ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สถาบันสงฆ์และสังคมไทย: ประชากรพระภิกษุและสามเณรลดลงต่อเนื่อง

สถาบันสงฆ์และสังคมไทย: ประชากรพระภิกษุและสามเณรลดลงต่อเนื่อง

21 ตุลาคม 2013


หนึ่งในปัญหาสำคัญของวงการพระพุทธศาสนาที่หลายคนอาจจะไม่รู้หรือไม่ได้สนใจ คือการขาดแคลนบุคลากรในการเผยแผ่และสืบทอดพระศาสนา นั่นคือพระสงฆ์และสามเณร จำนวนพระสงฆ์และสามเณรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในขณะที่ประชากรไทยเพิ่มขึ้นทุกปีจนปัจจุบันมีประมาณ 64 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวได้รวบรวมข้อมูลจากบทความ “การลดจำนวนของพระสงฆ์และผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาในอนาคต” ของ ผศ.ดร. ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เขียนลงวารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 18 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนกันยายน-ธันวาคม พ.ศ. 2554 และการค้นหาข้อมูลมาเพิ่มเติมสำหรับสถิติต่างๆ ให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น

จากการวิจัยและสำรวจจำนวนพระภิกษุและสามเณรโดย ผศ.ดร.ชาญณรงค์ เมื่อปี พ.ศ.2550 พบว่าสัดส่วนจำนวนพระภิกษุและสามเณรต่อประชากรทั้งประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 40 กว่าปีที่ผ่านมา

พระ-เณร-1

ขณะที่รายงานจากหนังสือ “สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย” ของพระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้ให้ข้อมูลทางสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2507 เกี่ยวกับจำนวนพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศ ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 237,770 รูป โดยแบ่งเป็นพระภิกษุ 152,510 รูป และสามเณรอีก 85,260 รูป เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศขณะนั้นซึ่งมีประมาณ 28 ล้านคน

ต่อมาปี พ.ศ. 2542 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำรายงานสถิติด้านการศาสนาในประเทศไทย ในเอกสารดังกล่าวมีรายงานจำนวนพระภิกษุและสามเณรทั่วประเทศทั้งสิ้น 365,140 รูป จำแนกเป็นพระภิกษุ จำนวน 267,300 รูป และสามเณร จำนวน 97,840 รูป เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศขณะนั้นประมาณ 61 ล้านคน

จากการสำรวจของ ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน โดยอาศัยข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระหว่างปี พ.ศ. 2545-2549 โดยผู้สื่อข่าวได้ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งเดียวกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2555 เพื่อให้เป็นปัจจุบันและเห็นค่าสถิติที่มากขึ้น พบว่าจำนวนพระภิกษุมีการเคลื่อนไหวไม่คงที่ กล่าวคือ มีบางปีที่จำนวนลดลงมาก แต่กลับเพิ่มขึ้นในปีต่อมา แล้วก็ลดลงอีก ส่วนจำนวนของสามเณรมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง

จำนวนของพระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2545-2555 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 250,000-300,000 รูป ส่วนจำนวนสามเณรจะเปลี่ยนแปลงลดลงอย่างต่อเนื่องจากประมาณ 100,000 รูปในปี พ.ศ. 2545 เหลือประมาณ 60,000 รูปในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้วจะเห็นการลดลงของสามเณรอย่างมีนัยสำคัญ

จำนวนพระ-เณร-1

โดยสาเหตุหลักที่จำนวนสามเณรลดลงอย่างต่อเนื่อง ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน เขียนไว้ว่ามาจากนโยบายการศึกษาภาคบังคับของรัฐซึ่งขยายไปจนถึง ม.3 และกำลังจะขยายไปถึง ม.6 ทำให้มีเด็กมาบวชเป็นสามเณรน้อยลง ซึ่งสมัยก่อนการบวช เป็นทางเลือกที่สามารถเข้าถึง”โอกาส”ในการศึกษาและพระหนุ่มจำนวนไม่น้อยในชนบทก็มาจากสามเณรที่บวชแล้วยังไม่สึก แต่ปัจจุบันจึงไม่มีความจำเป็นที่จะเข้าไปศึกษาภายในระบบวัด

อีกสาเหตุหนึ่งคือ การขาดแรงงานในหมู่บ้านสืบเนื่องมาจากนโยบายวางแผนครอบครัวที่ทำให้ ครอบครัวมีลูกน้อยลงและปัญหาการขาดแคลนแรงงานการขาดแคลนแรงงานในการผลิตก็จะตามมา ในขณะที่สมัยก่อน หนึ่งครอบครัวมีลูกหลายคน จึงทำให้ใครที่มาบวชก็จะบวชได้นาน ไม่เป็นภาระแก่ทางบ้าน

เมื่อนำข้อมูลปี พ.ศ. 2507 จากการศึกษาของพระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) มาพิจารณาเปรียบเทียบกับข้อมูลในปี พ.ศ. 2542 จนถึงข้อมูลในปัจจุบันจะเห็นว่า จำนวนประชากรในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 28 ล้านคนในปี พ.ศ. 2508 มาเป็น 61 ล้านคนในปี พ.ศ. 2542 และ 64 ล้านคนในปี พ.ศ. 2555 ในขณะที่จำนวนพระภิกษุสงฆ์และสามเณรแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ กล่าวคือ ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของประชากรไทยที่เพิ่มขึ้นแต่ประการใด ในขณะที่จำนวนของพระภิกษุลดลงเรื่อยๆ สามเณรซึ่งจะเข้ามาเป็นศาสนทายาททดแทนในอนาคตนั้นก็ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ว่าจำนวนของพระภิกษุในอนาคตมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากพระภิกษุจะลดจำนวนลงตามกาลเวลา แต่ศาสนทายาทที่จะเข้ามาทดแทนก็หายากมากขึ้น

อย่างไรก็ดี พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า ปัญหาด้านปริมาณหรือการขาดแคลนพระภิกษุสงฆ์ไม่เป็นปัญหามากเท่ากับคุณภาพที่ตกต่ำของพระสงฆ์ แม้พระจะลดน้อยลงกว่านี้ครึ่งหนึ่ง แต่ถ้ามีคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่เท่าตัวสถาบันสงฆ์และสังคมไทยก็จะดีกว่านี้มาก ในขณะที่การมีพระจำนวนมากๆ อาจทำให้คนเสื่อมศรัทธาในคณะสงฆ์ และเป็นภาระอย่างมากในการควบคุมดูแลไม่ให้วิปริตจากพระวินัย

ในแง่ของคนทั่วไป การที่พระภิกษุน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จะทำให้เกิดความรู้สึกพร่องในทางจิตใจ เพราะชาวบ้านจะรู้สึกอุ่นใจหากมีพระภิกษุในหมู่บ้าน เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจผ่านการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การเป็นเนื้อนาบุญให้แก่ชาวบ้าน สามารถทำบุญได้สะดวกเพราะชาวบ้านยังมีความเชื่อแน่นแฟ้นเกี่ยวกับบุญอยู่