ThaiPublica > คอลัมน์ > มหานครแห่งอนาคตที่พึงปรารถนา

มหานครแห่งอนาคตที่พึงปรารถนา

31 มกราคม 2013


โตมร ศุขปรีชา

The Singapore City Gallery ที่มาภาพ : http://www.flickr.com
The Singapore City Gallery ที่มาภาพ: http://www.flickr.com

1
ประมาณสักสิบปีก่อน ผมเคยไปสิงคโปร์แล้วพลัดหลงเข้าไปใน Urban Redevelopment Authority หรือ URA ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คล้ายๆ สำนักผังเมืองของสิงคโปร์นั่นเอง

ที่นั่นทำหน้าที่ในการ ‘วางแผน’ ให้กับเมือง อย่างที่เรียกว่า Urban Planning ด้วยการออกแบบ รื้อ ปรับ สร้าง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับประเทศที่มีขนาดเล็กหรือเป็น City-State อย่างสิงคโปร์ ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไม่ให้น่าเบื่อ และที่สำคัญ พื้นที่เล็กทำให้เกิดความหนาแน่นของประชากรสูง ดังนั้น จึงต้องมีการจัดการและจัดสรรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แต่ที่ทำให้ผมต้องทึ่งก็คือ ส่วนของ The Singapore City Gallery ภายใน URA ซึ่งเป็นคล้ายๆ ส่วนจัดแสดงที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ไปในตัวด้วย ว่าสิงคโปร์มี ‘แนวคิด’ ในการออกแบบและเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างไรมาตั้งแต่ในอดีต และเมืองที่จะเห็นต่อไปในอนาคตนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ที่อึ้งและทึ่งมากสำหรับผมก็คือ ที่นี่บอกเราให้รู้อย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้จริงว่าสิงคโปร์ในอนาคตจะมี ‘หน้าตา’ เป็นอย่างไรบ้าง ไม่ใช่แค่ในอีกหนึ่งหรือสองปีเท่านั้น แต่เรารู้ล่วงหน้าได้เลยว่าทางการมี ‘แผนใหญ่’ ที่จะเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาของสิงคโปร์ไปอย่างไรบ้างในอีกห้าปี สิบปี ยี่สิบห้าปี และแม้กระทั่งห้าสิบปีข้างหน้า!

ตอนที่ผมไปดูนั้น สิงคโปร์บอกว่าอีกห้าถึงสิบปี บริเวณมารินาเบย์จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง โดยการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนั้น เขายอมรับออกมาตรงๆ โต้งๆ เลยว่า หลายส่วนก็ ‘เลียนแบบ’ เอา ‘สิ่งที่ดีที่สุด’ ของเมืองต่างๆ ในโลกมาใช้ ทุกวันนี้เราจึงเห็นหลายอย่างในมารินาเบย์ที่ทำให้นึกถึงเมืองต่างๆ ในโลกที่มาชุมนุมรวมกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ฟลายเออร์ หรือสะพานมิลเลนเนียมที่ทำให้นึกถึงลอนดอน เป็นต้น

ที่สำคัญก็คือ ทางการสิงคโปร์นั้น ต่อให้คนมองว่ามีการปกครองที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากแค่ไหน แต่ในวันที่ผมไปเยือน (โดยไม่ได้มีใครเชิญไป ทำให้แน่ใจได้ว่าไม่มีใครจัดฉากโชว์สื่อมวลชนแน่ แต่ถ้าจะจัดฉากอะไรสักอย่าง ผมว่าคงเป็นการจัดฉากถาวรที่เริ่มต้นจากการทำงานจริงเบื้องหลัง) ผมได้เห็นการเปิดรับข้อติชมร้องเรียน และข้อเสนอต่างๆ ต่อ ‘แผน’ ในอนาคตเหล่านี้ โดยเหล่านักออกแบบ สถาปนิก วิศวกร และบุคคลทั่วไป สามารถส่งความคิดเห็นต่างๆ มาให้ มีการจัดแสดงข้อคิดเห็นเหล่านั้นเพื่อให้คนมาแสดงความคิดเห็นอีกต่อหนึ่ง ผมคิดว่าถัดจากนั้น URA น่าจะได้รวบรวมความคิดเห็นต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงแผนการให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

ที่จริง แผนการปรับปรุงเมืองที่ ‘โปร่งใส’ ทำนองนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่สิงคโปร์ เมืองในยุโรปจำนวนมากทำอย่างนี้ เมืองในอเมริกาก็เช่นกัน และแม้กระทั่งเมืองใหญ่ในจีนอย่างเซี่ยงไฮ้ ก็ยังมีการ ‘โชว์’ ให้เห็นว่า เซี่ยงไฮ้ในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แม้จะไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ส่งเสียงสะท้อนกลับเหมือนที่สิงคโปร์ แต่อย่างน้อยที่สุด ผู้คนก็ได้ ‘เห็น’ และรับรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในเมืองเหล่านั้น

แล้วกรุงเทพฯ ล่ะครับ?

2
เรากำลังมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกันอยู่ แต่สำหรับผมแล้ว น่าประหลาดมากที่ผมไม่เห็น ‘แผนการแห่งอนาคต’ ของกรุงเทพฯ จากนโยบายของผู้ว่าฯ คนไหนเท่าไหร่ ไม่ว่าผู้สมัครที่เคยเป็นผู้ว่าฯ มาแล้ว หรือผู้สมัครที่อ้างว่าจะทำงานประสานกับรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ซึ่งตามปกติวิสัยแล้ว ‘คนระดับนี้’ น่าจะมีวิสัยทัศน์ที่มองไกลไปกว่าคนอื่น และน่าจะรู้ด้วยว่าถึงเวลาแล้วที่จะไม่เก็บซุกวิสัยทัศน์ที่ตัวเองมีเอาไว้ก่อน เพราะกลัวประชาชนจะไม่เข้าใจ

เท่าที่เห็น เหล่าผู้สมัครยังคงมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอประเด็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ควรทำจริง แต่สิ่งที่อยากเห็นเพิ่มเติมจากนั้นก็คือ การ ‘แสดงให้เห็น’ ว่าคนเหล่านี้รู้และเข้าใจจริงๆ ว่าโลกกำลังก้าวไปทางไหน

ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองมากถึงเกือบร้อยละ 70 (จนนักวิทยาศาสตร์แอบเรียกมนุษย์สายพันธุ์ ‘คนเมือง’ แบบเหน็บแนมว่า Homosapiens urbanus) แต่นั่นไม่ได้แปลว่าทุกคนจะแห่แหนกันเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ แต่เพียงเมืองเดียวนะครับ ทว่า ‘เมือง’ จะมีมากแห่งขึ้น เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี อุบลราชธานี ฯลฯ ต่อไปมีแนวโน้มจะเติบโตเป็น ‘มหานคร’

แล้วสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับกรุงเทพมหานครหรือ

เกี่ยวสิครับ เพราะนอกจากกรุงเทพฯ จะต้องใหญ่ขึ้นตามแนวโน้มนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่า ด้วยความที่เป็นเมืองหลวง เมืองอื่นๆ จึงมักอยาก ‘เลียนแบบ’ กรุงเทพฯ เพราะฉะนั้น ในฐานะเมืองต้นแบบ ผู้บริหารกรุงเทพฯ จึงต้องมี ‘สำนึก’ ที่ ‘ระมัดระวัง’ ยิ่งกว่าปกติในการคิดจะพัฒนาอะไรในเมือง เพราะมีโอกาสอย่างยิ่งที่เมืองอื่นๆ จะรับไปใช้ด้วย-ตามสำนึกการ ‘บริหารราชการ’ แบบเดิมๆ ที่มักรับวิธีคิดจากส่วนกลางไปเป็นต้นแบบเสมอ ดังนั้น ถ้าเริ่มต้นที่กรุงเทพฯได้ดี ก็เหมือนกลัดกระดุมถูกเม็ด กระดุมแถวอื่นๆ ก็จะไม่ติดผิดไปด้วย ที่สำคัญก็คือ, กระดุมเม็ดที่กลัดถูก-ก็จะได้ไม่ถูกมองว่าผิดบิดเบี้ยวอย่างไรเล่าครับ

เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากชวนผู้สมัครผู้ว่าฯ ทั้งหลายทั้งปวงมาดูกันหน่อยว่า แนวโน้มของการเป็น ‘มหานคร’ ในโลกนี้มันเป็นอย่างไรกัน

เมื่อคนเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น เมืองก็ต้องหนาแน่นมากขึ้น สิ่งแรกที่ทุกคนคิดกันก็คือรถคงติดชะมัดญาติ

แล้ววิธีแก้ไขรถติดคืออะไรหรือ?

ทุกวันนี้ เราแก้ไขรถติดกันโดยคิดแต่จะสร้างถนนเพิ่มขึ้นเพื่อนำมารองรับรถยนต์ แม้ผู้สมัครบางคนจะมีแนวคิดเรื่องรถเมล์ฟรีอะไรต่างๆ แต่สำหรับผม แนวคิดพวกนั้นเป็นแนวคิดที่ล้าหลังมากนะครับ คือ มันก็ควรทำนั่นแหละ แต่น่าจะทำมาสักสามสิบสี่สิบปีที่แล้ว การมา ‘ขาย’ นโยบายทำนองนี้ในตอนนี้จึงเป็นเรื่องที่ ‘แต่ปางก่อน’ มาก

ถ้าเรารู้สึกว่าการจราจรเป็นปัญหาจริงๆ วิธีแก้ปัญหานั้นไม่ควรจะทำแบบ ‘ลูบหน้าปะจมูก’ นะครับ แต่ต้องกลับไปที่ ‘ต้นตอ’ ของปัญหากันก่อน

แล้วต้นตอของ ‘รถติด’ คืออะไรครับ?

คำตอบที่ง่ายที่สุดก็คือ ‘รถติด’ ก็เพราะ ‘รถ’ มีมาก จึงไปขวางทางกันเองไงครับ

ในอนาคต ถ้าคนย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น เมืองมีความหนาแน่นมากยิ่งขึ้น เมืองจะมีลักษณะที่เป็น ‘ชั้น’ แบบ Layers มากขึ้น คือมีระดับผิวดิน ระดับใต้ดิน (ที่ก็มีได้หลายชั้น) และเหนือผิวดิน (ที่ก็มีได้หลายชั้นเช่นกัน)

ถ้าถามว่า แล้วระดับไหนมี ‘คุณค่า’ มากที่สุดต่อชีวิตมนุษย์ คำตอบก็คือระดับผิวดินไงครับ เพราะผิวดินปลูกต้นไม้ได้ สร้างสวนสาธารณะได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีห้วยคลองหนองบึง แม่น้ำ และใช้เป็น ‘ฐาน’ ในการสร้างอาคารสูงได้ด้วย

คำถามที่เกิดขึ้นกับนักวางผังเมืองก็คือ เมื่อระดับผิวดินมันมี ‘ค่า’ มากถึงขนาดนี้ แล้วทำไมเราต้องเอาผิวดินไปสร้างแต่ ‘ถนน’ เพื่อให้รถยนต์แล่นด้วยเล่า

รถยนต์มีอภิสิทธิ์อะไรที่จะได้ใช้ผิวดินมากกว่าคนอื่น!

ถ้าคิดแบบนี้ เราจะเห็นว่ารถยนต์ที่เป็นตัวการก่อมลพิษนั้น แท้จริงแล้วลิดรอน ‘สิทธิ’ ของมนุษย์คนอื่นๆ ที่จะได้ใช้ ‘ผิวดิน’ ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ ‘พื้นที่สาธารณะ’ มากกว่าคนอื่นๆ

ถ้าคิดในแง่นี้ เราจะเห็นว่าการใช้รถยนต์ก็คล้ายการสูบบุหรี่ นั่นคือมันปล่อย ‘ควันพิษ’ ออกมาให้คนอื่น ในขณะที่ผู้ใช้เสพความสบายส่วนตัวอยู่ในกรงขังติดแอร์เย็น แต่ปล่อยคาร์บอนออกมาสร้างก๊าซเรือนกระจก!

เมื่อคิดแบบนี้ เมืองในอนาคตจึงมีแนวโน้มที่จะ ‘จำกัด’ (ไม่ใช่ ‘กำจัด’ นะครับ) รถยนต์ให้อยู่บนผิวดินน้อยที่สุด ด้วยการสร้างเส้นทางรถยนต์ให้อยู่ในระดับ ‘ใต้ดิน’ การสัญจรโดยรถยนต์ในเมืองจะเชื่อมกันทางใต้ดินเท่านั้น โดยเมื่อขับเข้ามาในเมือง ถนนจะลดระดับลงไปอยู่ใต้ดิน แล้วเป็นตัวเชื่อมโยงกับที่จอดรถใต้ดินของอาคารต่างๆ

การให้รถยนต์ไปอยู่ใต้ดินนั้นมีประโยชน์หลายอย่าง อย่างแรกก็คือ เป็นการ ‘คืน’ พื้นที่สาธารณะบนผิวดินให้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน อย่างที่สองที่สำคัญมากก็คือ เมื่อรถยนต์อยู่ใต้ดินแล้ว การ ‘เก็บ’ มลพิษในอากาศเพื่อนำมาบำบัดก็ทำได้ง่าย เพราะไม่ใช่พื้นที่เปิดที่ปล่อยให้มลพิษฟุ้งกระจายไปไหนก็ได้เหมือนในปัจจุบัน

ในส่วนของผิวดิน ไม่ได้แปลว่าจะรื้อถนนทิ้งไปหมด แต่ถนนจะกลายเป็นเส้นทางเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คนโดยใช้รถสาธารณะจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถที่ใช้ระบบไฟฟ้า และที่สำคัญที่สุดก็คือ จักรยาน

ทุกวันนี้ มหานครหลายแห่งในโลกได้ริเริ่มอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง เมื่อยี่สิบปีก่อน ไม่มีใครคิดว่าจะมีเส้นทางจักรยานในแมนฮัตตัน แต่ในปี 2007 เริ่มมีการสร้างเครือข่ายเส้นจักรยานขึ้น แล้วภายในสองปี การใช้จักรยานในนิวยอร์กก็เพิ่มขึ้นสองเท่า บางคนถึงกับกล่าวว่า จักรยานคือจุดเริ่มต้นของมหานครแห่งอนาคตโดยแท้ และผู้ว่าฯ เมืองไหนที่ไม่มีโครงการเรื่องจักรยานอยู่ในหัว มีแต่การแก้ปัญหาโดยสร้างถนนให้รถยนต์เพิ่ม ก็คือผู้ว่าฯ ที่ล้าหลังอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ เพื่อลดการใช้รถยนต์ เมืองจะต้องไม่ขยายตัวด้วยการ ‘แผ่’ ออกไปเหมือนที่เคยเป็นมา แต่เมืองจะต้องมี ‘ศูนย์กลางเมือง’ ที่มีขนาดเล็กหลายๆ แห่ง เพราะถ้าเมืองแผ่ขยายออกไป คนก็จะถูกบีบให้ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น แต่พื้นที่ผิวดินรอบเมืองนั้น ควรถูกนำมาใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกเพื่อส่ง ‘อาหาร’ มาเลี้ยงเมืองมากกว่านำพื้นที่มาสร้างเป็น ‘บ้านจัดสรร’

มหานครในอนาคตต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย

ในอนาคต มนุษย์จะ ‘ฉลาด’ มากพอที่จะไม่ทำร้ายตัวเองด้วยการเดินทางไกลในแต่ละวัน มนุษย์จะอยู่อาศัยและทำงานในละแวกใกล้เคียงกัน แต่จะทำอย่างนั้นได้ ตัว ‘โครงสร้าง’ ของเมืองก็ต้องเอื้อให้ด้วย แนวคิด New Urbanism ของอเมริกาที่เกิดขึ้นเมื่อปลายศตวรรษที่แล้วบอกว่า เมืองยุคใหม่ควรจะมีหลายศูนย์กลาง แต่ละศูนย์กลางต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่อชีวิตที่เพียงพอ เพื่อให้คนสามารถมีชีวิตอยู่กับศูนย์กลางนั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางจากย่านหนึ่งไปอีกย่านหนึ่งทุกๆ วันเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เมืองในอนาคตจะมีการนำอาคารที่มีอยู่แต่ถูกทิ้งรกร้างมาใช้ประโยชน์ทุกซอกทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือเก่า ย่านอุตสาหกรรมเดิม มีการใช้ด้านบนของอาคารใหญ่ๆ เป็นที่พักอาศัย และโดยทั่วไปแล้ว ‘คนเมือง’ จะมีพื้นที่ที่อยู่อาศัย ‘ส่วนตัว’ ที่เล็กลง แต่มีพื้นที่สีเขียวที่เป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ เพิ่มมากขึ้น อาคารต่างๆ จะกลายเป็นอาคารที่มีหลายหน้าที่ เช่น เป็นทั้งคอนโดฯ อาคารสำนักงาน ร้านรวงให้ช็อปปิ้ง อยู่ในตึกเดียวกัน แต่ทุกวันนี้อาคารสูงส่วนใหญ่มักมีหน้าที่เดียว เช่น เป็นที่อยู่อาศัยหรือเป็นอาคารสำนักงานอย่างเดียว ทำให้คนยังต้อง ‘เดินทาง’ จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งอยู่ดี

ทางออกสำคัญอีกอย่างหนึ่งของเมืองใหญ่ก็คือ ระบบขนส่งมวลชนที่ต้องทั่วถึงและ ‘ดี’ ด้วย (ไม่ใช่แค่ ‘ฟรี’ แต่ ‘ห่วย’ เหมือนเดิม-ซึ่งละม้ายเป็นการดูถูกผู้ใช้งานว่าใช้ของฟรีแล้วไม่ต้องดิบดีอะไรนักหรอก!) นักวางผังเมืองบอกว่า ขนส่งมวลชนที่ดีควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อคนเดินเท้าและนักปั่นจักรยานด้วย เพราะคนเหล่านี้ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการใช้รถยนต์

ข้อสรุปเรื่องเมืองแห่งอนาคตอาจอยู่ในย่อหน้านี้ ที่ปรากฏในนิตยสาร Science Illustrated ภาษาไทย ฉบับเดือนมกราคมที่ผ่านมา, ว่า

ในช่วงที่รถยนต์เป็นสิ่งที่ใช้งานกันไปทั่ว ได้เกิดย่านต่างๆ กระจัดกระจายกันห่างจากศูนย์กลางเมือง ย่านชานเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในสหรัฐอเมริกาเรียกกันว่าการเติบโตของเมืองแบบกระจัดกระจาย (Urban Sprawl) เมืองโบราณนั้นมีคนหนาแน่นราว 2,000 คนต่อหนึ่งเฮกตาร์ แต่เมืองที่โตแบบกระจัดกระจายมีความหนาแน่นลดลงเหลือเพียงราว 17 คนต่อหนึ่งเฮกตาร์ สหประชาชาติบอกว่า เมืองที่โตแบบกระจัดกระจายเป็นปัญหาระดับโลก เพราะเมืองแบบนี้แทบไม่มีทางยั่งยืนได้เลย เราใช้วิธีวางผังเมืองให้เติบโตกระจัดกระจายกันมาเป็นเวลานานแล้ว ทุกรายละเอียดถูกกำหนดโดยสถาปนิก แต่อะไรๆ มักไม่ราบรื่นเท่าไหร่ กลายเป็นว่าคนชอบอยู่กระจุกตัวมากกว่า เพราะทั้งมีชีวิตชีวาและติดต่อกับคนอื่นๆ ได้ง่ายกว่าด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นแค่ ‘ส่วนหนึ่ง’ ของวิสัยทัศน์ในการมอง ‘มหานครแห่งอนาคต’ เท่านั้น ยังมีมิติอื่นๆ อีกมากให้ขบคิด เช่น การจัดการกับขยะ การจัดการกับการจราจรในยุคเปลี่ยนผ่าน การใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการกับเมืองให้มากขึ้น การจัดหาน้ำและอาหารให้เพียงพอต่อประชากร เพราะในอนาคต การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาสาหัส

3
ในนิตยสาร Science Illustrated เล่มเดียวกัน ให้ข้อมูลกับผมว่า ขณะนี้สิงคโปร์ได้ใช้ระบบ LIVE Singapore! แล้ว ระบบนี้คือการใช้ ‘ข้อมูล’ จากโทรศัพท์มือถือของผู้คนเพื่อดูว่าขณะนี้คนไปกระจุกตัวกันอยู่ตรงไหน การจราจรตรงไหนติดขัดบ้าง ระบบนี้ลงทุนไม่สูง แต่เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างชาญฉลาด

ที่สำคัญ ระบบนี้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของนักวางผังเมืองด้วย เพราะมัน ‘บอก’ ให้เรารู้ว่าผู้คน ‘ใช้’ เมืองอย่างไรบ้าง สัญจรไปตรงไหนมากกว่ากัน พื้นที่ไหนไม่ค่อยมีคนเข้าไปเพราะอะไร เพื่อจะได้นำความรู้และข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในการวางผังเมืองใหม่ๆ ต่อไป

นับจากครั้งแรกที่ได้เข้าไปใน URA ของสิงคโปร์ สิบปีผ่านไป มารินาเบย์เป็นรูปเป็นร่าง ไม่ได้มีเฉพาะจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างสิงคโปร์ฟลายเออร์หรือมารินาเบย์แซนด์เท่านั้น แต่ยังมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะวิทยาศาสตร์แห่งแรกของโลก และมีสวนสาธารณะที่มีต้นไม้ยักษ์ให้คนได้มาพักผ่อนหย่อนใจด้วย

มหานครแห่งอนาคตที่พึงปรารถนาจะเกิดขึ้นไม่ได้หรอก-หากเราไม่มีผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่พึงปรารถนาเสียที,

ผมบอกตัวเองอย่างนั้น