ThaiPublica > เกาะกระแส > เครือข่ายเดินหน้าฯ จัดเวทีกลาง “ถอดจุดร่วม” หาแนวทางปฏิรูปยั่งยืน

เครือข่ายเดินหน้าฯ จัดเวทีกลาง “ถอดจุดร่วม” หาแนวทางปฏิรูปยั่งยืน

14 กุมภาพันธ์ 2014


กระแสการ “ปฏิรูป” ในสังคมไทยกำลังจุดติดท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง โดยมีหลายเวทีหลายองค์กรออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปอย่างจริงจัง เพราะต่างตระหนักว่า นี่คือจังหวะและโอกาสเหมาะสมที่สุดในการขับเคลื่อนการปฏิรูปให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากเป็นช่วงที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองมากที่สุด

“คอร์รัปชัน” ประเด็นร่วมทุกเวที

กรอบเนื้อหาการปฏิรูป

โดยเวทีขับเคลื่อนการปฏิรูปที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ อาทิ 7 องค์กรธุรกิจ, คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.), รัฐบาล และเครือข่ายผู้รับใช้การปฏิรูป ซึ่งในแง่กรอบเนื้อหาของทั้ง 5 เวทีปฏิรููปจะพบว่าพูดเรื่องคอร์รัปชันตรงกันทุกเวที เพราะฉะนั้น “คอร์รัปชัน” เป็นประเด็นร่วม

ส่วนประเด็นอื่นที่ส่วนใหญ่เห็นตรงกันคือ เรื่องกระบวนการยุติธรรม เรื่องกระจายอำนาจ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การปฏิรูปการเมือง เพราะฉะนั้น ในเชิงเนื้อหาจะเห็นว่าหลายกลุ่มหลายวงความคิดปฏิรูป “คิดเหมือนกัน”

นอกจากนั้น ทีมงานเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปที่ลงไปทำงานสำรวจที่เรียกว่า “ลงขันความคิดปฏิรูป” เป็นการสำรวจประชาชนที่มาร่วมเวทีต่างๆ ซึ่งจากการรวบรวมประเด็นขึ้นมาพบว่า ประเด็นที่ประชาชนคิดว่ามีปัญหาต้องปฏิรูปอันดับหนึ่งคือ การใช้อำนาจของรัฐ อันดับสอง การคอร์รัปชัน และอันดับสาม นักการเมืองขาดคุณภาพ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปจะทำต่อไปคือ การจัดเวทีในเชิงเนื้อหา โดยหลังจากแถลงเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2557 ได้เดินหน้าจัดงาน “เวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1” หัวข้อ “ถอดบทเรียนกระบวนการปฏิรูปของไทย สู่การเดินหน้าปฏิรูป” เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพื่อยืนยันพันธกิจ “เดินหน้าปฏิรูปทันที” ตามที่ได้แถลงจุดยืนไว้

เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม-ประชาชนเป็นเจ้าของวาระปฏิรูป

ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวถึงที่มาที่ไปของการถอดบทเรียนครั้งนี้ว่า “การจัดเวทีครั้งแรก เครือข่ายฯ ได้คุยกันว่าก่อนที่เราจะร่วมกันออกแบบการปฏิรูปครั้งนี้ให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง เราน่าจะย้อนดู “บทเรียน” ของประเทศไทยที่ได้มีการปฏิรูปมาหลายครั้ง เพื่อเดินหน้าไปอย่างมั่นคง

“ในการถอดบทเรียนครั้งนี้จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิรูปในห้วงเวลาครั้งสำคัญที่ผ่านมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อมองว่าการปฏิรูปที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรค หรือมีจุดเด่นอย่างไร ทำให้ประสบความสำเร็จ หรือไม่ประสบความสำเร็จ และถ้ามีโอกาสทำได้ใหม่แล้วอะไรเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ”

ดร.กิตติพงษ์กล่าวต่อไปว่า “การปฏิรูปครั้งนี้มีความยากอย่างมาก เพราะเป็นการปฏิรูปท่ามกลางความขัดแย้ง แต่มีคนมองว่าการปฏิรูปท่ามกลางความขัดแย้งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีอะไรที่เป็นจุดร่วม ซึ่งเป็นความหวังร่วมกัน และเราก็มองตรงกัน ดังนั้น การปฏิรูปแม้จะยาก แต่ถ้าทำให้ดีก็จะเป็นความหวังร่วมกันของทุกฝ่าย

โดยเครือข่ายฯ มีความเห็นว่า ถ้าทำกระบวนการปฏิรูปให้ดี สามารถทำให้ความตั้งใจ ความหวังของทุกฝ่าย ประสบความสำเร็จไม่มากก็น้อย ก็อาจจะช่วยให้ความขัดแย้งลดลงและหาทางออกของปัญหาได้ ด้วยเหตุนี้ คณะเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปจึงให้ความสำคัญกับ “กระบวนการมีส่วนร่วม” และกระบวนการที่บอกว่า “วาระการปฏิรูป” เป็นวาระของประชาชนทุกคน”

ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)

“ถ้าประชาชนเห็นความสำคัญของการปฏิรูปและเข้ามามีส่วนร่วมจะเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำให้ความขัดแย้งในห้วงเวลาที่ยาวนานกลายเป็นพลังสร้างสรรค์เป็นประโยชน์กับประเทศ” ดร.กิตติพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ เวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1” หัวข้อ “ถอดบทเรียนกระบวนการปฏิรูปของไทย สู่การเดินหน้าปฏิรูป” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพื่อยืนยันพันธกิจ “เดินหน้าปฏิรูปทันที” ตามที่ได้แถลงเปิดตัวไปเมื่อ 30 มกราคม ที่ผ่านมา

โดยเวทีระดมความคิดครั้งแรก เน้นถอดบทเรียน 2 หัวข้อสำคัญ คือ หนึ่ง “กระบวนการปฏิรูปประเทศไทย: เพื่อการเดินหน้าปฏิรูปอย่างก้าวหน้า” มี นายเดชรัต สุขกำเนิด ถอดบทเรียนกรณีคณะกรรมการปฏิรูป (ชุดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน) นพ.สมศักดิ์ ชุณหะรัศมิ์ ถอดบทเรียนกรณีคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (ชุดที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน)

นายสุรพงษ์ พรมเท้า ถอดบทเรียนกรณีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ถอดบทเรียนกรณีการปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญปี 2540

และ สอง “กระบวนการปฏิรูปเฉพาะประเด็น: ปัจจัย เงื่อนไขของการขับเคลื่อนการปฏิรูป” มี ดร.มานะ นิมิตรมงคล ถอดบทเรียนการปฏิรูปการต่อต้านคอร์รัปชัน นายไพโรจน์ พลเพชร ถอดบทเรียนการปฏิรูปการเมือง กรณีการเสนอกฎหมายของภาคประชาชน และนายประยงค์ ดอกลำไย ถอดบทเรียนกรณีปฏิรูปปัญหาความเหลื่อมล้ำ

แนะลดบทบาทรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน

เริ่มจาก “ถอดบทเรียนกระบวนการปฏิรูปของไทย สู่การเดินหน้าปฏิรูป” ซึ่ง นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด ถอดบทเรียนคณะกรรมการปฏิรูปว่า การปฏิรูปที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ ด้วยการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน โดยต้องกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น เช่น การจัดการทรัพยากรด้านต่างๆ จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เช่น เรื่องการศึกษา เป็นต้น

นอกจากนี้ การปฏิรูปจะเกิดได้จริงต้องเป็นจินตนาการใหม่ของสังคม คือ ต้องนำเสนอความหวังหรือสิ่งที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงออกไปอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ทำงานคณะกรรมการปฏิรูปยังไม่สามารถนำเสนอตรงนี้ออกไปยังสังคมได้อย่างทั่วถึง จึงขาดการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการปฏิรูป

เพิ่มกลไกเชื่อม “อำนาจตัดสินใจ” แก้จุดอ่อนไร้น้ำยา

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหะรัศมิ์ ถอดบทเรียนคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปว่า วิธีการทำงานที่ผ่านมาของสมัชชาปฏิรูป ใช้รูปแบบ “สมัชชา” เหมือนกับสมัชชาสุขภาพ มีการระดมสมอง จากนั้นก็ชวนคนมานั่งคุย และจัดสมัชชาประจำปี แต่กระบวนการนี้มีจุดอ่อนคือ หลายคนเรียกว่า “ไม่มีน้ำยา” เพราะไม่สามารถแปรข้อเสนอไปสู่การปฏิบัติได้ เนื่องจากไม่ได้คิดเชื่อมกับฝ่ายการเมืองเท่าที่ควร

ดังนั้น สิ่งสำคัญของการปฏิรูป คือ การสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง แต่การทำงานที่ผ่านมาของสมัชชาปฏิรูป อาจมีภาคเอกชนและราชการเข้าร่วมน้อยเกินไป นอกจากนั้นยังต้องคิดเรื่องการสื่อสาร เพราะแม้เนื้อหาหรือข้อเสนอจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือสังคมเข้าใจเนื้อหานั้นหรือไม่

และถ้าจะออกแบบใหม่ในการปฏิรูปประเทศวันนี้ นพ.สมศักดิ์เสนอว่า กลไกการมีส่วนร่วมต้องยังมีอยู่ แต่ควรจะเสริมให้มีกลไกที่มีอำนาจรวมอยู่ด้วย ไม่อย่างนั้นก็ได้แต่เสนอแนวทางแต่ไม่เกิดผล ไม่มีใครทำ ขณะเดียวกันก็ต้องมีกระบวนการแปลงสารทางวิชาการให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ

“โจทย์ยากที่สุดคือ การมีส่วนร่วมจะเลือกใครมาทำ ส่วนตัวคิดว่ากลไกการมีส่วนร่วมไม่ต้องไปเสียเวลาหาตัวแทนมามากนัก แต่ให้หามืออาชีพมาทำหน้าที่แทน และเห็นว่าประชามติน่าจะเป็นเครื่องมือใหม่ที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่เลือกแต่ผู้แทนเท่านั้น” นพ.สมศักดิ์กล่าว

“การเมือง” อุปสรรคใหญ่ต้องปฏิรูปเร่งด่วน

ด้าน นายสุรพงษ์ พรมเท้า ถอดบทเรียนสมัชชาสุขภาพแห่งชาติซึ่งมีประสบการณ์มากว่า 15 ปีว่า เน้นทำงานเชิงวิชาการ และเชื่อมโยงการขับเคลื่อนทางสังคม โดยมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมากถึง 4.7 ล้านคน ดังนั้น จุดแข็งของสมัชชาสุขภาพคือ การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีการขับเคลื่อนตลอดปี

ขณะเดียวกันก็มีจุดอ่อนคือ ประชาชนสามารถสร้างพลังอำนาจแบบอ่อน (soft power) เท่านั้น แต่การจะขับเคลื่อนการปฏิรูปจะสำเร็จได้จำเป็นต้องมีพลังอำนาจแบบแข็ง (hard power) ด้วย ดังนั้นต้องหากลไกเชื่อมโยงพลังอำนาจทั้งสองส่วน

โดยยุทธศาสตร์ที่สมัชชาปฏิรูปใช้คือ แนวคิด “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ของ นพ.ประเวศน์ วะสี คือการเคลื่อนไหวทางสังคม การสร้างความรู้ หรือภาควิชาการ และอำนาจรัฐหรืออำนาจทางการเมือง โดยทั้งสามส่วนจะต้องหาสมดุลร่วมกัน แต่จากประสบการณ์ การขับเคลื่อนที่ยากที่สุดคืออำนาจทางการเมือง เพราะฉะนั้นต้องชูประเด็นปฏิรูปทางการเมืองเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องปฏิรูปด้วย

ถอดบทเรียนความสำเร็จของ “รัฐธรรมนูญ2540”

“นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์” เล่าประสบการณ์ความสำเร็จกรณีรัฐธรรมนูญ 2540 ว่า สถานการณ์ที่เกิดก่อนปี 2540 เทียบกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน มีสิ่งที่คล้ายคลึงกันคือความดื้อของผู้มีอำนาจ ไม่สามารถจะไปหาทางออกที่สงบสันติได้ และสังคมขาดความไว้ใจนักการเมือง แต่ขณะนี้ประเด็นความไม่ไว้วางใจมีสูงกว่ามาก

อย่างไรก็ตาม นายวีระศักดิ์เชื่อว่า การเดินหน้าปฏิรูปทันทีเป็นสิ่งที่ทำได้ เหมือนกับเมื่อครั้งเดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งไม่ได้ออกมาเป็นระเบียบสำนักนายกฯ ด้วยซ้ำ ออกมาเป็นเพียงคำสั่งนายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ สรรหา ส.ส.ร. ตั้งคณะกรรมาธิการแบ่งหน้าที่กันทำ เดินหน้าไปจนแก้ไขสำเร็จได้

“รัฐธรรมนูญปี 40 สำเร็จเพราะรัฐบาลไม่เข้าไปยุ่ง คือรัฐบาลต้องไม่ทำตัวเป็นหินที่ทับสนามหญ้า เพราะหญ้าจะไม่งอก แล้วปล่อยให้คณะทำงานขับเคลื่อนได้ต่อเนื่อง” นายวีระศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ นายวีระศักดิ์สรุปบทเรียนครั้งนั้นว่ามี 3 ข้อ คือ หนึ่ง ระเบียบไม่สำคัญเท่ากับบรรยากาศที่จะประคับประคองให้การปฏิรูปเดินหน้าไปได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบัน การประคับประคองบรรยากาศให้การปฏิรูปเดินหน้าไปมีความสำคัญมาก สอง ความเฉลียวฉลาดของคนในสังคมไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง แต่จะมาจากทุกภาคส่วนของสังคม และ สาม การปฏิรูปครั้งนี้ต้องเปลี่ยนชุดความคิดในการอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนกติกา หรือเปลี่ยนหน้าตาคนเข้ามามีอำนาจเท่านั้น

“ประชามติแบบหารือ” เครื่องมือเพื่อหาจุดร่วม

นายวุฒิสาร ตันไชย มีความเห็นว่า หัวใจของการปฏิรูปคือ “การออกแบบ” ซึ่งเป็นโจทย์ยากเพราะต้องออกแบบ ให้เกิดการยอมรับของทุกภาคส่วนของสังคม ขณะที่ส่วนของเนื้อหาสาระการปฏิรูปที่มีจำนวนค่อนข้างมาก อย่าหวังทำทุกเรื่อง ต้องจัดลำดับความสำคัญ และทำเรื่องที่ดำเนินการได้เร็ว (quick win) เพื่อให้สังคมเห็น และทำให้สังคมเกิดการยอมรับ

นายวุฒิสารเสนอว่า ควรมีการทำ “ประชามติแบบหารือ” ซึ่งอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ว่าต้องการอะไร และอาจเป็นเครื่องมือทำให้เกิดสัญญาประชาคมที่ผูกพันทางการเมืองด้วย นอกจากนั้น ใน กระบวนการปฏิรูปต้องทำไปพร้อมกับการสร้างชุดความคิดใหม่

การเลือก “คน-ประเด็น” คือปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ดร.มานะ นิมิตรมงคล ถอดบทเรียนการปฏิรูปการต่อต้านคอรัปชัน
ดร.มานะ นิมิตรมงคล ถอดบทเรียนการปฏิรูปการต่อต้านคอร์รัปชัน

ขณะที่การถอดบทเรียนหัวข้อ “กระบวนการปฏิรูปเฉพาะประเด็น: ปัจจัย เงื่อนไขของการขับเคลื่อนการปฏิรูป” เริ่มต้นที่ นายมานะ นิมิตรมงคง เล่าประสบการณ์การปฏิรูปต่อต้านคอร์รัปชันว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จมี 2 เรื่องที่สำคัญ

หนึ่ง เรื่องกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง จะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจ และได้รับการยอมรับเข้ามาเคลื่อนไหวด้วย ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ โดยเสนอว่า ผู้ที่จะนำการปฏิรูปควรเป็นสถาบัน ไม่ใช่ตัวบุคคล สอง สิ่งที่ปฏิรูปจะต้องมีคุณค่าเพียงพอ โดยต้องอธิบายได้ว่าประเด็นปฏิรูปจะนำไปสู่อะไร ถ้าไม่ทำจะส่งผลระยะยาวอย่างไร

อุปสรรคการมีส่วนร่วมของประชาชนคือ “ต้นทุนสูง”

ด้าน “นายไพโรจน์ พลเพชร” ถอดบทเรียนการปฏิรูปการเมืองในกรณีการเสนอกฎหมายของภาคประชาชนว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญให้อำนาจประชาชนร่างกฎหมายเสนอรัฐสภาได้เอง มีการร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนทั้งหมด 47 ฉบับ แต่สำเร็จจริง 7 ฉบับ ส่วนที่เหลือบ้างก็ตกไปเพราะรัฐสภาไม่รับรอง บางฉบับนายกรัฐมนตรีไม่รับรอง บางฉบับค้างอยู่ขั้นการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ บ้างก็ติดขัดขอตรวจเอกสารเพิ่ม และขณะนี้ทั้ง 40 ฉบับถือว่า ตกหมด เพราะยุบสภา หมายความว่า รัฐบาลใหม่มาถ้ารับรองกฎหมายที่ค้างอยู่ก็เข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ แต่ถ้ารัฐบาลไม่รับรองก็จะตกหมด

“การขยายสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนดูดี แต่ต้นทุนสูงมาก เพราะทุกขั้นตอนสามารถหยุดกฎหมายที่ประชาชนเสนอได้หมด สะท้อนให้เห็นว่า ฝ่ายการเมืองไม่เชื่อมั่นประชาชนในการมีส่วนรวมปฏิรูปการเมือง” นายไพโรจน์กล่าว

ทั้งนี้ ในการปฏิรูปจะสำเร็จได้ นายไพโรจน์เสนอว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการพิจารณากฎหมาย ขณะเดียวกันต้องปฏิรูปกระบวนการนิติบัญญัติควบคู่ไปด้วย แต่สิ่งที่ยากก็คือการแสวงหากลไกในการปฏิรูป เพราะต้องมีความผูกพันกับรัฐบาลที่จะได้รับการเลือกตั้งต่อไป ซึ่งอาจจะมีหลายแนวทาง เช่น การทำประชามติ การออกกฎหมายปฏิรูปประเทศไทย หรือการให้ทุกพรรคการเมืองลงสัตยาบันว่าจะต้องปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง

ขณะที่ บทเรียนการปฏิรูปปัญหาความเหลื่อมล้ำ: กรณีปัญหาที่ดิน ป่า โดย นายประยงค์ ดอกลำไย เน้นชูประเด็นว่า การปฏิรูปเรื่องที่ดินเป็นหลัก เพราะประชาชนมีความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกิน จำเป็นต้องเร่งแก้ไขด่วน เนื่องจากทุกวันนี้มีประชาชนต้องถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกที่ของรัฐประมาณวันละ 20 คน ดังนั้นสังคมสันติสุขไม่ได้ จำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว

นอกจากการระดมความคิดถอดบทเรียนแล้ว ในช่วงท้ายของงาน นายปรเมศวร์ มินศิริ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ได้นำเสนอโมเดลการสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป หรือ “RNN Open Platform” กับกลุ่มต่างๆ ที่ขับเคลื่อนงานปฏิรูป ภายในแนวคิด “Connect-Share-Change” หรือ “เชื่อมโยง-แบ่งปัน-เปลี่ยนแปลง”

"RNN Open Platform"  เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป
“RNN Open Platform” เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป

Connect คือเชื่อมโยงทุกเครือข่าย ทั้งเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่
Share คือการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ผ่านสื่อและช่องทางหลากรูปแบบ
Change คือเปลี่ยนแปลงแนวคิด ความต้องการ สู่ภาคปฏิบัติมีผลรองรับทางกฎหมาย

ทั้งนี้ จุดยืนของเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปฯ คือ เป็นเวทีกลางเชื่อมโยงทุกเครือข่ายสร้างการเปลี่ยนแปลงให้มีผลปฏิบัติจริง ไม่รอการจัดตั้งของรัฐบาล ดังนั้น หลังจบเวทีนี้แล้ว เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปเตรียมจัดเวทีครั้งที่ 2 หัวข้อ “เรียนรู้ประสบการณ์ บทเรียน-กระบวนการปฏิรูปของต่างประเทศ” ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นี้ เวทีที่ 3 ต้นเดือนมีนาคม หัวข้อ “เปิดโมเดลกลไกการปฏิรูปประเทศ” ส่วนเวทีที่ 4 และต่อไปในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมจะจับประเด็นปฏิรูปเรื่องต่างๆ