ฉากที่ 4 “ ท่าเรือไฮฟอง เวียดนาม”
การเดินทางของนายจำกัด (ฉากที่ 3) หลังจากล่ำลากับนางฉลบชลัยย์ ผู้เป็นภริยา ที่ท่าแขก นายจำกัดกับนายไพศาลได้เดินทางต่อไปเมืองวินห์ เวียดนาม โดยรถบรรทุก จากนั้นขึ้นรถไฟไปถึงฮานอย (นายจำกัดใช้เส้นทางกรุงเทพฯ–สกลนคร–นครพนม–ท่าแขก–วินห์–ฮานอย)
ที่ฮานอย นายจำกัดต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ เสี่ยงชีวิต คือต้องเลือกว่าจะเข้าเมืองจีนเสรีทางไหน
ทางที่หนึ่ง เมืองลังเซินทางเหนือของเวียดนาม ทางนี้ต้องปลอมตัวแต่งกายเป็นพวกแม้วไปกับพวกค้าของเถื่อน แต่มีกองทัพญี่ปุ่นตั้งอยู่ระหว่างทาง ถ้าถูกจับก็แก้ตัวยากว่า คนไทยทำไมไปค้าของเถื่อนที่เวียดนาม
ทางที่สอง ทางกวางเช่าหวัน เขตเช่าตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งฝรั่งเศสเช่าจากจีน เขตนี้ญี่ปุ่นเพิ่งเขาไปยึดครองจึงกวดขันมาก
ทางที่สาม ทางเมืองมองกาย แล้วเดินเข้าเมืองตงเฮ็งของมณฑลกวางสี ทางนี้จะมีทหารญี่ปุ่นตรวจค้นเมื่อลงเรือที่ท่าเรือเมืองไฮฟอง
นายจำกัดตัดสินใจเลือกทางที่สาม
17 มีนาคม 2486 บนเรือเดินทะเลไฮฟอง นายจำกัด และนายไพศาล โชคดีมากที่รอดพ้นการตรวจจับของทหารญี่ปุ่นมาได้ เพราะความช่วยเหลือของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่มาทำงานในฮานอย ได้โทรเลขมาสั่งให้ตำรวจฝรั่งเศสช่วยปกป้อง
ทั้งนี้ ก่อนออกเดินทางนายปรีดีได้แนะนำให้นายจำกัดไปขอจดหมายแนะนำตัวจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพไปถึงศาสตราจารย์เซเดส์ให้ช่วยเหลือ
เซเดส์บอกกับจำกัดว่า “ถ้าเป็นคนอื่นล่ะ เป็นไม่ช่วยเหลือ แต่นี่สมเด็จกรมพระยาฯ เป็นเหมือนพ่อ จะต้องช่วยเหลือ”
เมื่อมาถึงมองกาย นายจำกัดกับนายไพศาล ได้เดินทางเท้าต่ออีก 6 วัน ถึงเมือนหนานนิง การเดินทางผ่านเส้นทางทุรกันดาร ต้องอาศัยพักตามโรงนาที่สกปรก
จากหนานนิงไปลิวเจาโดยรถยนต์ ถึงลิวเจามีโทรเลขจากจุงกิงสั่งให้นายจำกัดรออยู่ที่ลิวเจานานถึง 9 วัน จึงได้รับอนุญาตให้เดินทางต่อไปกุ้ยหลิน
จากลิวเจาไปกุ้ยหลินโดยรถไฟ จำกัดถูกกักตัวอยู่ที่กุ้ยหลินอีก 14 วัน จึงได้รับอนุญาตจากจีนให้เดินทางไปจุงกิง
21 เมษายน 2486 นายจำกัดบินจากกุ้ยหลินถึงจุงกิง
รวมเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจุงกิง 53 วัน
โปรดติดตาม “ฉากที่ 5: ปฏิบัติการจุงกิง”