ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > นักเศรษฐศาสตร์ห่วง “การเมือง” โหราจารย์ฟันธงสถานการณ์เข้าสู่โหมดปฏิรูป -“ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์” ดวงตกต้องถอย

นักเศรษฐศาสตร์ห่วง “การเมือง” โหราจารย์ฟันธงสถานการณ์เข้าสู่โหมดปฏิรูป -“ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์” ดวงตกต้องถอย

18 มกราคม 2014


นักเศรษฐศาสตร์ห่วงการเมืองกระทบเศรษฐกิจ ขณะที่โหราจารย์เตือนช่วง เม.ย.-พ.ค. นี้เกิดสุริยุปราคา อาจเป็นอวสานของรัฐบาล ฟันธงการเมืองดีขึ้นหลังสิงหาคมนี้ ปรับเข้าสู่โหมดการปฏิรูป แต่ “พรรคเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์” ดวงตกทำให้ประเทศแย่ ต้องถอยออกไป

วันที่ 17 มกราคม 2557 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนา “อนาคตเศรษฐกิจไทย 2557: นักเศรษฐศาสตร์ ปะทะ โหราจารย์” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค

ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด รศ.ดร.เจษฎา โลหอุ่นจิตร ( อ.ยูเรสโตร) เจ้าของคอลัมน์ “ถอดรหัสลับดวงดาว” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนายชูศักดิ์ จงธนะพิพัฒน์ (อ. ธนูเกณฑร์) เจ้าของคอลัมน์ “Astro Celeb” ในนิตยสารกายใจ นักคิด นักวิเคราะห์ เจ้าของผลงานเขียนด้านโหราศาสตร์ และดำเนินรายการโดย ดร.สิทธิพร อินทุวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“การเมือง” ปัจจัยชี้วัดทิศทางเศรษฐกิจ

นายธีระชัยกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2557 คาดการณ์ยาก โดยปกติการประเมินเศรษฐกิจไทยจะดูจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกกับปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งปีนี้เศรษฐกิจโลกดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจาก 2.9% ในปีก่อน และคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวได้ 2.6% จาก 1.6% ในปีก่อน ส่วนเศรษฐกิจยุโรปผ่านจุดต่ำสุดแล้วน่าจะดีขึ้นหรือไม่แย่ไปกว่าที่ผ่านมา และเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจไม่ดีมากอย่างที่รัฐบาลญี่ปุ่นหวังแต่ก็เดินหน้าได้ ไม่ย่ำอยู่กับที่เหมือนที่ผ่านมา

เพราะฉะนั้น ปีนี้เศรษฐกิจโลกไม่น่าห่วง แต่ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยคือปัจจัยภายในประเทศ คือปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนกับปัญหาการเมือง ทั้งนี้ ด้านเศรษฐกิจที่น่าห่วงคือปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายประชานิยมเน้นกระตุ้นการบริโภคทำให้ภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจาก 65% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็น 70% ในปี 2556 และมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 80% ซึ่งสูงขึ้นเป็นอันดับสองรองจากมาเลเซีย

“ที่สำคัญคือ ปัญหาทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะจะมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐว่าจะเดินหน้าอย่างไร และมีผลต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน” นายธีระชัยกล่าว

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะมีผลต่อการใช้จ่ายภาครัฐและเศรษฐกิจต่างกัน โดยนายธีระชัยประเมินการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็น 2 กรณี คือ กรณีแรก “รัฐบาลเดิมอยู่ต่อ” และดำเนินนโยบายเหมือนเดิม ก็คงเหยียบคันเร่งทำเหมือนเดิมคือรับจำนำข้าวต่อ และใช้ประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะทำให้ภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น

“ถ้ารัฐบาลเดิมเดินหน้าเหมือนเดิม ก็เปรียบเหมือนการเหยียบคันเร่งวันนี้ แต่ไปแหกโค้งในวันหน้า ซึ่งอาจจะเป็นปลายปีนี้หรือปีหน้า” นายธีระชัยกล่าว

กรณีที่สอง “มีรัฐบาลใหม่” หรือเป็นรัฐบาลคนกลาง เชื่อว่าจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการบริโภคซึ่งเปรียบเหมือนไฟไหม้ฟาง ดังนั้น อาจทำให้การใช้จ่ายภาครัฐน้อยลง และทำให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลง แต่จะเป็นการขยายตัวที่มีคุณภาพ มีเสถียรภาพระยะยาว และเป็นการรักษาเสถียรภาพหนี้สาธารณะ

นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่อาจมีมาตรการริเริ่มเก็บภาษีหลายๆ ประเภท เช่น ภาษีทรัพย์สินและที่ดิน และอื่นๆ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลใหม่ต้องการหารายได้มาลดผลขาดทุนโครงการจำนำข้าว และที่สำคัญ จะต้องสนับสนุนให้เอกชนเชื่อมั่น มีความกล้าลงทุน เกิดการสร้างงาน หากเป็นแนวนี้จะทำให้ภาคเอกชนเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ ส่วนรัฐบาลก็เก็บกวาดบ้าน

“เชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะไม่เหยียบคันเร่ง แต่ยังกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตแบบมีเสถียรภาพระยะยาว และแก้ปัญหาการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ที่สำคัญต้องสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาส ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และข้อมูลข่าวสาร แต่การทำแบบนี้ต้องใช้เวลา จึงต้องอดทน” นายธีระชัยกล่าว

สำหรับ “ทางออก” ของเศรษฐกิจไทยนั้น นายธีระชัยระบุว่า ขึ้นอยู่กับ “การรออมชอม” หรือการแก้ปัญหาทางการเมืองค่อนข้างมาก ถ้าสถานการณ์การเมืองคลี่คลายก็จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจ และการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นแม้ระยะสั้นจะมีผลกระทบไม่มาก แต่ถ้ายืดเยื้อลากยาวไปเรื่อยจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นซึ่งน่ากังวล

อย่างไรก็ตาม นายธีระชัยประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงด้านการเติบโต นโยบายการเงินยังมีช่องที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในระยะสั้นๆ เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจข้างหน้าค่อนข้างจะอ่อน ส่วนนโยบายการคลังจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับใครจะมาเป็นรัฐบาล

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด
ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

หวัง “ส่งออก-ลงทุน” หนุนเศรษฐกิจปี 57

ดร.วิศิษฐ์กล่าวว่า แม้ปัญหาการเมืองจะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทย แต่ปัจจัยบวกก็ยังมี อาทิ เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น และจากสถิติพบว่า ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% จะทำให้การส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น 0.6% แต่กว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน โดยคาดว่า สินค้าเกษตรน่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น และสินค้ายานยนต์ที่การส่งออกประมาณ 12% ของการส่งออกทั้งหมด

“ดังนั้นหากเศรษฐกิจโลกดีขึ้น คาดว่าการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นด้วย และจะเป็นตัวชูโรงเศรษฐกิจปี 57 “ดร.วิศิษฐ์กล่าว

ส่วนด้านการลงทุน ดร.วิศิษฐ์กล่าวว่า การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐคงจะลดลง แต่การลงทุนภาคเอกชนหากดูแนวโน้มจากเม็ดเงินที่อยู่ในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เห็นว่ามี 2 เซกเตอร์ที่น่าจะลงทุนเพิ่มขึ้น คือ “เทเลคอมและทีวีดิจิตอล” ขณะที่ตัวเลขจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ณ เดือนตุลาคม 2556 มีวงเงินขอส่งเสริมประมาณ 200,000 ล้านบาท เป็นการบ่งบอกว่า ภาคเอกชนพร้อมลงทุนถ้าการเมืองสงบ

ตลาดทุนปีนี้ต้องระวัง “การเมือง-Bond Shock”

สำหรับตลาดทุน ดร.วิศิษฐ์กล่าวว่า ตลาดทุนปีนี้ไม่น่าจะมีอะไรรุนแรง และน่าจะมีลักษณะเป็น “sideway up” หรือต้นร้ายปลายดี โดยไตรมาสแรกของปีนี้อาจไม่ค่อยดี แต่หลังจากนั้นจะดีขึ้น เพราะกำไรจากผลตอบแทนการลงทุนของตลาดหุ้นไทยอยู่ระดับสูง

แต่ที่ต้องระวังคือ การเมืองอย่ามีอะไรที่เป็น “มือที่มองไม่เห็น” กับ ผลกระทบของการลดคิวอี (Quantitative Easing: QE) ที่อาจทำให้เกิด “Bond Shock” เพราะจะทำให้ตลาดทุนปรับตัวลดลงได้ค่อนข้างมาก แม้จะปรับลดลงระยะสั้นๆ แต่ปีนี้ต้องระวังปัจจัยนี้ให้ดี

“Bond Shock คือภาวะที่อัตราผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้น ราคาพันธบัตรตกลง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ จะทำให้นักลงทุนที่ถือพันธบัตรซึ่งต้องบันทึกบัญชีตามราคาตลาดจะเสียหาย ก็ต้องเอาเงินก้อนหนึ่งมาโปะ ซึ่งเงินก้อนนี้ส่วนใหญ่จะมาจากเงินในตลาดหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นตก และที่ต้องระวังคือ เมื่อผลตอบแทนพันธบัตรสูงเกินความจริงทำให้คนมาซื้อพันธบัตรทิ้งตลาดหุ้นทำให้หุ้นตก” ดร.วิศิษฐกล่าว

“โหราจารย์” ฟันธงเศรษฐกิจยังไม่ดี

ดร.เจษฎากล่าวว่า ดาวศุกร์โปรเกรสเล็งอังคารเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจในปีนี้แต่ยังไม่ถึงขั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะมีดาวเนปจูนช่วยหนุนอยู่ แต่เศรษฐกิจยังไม่น่าจะดี โดยรวมแล้วครึ่งปีหลังเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น ส่วนตลาดหุ้นช่วง 25 กุมภาพันธ์ ถึง 25 เมษายน 2557 นักลงทุนต้องมีระมัดระวัง แต่กลางปีตลาดหุ้นจะดีขึ้น อีกส่วนที่อาจมีผลทำให้เศรษฐกิจวิกฤติคือภัยพิบัติรุนแรง ซึ่งปีนี้คงไม่มี

ด้านนายชูศักดิ์กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 จะเข้าสู่วงรอบ 18.6 ปี อีกครั้ง จึงมีโอกาสเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งภาค 2 เพราะวงรอบ 18.6 ปี เกี่ยวข้องกับ “วิกฤติเศรษฐกิจอันเกิดจากหนี้สิน” ครั้งที่แล้วอยู่ในช่วงปี 2539-2540 ทำให้เกิดฟองสบู่ หนี้ภาคเอกชนที่กู้ยืมมากคือจุดตายของวงรอบก่อน

แต่ครั้งนี้จุดตายอยู่ที่ “หนี้ภาครัฐ” โดยเฉพาะหนี้จากโครงการประชานิยมซึ่งเกิดแล้วแต่ยังไม่ถูกเปิดโปงออกมา ซึ่งถ้าถูกเปิดเผยออกมาจะทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ หนี้ของภาครัฐที่ระเบิดออกมาจะทำให้เศรษฐกิจทั้งประเทศทรุด ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูตามสถิติจะเห็นได้ว่ารอบของราหูทุกๆ 18.6 ปีนั้นจะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นทุกครั้ง เช่น ครั้งที่ปี 40 เกิดวิกฤติฟองสบู่แตกเป็นต้น

“วงรอบของราหูวนกลับมาครบรอบทุกๆ 18.6 ปี ดวงดาวจะโคจรเป็นทีสแควร์ จะมีผลต่อการเมืองและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก บ่งบอกว่าวิกฤติทางเศรษฐกิจกำลังจะกลับมาแล้วซึ่งจะกินเวลาประมาณ 2 ปี และมีโอกาสเกิดขึ้นสูง แต่อาจยังไม่เห็นในปีนี้ แต่อาจเกิดขึ้นในปีหน้า” นายชูศักดิ์กล่าว

 รศ.ดร.เจษฎา โลหอุ่นจิตร ( อ.ยูเรสโตร) เจ้าของคอลัมน์ “ถอดรหัสลับดวงดาว” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
รศ.ดร.เจษฎา โลหอุ่นจิตร ( อ.ยูเรสโตร) เจ้าของคอลัมน์ “ถอดรหัสลับดวงดาว” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

แนวโน้มการเมืองดีขึ้น เข้าโหมดปฏิรูป

สำหรับปัญหาการเมือง ดร.เจษฎากล่าวว่า ในมุมมองทางโหราศาสตร์ต่อการเมือง เห็นความขัดแย้งเริ่มมาตั้งแต่ 2548 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ดาวพลูโตแผลงฤทธิ์ด้วยการทำมุมท้าทายในตำแหน่งดวงเมือง นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน (2548) ยังมีดาวมฤตยูย้ายเข้าเรือนชะตาที่ 11 ในเดือนกุมภาพันธ์ หมายความว่าการเมืองจะไม่มีเสถียรภาพไปอีก 7 ปี

แต่ในปี 2557 จะเป็นปีสุดท้ายที่ดาวพลูโตจะทำมุมแนบแน่นกับตำแหน่งดวงเมือง โดยจะพ้นตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ส่วนดาวมฤตยูจะพ้นตำแหน่งหลังเดือนมีนาคม หมายความว่าปัญหาทางการเมืองจะเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปีนี้ แต่ว่ายังมีความขัดแย้งรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย จะเกิดการปฏิรูป การรื้อโครงสร้าง จนไปถึงเดือนพฤษภาคม

“ที่สำคัญคืออุปราคา ในวันที่ 29 เมษายนจะเกิดสุริยุปราคา อาจจะเป็นอวสานของรัฐบาล หรือมีความล่อแหลมต่อการอยู่รอดของรัฐบาล เพราะอุปราคาจะเพิ่มดีกรีความรุนแรงในระยะเวลาสั้นๆ เปรี้ยงเดียวเลย ยกตัวอย่างเช่น 3 พฤศจิกายน 2556 เกิดสุริยุปราคาซึ่งก็คือเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง” ดร.เจษฎากล่าว

สำหรับดวงของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดร.เจษฎากล่าวว่า 5 ดวงนี้ตกอยู่ในช่วงดาวเสาร์ขาลง เพราะฉะนั้นต้องถอยออกไป เพราะถ้าไม่ถอยออกไปมีแต่จะทำให้ประเทศแย่และไม่มีทางออก

“อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ทางการเมืองจะจบที่เรื่องของกระบวนการยุติธรรม แต่จะมาช้าหน่อย ส่วนจะจบแบบไหนอย่างไรเป็นเรื่องของรายละเอียด แต่ที่แน่ๆ จบภายในครึ่งปีแรกแน่นอน และครึ่งปีหลังจะเป็นเรื่องของการปฏิรูป” ดร.เจษฎากล่าว

นายชูศักดิ์ จงธนะพิพัฒน์
นายชูศักดิ์ จงธนะพิพัฒน์

ด้าน นายชูศักดิ์กล่าวว่า ตอนนี้การเมืองกำลังจะเปลี่ยนแปลงและเตรียมตัวปฏิรูปเข้าสู่วงรอบใหม่ ยุคธุรกิจคุมการเมืองกำลังจะหมดความนิยมไปในที่สุด ในปี 2557 น่าจะเป็นเรื่องของการร่างกติกาเพื่อปฏิรูปทางการเมือง ไม่น่ามีความรุนแรงอะไรเกิดขึ้น แต่มีโอกาสสูงที่จะเกิดการปะทะกันทางความคิด

“ช่วงที่อันตรายคือต้นเดือนเมษายนและต้นเดือนพฤษภาคม กลางปีการเมืองจะนิ่งขึ้น จะใช้เวลาในการปฏิรูป 3-4 ปี จะมีอุปสรรคบ้างเพราะจะมีปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจเข้ามาด้วย เดือนสิงหาคมน่าจะเป็นเดือนที่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต่างๆ ชัดเจนและปัญหาทางการเมืองต่างๆ จะจบลง” นายชูศักดิ์กล่าว