ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > นักลงทุนไทย-เทศ กอบโกยความหวานอันขมขื่น จากชาวไร่อ้อยกัมพูชา

นักลงทุนไทย-เทศ กอบโกยความหวานอันขมขื่น จากชาวไร่อ้อยกัมพูชา

9 พฤศจิกายน 2013


รายงานโดยอริญชย์ เมธีกุล

การนำเสนอรายงาน กอบโกยจากความหวานอันขมขื่น:รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนของโครงการ “ทุกอย่างยกเว้นยุทโธปกรณ์” (Everything But Arms)ของสหภาพยุโรปต่อประเทศกัมพูชา
การนำเสนอรายงาน กอบโกยจากความหวานอันขมขื่น: รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนของโครงการ “ทุกอย่างยกเว้นยุทโธปกรณ์” (Everything But Arms) ของสหภาพยุโรปต่อประเทศกัมพูชา

เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2556 มีงานแถลงข่าวการนำเสนอรายงาน กอบโกยจากความหวานอันขมขื่น: รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนของโครงการ “ทุกอย่างยกเว้นยุทโธปกรณ์” (Everything But Arms) ของสหภาพยุโรปต่อประเทศกัมพูชา โดยมีผู้ร่วมแถลงและอภิปรายคือนายเดวิด เพรด (David Pred) ผู้จัดการโครงการสากลเพื่อการพัฒนาที่ทั่วถึง (Managing Associate of Inclusive Development International) และเป็นผู้เขียนรายงาน, นายเอียง วุทที (Eang Vuthy) ผู้อำนวยการโครงการกัมพูชาที่เป็นธรรม (Executive Director of Equitable Cambodia), นายเตง กาว (Teng Kao) ตัวแทนชุมชนจากอำเภอสเร อัมบึล (SreAmbel) จังหวัดเกาะกง, นางฮอย มัย (Hoy Mai) ตัวแทนชุมชน จากอำเภอสำโรง (Samrong) จังหวัดโอดอร์เมียนเจย, นายสมชาย หอมลออ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรทางเลือก โดยมีนางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายเดวิด เพรด กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ประเทศกัมพูชาได้มีการให้สัมปทานที่ดินเพื่อทำไร่อ้อย ซึ่งที่ดินส่วนใหญ่เป็นของเกษตรกรรายย่อย แต่ปรากฏว่าชาวบ้านถูกไล่ที่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เป็นผลมาจากโครงการ “ทุกอย่างยกเว้นยุทโธปกรณ์” (EBA) ของสหภาพยุโรป ที่เป็นตัวกระตุ้นและดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมปลูกอ้อยในประเทศกัมพูชา และหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดคือบริษัทจากประเทศไทยซึ่งร่วมทุนกับนักลงทุนในกัมพูชา

โดยโครงการ EBA ให้สิทธิแก่ประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด ในการส่งสินค้าไปขายโดยไม่ต้องเสียภาษี สำหรับน้ำตาลนอกจากได้รับการยกเว้นภาษีแล้วมีการประกันราคาขั้นต่ำ ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาน้ำตาลโลกเฉลี่ยถึง 3 เท่า

ทั้งนี้ เป้าประสงค์ของโครงการ EBA คือ การช่วยคนยากจนให้มีงานทำจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาคการส่งออก แต่ผลที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ที่กัมพูชากลับตรงข้าม

จากรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ที่ดินอย่างน้อย 100,000 เฮกแตร์ (1 เฮกแตร์=10,000 ตารางเมตร) ถูกสัมปทานให้บริษัทเอกชนในสำหรับอุตสาหกรรมอ้อย ชาวบ้านหลายร้อยหลายพันคนถูกไล่ โดยมีการละเมิดหลักปฏิบัติด้านมนุษยชน ใช้ความรุนแรง ไม่มีการสอบถามความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับค่าชดเชยและการหาที่อยู่อาศัยใหม่ ผู้ถูกไล่บางรายไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า หลายแห่งถูกคุกคามและบีบให้ยอมรับเงินค่าชดเชยจำนวนน้อยนิด มีการคุมขัง ทำร้ายร่างกายชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิในที่ดินของตน บางคนถูกจับเข้าคุกในข้อหาทำลายป่า นักเคลื่อนไหวท้องถิ่นคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการไล่ที่ในจังหวัดเกาะกงถูกทำร้ายจนเสียชีวิต และไม่มีการสอบสวนการฆาตกรรมครั้งนี้แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังพบว่าตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้อำนาจของตนเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทน้ำตาลอีกด้วย

“ฉันในฐานะแกนนำก็โดนตามจับ ต้องว่ายน้ำหนี กินใบไม้ใบหญ้าแทนอาหาร ในที่สุดก็โดนจับติดคุก ฉันคลอดลูกช่วงถูกจับ พอคลอดเสร็จมันก็จับไปติดคุกต่อ สุดท้ายเรียนรู้ว่าสู้ไปก็ไม่มีประโยชน์” นางฮอย มัย กล่าว

รายงานยังชี้ให้เห็นอีกว่า หลังจากชาวบ้านถูกไล่ที่แล้ว ชาวบ้านประสบปัญหาทั้งด้านสิทธิเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านที่อยู่อาศัย ด้านอาหาร การจ้างงาน การศึกษาและบริการด้านสุขภาพ ประชาชนกว่า 1,000 คน ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก กลายเป็นคนไร้ที่อยู่และไร้ที่ทำกิน บางคนต้องลักลอบเข้าประเทศเพื่อนบ้านไปหางานเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด นอกจากนี้ การไล่ที่ยังทำให้เกิดการละเมิดสิทธิสตรีและเด็กอีกด้วย

“อยากให้คืนที่ดินทั้งหมด ถ้าไม่คืนพวกเราก็ไม่มีกิน พวกเราจะอยู่ยังไง” นายเตง กาว กล่าว

นายเดวิด เพรด กล่าวว่า แม้จะมีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีส่วนรู้เห็นกับภาคเอกชนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ยังคงไม่ได้รับการเยียวยา

นายเดวิด เพรด กล่าวต่ออีกว่า เมื่อชาวบ้านไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลกัมพูชา จึงหันไปเรียกร้องความรับผิดชอบจากยุโรป แต่ก็พบว่าทางยุโรปไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรับฟังและแก้ปัญหาของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของสหภาพยุโรป ดังนั้น นโยบายปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศนอกสหภาพยุโรปก็เป็นเพียงลมปากที่ไม่อาจคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างแท้จริง

ด้านนายเอียง วุทที มีข้อเสนอว่าสหภาพยุโรปควรจะริเริ่มการสอบสวนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน สหภาพต้องให้สิทธิ EBA ต่อบริษัทที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ควรมีการประเมินผลกระทบจากโครงการ EBA และควรจะต้องมีกลไกการรับเรื่องร้องทุกข์สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้บริษัท KSL และบริษัทมิตรผลจ่ายค่าชดเชยและเยียวยาอย่างยุติธรรม พร้อมทั้งคืนที่ดิน และขอให้มาสนทนาอย่างตั้งใจและจริงใจกับคนที่ได้รับผลกระทบ

“เราไม่สามารถยอมรับการลงทุนที่ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีสำนึกของนักลงทุนไทยได้” นายอุบล อยู่หว้า กล่าว

ส่วนด้านนายสมชาย หอมลออ กล่าวว่า จากกรณีการไล่ที่ในกัมพูชาถือว่าผิดกฎหมาย และประเทศไทยเป็นภาคีกับสนธิสัญญาที่เกี่ยวกับการห้ามละเมิดสิทธิมนุษยชนถึง 8 ฉบับ นอกจากนี้ยังเป็นภาคีในสนธิสัญญาที่เกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชันและสิทธิเด็กอีกด้วย

ขณะที่นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้มุมมองว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะถึง เราหวังว่าจะเพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพให้กับประเทศ แต่ความเป็นอาเซียนกลับกลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ของนายทุน ทั้งๆ ที่อาเซียนยังมีอีกหลายมิติ

“รากเหง้าของปัญหาคือการที่เราติดอยู่กับทุนนิยม ต้องการพัฒนาแต่สุดท้ายทำลายวิถีชุมชน สิทธิชุมชน เราไม่ได้คัดค้านการพัฒนา แต่การพัฒนานั้นเราต้องคิดถึงหลักสิทธิมนุษยชน ต้องเป็นการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน ” นายแพทย์นิรันดร์กล่าว

จากรายงานระบุว่าบริษัทุนใหญ่ที่ลงทุนด้านอุตสาหกรรมอ้อยในกัมพูชาได้แก่ L.Y.P Group (กัมพูชา), KSL Group and Khon Kaen Sugar Industry Public Co.Ltd(ไทย), Ve Wong Vorporation (ไต้หวัน), Tate & Lyle (สหรัฐอเมริกา), American Sugar Refining, Inc.(สหรัฐอเมริกา) และบริษัทน้ำตาลมิตรผล

อ่านเพิ่มเติม กอบโกยจากความหวานอันขมขื่น: รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนของโครงการ “ทุกอย่างยกเว้นยุทโธปกรณ์” (Everything But Arms) ของสหภาพยุโรปในประเทศกัมพูชา