ThaiPublica > คนในข่าว > “นนทวัฒน์ นำเบญจพล” รางวัลผู้กำกับสารคดีหน้าใหม่ “โลคาร์โน” จากภาพยนต์by the river สายน้ำติดเชื้อ “ห้วยคลิตี้”

“นนทวัฒน์ นำเบญจพล” รางวัลผู้กำกับสารคดีหน้าใหม่ “โลคาร์โน” จากภาพยนต์by the river สายน้ำติดเชื้อ “ห้วยคลิตี้”

25 พฤศจิกายน 2013


“เบิ้ล” นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับหน้าใหม่ที่หลายคนรู้จักเขาจากภาพยนตร์สารคดีที่โดนแบนเรื่อง “Boundary ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” ในวันนี้เขาสร้างภาพยนตร์สารคดีอีกครั้ง “by the river สายน้ำติดเชื้อ”“by the river สายน้ำติดเชื้อ” เรื่องราวของชาวคลิตี้ที่ถ่ายทอดออกมาอย่างเจ็บปวดท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม ทำให้เขาได้รับรางวัลผู้กำกับหน้าใหม่จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลคาร์โน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา…

“นนทวัฒน์ นำเบญจพล” ผู้กำกับวัย 30 ปีเจ้าของผลงานภาพยนตร์สารคดีการเมือง “Boundary ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” “Boundary ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง”ที่สะท้อนปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทย และถูกห้ามฉายในประเทศไทยโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการแบนในครั้งนั้นจากสังคมมากมายในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทั่งสุดท้ายสามารถให้เผยแพร่ได้ แต่ผู้ชมต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป และดูดเสียงออก 2 วินาที ในฉากที่เป็นช่วงงานเฉลิมฉลองปีใหม่ที่แยกราชประสงค์

ล่าสุดเมื่อดือนสิงหาคมที่ผ่านมา “เบิ้ล” เป็นที่สนใจจากสังคมอีกครั้งหลังจากที่เขาเป็นเจ้าของรางวัล Special Mention สาย Concorso Cineasti del presente หรือผู้กำกับหน้าใหม่ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลคาร์โน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Locarno international film festival Switzerland) จากภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับชาวบ้านคลิตี้ “By the River สายน้ำติดเชื้อ” จากคดีสิ่งแวดล้อมที่ต่อสู้กันในกระบวนการยุติธรรมนานถึง 14 ปี “เบิ้ล” ได้สะท้อนชีวิตประจำวันของชาวบ้านท่ามกลางธรรมชาติที่ปนเปื้อนสารตะกั่วที่ชาวคลิตี้ยากจะหลีกเลี่ยง

นนทวัฒน์ นำเบญจพล
นนทวัฒน์ นำเบญจพล

ไทยพับลิก้า : เข้าสู่วงการภาพยนตร์ได้อย่างไร

สมัยมัธยมผมชอบวาดการ์ตูนเป็นเรื่องๆ แบบการ์ตูนญี่ปุ่นและส่งประกวดตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.6 พอถึง ม.6 การ์ตูนก็ได้ตีพิมพ์ ทำให้ตอนจะเข้าสอบมหาวิทยาลัยเล็งไว้ว่าจะเลือกเรียนภาพยนตร์อันดับหนึ่งแล้วก็นิเทศศิลป์อันดับสอง แต่เนื่องจากผมเรียนไม่เก่ง GPA เลยไม่ดี ทำให้คะแนนสอบไม่ถึงแม้ว่าคะแนนสอบวิชาเฉพาะได้เต็มก็ตาม ดังนั้นจึงตัดสินใจเรียนกราฟฟิกดีไซน์มหาวิทยาลัยรังสิต แต่ก็รู้สึกว่ากราฟฟิกไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดที่เราต้องการออกไปได้ เพราะกราฟฟิกเรียนเพื่อทำแพคเก็จสินค้า

พอเรียนกราฟฟิกดีไซน์มาสัก 2-3 ปีก็เริ่มเบื่อๆ พอถึงช่วงที่ต้องทำวิทยานิพนธ์ก็รู้สึกว่าอยากทำหนัง ประกอบกับกลุ่มเพื่อนๆ เราเล่นสเก็ตบอร์ด ผมจึงเอาภาพ footage ที่เพื่อนๆ ถ่ายวิดีโอตอนเล่นสเก็ตบอร์ดกว่า 60 ตอนมาตัดเป็นหนังสั้นทำเป็นวิทยานิพนธ์ส่งอาจารย์ เพราะเห็นว่าเพื่อนเราเล่นสเก็ตบอร์ดเก่งระดับประเทศ มีเป็นทีมชาติด้วย ก็คิดว่าน่าสนใจ

ไทยพับลิก้า : ก่อนหน้านี้เคยทำหนังการเมืองเรื่อง “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” ทำไมถึงสนใจทำเรื่องนี้

เราก็โตขึ้นด้วย แล้วประเด็นที่เราทำตอนเด็กๆ ก็เป็นประเด็นที่สังคมกดทับเหมือนกัน เพราะว่าเด็กที่เล่นกีฬาสเก็ตบอร์ดในตอนนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ไม่ว่าจะไปเล่นที่ไหนก็จะถูกคนไล่ คนด่า ด้านพ่อแม่ก็ไม่อยากให้เล่นเพราะมองว่าอันตราย อย่างตัวผมเองตอนเด็กๆ อยากได้อะไรพ่อแม่ให้หมดยกเว้นสเก็ตบอร์ดที่ไม่ให้ ผมต้องเก็บเงินซื้อเอง ซึ่งผมก็อยากจะนำเสนอความจริงที่ว่าสเก็ตบอร์ดไม่ได้เป็นอย่างที่สังคมคิด ดูได้จากเพื่อนๆ ของผมที่เป็นนักกีฬาทีมชาติ แข่งขันได้รางวัล ผมจึงพยายามนำเสนอเรื่องของคนที่กำลังหาที่ทาง หาพื้นที่ในสังคม หรือกำลังประกาศตัวเอง

หลังจากเรียนจบมาเราก็อยากจะทำหนังต่อเพราะมีความสุขกับการทำงานหนังมาก ถ้าเปรียบเทียบกับการทำงานกราฟฟิกแล้วใช้พลังงานเท่ากัน ความเข้าใจเท่ากัน แต่ทำหนังแล้วได้ผลลัพธ์ที่เกินคาดมากกว่า คือ ตัวเรามีความสุขด้วย และมีผลตอบรับจากคนอื่นดีด้วย ก็เลยลองหาทุนทำหนัง

ไทยพับลิก้า : แล้วมาทำเรื่องสายน้ำติดเชื้อได้อย่างไร

ก่อนหน้านี้ทำเรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ซึ่งใช้เวลานานทำถึง 3 ปี เนื่องจากสโคปมันใหญ่มาก คือต้องทำตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปยันชายแดนไทย-กัมพูชา และข้ามแดนไปกัมพูชา ซึ่งข้ามแดนก็ทำยากเพราะเป็นพื้นที่ที่เป็นปัญหา กว่าจะรวมตัดต่อก็นาน พอทำเรื่องนี้เสร็จเมื่อปีที่แล้วผมก็กำลังให้เขาหาที่ฉายอยู่ ก็เลยมีเวลาว่าง

ในช่วงนั้นก็เลยเสนอไบโอสโคปคือพี่หมู สุภาพ หริมเทพาธิป ว่าเรามีไอเดียจะทำหนังเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พี่หมูก็เลยแนะนำคนมาให้ เป็นนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเขาก็เล่าให้เราฟังว่ามีกรณีสิ่งแวดล้อมอะไรบ้าง ซึ่งมันเยอะมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขื่อน เรื่องโรงไฟฟ้า โรงงานปล่อยน้ำเสีย ฯลฯ ทั้งหมดที่เราฟังมาเราชอบกรณีคลิตี้มากที่สุด เพราะว่า

1. เป็นหมู่บ้านป่าลึก และเมื่อคำนึงถึงการถ่ายทำแล้วก็ทำได้ไม่ยากเกินไป สามารถโฟกัสผู้คนในหมู่บ้านได้ 2. เป็นกรณีแรกที่ประชาชนฟ้องกรมควบคุมมลพิษแล้วชนะ 3. เราสามารถเล่าเรื่องของคนเล็กๆ ที่อยู่ในป่าลึกแล้วส่งผลกระทบมายังคนกรุงเทพฯ ได้ เพราะว่าตะกั่วที่ชาวคลิตี้ได้รับนั้นชาวบ้านไม่ได้ใช้ แต่คนกรุงเทพฯ ใช้กัน แล้วเป็นแร่เศรษฐกิจที่ใหญ่มาก เหมืองตะกั่วก็มีมาหลายสิบปี และสายที่มีตะกั่วนั้นไหลยาวจากคลิตี้มาถึงกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งมันน่าสนใจมากๆ เราก็เลยเลือกทำและเสนอเขาไป

สำหรับหนังเรื่องนี้ร่วมทุนกับไบโอสโคป ไทยพีบีเอส และเซอร์เนด ก็ได้ทุนมาก้อนหนึ่ง แต่เนื่องจากว่าระยะเวลาทำน้อย จึงต้องจัดการกองถ่ายโดยแบ่งถ่าย 2 รอบ รอบแรกคือเดือนธันวาคม 2555 ไปถ่ายประมาณ 7 วัน ซึ่งคิดว่าถ่ายเสร็จแล้วกลับมาตัดต่อว่าขาดเหลืออะไรแล้วค่อยไปถ่ายอีกรอบหลังปีใหม่

โดยหนังเรื่องนี้จะโฟกัสไปที่ช่วงวัยต่างๆ ของคนในหมู่บ้าน ตั้งแต่วัยรุ่น วัยหนุ่ม-สาว และวัยแก่ ซึ่งเราจะได้เห็นความเปลี่ยนผ่านของช่วงเวลา ผ่านจุดวิกฤติ และผ่านผู้คนได้ด้วย คือถ้าไปถ่ายผู้ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ซึ่งตะกั่วลงมารุนแรงมาก เราจะเห็นชัดว่าคนรุ่นนั้นมีความพิการเยอะ เช่น หน้าเบี้ยว ตาบอด ส่วนวัยหนุ่มสาวก็เป็นกลุ่มที่ทันเห็นเหตุการณ์นั้นตอนเด็กๆ และเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับตะกั่ว ซึ่งเราจะโฟกัสไปที่ชีวิตประจำวันของแต่ละคน

ที่น่าสนใจคือ หมู่บ้านนี้อยู่ในป่าลึก ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีมือถือ ไม่ค่อยมีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไร และเขาห่างไกลจากซูเปอร์มาร์เก็ต จึงดำรงชีวิตอยู่ได้สายน้ำคลิตี้ของหมู่บ้าน ซึ่งกิจวัตรของทุกคนคือ เช้ามาผู้ชายก็ไปหาปลาในลำห้วยมาให้คนในบ้าน ซึ่งน้ำในลำห้วยตอนนี้ใสแล้ว เพราะเหมืองปิดไป 14 ปีแล้ว เราก็ได้ภาพป่าเขาลำเนาไพรที่สวยมาก แต่ถ้าไปตรวจเลือดของชาวคลิตี้ก็จะพบว่าเลือดของทุกคนปนเปื้อนสารตะกั่ว ปลาก็เป็นสัตว์ที่มีตะกั่วสะสมเยอะ

ลำห้วยคลิตี้ กรมควบคุมมลพิษระบุว่าน้ำนำไปใช้ดื่ม แต่สัตว์น้ำยังห้ามนำไปรับประทาน
ลำห้วยคลิตี้ กรมควบคุมมลพิษระบุว่าน้ำนำไปใช้ดื่ม แต่สัตว์น้ำยังห้ามนำไปรับประทาน

หนังเรื่องนี้เป็นสารคดีที่นำเสนอเสมือนว่าเป็นเรื่องแต่ง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องจริงทั้งหมด สถานการณ์จริงทั้งหมด แต่เหมือนกับว่าเราดูหนังเรื่องหนึ่ง เพราะไม่มีการสัมภาษณ์ผู้คนไปเรื่อยๆ เหมือนสารคดีทั่วๆ ไป

ทั้งนี้เราก็โฟกัสไปที่ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ออกไปหาปลาให้ครอบครัว ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่อง ชื่อพี่เบี้ยว สมชัย ต้งฟ้า อายุ 28 ปี ซึ่งพี่เขาเคยไปทำงานข้างนอกแล้วกลับมาอยู่ในหมู่บ้าน ที่เราติดใจเขาเพราะว่าเขาขาพิการข้างหนึ่งและต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดินตลอดเวลา แต่ว่าเวลาที่เขาลงไปดำน้ำนั้นขาที่พิการกลับไม่เป็นอุปสรรคในการว่ายน้ำเลย และเขามีความสุขมากที่ได้ดำน้ำจับปลา

พี่เขาเล่าว่าน้ำตรงจุดนี้มีเขาคนเดียวที่กล้าลงไปจับปลา เพราะชาวบ้านลือกันว่ามีผู้หญิงผมยาวนั่งหัวเราะอยู่บนต้นไม้ใหญ่ตรงนั้น ซึ่งต้นไม้ใหญ่นี้จะมีผ้าสีผูกอยู่ แล้วบรรยากาศบริเวณนั้นวังเวงมาก อีกทั้งสายน้ำที่ไหลมาก็จะหยุดนิ่งตรงนี้ สีน้ำก็เป็นสีเขียวมรกตสวยมากเหมือนสีดิจิตอล ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าทำไมเขากล้าดำไปตรงนี้

พอถ่ายเสร็จก็กลับมากรุงเทพฯ ตัดต่อไปได้ 4 วัน ก็มีคนจากคลิตี้โทรมาบอกว่าพี่เบี้ยวเพิ่งเสียชีวิตตรงจุดที่เขาลงไปดำน้ำ เราก็ตกใจมากเพราะตั้งใจว่าจะไปถ่ายเขาเพิ่มหลังปีใหม่

คราวนี้พอเรากลับไปถ่ายทำใหม่อีกครั้งจึงกลายเป็นเรื่องเศร้า เพราะเราเห็นที่เดิมๆ ที่เขาเคยอยู่แต่กลับไม่มีเขาอยู่แล้ว ที่น่าสนใจในทางความเชื่อคือเป็นเรื่องตัวตายตัวแทน แต่ในทางวิทยาศาสตร์แล้วคือน่าจะมีตะกั่วปนเปื้อนอยู่บริเวณนั้นสูง เนื่องจากเป็นจุดที่น้ำนิ่ง แล้วตะกั่วเป็นธาตุหนักก็จะจมท้องน้ำ ผิวน้ำที่เราเห็นใสๆ นั้นเมื่อดำไปใต้น้ำก็จะเห็นเป็นผงแป้ง ทำให้ร่างกายเขาอาจมีตะกั่วสะสมสูง

ไทยพับลิก้า : เขาเสียชีวิตเพราะสาเหตุใด

จมน้ำครับ ชาวบ้านบอกว่าศพอยู่ใต้ขอนไม้ซึ่งผู้ใหญ่ลงไปดึงออกไม่ได้ ต้องให้เด็กไปดึงออก แต่ว่าดึงไม่ยากดึงปุ๊บก็หลุดเลย แล้วที่ศพมีลักษณะหน้าผากแตกและมีน้ำลายฟูมปาก ก็ยังน่าสงสัยว่าทำไม คงไม่น่าจะติดขอนไม้เพราะว่าดึงง่าย แล้วเกิดอะไรขึ้น ผมเองคิดว่าคงตะกั่วเยอะ

ไทยพับลิก้า : การฉายหนังเรื่องนี้ทำอย่างไรบ้าง

เรื่องการฉาย ในไทยก็พอมีเทศกาลฉายหนังอยู่บ้าง และก็เริ่มมีคอนเนคชันจากเมืองนอกซึ่งเราก็ส่งหนังไป 2-3 ที่ แล้วที่เมืองนอกเขาก็ชอบหมดเลย เราก็ตกใจเพราะว่าเรื่องนี้เราทำเร็วมาก ถ่ายทำรวม 10 วัน ตัดต่ออีก 2 เดือน ดังนั้นเราก็เลือกเทศกาลฉายหนังที่ดีที่สุดก็คือ Locarno international film festival ที่สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเน้นหนังศิลปะ หนังทดลอง หนังแปลกใหม่

โลคาร์โนก็เป็นที่แรกที่เราได้ไปฉาย ซึ่งตอนแรกก็เป็นห่วงว่าเขาจะชอบกันไหม เพราะว่าหนังมันบางมากเนื่องจากเป็นชีวิตของผู้คนคลิตี้เท่านั้น ที่ตื่นขึ้นมาคุยกัน หาปลา เอาปลามาทำอาหารกินที่บ้าน แล้วพระเอกก็ตายไปกลายเป็นเรื่องเศร้า แต่ฝรั่งเขาบอกว่าพอดูแล้วเขาเจ็บปวดมากเพราะว่าชาวบ้านจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณนี้ทั้งๆ ที่มีเหตุการณ์ตะกั่วปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องเศร้า บวกกับภาพธรรมชาติที่สวยมาก แต่ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงามกลับฉาบไปด้วยตะกั่ว ในที่สุดเราก็ได้รับรางวัลมา

ไทยพับลิก้า : ภาพยนตร์น่าจะมีบทบาทต่อคนค่อนข้างเยอะ เพราะจูงใจคนได้ดีกว่า

ใช่ เพราะว่ามันมีทั้งภาพ แสง สี เสียง ทำให้คนเสพได้ง่าย แต่ผมไม่แน่ใจว่าคนจะสนใจกันไหม เพราะว่า อย่างคนกรุงเทพฯ จะรู้สึกว่าเหตุการณ์ที่คลิตี้เป็นเรื่องไกลตัว จึงเลือกดูมายาและสิ่งที่สวยงามกัน เราก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าถ้าฉายในโรงภาพยนตร์จริงๆ จะมีคนดูไหม แต่ล่าสุดเห็นประเด็นเรื่องเขื่อนแม่วงก์เขาก็จุดติดกัน ก็เลยมีความหวังว่าคนก็อาจจะสนใจ

ไทยพับลิก้า : จุดเริ่มต้นที่ได้ทำเรื่องสายน้ำติดเชื้อมาอย่างไร

ตอนแรกผมทำงานกับพี่หมูอยู่แล้วในรายการ “กลางเมือง” ของไทยพีบีเอส ซึ่งทำเป็นเรื่อง 3 ตอน พี่หมูเขาก็เห็นศักยภาพของเรา ก็บอกให้เราทำเป็นเรื่องยาว แล้วตัดเป็นตอนสั้นๆ ออกทีวี แต่ว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่เราสนใจอยู่แล้ว

นนทวัฒน์ นำเบญจพล
นนทวัฒน์ นำเบญจพล

ไทยพับลิก้า : มีวิธีการหาข้อมูลอย่างไร

ในตอนแรกเขาก็จะบอกว่าเราจะต้องไปติดต่อขอข้อมูลจากใครบ้างในเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ให้เบอร์โทรศัพท์อาจารย์ นักวิชาการ เอ็นจีโอ ฯลฯ แล้วเราก็ไปคุยกับหลายๆ คน จนสรุปว่าเราสนใจเรื่องคลิตี้ พอเราเลือกว่าจะทำเรื่องคลิตี้เขาก็แนะนำว่าต้องไปคุยกับคนไหนต่อ ผมก็ไปคุยไปหาข้อมูลต่อ เช่น จากคุณสุรชัย ตรงงาม ทนายความตัวแทนชาวบ้านคลิตี้เป็นต้น

ในช่วงตัดต่อก็มีตอนหนึ่งที่เป็นฉากในศาล ชาวบ้านก็ถามคุณสุรชัยว่า ถ้าไม่ให้เขากินปลาแล้วจะให้เขากินอะไร เนื่องจากทุกคนก็บอกว่า ถ้ายังรักลูกรักหลานก็อย่ากินปลาในลำห้วย ซึ่งเมื่อถ่ายทอดออกมาเป็นภาพก็เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งว่าชาวบ้านไม่มีอาหารอื่นให้เลือกกินนะ

เรื่องการฟื้นฟูก็ทำได้ยาก เพราะ 15 ปีผ่านมาแล้วเราก็ไม่รู้ว่าตะกั่วไหลตามน้ำไปถึงไหนๆ แล้ว ซึ่งตะกั่วจะเห็นชัดเจนในฤดูฝนเพราะตะกอนท้องน้ำจะฟุ้งขึ้นมา แต่เราจะเข้าไปลำบากมากเพราะว่าทางแย่

ไทยพับลิก้า : ใช้เวลาเก็บข้อมูลก่อนถ่ายทำนานแค่ไหน

ประมาณ 1 เดือน

ไทยพับลิก้า : ลึกๆ อยากให้คนดูได้อะไรจากเรื่องนี้ โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้เรื่องคลิตี้มาก่อนเลย

ตั้งแต่เรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูงคืออยากให้คนกรุงเทพฯ สนใจอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากการกระทำของตนเองบ้าง เพราะบางอย่างมันส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่อยู่ห่างไกล

คือตะกั่วเป็นแร่เศรษฐกิจของประเทศชาติแต่กลับส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มเล็กๆ และเมื่อเกิดปัญหาแล้วคนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รับการเยียวยาและการดูแลรักษาเท่าที่ควร และคนกรุงเทพฯ ไม่สนใจอะไรเขาเลย ผมก็พยายามกระตุ้นให้รู้ว่าโลกเราหรือประเทศเราไม่ได้มีอยู่แค่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่มันมีคนอื่นๆ ที่อื่นๆ ด้วย

ไทยพับลิก้า : ร้อยเรื่องสายน้ำติดเชื้อให้เชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ ได้อย่างไร

ถ่ายทอดเรื่องให้ไหลมาตามสายน้ำ จากลำห้วยคลิตี้ไหลไปเขื่อนศรีนครินทร์ ลงแม่น้ำแม่กลอง ไหลมาที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้”สายน้ำติดเชื้อ”ได้รับการตอบรับอย่างไรบ้าง

ปัจจุบันมีคิวฉายหนังเรื่องนี้เยอะมาก คือหลังจากที่เราได้รับรางวัลจากสวิตเซอร์แลนด์ก็มีคนมาติดต่อขอหนังเราไปฉายในหลายๆ ประเทศ เฉพาะเดือนนี้ไปฉายต่างประเทศ 5 ประเทศ

อย่างเรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูงนั้นพอเป็นประเด็นการเมืองไทยแล้วบริบทค่อนข้างซับซ้อน คือการเมืองไทยไม่เหมือนใครมากๆ (unique) แล้วฝรั่งไม่เข้าใจ ความขัดแย้งบางอย่างฝรั่งก็งงว่าคืออะไร ทะเลาะอะไรกัน ตรรกะบางอย่างเป็นเรื่องที่เขาไม่เข้าใจ

แต่อย่างเรื่องคลิตี้ เป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมซึ่งฝรั่งสนใจมากอยู่แล้ว พอเราไปโฟกัสที่คนตัวเล็กๆ แล้วเนี่ย ได้เห็นชีวิตประจำวัน เขาก็ยิ่ง touchy คือสัมผัสได้มากขึ้น หรือการที่เขาเห็นต้นไม้ น้ำตกสวยๆ เขาก็ยิ่งตกใจว่านี่เหรอที่มีตะกั่วอยู่

ไทยพับลิก้า : แล้วอยากสะท้อนหรือบอกอะไรผู้ประกอบการ

อยากให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการที่รัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งปัญหาการทิ้งของเสียเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย เอาความรับผิดชอบไปกองไว้ให้คนอื่น เช่น ทำหลุมขยะข้างบ้านคนอื่น ฯลฯ บางครั้งเราก็มองภาพรวมว่าผู้ประกอบการเขาทำธุรกิจ ซึ่งเราก็อยากให้เขาเห็นว่าคนที่อยู่ตรงนั้นจริงๆ เขาได้รับผลกระทบอะไรบ้าง เขาได้ดูก็น่าจะฉุกคิดได้เหมือนกัน

ไทยพับลิก้า : ในตอนนี้ทุกคนก็มองถึงเรื่องความยั่งยืนว่า ธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม บทบาทของสื่อก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ซึ่งถ้าทำได้ก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยเหลือสังคมได้

ผมไม่รู้ว่าคนจะสนใจหรือเปล่า แต่การที่เราได้พูดออกสื่อก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนได้อ่าน

ไทยพับลิก้า : เคยคิดขอทุนมาผลิตภาพยนตร์ที่จุดประกายหรือเปลี่ยนแปลงสังคม

ผมอยากทำอย่างมาก ในตอนนี้ก็มีไทยพีบีเอสหรือคนอย่างพี่หมูที่สนับสนุนทุน อย่างฟ้าต่ำแผ่นดินสูงเป็นทุนต่างประเทศทั้งหมด ส่วนเรื่องนี้ก็ดีที่เป็นทุนในไทย อย่างกระทรวงวัฒนธรรมก็แบนเรื่องฟ้าต่ำฯ ผมจึงก็ไม่รู้ว่าพึ่งได้หรือเปล่า เนื่องจากทัศนคติ มุมมอง หรืออะไรต่างๆ ของเขา อย่างตอนกองทุนไทยเข้มแข็งของรัฐบาลที่แล้วมีงบ 400 ล้านบาท ปรากฏว่า 300 ล้านบาทให้เรื่องสมเด็จพระนเรศวรฯ​ซึ่งตอนนี้ก็ยังสร้างไม่เสร็จ แล้วอีก 100 ล้านก็แบ่งๆ กันไปในหนังจำนวน 10 เรื่อง ก็เกิดปัญหาขึ้นว่าอย่างนี้มันคืออะไร เป็นความเหลื่อมล้ำมาก เพราะเงิน 300 ล้านบาทนั้นสามารถสร้างหนังเล็กๆ ได้อีกเป็น 100 เรื่อง ซึ่งกรณีนี้ทำให้หลายฝ่ายประท้วงกัน ดังนั้นปีต่อมาจึงไม่มีงบตรงนี้เลย

นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความคดีห้วยคลิตี้
นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความคดีห้วยคลิตี้

ไทยพับลิก้า : น่าเสียดายเราไม่ค่อยใช้หนังให้เป็นสื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลง

ใช่ครับ

ไทยพับลิก้า : ชาวคลิตี้ได้ดูหนังไหม แล้วเขาคิดอย่างไรบ้าง

เขาก็ตื่นเต้นที่เห็นตัวเองในหนัง (ฮา) แต่ที่ผมแปลกใจคือชาวบ้านเขาชินกล้องมากเลยครับ ต่างจากที่อื่นๆ ที่ผมเคยไปที่เขาก็จะมีตื่นกล้องบ้าง แต่ที่นี่โปรเลย อาจเป็นเพราะว่ามีคนเข้าไปทำข่าวกับเขาเยอะ โดยเฉพาะป้ามะอ่องเส็งจะโปรกล้องสุดๆ เป๊ะมาก เพราะเขาคุยกับนักข่าวเยอะมากจนชิน แล้วนักข่าวก็ช่วยเหลือเขาไว้

ไทยพับลิก้า : แล้วหนังเรื่องนี้มีอะไรย้อนกลับคืนไปให้คลิตี้บ้าง

ตอนนี้เรากำลังก็คิดอยู่ว่าจะไปฉายหนังเรื่องนี้ที่คลิตี้ก่อนที่จะฉายให้คนกรุงเทพฯ ดู คือเขาก็กำลังคิดว่าจะทำอย่างไรอีกบ้างนอกจากพยายามทำให้คนรู้เรื่องนี้มากที่สุด สามารถเอาเงินไปทำอย่างอื่นอีกได้ไหม เช่น ระบบประปา ไฟฟ้า เป็นต้น ก็พูดคุยกันอยู่ โดยพยายามให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ด้วย

ไทยพับลิก้า : ต้นทุนของคลิตี้ประมาณเท่าไร

โปรดักชันประมาณ 2-3 แสนบาท โพสต์โปรดักชันอีก 2-3 แสนบาท

ไทยพับลิก้า : มีกลุ่มคนที่ทำหนังสารคดีแนวๆ นี้บ้างไหม

จริงๆ สารคดีพวกเพื่อนหลายๆ คนก็ทำอยู่กับไทยพีบีเอส แต่ว่าในเชิงภาพยนตร์จริงจังที่ฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ก็มีไม่มากเท่าไร นับคนได้ เช่นเรื่อง “นักมวยเด็ก” “สาวคาราโอเกะ” ฯลฯ แต่ทุกวันนี้ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสารคดีทำง่ายขึ้น ด้วยอุปกรณ์ที่ถูกลง และองค์ประกอบอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้ทุนเยอะเหมือนแต่ก่อน

ไทยพับลิก้า : เกณฑ์ในการเลือกส่งประกวดของเราเป็นอย่างไร

เทศกาลภาพยนตร์ก็มีกลไกของมันเหมือนกัน สำหรับเทศกาลเปิดขวดจะเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุด เพราะว่าเทศกาลเหล่านี้ก็มีเกรด A B C เหมือนกัน อย่างถ้าเราไปฉายเกรด C ก่อนก็จะมีโอกาสได้ง่ายกว่าแต่ก็จะไม่ค่อยดัง แต่ถ้าอยากให้คนสนใจเราก็ต้องเริ่มจากเกรด A ก่อน เช่น คานส์ เวนิซ เบอร์ลิน โลการ์โน ฯลฯ ซึ่งพอเราฉายเทศกาลเกรด A แล้วมันก็จะทำให้คนมาดูเยอะ นักข่าวเขียนรีวิวเยอะ แล้วยิ่งถ้าได้รับรางวัลก็มีอีเมล์ติดต่อเข้ามาให้ไปฉายที่นั่นที่นี่เยอะมาก

ถามว่าส่งเข้าประกวดอย่างไร ก็คือ เทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ จะมี scouter หรือคนหาหนังไปฉายในงานของเขา พอเราอยู่ในแวดวงภาพยนตร์แล้วก็จะมีคนแนะนำเราว่ามีคนนี้มาจากเทศกาลภาพยนตร์นี้ ลองเอาหนังให้เขาดูไหม ซึ่งถ้าเกิดคนหาหนังเขาชอบก็จะคัดส่งไปให้โปรแกรมเมอร์ ซึ่งถ้าโปรแกรมเมอร์ชอบก็จะได้ฉายในเทศกาล การฉายนั้นเขาก็จะดูว่าหนังเราเหมาะกับอะไร ซึ่งเขาก็จะมีสาขามากมาย แต่ถ้าได้เข้าประกวดจะดีเพราะสื่อส่วนใหญ่จะสนใจหนังประกวดก่อน

หนังประกวดก็จะแบ่งเป็นรุ่นใหญ่ คือ หนังที่ทุนค่อนข้างเยอะหรือผู้กำกับมีชื่อเสียง ส่วนของผมเป็นฝ่ายผู้กำกับหน้าใหม่ ซึ่งเขามีเกณฑ์ว่าห้ามทำหนังเกิน 2 เรื่อง และโปรดักชันไม่ได้เทคโนโลยีเยอะแต่มีอะไรที่น่าสนใจด้วยโครงสร้าง ด้วยประเด็น ภาพ เสียง ฯลฯ ก็ได้ประกวด

พอคนดูเยอะ รีวิวก็เยอะ พอรีวิวเยอะคนได้อ่านก็มีคนมาชวนไปฉายต่อ ยิ่งถ้าได้รางวัลก็ยิ่งดี

ไทยพับลิก้า : ก่อนไปโลการ์โน คาดหวังรางวัลไหม

ไม่หวังเลยครับ แค่ได้ฉายก็ไม่ได้หวัง เพราะทำแค่ 3 เดือน แต่ปรากฏว่าคนชอบเรื่องนี้มากกว่าฟ้าต่ำฯ ที่ทำนาน 3 ปี ก็ทำให้เห็นว่าชีวิตคนเราไม่มีอะไรแน่นอน อย่างเรื่องฟ้าต่ำฯ มีรายละเอียดจุกจิกมากมาย ในขณะที่เรื่องนี้ง่ายๆ ทำสบายๆ ซึ่งบางครั้งฝรั่งก็ไม่ได้เข้าใจจุกจิกอะไรตรงนั้น ซึ่งเรื่องนี้ถูกตัดทอนจนเหลือแต่สิ่งที่มนุษย์ทุกคนเข้าใจ เช่น ความรัก ชีวิต การกินอยู่

ไทยพับลิก้า : เห็นความเหลื่อมล้ำเยอะไหม

เยอะเหมือนกัน คือ พอเรามาทำงานในกรุงเทพฯ​ทำงานในระบบ บางทีเราเห็นอะไรที่ไม่เหมาะก็เผลอพูดอะไรแรงๆ บางทีก็ทำให้ผู้บริหารโมโหได้บ้าง เลยเป็นคนที่อยู่ในระบบมากไม่ได้ เวลาที่อยู่ในโครงสร้างที่ระบบมากๆ แล้วผมชอบไปวิพากษ์วิจารณ์เขาซึ่งก็เป็นข้อเสียของตนเอง ก็ไม่รู้ว่าข้อเสียหรือข้อดี

ไทยพับลิก้า : คิดว่าบทบาทตัวเองจะช่วยตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

เราก็ทำดีที่สุด หวังว่าอย่างน้อยจะมีคนมาสัมภาษณ์ ได้ออกสื่อ ทำให้คนได้รู้ได้เข้าใจมากขึ้นไม่มากก็น้อย แต่มันจะทำให้เป็นนิยมขนาดเรื่อง “พี่มาก พระขโนง” ไม่ได้

คือหนังมันต้องมีเรื่องของการอยู่รอดด้วย บางทีเราก็ไม่ได้มีเงินเก็บ พออายุขึ้น 30 ปี บางทีก็ต้องคิดแล้วว่าพ่อแม่เราเกษียณแล้ว เราจะมาทำงานแบบแนวขอทุนอย่างนี้มากก็ไม่ได้ ก็เลยต้องพยายามคิดให้หนังขายได้บ้าง

ไทยพับลิก้า : จากที่ทำมา แหล่งทุนเขาเปลี่ยนทัศนคติบ้างไหม หรือมีแนวโน้มที่ดีขึ้นไหม

อย่างไทยพีบีเอสก็น่าจะดีขึ้น เพราะผู้บริหารก็เล็งเห็นว่ามันมีปัญหานี้อยู่บนโลกนี้นะ หรือพวกบีบีซีหรือทุนต่างประเทศนั้นนอกจากจะมีสารคดีสำหรับโทรทัศน์ยังมีสารคดีที่ส่งเอากล่องก็มี แต่ถ้าเพื่อสังคมเขาทำกันอยู่แล้ว ผนวกกับภาษาที่เราเล่ามาอาจจะทำให้เล่าเรื่องธรรมชาติได้ง่ายกว่า น่าสนใจกว่า

โดยมีโครงสร้างการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ที่ไม่ได้เป็น traditional คือมีคนนั่งอยู่แล้วสัมภาษณ์ๆ ตัดสลับ แต่มีชั้นเชิงการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนสารคดี คือสายน้ำติดเชื้อนี้ฝรั่งบางคนดูจบแล้วคิดว่าเป็นภาพยนตร์ fiction picture film ที่เล่าเรื่องทั่วไป เพราะดูสมจริงมาก จนเขาสงสัยว่าเราทำยังไง

นั่นเพราะเราพัฒนาตัวเองจนสามารถเล่าเรื่องได้ไม่เหมือนสารคดีทั่วๆ ไปแล้ว เพราะคล้ายหนังมาก ซึ่งมาจากพัฒนาการของสารคดีและตัวผมเองด้วย เพราะสารคดีในปัจจุบันนี้ไปกันใหญ่แล้ว ในโลกใบนี้มีอะไรที่หลากหลายมาก ตอนฉายที่สวิตเซอร์แลนด์มีหนังที่ฉายในสาขาผู้กำกับหน้าใหม่พร้อมกัน 2 เรื่องในช่วงเปิดเทศกาล ของผมคนดูคิดว่าเป็นเรื่องแต่งทั้งๆ ที่เป็นสารคดี แต่อีกเรื่องคนดูคิดว่าเป็นสารคดีทั้งๆ ที่คือเรื่องแต่ง คือคิดกันมันส์ๆ อย่างนี้มันถึงจะหลุดโครงสร้างของวิธีการเล่าเรื่อง ก็สนุกดี เพราะเวลาเราทำหนังไปเรื่อยๆ เราก็จะเบื่ออันเก่า เราก็ต้องคิดต่อๆ

ไทยพับลิก้า : คิดว่าการสร้างหนังเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดหรือเข้าใจตรงหรือต่างกับชาวคลิตี้อย่างไร

ตอนเราคุยกับอาจารย์หรือนักวิชาการ เราก็จะได้ภาพซึ่งน่าจะตรงกับคนกรุงเทพฯ มาก คือ เขาต้องเดินกันหน้าเบี้ยวแน่เลย อะไรประมาณนี้ ก่อนที่เราจะไป เพราะเราคิดว่ามันร้ายแรงแหมือนมินามาตะแน่เลย แล้วหนังเราต้องเซอร์มากแน่ๆ เลยมีแต่คนแบบนี้ จากเรื่องที่เราฟังมามันน่ากลัวมาก แต่พอเราไปถึงปรากฏว่าชาวบ้านแข็งแรงกว่าเราอีก ดูหุ่นดี ล่ำ หาปลากันโครมครามๆ แต่ในร่างกายก็คือมีสารตะกั่ว แต่คนกรุงเทพฯ​ชอบคิดไปเองก่อนไป

นนทวัฒน์

แต่การที่เราไม่เห็นอาการอย่างที่คิดไว้นั้นมันยิ่งเจ็บปวดกว่า อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า interminated คือเป็นสารพิษที่มองไม่เห็นแล้วปนเปื้อนอยู่รอบๆ ตัว

ไทยพับลิก้า : แล้วสิ่งที่สื่อออกมาผ่านหนังเรื่องนี้ตรงกับที่ชาวบ้านต้องการไหม

ผมก็ไม่รู้ว่าชาวบ้านเขาต้องการอะไรอย่างชัดเจนมากนัก อย่างที่คุยกับครูโมเมนางเอกของเรื่อง เขาก็บอกว่าอยากได้น้ำประปา อยากได้โซลาร์เซลล์ แต่ในเรื่องตะกั่วเขาก็บอกทำไงได้ ก็อยากให้ฟื้นฟูแต่จะฟื้นฟูอย่างไร มันยาก แต่ว่าสิ่งที่เราไปถ่ายมาก็คือชีวิตจริงๆ ของเราไม่ได้จัดฉากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เห็นในหนังก็ออกมาจากตัวเขา ทัศนคติของเขาอยู่แล้ว ผมว่ามันก็น่าจะเหมือนกับที่เขาคิด แต่ไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ก็รอดูผลตอบรับจากคนดูหลังจากฉายเวิลด์ฟิล์ม (เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556)

ไทยพับลิก้า : มีอุปสรรคระหว่างถ่ายทำบ้างไหม

ไปถ่ายรอบแรกไม่ได้เตรียมเครื่องปั่นไฟไป ก็ลำบากต้องไปขอพระปั่นไฟ ถ่ายหนังไปแบตก็จำกัด พอแสงไม่หมดแบตหมดแล้ว ก็ต้องขอพระชาร์จ แต่ทุกคนน่ารัก บรรยากาศดี วิวสวย

ไทยพับลิก้า : การได้รางวัลนี้ถือเป็นการยกระดับภาพยนตร์สารคดีไทยด้วยหรือเปล่า

เทศกาลนี้ผมเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รางวัล ยกระดับหนังสารคดีหรือเปล่าผมไม่แน่ใจ แต่ยกระดับผมเหมือนกัน เพราะหลังจากที่ได้รางวัลจากเทศกาลใหญ่ งานก็พุ่งขึ้นมาทันตาเห็นเลย

ไทยพับลิก้า : มีวิธีการทำให้สารคดีน่าสนใจอย่างไร

เวลาพูดถึงสารคดีคนจะบอกว่าน่าเบื่อ เราก็พยายามนำเสนอให้มันไม่น่าเบื่อ ซึ่งเอาเข้าจริงสารคดีในโลกมีเยอะมาก และมันไม่ได้น่าเบื่ออีกต่อไปแล้ว แต่คนก็ยังจำว่าน่าเบื่อ แต่ในเมืองนอกไปกันใหญ่แล้ว รูปแบบการนำเสนอเล่นกันแบบสนุกสนาน อย่างเทศกาลภาพยนตร์ที่เวนิซครั้งล่าสุดรางวัลใหญ่สุดที่ได้ก็เป็นภาพยนตร์สารคดี แล้วด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้น กล้องเล็กลง ถ่ายง่ายขึ้น ภาพชัดขึ้น มันก็สามารถเข้าถึงประเด็นได้ง่ายขึ้น ดูจริงขึ้น รู้สึกได้มากขึ้น คนนิยมมากขึ้น

อย่างภาพที่ผมถ่ายก็ไม่ใช่มุมภาพปกติ เนื่องจากเรียนกราฟฟิกดีไซน์มาเลยได้เห็นมุมมองที่ต่างออกไป ภาพก็ดูวัยรุ่นหน่อย เพราะเราก็ชอบอะไรที่แนวๆ อยู่เหมือนกัน ฉะนั้นเอาความแนวไปถ่ายอะไรบ้านๆ ก็อาจจะสนุกสนานขึ้น เข้าใจง่ายขึ้น แต่บทเป็นสารคดียังไงก็น่าเบื่ออยู่ดีแหละ แต่อย่างน้อยก็ได้กลุ่มคนดูมากขึ้น บวกกับที่ไม่ได้เรียนภาพยนตร์มาทำให้การทำหนังของเราไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในกรอบ

ไทยพับลิก้า : จุดเริ่มต้นของคนอยากทำสารคดีคืออะไร

เด็กๆ รุ่นใหม่ที่อยากทำหนัง กล้องก็หาไม่ยากแล้ว คอมพิวเตอร์ก็ตัดหนังได้ไม่ยากแล้ว แต่ว่าการกำกับการแสดงหรืออื่นๆ ก็ต้องใช้ทักษะสูงและเงินพอสมควร ที่จะจับคนๆ หนึ่งมาทำตามที่เราสั่ง แต่ถ้าเป็นสารคดีแค่เรามีกล้องแล้วก็ไปเนียนถ่าย แล้วเป็นพื้นฐานให้คนทำหนังได้ จนทำให้คนทำหนังเริ่มจากการทำสารคดีเยอะมากๆ เพราะง่ายที่จะเรียนรู้

ไทยพับลิก้า : เรื่องต่อไปจะทำประเด็นหนังเรื่องอะไร

จริงๆ ก็อยากทำประเด็นเรื่องในกรุงเทพฯ บ้าง แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำเรื่องอะไร อีกเรื่องที่อยากทำคือเรื่องชาวประมงแรงงานเขมร ก็ดูแล้วน่าจะสนุกดีเพราะว่าเขาถูกกดทับเป็นทาสเลย บางครั้งก็โดนกดเงินเดือนหรือไม่ให้เลยทั้งๆ ที่น้อยอยู่แล้ว หรือไม่ก็ถีบทิ้งกลางทะเลหลังจากใช้งานเสร็จ ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจเหมือนกัน