริจาคเป็นของ ส่วนเงินมาทีหลัง อย่างพี่น้องที่เขานั่งรถผ่าน เขาเห็นใจเลยเอามาบริจาค คนเดียว 6 หมื่นบาท ครั้งแรกเขามีเงินติดกระเป๋ามา 12,000-13,000 บาท เขาให้หมดเลย เขาบอกว่าแค่นี้ไม่พอหรอก บอกให้นั่งรถไปกับเขาเดี๋ยวเขาถอนเงินมาให้อีก 5 หมื่น สุดท้ายได้เงินจากเขาคนเดียวมา 6 หมื่นกว่าบาท

คือเรื่องเงินนี่เราได้มาก็ใช้ไป อย่างวันแรกนี่ได้มา 13,000 บาท วันที่สองได้ 38,000 บาท วันต่อมาได้มา 8 หมื่นบาท เอาใช้จ่ายสิ่งที่ต้องซื้อ สิ่งที่เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้แล้วก็น้ำมัน เพราะกลางคืนเราก็ต้องหาคนมาดูแล เราก็ต้องให้ค่าแรงน้องเด็กๆ ที่มาคอยดูแลเรา

มีคนที่ดูแลเงินเป็นแกนนำที่อยู่ที่นี่โดยตลอด เหมือนเป็นเหรัญญิก แต่ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์กรรมการรับรู้ ซึ่งกรรมการก็มี 5 คน ไม่ครบทุกจังหวัด บางจังหวัดเขาขอร่วมแต่ไม่ได้ร่วมเป็นกรรมการด้วย มีราชบุรี (ส่วนใหญ่) เพชรบุรี นครปฐม กาญจนบุรี

นายทวีเดช แสงทอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลเขาแล้ง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
นายทวีเดช แสงทอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลเขาแล้ง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

ไทยพับลิก้า : รู้จักกันได้อย่างไร?

รู้จักกันอยู่แล้วเพราะมันเป็นเครือข่ายของศูนย์ข้าวชุมชน แล้วศูนย์ข้าวชุมชนมีอยู่ทุกจังหวัด และของทุกจังหวัดมันจะมีการแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวกันอยู่แล้ว จริงๆ แล้วศูนย์ข้าวชุมชนมันจะมีเครือข่ายทั่วประเทศเพราะมีทุกจังหวัด แต่เอาความสะดวกก็เป็นภาคๆ อย่างภาค 7 คือภาคตะวันตก เมื่อพันธุ์ข้าวของราชบุรีไม่พอ มีการแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าว โดยตั้งราคาที่เป็นธรรม

เราสามารถผลิตพันธุ์ข้าวให้เพียงพอกับพี่น้องในพื้นที่ภาค เพราะเราจะรู้พื้นที่แปลงนาของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ว่ามีทั้งหมดกี่ไร่ แล้วเราควรจะใช้พันธุ์ข้าวอยู่ที่เท่าไหร่ เมื่อเรารู้แล้ว ก็ถามว่าทำไมเราถึงทำให้มันยั่งยืนได้ เรายืนด้วยลำแข้งได้เพราะเรามีการวางแผนมีการตั้งกลุ่ม แล้วมันผิดพลาดตรงที่รัฐบาลเอาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมา พอเอามาศูนย์ข้าวชุมชนต่างๆ นี่ล่มสลายหมดเลยเพราะว่ารัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์หรือคุณภาพของข้าว หรือว่าข้าวที่ดีๆ นี่เป็นยังไง เสียแรงเก็บข้อมูลมานี่ไม่ได้ผลคือจบเลย เพราะโครงการรับจำนำทุกเมล็ดนี่แหละ เพราะข้าวอะไรก็ได้ ข้าว 75 วันก็ได้ ข้าวสามเดือนก็ได้ คุณก็รู้ว่าข้าวพวกนี้ทำได้แค่แป้ง เป็นข้าวบริโภค คือกินไม่ได้ หุงแล้วจะแข็งมาก มันเป็นได้แค่แป้ง พูดง่ายๆ คือ รัฐบาลมันมาแทรกแซงทำอย่างนี้ ทำให้เสถียรภาพของข้าวไทยนี่มันล่มสลาย

ไทยพับลิก้า : สำหรับตอนนี้ที่ยังไม่ได้เงินคุณต้องการอะไรจากรัฐบาล

ตอนนี้ผมอยากให้รัฐมนตรีที่มีส่วนรับผิดชอบออกมาชี้แจง ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร กรณีที่คุณชำระค่าข้าวไม่ได้นี้คุณจะแก้ไขอย่างไร จะจ่ายตอนไหน คือผมเองผมก็รู้ว่าข้าวมันขายไม่ได้ แต่ข้าวขายไม่ได้ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นมันอยู่ที่ทำไมคุณถึงไม่หาทางขาย คุณจะเก็บไว้ทำไม นี่หมายถึงรัฐมนตรีพาณิชย์นะว่าทำไมคุณถึงเอาข้าวไปเก็บไปดองไว้ให้เสียหาย เพราะว่าข้าวเมื่อแปรรูปแล้วมันจะต้องเสื่อมสภาพ เพราะฉะนั้นมันขาดทุนแน่นอน รัฐบาลต้องมีปัญหาแน่นอนกับการเอาข้าวไปดองไว้ เพราะฉะนั้นคุณต้องตอบมาว่าจะทำยังไง นี่คือข้อเรียกร้องข้อที่หนึ่ง

ถ้าคุณหาทางไม่ได้ ต้องลาออก เลือกตั้งไม่เลือกตั้งนี่ไม่ใช่ประเด็นของผมนะ คือเขาจะปฏิรูปหรือยังไงผมไม่รู้ เพราะว่าคุณขาดความชอบธรรมแล้วไม่มีความมั่นคงแล้ว ขนาดธนาคารต่างๆ เขาไม่เชื่อมั่นแล้ว เพราะคุณไม่มีความมั่นคง เขาไม่สามารถปล่อยให้คุณกู้ได้ เมื่อนั้นที่คุณไม่มีความมั่นคง คุณก็ต้องออกไป จะมาขวางอยู่ทำไม เมื่อออกไปก็จะมีปลัดกระทรวงต่างๆ ที่เขาทำหน้าที่อยู่ เป็นข้าราชการประจำ ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง คือเขาต้องทำต่ออยู่แล้ว ถ้าคุณคาราคาซัง ชาวนาก็ต้องเจอสภาวะอยู่แบบนี้ต่อไป ผมเชื่อว่าต้องมีคนแก้ไขปัญหาได้แน่นอน

ไทยพับลิก้า: คิดจะเอาข้าวคืนไหม

วิธีการขอข้าวคืนนี่มันพูดได้ครับ แต่คุณจะทำแบบไหนครับ ผมไม่เชื่อว่าทำได้จริงในทางปฏิบัติ ไม่เคยมีแนวคิดนี้ มีแต่แนวคิดว่าปัญหาที่มันเกิดไปแล้วมันต้องสานต่อ มันต้องเดินหน้าต่อ ต้องหาวิธี แล้วถ้าทำไม่ได้ ปลัดกระทรวงหรือข้าราชการประจำคุณต้องสานงานต่อ ไม่ว่ากระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ หรือผู้มีส่วนรับผิดชอบ ต้องสานงานต่อ ไม่สนใจว่าจะกู้หรือเปล่าแต่ขอเร็วที่สุด

นายทวีเดช แสงทอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลเขาแล้ง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
นายทวีเดช แสงทอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลเขาแล้ง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

ไทยพับลิก้า : เคยคิดไหมว่ารัฐบาลจะเบี้ยวหนี้

ผมไม่ได้คิดว่ารัฐบาลจะเบี้ยวหนี้หรอก ผมรู้ว่าเขาบริหารงานผิดพลาด ผมไม่ได้คิดว่าเขาโกง แต่เขาคิดไม่ออกว่าควรจะทำยังไง คือเขารู้ว่าปัญหามันเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว เงินในกระเป๋าคุณไม่มีแล้วคุณจะหาเสียงทำไม นโยบายหรือโครงการอะไรคุณต้องคำนึงก่อนว่าคุณได้อะไรแล้วเกิดผลเสียหรือเปล่า แล้วมีความยั่งยืนหรือเปล่า ส่งผลกระทบกับมวลรวมประเทศหรือเปล่า

ไทยพับลิก้า : ชาวนาส่วนใหญ่รู้หรือไม่ว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180(3) รัฐบาลรักษาการไม่สามารถกู้เงินได้

รู้ เพราะว่าเรามีการอธิบายว่าตอนนี้รัฐบาลมันเป็นแค่รัฐบาลรักษาการ คุณไม่สามารถจะไปทำเรื่องกู้ซึ่งเป็นพันธะผูกพันต่อไปได้ ทุกคนรู้หมดเลยเพราะว่าเรามีการอธิบาย ทราบว่ารัฐบาลผิดคิว คือยุบสภาก่อน ไม่ได้โทษ ธ.ก.ส. เลย ชาวบ้านทราบว่า ธ.ก.ส. เป็นบุรุษไปรษณีย์ที่เอาเงินมาให้เท่านั้นเอง

ไทยพับลิก้า : อยากให้เล่าประสบการณ์บทเรียนเรื่องจำนำข้าว

การค้าขายของไทยนี่เมื่อก่อนคือ “ใครใคร่ค้าค้า ใครใคร่ขายขาย” ใช่ไหม แล้วรัฐบาลไม่ต้องเก็บข้าวไว้ในมือ รัฐบาลแค่สนับสนุนหน่อยเดียวก็พอ อย่างหาปุ๋ยราคาถูก หาตลาดให้เขาบ้าง หรือให้พ่อค้าคนกลางหาตลาดเองแล้วเดี๋ยวเขาส่งออกเอง ก็พยุงราคา กำหนดราคากลางเลยว่าอันนี้อยู่ที่เท่าไหร่ คือไม่ต้องการให้รัฐบาลมาเป็นผู้ค้าเสียเอง ยังไงแบบนี้ก็เจ๊ง ชาติไหนเมืองไหน ที่รัฐบาลมาเป็นผู้ค้าขายเสียเอง

ส่วนที่ดีมีอยู่ครั้งหนึ่ง สมัยโครงการของคุณทักษิณ ซึ่งตั้งเป้าราคารับจำนำที่สมดุลกับราคาตลาดโลก อันนั้นควร ตอนนั้นเกษตรกรสามารถไปถ่ายข้าวคืนได้ ถ้าข้าวตลาดโลกราคาสูงขึ้นชาวนาก็ไปไถ่ถอน เพื่อเอาข้าวไปขายตลาดโลกที่ราคาสูงกว่าได้ ตอนนั้นให้ประมาณหมื่นบาท บวกเพิ่มไปนิดหน่อย สมมติราคาตลาดโลกสูงขึ้นเราก็เอาใบประทวนของเราไปไถ่ถอนข้าวเราไปขายตลาดที่สูงกว่าได้ แต่นี่รัฐบาลตั้งราคาสูงเกินความเป็นจริงของตลาดทั่วไป คือรัฐบาลยอมเป็นหนี้ การยอมเป็นหนี้แล้วมันผิด เพราะว่าข้าวเมื่อแปรรูปแล้วมันต้องมีการขาย มีการจำหน่าย ส่งไปบริโภค ถ้าไม่ขายภายในไม่กี่เดือนข้าวมันจะเสียหาย

แต่ส่วนบทเรียนที่ไม่ดีก็คือโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูนาปรังที่ผ่านมานะครับ ส่อเค้าว่ารัฐบาลจะไม่ไหวแล้ว ได้ลดราคาจาก 15,000 บาท เหลือ 13,500 บาท แล้วเกษตรกรก็ลุกไปต่อต้าน บอกว่าคุณต้องสานงานให้จบโครงการตั้งแต่เดือนไหนถึงเดือนไหนก็ตาม ต้องเอาให้สุดโครงการก่อน ฤดูกาลนี้ 56/57 คุณก็สานต่อราคาเดิม ซึ่งผมก็ไม่ได้เรียกร้อง

ชาวนาวังมะนาว

ไทยพับลิก้า : คุณดีใจหรือเปล่าที่มีโครงการจำนำข้าว และชาวนาทั่วไปอยากได้จำนำหรือไม่

ดีใจมันก็แป๊บเดียว คือแค่ครั้งเดียว พอครั้งที่สองมันก็มีแนวโน้มว่าราคามันจะลง ซึ่งชาวนาก็ไม่ยอมเพราะคุณประกาศแล้วว่าคุณจะรับจำนำในราคานี้ แล้วคุณก็มาจำกัดวงเงิน คือเริ่มมีข้อแม้ เราก็ยอมรับได้ เพราะเราเข้าใจว่าเสถียรภาพของรัฐบาลเริ่มมีปัญหาเริ่มคลอนแคลน และส่อเค้าว่าจะไปไม่รอด

ชาวนาที่เขาไม่เข้าใจนี่เขาอยากได้จำนำเพราะราคามันสูง เพราะเขาเชื่อมั่นว่ารัฐบาลคงไม่โกง คือคิดง่ายๆ นะ แล้วข้าวไม่ต้องพิถีพิถันอะไรมากเลย มีเมล็ดข้าวไปขายโรงสีอย่างเดียวก็ได้ตังค์ 15,000 บาทแล้ว

อย่างตัวผมก็เข้าโครงการเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเราไม่เข้าแล้วเราจะเอาไปขายที่ไหนล่ะ โรงสีที่เราจะเอาไปขายนี่เข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกกันหมด เขาขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพราะเขากำหนดว่าคุณต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร คุณต้องไปออกใบรับรองจากกระทรวงเกษตร

ไทยพับลิก้า: แล้วไม่มีโรงสีที่ไม่เข้าร่วมโครงการรับจำนำเลยหรือ

โรงสีที่ไม่เข้าโครงการมันก็มี แต่เขารับซื้อแบบที่มันกดราคา กดจนน่าเกลียด คืออย่างเช่น ถ้าข้าวเข้าโครงการ 15,000 บาท แล้วถ้าไปขายโรงสีในราคาที่ไม่รับจำนำเขากดเหลือ 7,000 บาท หรือ 6,000 บาท คือรู้ว่าไม่ดีแต่เราไม่มีทางเลือก แล้วรัฐบาลก็ไปปิดช่องทางของเกษตรกรไม่ให้มีโอกาสได้เลือกเลย

มันดึงดูด มันชวนเชิญ ยกตัวอย่างท่าข้าวนี่ยังสามารถมาเข้าโครงการได้เลย มันวิ่งเต้นกัน ซึ่งผิดระเบียบของกระทรวงพาณิชย์ ที่บอกว่าโรงสีที่เข้าร่วมกับโครงการรัฐบาลนี่คุณต้องมีกำลังผลิตกี่ตันต่อวัน คุณต้องมีฉางข้าว คุณต้องมีลานตากข้าว บางที่ยังไม่มีเลย มีแค่ลานตากข้าวคุณก็สามารถเปิดรับจำนำได้ นี่คือที่ปรากฏให้เห็น เป็นการวิ่งเต้นขวนขวาย

แล้วอย่างการเปิดจุดรับจำนำก็เหมือนกัน คือการเปิดจุดรับจำนำข้าวต้องกำหนดว่าจากกี่กิโลเมตรถึงกี่กิโลเมตรมีได้หนึ่งแห่ง แต่ตอนหลังมาก็เริ่มซ้อนกันได้ ใครพวกมากก็เปิดได้ เห็นผลประโยชน์

ไทยพับลิก้า : ถ้าไม่มีโครงการรับจำนำข้าวแล้วกลับมาใช้ราคาตลาดที่ประมาณ 8 พันกว่าบาท ชาวนาจะอยู่ได้หรือ?

ผมเชื่อว่าอยู่ได้ เพราะเราต้องคิดแล้ว เราต้องพิจารณาแล้วว่าเราควรจะผลิตข้าวเท่าไหร่ แล้วตลาดเขาจะเอาข้าวอะไร ถ้าราคาข้าวอยู่แค่นี้ เราไม่ผลิต เราไม่ทำข้าวอันนี้ เราทำข้าวหอมมะลิแทน เดี๋ยวนี้มีข้าวนี้นะ ข้าวไรซ์เบอร์รี มีทางเลือกให้เกษตรกร แต่เกษตรกรต้องหานักวิชาการ หาคนที่มีความรู้ รัฐบาลสนับสนุนแค่นี้พอ ไม่ต้องไปอุ้มเขา นี่คุณไปอุ้ม มีอะไรคุณก็ให้เขากิน เอาไปป้อนๆ เขาอย่างเดียว แต่คุณไม่ได้เสนอความคิดเขา ไม่ได้บอกว่าให้ช่วยเหลือตัวเอง นี่คุณอยากกินไรก็เลี้ยงให้อ้วนอย่างเดียว เลี้ยงให้เขาโง่อย่างเดียว ชาวนาเขาฉลาดนะ เอาความรู้ไปบอกเขาว่าควรจะทำยังไง ให้เขารู้ ให้เขาฉลาดมากกว่า คุณก็ต้องบอกเขาสิว่าเขาควรจะทำยังไงให้ชีวิตเขาดีขึ้น จะดีกว่าการที่คุณจะทำอะไรก็ได้ ป้อนให้เขาอย่างเดียว มีเมล็ดข้าวให้ฉัน ฉันเอาทุกเมล็ด จะมีสารเจือปนฉันไม่รู้

ชาวนาชุมนุมที่กระทรวงพาณิชย์

ไทยพับลิก้า : ชาวนาจะต้องปรับตัวอย่างไร

กระบวนการผลิตมันเป็นเบสิกของชาวนาอยู่แล้ว ว่ายังไงก็เหมือนเดิมอยู่แล้ว แต่ต้นทุนพันธุ์ข้าว แหล่งพันธุ์ข้าว แหล่งปุ๋ยเคมีหรือสารอินทรีย์อะไรต่างๆ ที่จำเป็นต่อต้นทุนการผลิต นี่สิต้องรู้ ชาวนาต้องปรับตัว เมื่อก่อนนี่ใช้ปุ๋ยแพง เดี๋ยวนี้ต้องมีการปรับตัวเรื่องนี้

เรื่องหาตลาด คือ ถ้าเรามีของที่ดีมีคุณภาพอยู่แล้ว ตลาดเขาก็ต้องการเอง ข้าวที่ดีมีคุณภาพ คือผลิตสินค้าปลอดภัยที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถบริโภคได้ เหมือนเป็นตัวรับประกัน เมื่อเป็นแบบนี้กระทรวงพาณิชย์เขาก็สานต่อหาตลาดให้

คือกำลังจะบอกว่า ชาวนานี่ ขอแค่ผลิตดีอย่างเดียว กระบวนการอื่นเดี๋ยวดีแน่นอน แต่ตอนนี้เราคำนึงถึงปริมาณ ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพ แต่ถ้าเราผลิตที่คำนึงถึงคุณภาพ เราก็ไม่ต้องสนใจปริมาณ เพราะว่าถ้าคุณภาพเราดี มันก็มีตลาดอยู่แล้ว สภาพคล่องมันก็มีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มันมีปัญหาเพราะว่าเราผลิตปริมาณมากเกินแต่ไม่มีคุณภาพ

ด้านเทคโนโลยีตอนนี้มีเรื่องสารอินทรีย์ซึ่งเป็นสารที่กำจัดแมลงเชื้อราอะไรแบบนี้ได้ พวกเชื้อบิวเวอเรีย พวกไตรโคเดอร์มา อะไรประมาณนี้

ไทยพับลิก้า : จะยืนบนลำแข้งของตัวเองได้อย่างไร

ผมเชื่อมั่นว่าเกษตรกรนี่ยืนบนลำแข้งของตัวเองได้ เพราะถ้ารัฐบาลสนับสนุนเรื่องต้นทุน แนวคิดในการแก้ปัญหา หมายความว่า อยากยั่งยืน หานักวิชาการมาส่งเสริม อาจจะเป็นเรื่องต้นทุนการผลิต หาแหล่งเงินทุนให้เขา ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูก อย่าง ธ.ก.ส. นี่ก็ถูกอยู่แล้ว ถือว่าโอเค ถ้าสมมติว่าเอาตัวนี้กลับคืนมาแล้วเงินออมของชุมชนนี่มันมีอยู่ ถ้ามันกลับคืนมาเขาก็ไม่ต้องไปกู้สถาบันการเงินที่ไหน ก็กู้เงินออมที่ออมกันไว้เองในชุมชนนี่แหละ แล้วก็ส่งเสริมแต่เรื่องวิชาการเกษตรอย่างเดียวกับตลาด

นายทวีเดช แสงทอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลเขาแล้ง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
นายทวีเดช แสงทอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลเขาแล้ง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

ไทยพับลิก้า : สิ่งที่อยากได้จริงๆ จากรัฐบาล

ผมต้องการให้รัฐบาลดูแลสวัสดิการของชาวนา อย่างน้อยคนที่ทำนามากี่ปีๆ แล้วคุณควรจะสนับสนุนเหมือนประกันสังคม ต้องทำแบบนั้นเลย เพราะว่าเขาจะได้มีกำลังใจ เวลาเขาเกษียณแล้วอายุมากแล้ว รัฐบาลมีเงินเดือนให้ เกษตรกรนี่คุณต้องระบุนะว่าอะไรบ้าง ประมง เลี้ยงสัตว์ ต้องระบุด้วยนะ เสร็จแล้วรัฐบาลก็สนับสนุนแบบนี้จะดีกว่า

ส่วนราคานี่มันจะมีราคากลางอยู่แล้วของตลาดโลก รัฐบาลไม่ต้องไปยุ่งเลย ถ้าคุณไม่มายุ่งนะ พ่อค้าที่เขาส่งออกต่างประเทศเขาก็มีของเขาอยู่แล้ว นี่รัฐบาลมาทำอย่างนี้พวกนั้นเขาต้องหยุดหมดเลย

นี่คือเสียงของชาวนาที่เขาคิดเป็น ทำเป็นขอแค่รัฐบาลสนับสนุน ให้องค์ความรู้ ไม่ต้องมาทำเองและแจกทุกอย่าง