ThaiPublica > คอลัมน์ > พื้นที่สาธารณะเปียกแฉะ

พื้นที่สาธารณะเปียกแฉะ

16 พฤศจิกายน 2011


โตมร ศุขปรีชา

ฝรั่งเรียกว่า Wetland คนไทยเรียกไปหลายอย่าง ตั้งแต่บึงและหนอง บางคนอาจจะจัดแก้มลิงอยู่ในพื้นที่เปียกที่ว่านี้ได้ด้วย แต่ก็ต้องถือว่า แก้มลิงเป็นพื้นที่เปียกที่ผ่านการจัดการโดยมนุษย์ ไม่ใช่พื้นที่เปียกที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือ Natural Wetland

การ ‘เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ’ นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากนะครับ เช่นแม้เมืองที่อยู่ทางภาคเหนือในแถบถิ่นภูเขาอย่างเชียงใหม่ เมื่อแรกสร้างเมืองหลายร้อยปีก่อน จักรวาลวิทยาหรือคติในการสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น จะดูการไหลของน้ำเป็นสิ่งสำคัญเอกอุ ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ดูว่ามีน้ำในแม่น้ำปิงไหลมาให้ใช้อาบกินดื่มเท่านั้นเป็นพอ แต่เมื่อเมืองอยู่ใกล้กับภูเขา จึงต้องดู ‘ทางไหลของน้ำ’ ด้วย ซึ่งก็ปรากฏว่า เชียงใหม่สมัยโบราณนั้นมี ‘บึง’ รับน้ำที่หลากลงมาจากดอยอยู่หลายแห่งทีเดียว เรื่องนี้หาอ่านได้จากหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ล้านนา’ โดย สรัสวดี อ๋องสกุล ได้ ในนั้นนอกจากจะมีรายละเอียดเรื่องการสร้างเมืองแล้ว ยังมีข้อมูลเรื่อง ‘บึงรับน้ำ’ ของเชียงใหม่อยู่ด้วย ซึ่งสอดรับกับคติเรื่องทิศต่างๆของเชียงใหม่ ว่าทิศใดควรจะสร้างอะไรอย่างไร

อย่างไรก็ดี ปัญหาของเชียงใหม่ทุกวันนี้ก็เหมือนปัญหาของกรุงเทพฯ อยุธยา หรือแม้แต่หลุยเซียนา อิลลินอยส์ ไอโอวา หรือมิสซูรี นั่นก็คือคนไม่เห็นว่า ‘บึง’ (ซึ่งก็คือหนึ่งใน ‘พื้นที่เปียกธรรมชาติ’) นั้นเป็นสิ่งสำคัญอีกต่อไป ผู้คนจึงรุกล้ำทำลายบึงหรือพื้นที่เปียกแฉะเหล่านั้น จนกระทั่งกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร ชุมชน หรือแม้กระทั่งห้างใหญ่ๆ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เชียงใหม่มีปัญหาน้ำท่วมเพิ่มขึ้น

ที่คนไม่ชอบพื้นที่เปียกแฉะพวกนั้น คิดว่าหลายคนคงเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะมันแลดูเป็นที่รกร้างเปล่าเปลี่ยว เต็มไปด้วยอสรพิษ สัตว์ร้าย ยุงชุม อย่างดีที่สุดก็เห็นกันว่าเป็นพื้นที่ที่ ‘เสียเปล่า’ คือไม่สามารถใช้ประโยชน์โภชน์ผลอะไรได้ จะทำเกษตรก็ไม่ได้ จะเข้าไปอาศัยอยู่ก็ไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น พื้นที่เปียกแฉะพวกหนองบึงต่างๆ ยังชอบมี ‘เรื่องเล่า’ เป็นตำนานต่างๆอันน่าขนพองสยองเกล้า เช่นบางแห่งก็เป็นที่อยู่ของงูเจ้าที่ พญานาค หรือภูติผีปีศาจต่างๆ ไม่ใช่เพียงกับสังคมไทยเท่านั้น แม้ในสังคมตะวันตกเองก็มักมีแนวโน้มจะเห็นว่าพื้นที่เปียกแฉะเหล่านี้เป็นที่ที่ผีร้ายสิงสู่อยู่ด้วย

เราไม่รู้หรอกว่าตำนานและเรื่องเล่าเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาโดยคนโบราณเพื่อ ‘ปกป้อง’ พื้นที่เปียกแฉะเหล่านั้นไม่ให้คนรุ่นหลังเข้าไปรุกล้ำก้ำเกินหรือเปล่า ถ้ามองแบบนักมานุษยวิทยาหรือสังคมวิทยาก็อาจเป็นการควบคุมทางสังคมและจัดสรรพื้นที่แบบหนึ่ง แต่เมื่อยุคสมัยเดินหน้ามาถึงกาละที่เทคโนโลยีขับไล่ผีร้ายได้แล้ว พื้นที่เปียกแฉะพวกนี้ก็ถูก ‘ทำความสะอาด’ (Sanitized) ทั้งในแง่ของความเชื่อ และในแง่ของ ‘ประโยชน์’ ในการใช้งาน นั่นคือทำให้พื้นที่เหล่านี้ปลอดจากผีร้าย และถูก ‘ถมสูง’ เพื่อนำไปใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือทำกิจกรรมต่างๆในสังคม รวมไปถึงการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงด้วย

เรื่องเล่าร้ายกาจเกี่ยวกับพื้นที่เปียกแฉะที่เคยปกป้องคุ้มครองพื้นที่เหล่านั้นมาได้เป็นร้อยๆปี จึงมีส่วน ‘เร่ง’ ให้คนยุคใหม่รีบทำลายล้างบึงเหล่านั้นเร็วด้วยไปด้วยอย่างคาดไม่ถึง

แต่กระนั้น พื้นที่เปียกแฉะเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ ‘เสียเปล่า’ แต่อย่างใด ที่นั่นนอกจากจะเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า นกน้ำ แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ แมลง และอื่นๆอีกล้ว ยังทำหน้าที่เป็นทั้ง ‘เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ’ และ ‘ฟองน้ำธรรมชาติ’ คอยดูดซับน้ำเอาไว้เมื่อเกิดฝนตก แล้วค่อยๆปล่อยน้ำออกมาช้าๆอีกด้วย

การข่มขืนทำลายพื้นที่เปียกแฉะที่เคยเป็น ‘ของธรรมชาติ’ และ ‘ของส่วนรวม’ หรือ ‘พื้นที่สาธารณะ’ กระทั่งกลายเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์และเป็น ‘พื้นที่ส่วนบุคคล’ (เช่นบ้านจัดสรร) นั้น ต้องอาศัยความเห็นชอบร่วมจากรัฐและประชาชน จึงจะสามารถทำได้โดยมีฉันทามติร่วมว่าพื้นที่เปียกแฉะเหล่านี้ควรค่าแก่การ ‘รุก’ เข้าไปใช้ประโยชน์

ไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่ในอเมริกา โดยเฉพาะรัฐอย่างหลุยเซียนา ไอโอวา อิลลินอยส์ และมิสซูรี นั้น พื้นที่เปียกแฉะหรือ Wetland พวกนี้ถูกทำลายไปมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ด้วยวิธีการคล้ายกับเมืองไทย นั่นคือ ‘พัฒนาที่ดิน’ เปียกแฉะลุ่มต่ำพวกนี้ให้กลายเป็นที่ดินถมสูง กลายเป็นที่อยู่อาศัยและโรงงาน

ในสหรัฐอเมริกา ปัญหาของการทำลายพื้นที่เปียกแฉะพวกนี้หนักหนาสาหัสที่สุดที่หลุยเซียนา โดยเฉพาะพื้นที่เปียกแฉะที่อยู่ทางชายฝั่ง อันเป็นปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ (ที่มีเมืองนิวออร์ลีนส์ตั้งอยู่) และปากแม่น้ำอัตชาฟาลายา (Atchafalaya) ซึ่งทั้งสองแม่น้ำนี้แทบจะสัมพันธ์เป็นแม่น้ำเดียวกัน และมีส่วนในการสร้าง ‘ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ’ ทางตอนใต้ของอเมริกาในอ่าวเม็กซิโก และทำให้ผืนดินงอกออกมาเรื่อยๆ

ในอดีต มีการสังเกตพบว่า แม่น้ำมิสซิสซิปปี้ทำท่าจะเปลี่ยนทางเดิน โดยจะเลี้ยวเลาะเข้ามารวมกับแม่น้ำอัตชาฟาลายา ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นจริง ก็จะทำให้เมืองนิวออร์ลีนส์และบาร์ตันรูจ (Barton Rouge) ถึงแก่หายนะ จึงเกิดความพยายามที่จะ ‘ควบคุม’ แม่น้ำทั้งสองสายอย่างเข้มงวดขึ้นมา

ระบบการควบคุมแม่น้ำสองสายนี้มีหลายอย่างหลายชั้นมาก แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือการสร้างระบบคันคลอง (Levee System) ขึ้นมาเพื่อควบคุมน้ำท่วม โดยคันคลองที่ว่านี้ไม่เหมือนกับ Dyke หรือพนังกั้นน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาของเราที่สร้างติดกันกับตัวแม่น้ำเลย (ซึ่งเป็นวิธีสร้างอย่างไม่มีทางเลือก เนื่องจากสร้างพนังขึ้นหลังจากมีชุมชนหนาแน่นแล้ว) แต่ระบบคันคลองของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้และอัตชาฟาลายานั้น มีการ ‘เผื่อ’ พื้นที่ ระหว่าง ‘ขอบแม่น้ำ’ ในยามที่น้ำไม่ท่วม กับแม่น้ำเวลาที่ ‘บวม’ ขึ้น (ฝรั่งเรียกแม่น้ำเวลาน้ำหลากว่า Swell) ให้มีพื้นที่มากพอสมควรที่แม่น้ำจะ ‘หายใจหายคอ’ ได้ ไม่ต้องรีบยกตัวสูงขึ้นมาเท้อพนังในทันที โดยเรียกพื้นที่ที่เผื่อไว้สำหรับการบวมของแม่น้ำนี้ว่า Batture และในพื้นที้นี้ก็จะไม่มีการสร้างเมืองหรือชุมชนอะไรขึ้น ถ้าจะทำอะไรได้บ้าง ก็เป็นการเกษตรที่รับรู้อยู่แล้วว่าน้ำอาจจะท่วมได้ โดยเฉพาะในฤดูใบไม้ผลิที่หิมะทางต้นน้ำละลาย

ฟังดูก็น่าจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ดีแล้วใช่ไหม แต่ปรากฏว่า ปัญหาใหม่กลับเกิดขึ้น เพราะคันคลองที่ว่ากลับเป็น ‘ตัวเร่ง’ ให้ตะกอนทั้งหลายแหล่ที่เคยไหลมากับน้ำนั้น ไหลผ่านไปตามแม่น้ำเหมือนเป็น ‘ทางด่วน’ ที่ ‘เร่ง’ น้ำให้ลงทะเลไปโดยไม่มีโอกาสได้เอ่อท่วมผืนดินเหมือนแต่ก่อน

อย่าคิดว่าตะกอนในน้ำนั้นมีกระจิบกระจอกนะครับ เพราะตะกอนที่พัดพามากับน้ำมีปริมาณมหาศาล อย่างในพื้นที่รับน้ำที่แม่น้ำมิสซิสซิปปี้ แม่น้ำมิสซูรี และแม่น้ำอิลลินอยส์ มาบรรจบกันนั้น ในคราวน้ำท่วมใหญ่ปี 1993 พบว่ามีตะกอนมากองท่วมสูงถึง 6 ฟุต นี่หมายถึงความสูงของตะกอนนะครับ ไม่ใช่ความสูงของน้ำ นั่นแปลว่าตะกอนที่ไหลมากับน้ำนั้นมีปริมาณมหาศาล และเป็นตัวการก่อให้เกิดดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ อันเป็นความรู้ที่เราเรียนกันมาตั้งแต่ประถมศึกษา

แต่พอมีคันคลอง (หรือที่ร้ายและ ‘คับแคบ’ กว่าก็คือพนัง) ตะกอนเหล่านี้ก็ไหลลงอ่าวเม็กซิโกไปหมด ไม่ได้ไหลเข้าไปหาพื้นที่เปียกแฉะเหมือนเดิม พื้นที่เหล่านี้จึงไม่เปียกแฉะอีก แต่แห้งผากรอคอยให้เกิดการ ‘ใช้ประโยชน์’ อื่นๆ แต่เมื่อเกิดพายุและการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติอื่นๆ ผืนดินก็เริ่มถูกกัดกร่อน และไม่มีตะกอนใหม่มาทับถม

สตีเฟน เนลสัน ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาแห่ง Tulane University บอกว่าพื้นที่ของหลุยเซียนานั้นอยู่บนไหล่ทวีป ดังนั้นเมื่อตะกอนพวกนี้ไหลลงทะเล มันก็เลยไหลลงไปที่ก้นอ่าวหมด ไม่มีโอกาสจะทับถมตัวเอง นั่นทำให้พื้นที่เปียกแฉะที่เคยเป็นพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมค่อยๆหายไป

กรณีของหลุยเซียนานั้นไม่เหมือนเมืองไทย เพราะอ่าวไทยเป็นอ่าวตื้นๆและไม่ได้ตั้งอยู่บนไหล่ทวีป ตะกอนจากแม่น้ำถึงจะมีพนังกั้นไม่ให้ท่วม ก็จะไหลลงไปทับถมที่ก้นอ่าวไทยอยู่ดี แต่กระนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้เกิดการกัดกร่อนชายฝั่งอย่างที่เราเห็นกันอยู่ การ ‘ถมตะกอน’ ผ่านทางแม่น้ำไม่กี่สายด้วยวิธีที่ ‘ไม่ธรรมชาติ’ (เนื่องจากมีการสร้างพนัง) จึงไม่น่าจะก่อให้เกิดการทับถมเป็นวงกว้างขนาดใหญ่พอจะ ‘สู้’ กับการกัดกร่อนดังกล่าวได้

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้เกิดฝนตกมากขึ้น จึงเกิดการชะล้างทางเหนือมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นไปได้อย่างยิ่งที่น้ำหลากน่าจะมีตะกอนเพิ่มขึ้น แต่จากการศึกษาของ ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล แห่งหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรากฏว่า ตะกอนในแม่น้ำเจ้าพระยากลับลดลงถึงประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ หลังมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้นแม่น้ำ (ดู บทความ “ความขัดแย้งจากผลกระทบของการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง”) จึงเป็นเรื่องน่าสนใจมากว่า ขนาดกรณีของหลุยเซียนา ซึ่งมีเพียงคันคลองกั้นสองข้างโดยไม่ได้มีผลกระทบของเขื่อนขนาดใหญ่ มีเฉพาะเขื่อนควบคุมน้ำขนาดเล็กในแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ตอนล่างและแม่น้ำอัตชาฟาลายา ร่วมกับการควบคุมน้ำไม่ให้ท่วมโดยคันคลอง ยังทำให้แผ่นดินถูกกัดเซาะได้มากขึ้นขนาดที่ต้องหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงกัน แล้วแผ่นดินทางภาคกลางของไทยที่มีทั้งพนังกั้นน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้นน้ำจะเป็นอย่างไร ทำไมเราถึงไม่เห็นผู้มีอำนาจหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดถึงอย่างจริงจัง ทั้งที่มีการศึกษาในเรื่องนี้ไว้มากพอสมควรทีเดียว

ภาคกลางของไทยนั้น เดิมทีพูดได้ว่าเป็น ‘พื้นที่เปียกแฉะ’ เกือบทั้งหมด เพราะมันคือดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เกิดจากการทับถมของตะกอนนั่นเอง พื้นที่เปียกแฉะในภาคกลางที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬารนั้นไม่ได้เปียกแฉะเป็นบึงหนองไปเสียหมด แต่มีที่ดอนที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยหรือสร้างชุมชนด้วย และคนสมัยโบราณที่สร้างเมืองขึ้นมาในพื้นที่ภาคกลางก็ตระหนักดีว่ากำลังสร้างเมืองอยู่บนพื้นที่รับน้ำ (Flood Plain) จึงมีการออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมืองให้สอดรับกับธรรมชาติ

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือความรู้ในการ ‘ปล่อย’ ให้พื้นที่เปียกแฉะยังคงเปียกแฉะกันต่อไปเรื่อยๆ เพราะพื้นที่เปียกแฉะนั้นมีบทบาทสำคัญในการป้องกันน้ำท่วม เวลาน้ำหลากหรือฝนตกหนัก น้ำจะไหลเข้าไปกักเก็บอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ตามธรรมชาติ เพราะเป็นที่ลุ่มต่ำกว่า แล้วค่อยๆไหลออกมา โจเซฟ ลาร์สัน ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมที่ University of Massachusetts กล่าวว่า น้ำที่กักอยู่ในพื้นที่เปียกแฉะพวกนี้ ส่วนหนึ่งระเหยโดยตรงกลับขึ้นไปในบรรยากาศ ทั้งที่ระเหยเองและผ่านการคายน้ำของพืช บางส่วนก็ไหลซึมลงไปเป็นน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลให้ได้ขุดเจาะเอาขึ้นมาใช้ แต่ที่เหลือจะค่อยๆไหลออกมาสู่แม่น้ำลำคลองธรรมชาติที่เชื่อมต่อกับพื้นที่เปียกแฉะเหล่านั้น

ที่บอสตัน มีการศึกษาว่าจะควบคุมน้ำท่วมจากแม่น้ำชาลส์ซึ่งไหลผ่านกลางเมืองบอสตันไปออกมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างไร การศึกษาบ่งชี้ว่า แทนที่จะลงทุนสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ จะใช้งบประมาณต่ำกว่ามาก หากซื้อพื้นที่เปียกแฉะตามธรรมชาติ (Natural Wetland) จำนวน 8,000 เอเคอร์ ที่ตกไปอยู่ในมือของเอกชนกลับคืนมา แล้วรักษาให้เป็นเขตสงวนโดยใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการกล่าวว่าพื้นที่เปียกแฉะตามธรรมชาติพวกนี้ช่วยป้องกันน้ำท่วมได้เฉพาะน้ำท่วมขนาดเล็กที่เกิดขึ้นตามปกติทุกปีเท่านั้น แต่ถ้าเป็นน้ำท่วมใหญ่ระดับร้อยปีมีครั้ง พื้นที่เปียกพวกนี้อาจช่วยลดระดับความสูงของน้ำได้ แต่ไม่ได้ทำให้น้ำ ‘ไม่ท่วม’ หรือแห้งผากเหมือนไม่ได้เกิดอะไรขึ้นเลย

ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดใหม่ในการหาทางสร้างพื้นที่เปียกแฉะขึ้นมาเสริม โดยเป็น Man-Made Wetland ที่มีขนาดใหญ่ เพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วมน้ำเท้อ โดยเฉพาะในบางเมืองที่พื้นที่เปียกแฉะตามธรรมชาติถูกรุกล้ำจนกลายเป็นชุมชนหรือโรงงานอุตสาหกรรมไปมาก จะฟื้นฟูกลับคืนมาก็ยากเย็นเหลือใจ สู้สร้างใหม่เลยไม่ดีกว่าหรือ

กล่าวได้ว่าแก้มลิงก็เป็นหนึ่งในแนวคิดนี้ แต่ปัญหาของการบริหารจัดการน้ำแบบนี้ก็คือ น้ำนั้นมี ‘ความทรงจำ’ ของมันเอง มันรู้ว่าเมื่อร้อยปีก่อนเมื่อคราวท่วมใหญ่นั้นมันเคยไหลไปทางไหน เมื่อท่วมใหญ่คราวนี้ จะทำอย่างไรมันก็จะไหลไปทางเดิมนั่นแหละ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ‘ทางน้ำไหล’ ที่ชื่อถนนวิภาวดีรังสิตในปัจจุบันนั้น พูดได้ว่าตัดผ่านเข้าไปใน ‘บึง’ ซึ่งมีขนาดมหึมาเรียกว่า ‘บึงพญาเวิก’ ที่มีลักษณะเป็นทุ่งใหญ่เหมือนทะเลสาบ กินพื้นที่ตั้งแต่สถานีรถไฟบางซื่อ ย่านพหลโยธิน สวนจตุจักร ลาดพร้าว สามแยกเกษตร จนมาถึงสุทธิสาร (ดูข้อมูลนี้ได้ในหนังสือ ‘ย่านเก่าในกรุงเทพฯ’ โดย ปราณี กล่ำส้ม หรือหนังสือ ‘ย่ำต๊อกทั่วกรุงเทพฯ’ โดย น. ณ ปากน้ำ) นั่นแปลว่าพื้นที่ใจกลางเมืองเหล่านี้ ในอดีตก็คือ ‘พื้นที่รับน้ำ’ ดีๆนี่เอง

ด้วยเหตุนี้ การทำลายพื้นที่รับน้ำธรรมชาติเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพื้นที่เปียกแฉะที่ว่า แล้วหันมาพยายามบริหารจัดการน้ำด้วยการสร้างพื้นที่รับน้ำใหม่ๆ ขึ้นมาโดยฝืนธรรมชาติและขัดกับ ‘ความทรงจำ’ ของน้ำ ซึ่งคือผู้สลักเสลาผืนแผ่นดิน จึงก่อให้เกิดปัญหามากกว่าจะแก้ปัญหา ยกเว้นแต่ว่า พื้นที่รับน้ำใหม่ที่สร้างขึ้นนั้นจะอยู่ในเส้นทางไหลตามธรรมชาติของน้ำ ซึ่งแก้มลิงหลายแห่งก็เป็นไปตามนี้ แต่การยกแค่คำว่าแก้มลิงขึ้นมาเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์แล้วคิดสร้างเปรอะดะไปทั่วโดยไม่ได้ศึกษาให้ดีนั้นจะไม่แก้ปัญหาอะไร

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราสร้างพื้นที่รับน้ำหรือ ‘พื้นที่เปียกแฉะเทียม’ (ฝรั่งเรียกว่า Mitigation) ขึ้นมา แล้วเกิดอาการขัดแย้งกับธรรมชาติ ก็อาจให้ผลเสียด้วยซ้ำ เช่นในพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน มีการสร้างบึงถาวรขึ้นมาทดแทนพื้นที่เปียกแฉะตามธรรมชาติเดิมที่สูญเสียไป ปรากฏว่าเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาแทนที่ นั่นคือมีกบบูลฟรอกสายพันธุ์ใหม่เข้ามาอาศัยอยู่ แล้วแย่งอาหารกับที่อยู่อาศัยของกบสายพันธุ์ดั้งเดิม ปัญหานี้สำหรับนักการเมืองหรือนักอุตสาหกรรมอาจไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่มากนัก แต่นี่คือปัญหาเรื่อง Alien Species หรือ ‘สายพันธุ์ต่างด้าว’ ที่เข้ามาทำให้สัตว์พื้นเมืองสูญพันธุ์ และอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบนิเวศได้มาก การลงมือแก้ปัญหาอะไรจึงต้องทำอย่างละเอียดอ่อนและใช้ความรู้ความเข้าใจอย่างสูง

แล้วเราควรทำอย่างไร?

ทางออกที่หลายคนอาจคิดว่า ‘สุดขั้วเกินไป’ ก็คือการฟื้นฟูพื้นที่เปียกแฉะหรือ Wetland ให้กลับมาเหมือนที่เคยเป็น แล้วปรับวิถีชีวิตของผู้คนให้เหมาะสมกับน้ำ ดูว่าบ้านของตนอยู่ตรงไหน โรงงานของตนอยู่ตรงไหน พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่รับน้ำหรือลุ่มต่ำอย่างไรหรือไม่ และการสักแต่ ‘ถมสูง’ นั้น ได้สร้างปัญหาอะไรให้เกิดขึ้นกับชุมชนและสังคมหรือไม่

การสร้างคันคลองหรือพนังกั้นน้ำนั้น มีประโยชน์อยู่บ้างในการควบคุมน้ำไม่ให้ท่วมเขตเมืองที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นไปได้ไหมที่จะขยายพื้นที่คันคลองให้ขอบเขตของแม่น้ำที่จะท่วมนั้นกว้างออกเพื่อให้น้ำมีที่หายใจหายคอบ้าง โดยประชาชนที่อยู่ในเขตใกล้แม่น้ำต้องรับรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย ทุกคนต้องเข้าใจร่วมกันเสียก่อนว่า การสร้างคันคลองหรือพนังกั้นน้ำนั้น เป็นไปเพื่อ ‘ควบคุม’ ให้แม่น้ำนั้น ‘เชื่อง’ แต่แม่น้ำไม่ได้เชื่องตลอดเวลา แม่น้ำมีชีวิตจิตใจของตัวเอง และแม่น้ำอาจ ‘พยศ’ ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ น้ำท่วมระดับร้อยปีมีครั้งอาจไม่จำเป็นต้องท่วมทุกร้อยปี มันอาจท่วมติดกันในเวลาไม่กี่ปีหรือเว้นระยะไปสามร้อยปีก็ได้ ยิ่งสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแบบนี้ยิ่งคาดเดาและทำนายได้ยากมาก

พูดแบบอุดมคติ ภาคกลางควรมีพื้นที่เปียกแฉะหรือพื้นที่รับน้ำจากด้านเหนือไล่ลงมาจนถึงชายฝั่งทะเล โดยพื้นที่เหล่านี้อาจทำเป็นระบบคลองแบบแนวตาราง คือมีทั้งคลองที่ตัดขวางการไหลของน้ำและคลองที่อยู่ในแนวการไหลของน้ำ แล้วใช้คันกั้นน้ำในแนวตัดขวางลดหลั่นลงมา โดยที่คันคลองเหล่านี้ต้องไม่สูงมากเกินไป เพื่อให้พื้นที่ทั้งหมดสามารถเกิด ‘น้ำท่วม’ ได้ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป และควรสงวนไว้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร หรือเป็นชุมชนที่เข้าใจการใช้ชีวิตอยู่กับน้ำอย่างแท้จริง

ที่การทำนายน้ำท่วมในปีนี้เป็นไปได้ยาก ก็เพราะน้ำทุ่งได้กลายมาเป็น ‘น้ำเมือง’ ที่คำนวณการเดินทางของมันได้ยากเนื่องจากมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย แต่ถ้าเรามีพื้นที่เปียกแฉะขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่จากตอนบนลงมาถึงทะเลได้โดยไม่มีสิ่งก่อสร้างสะเปะสะปะมาขวางทางน้ำ เราก็จะคำนวณได้แม่นยำมากขึ้น ว่าน้ำจะท่วมกินเวลานานเท่าไหร่ ตรงไหนสูงเท่าไหร่ และน้ำจะลงทะเลในยามที่น้ำไม่หนุนสูงเมื่อไหร่

แม่น้ำไม่ใช่ทางระบายน้ำ แม่น้ำต้องการ ‘ที่ราบลุ่ม’ เพื่อขยายตัวอ้วนบวมขึ้นในบางครั้งบางคราว และบางฤดูกาล แม่น้ำก็ไดเอ็ทจนผอมบาง มันเหมือนการหายใจของธรรมชาติที่มีขึ้นลงเปลี่ยนผัน เป็นกฎธรรมดาของไตรลักษณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

เดวิด กาแลต (David Galat) นักวิชาการด้านนิเวศวิทยาแม่น้ำแห่ง University of Missouri at Columbia บอกว่าการพยายามควบคุมน้ำด้วยการ ‘บีบ’ ให้น้ำไหลไปในทิศทางที่ต้องการและด้วยการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆขึ้นมาควบคุมน้ำนั้นเป็นเรื่องที่ยังไม่ ‘ละเอียดอ่อน’ เพียงพอ แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของมนุษย์ที่ว่า เทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาให้ได้ทุกอย่าง การควบคุมน้ำจึงเป็นส่วนหนึ่งแห่งอหังการแห่งมนุษยชาติและเทคโนโลยี ที่ว่าเราจะสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ แต่เขาบอกว่า ถ้ายังมีการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำ ควบคุมแม่น้ำ หรือมีการสร้างอะไรต่อมิอะไรบนที่ราบลุ่ม ในพื้นที่เปียกแฉะที่ควรเป็นที่สาธารณะกันต่อไป ไม่ช้าก็เร็ว เราจะต้องชดใช้ด้วยน้ำท่วมใหญ่ครั้งถัดไป

เขายังบอกอีกด้วยว่า “น้ำท่วมไม่ใช่การที่แม่น้ำรบกวนเรา การไม่มีน้ำท่วมต่างหาก ที่คือการรบกวนแม่น้ำ”

บางทีเราอาจต้องกลับมาคิดกันให้ดีๆ ว่าเราอยากให้มีพื้นที่เปียกแฉะ หรืออยากให้คนเล็กคนน้อยต้องร้องไห้จนน้ำตารื้นชื้นแฉะกันต่อไปไม่รู้จักจบสิ้นกันแน่