ThaiPublica > คอลัมน์ > อนาคตการเมืองไทยใน 20 ปี

อนาคตการเมืองไทยใน 20 ปี

3 สิงหาคม 2013


อภิชาต สถิตนิรามัย

ข้อเขียนนี้จะพยายามฉายภาพความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยที่อาจจะเกิดขึ้นใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งในแง่นี้คงไม่ต้องกล่าวเตือนผู้อ่านว่า อนาคตเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้

จากข้อค้นพบของชุดโครงการวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” ว่าความขัดแย้งในปัจจุบันระหว่างมวลชนสองสีเสื้อคือเหลืองและแดงนั้น ทั้งสองฝ่ายเป็นตัวแทนของคนสองกลุ่ม ซึ่งเราเรียกว่า “ชนชั้นกลางเก่า” และ” ชนชั้นกลางใหม่” ส่วนประเด็นความขัดแย้งหลักของสองกลุ่มชนนี้คือ ความเห็นต่างที่มีต่อกติกาการเมืองไทยที่ควรจะเป็น กล่าวคือ ฝ่ายแดงยึดมั่นในการเมืองแบบเลือกตั้ง โดยเห็นว่าความชอบธรรมและการตัดสินใจทางการเมืองจะต้องมีที่มาจาก/หรือยึดโยงกับการเลือกตั้ง ในขณะที่ฝ่ายเหลืองเน้นประชาธิปไตยแบบตรวจสอบ โดยเห็นว่าการเลือกตั้งไม่เป็นทั้งปัจจัยที่จำเป็นหรือปัจจัยที่เพียงพอต่อความชอบธรรมทางการเมือง ในทัศนะนี้ การเมืองจะชอบธรรมได้นั้นจะต้องเป็นการเมืองที่มีคุณธรรมและปราศจากการทุจริต จึงต้องเน้นการปกครองโดยคนดีผู้มีคุณธรรม หรือกล่าวอีกแบบได้ว่า ฝ่ายนี้จะยอมรับการเมืองแบบเลือกตั้งได้ก็ต่อเมื่อเป็นการเมืองแบบเลือกตั้งที่มีการกำกับจากพลังอื่นที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับเสียงส่วนใหญ่

ในแง่นี้เราอาจกล่าวได้ว่า ทัศนะของฝ่ายเหลืองเป็นตัวแทนของระเบียบทางสังคมแบบเก่า (status quo) ซึ่งเน้นความไม่เท่าเทียมของช่วงชั้นทางสังคม (hierarchical social relation/extractive political institution) ในขณะที่ทัศนะของฝ่ายแดงเป็นตัวแทนของความต้องการระเบียบทางสังคมแบบใหม่ที่เน้นความเท่าเทียม (horizontal social relation/inclusive political institution) ซึ่งเป็นการปฏิเสธช่วงชั้นทางสังคม

เราเห็นว่า ทัศนะแบบแดงเป็นผลจากการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมเป็นสังคมหลังเกษตรกรรม (deagrarianization) ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และจะดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เช่น มีการคาดการณ์กันว่าในปี พ.ศ. 2580 ประชากรไทยถึง 4/5 จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ก่อให้เกิดคนกลุ่มใหม่ขึ้นในสังคม (ชนชั้นกลางใหม่) เฉกเช่นเดียวกับประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีวิถีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ใช่เกษตรกรรมอย่างเดียวอีกต่อไป

แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มิได้ย้ายเข้าสังกัดในภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่แบบทางการ (formal sector) คนกลุ่มนี้จึงมีความต้องการและความคาดหวังแบบหนึ่ง (new needs and aspirations) ซึ่งแตกต่างไปจากชนชั้นกลางเก่า ดังนั้น ระเบียบทางสังคมแบบเก่าจึงกลายเป็นอุปสรรค์ที่ขัดขวางความหวังและความต้องการแบบใหม่ของคนกลุ่มนี้ ซึ่งเขาไม่ยอมรับระเบียบนี้อีกต่อไป ดังเห็นได้จากความตื่นตัวและการต่อสู้ของมวลชนเสื้อแดงในรอบหลายปีที่ผ่านมา กล่าวในอีกแง่หนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระยะที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง พ.ศ. 2540 ได้เปลี่ยนบางส่วนของ “ชนชั้นใหม่” ให้กลายเป็น “พลเมืองใหม่” ผู้ซึ่งไม่ยอมรับระเบียบที่เน้นช่วงชั้นทางสังคมอีกต่อไป

ณ จุดนี้ ใจกลางของความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่จึงเป็นความขัดแย้งระหว่างพลังสองฝ่ายคือ หนึ่ง แนวร่วมระหว่างชนชั้นกลางเก่าและชนชั้นนำเก่าที่พยายามจะรักษาและปกป้องระเบียบทางสังคมแบบเดิม สองแนวร่วมระหว่างชนชั้นกลางใหม่และชนชั้นนำใหม่ที่พยายามจะเปลี่ยนระเบียบทางสังคมเก่านี้ เพื่อผลักดันผลประโยชน์และรองรับความคาดหวังใหม่ของเขา

คำถามคือ แนวร่วมกลุ่มเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นนำเก่าจะตอบสนองอย่างไรต่อความท้าท้ายนี้ คำตอบของคำถามนี้จะกำหนดภาพทางการเมืองไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า อย่างสำคัญ

ฉากหนึ่ง: ระยะสั้นถึงกลาง (5-10 ปี?)

องก์หนึ่ง ในระยะยาว เวลาและเหตุการณ์ทางธรรมชาติน่าจะเป็นประโยชน์ต่อชนชั้นนำใหม่มากกว่ากลุ่มเก่า แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นถึงกลาง เนื่องจากเวลาและธรรมชาติยังมาไม่ถึง ดุลอำนาจระหว่างแนวร่วมทั้งสองจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันมากนัก เราคาดว่าแนวโน้มหลักคือ แนวร่วมกลุ่มเก่าจะยังคงสามารถรักษาระเบียบเก่าต่อไปได้ ดังนั้น ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองอาจจะไม่แตกต่างมากนักจากที่ผ่านมาในรอบ 7-8 ปี โอกาสที่ความขัดแย้งจะขยายตัวรุนแรงไปมากกว่าที่ผ่านมา เช่น กลายเป็นสงครามกลางเมือง คงมีไม่มาก สมมติฐานสำคัญของแนวโน้มนี้คือ การที่ชนชั้นนำทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงประนีประนอมกันได้ แม้ว่าจะมีความพยายามให้เห็นเป็นครั้งคราว ดังเช่นกรณีคลิปเสียงอื้อฉาวเมื่อเร็วๆ นี้ก็ตาม

องก์สอง หากชนชั้นนำสองฝ่ายตกลงกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทิศทางที่จะยังคงรักษาสาระหลักของระเบียบแบบเก่าไว้ต่อไป ในกรณีนี้ ตัวแปรหลักคือการตอบสนองของกลุ่มพลเมืองใหม่ (เสื้อแดง) หากกลุ่มนี้สามารถพัฒนาตัวเองได้เข้มแข็งพอทั้งในแง่องค์กร ทรัพยากร และวาทกรรมชี้นำการเคลื่อนไหว จนกระทั่งชนชั้นนำทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเป็นภัยคุกคามแล้ว การปราบปรามและปิดกั้นพื้นที่ทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ เช่น การรัฐประหาร ฯลฯ อาจเกิดได้ ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองในระดับที่สูงกว่าในกรณีแรกจึงอาจเกิดขึ้น ส่วนผลลัพธ์ (ระเบียบทางสังคมที่เกิดตามมา) จะเป็นเช่นไร หรือกินเวลาอีกนานเท่าไรนั้น ไม่อาจคาดการณ์ได้

แต่เราเชื่อว่า ความเป็นไปได้ในกรณีนี้จะต่ำกว่าในองก์แรก

องก์สาม แนวร่วมฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้ ในขณะนี้ เราเห็นว่าความเป็นไปได้ของกรณีนี้มีน้อยมาก เนื่องจากดุลกำลังทางสังคมของทั้งสองฝ่ายใกล้เคียงกันเกินไป

ไม่ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้น จะเป็นองก์หนึ่งหรือองก์สองก็ตาม จะมีผลกระทบด้านลบต่อภาคเศรษฐกิจ กล่าวคือ ปัญหาหลักๆ ในเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัญหาที่ยากซับซ้อนจะไม่ได้รับการแก้ไขต่อไป เช่น การเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ในภาคการเกษตร หรือปัญหาการยกระดับภาคอุตสาหกรรม (upgrading) เพื่อเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากแนวร่วมฝ่ายใดจะขาดความชอบธรรมในสายตาของฝ่ายตรงข้ามเสมอ และจะไม่สามารถทุ่มเทความสามารถที่มีจำกัดไปสู่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างได้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงอาจจะต่ำกว่าศักยภาพ รวมทั้งภาระที่เกิดจากการใช้จ่ายในโครงการต่างๆ เพื่อซื้อเวลาทางการเมือง และ/หรือภาระการคลังที่จะเพิ่มขึ้นจากปัญหาสังคมชราภาพ ทั้งหมดนี้อาจก่อให้เกิดภาวะการคลังที่ไม่ยั่งยืนและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้

ในอีกแง่หนึ่ง ปัญหาผลิตภาพต่ำนั้นจะถูกซ้ำเติมจากปัญหาสังคมชราภาพ ซึ่งจะเริ่มส่งผลอย่างชัดเจนในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า เนื่องจากอัตราส่วนพึ่งพิง (dependency ratio) ระหว่างเด็กและคนชรากับประชากรในวัยทำงานมีค่าต่ำสุดในปัจจุบันและกำลังจะเพิ่มขึ้น คาดว่าสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะคิดเป็น 14% และ 20% ของประชากรทั้งหมดในปี พ.ศ. 2564 และ 2574 ตามลำดับ ทั้งหมดนี้จะทำให้ภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่รายได้ต่อหัวจะลดลง หากไม่สามารถยกระดับผลิตภาพแรงงานให้เพิ่มขึ้นได้ กล่าวอีกแบบคือ เหลือเวลาอีกไม่มากนักที่จะต้องเร่งแก้ปัญหาผลิตภาพการผลิตต่ำ หาไม่แล้วสังคมไทยอาจจะกลายเป็นสังคม “แก่ก่อนรวย” แต่เนื่องจากการเพิ่มผลิตภาพนั้นมีปัญหาเชิงเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า “ผลกระทบจากภายนอกเชิงบวก” (positive externality) ซึ่งเอกชนจะไม่มีแรงจูงใจพอเพียงในการแก้ปัญหานี้ รัฐจึงต้องเป็นพลังหลักในการแก้ปัญหา ดังนั้น สภาพทางการเมืองจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการแก้ปัญหา

แต่จุดแข็งของเศรษฐกิจไทยคือความหลากหลายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (diversification) ซึ่งแม้ว่าจะมีผลิตภาพไม่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยว อาจจะขยายตัวต่อไปได้จากการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียตะวันออกรวมทั้งอินเดีย ภาคบริการจึงอาจทำหน้าที่เป็นภาคที่รองรับผลกระทบทางลบ (shock absorption) ทั้งที่มาจากภาคการเมืองไทยหรือภาวะเศรษฐกิจโลกได้อย่างน้อยก็ในบางส่วน

ฉากสอง: ระยะยาว (10-20 ปี)

องก์หนึ่ง ชนชั้นนำเก่าอาจปรับตัวยอมรับระเบียบทางสังคมแบบใหม่ได้มากขึ้นและประนีประนอมกับชนชั้นนำใหม่ได้ เนื่องจากอำนาจต่อรองลดลงทั้งจากสาเหตุทางธรรมชาติและความขัดแย้งภายในกลุ่มที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่ตามมาจากการประนีประนอมนี้น่าจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปจนกระทั่งบรรลุดุลอำนาจที่สะท้อนความเข้มแข็งของกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม ความรุนแรงและความขัดแย้งทางการเมืองอาจจะไม่เข้มข้น บางส่วนของกลุ่มพลเมืองใหม่อาจไม่พอใจต่อระดับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน (Non-radical change) แต่ก็จะไม่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงไปได้ไกลนัก เนื่องจากจะถูกโดดเดี่ยวจากกลุ่มพลังอื่นๆ

องก์สอง หากชนชั้นนำเก่าบางปีกหรือทั้งหมด แม้ว่าจะอ่อนแอลงด้วยเหตุผลเดียวกับในองก์หนึ่ง แต่ไม่ยอมปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง กลับตัดสินใจใช้มาตรการปราบปรามหรือปิดกั้นพื้นที่ทางการเมือง ดังนั้นความรุนแรงและความขัดแย้งทางการเมืองอาจจะถึงระดับสูงสุดในองก์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประจวบเหมาะเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งเป็นผลพวงของฉากที่หนึ่งข้างต้น ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงนี้อาจจะมีลักษณะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินก็ได้ ซึ่งจะทำให้ชนชั้นนำเก่าในแบบที่เรารู้จักเสื่อมสลายไปในที่สุด แต่เราก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่า ระเบียบใหม่ทางสังคมภายหลังการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นไปตามที่พลเมืองใหม่ต้องการหรือไม่ และไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าความขัดแย้งในระดับรุนแรงนี้จะกินเวลานานเท่าไร รวมทั้งไม่อาจแน่ใจได้ว่า ณ จุดนั้นสังคมการเมืองไทยจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ (fail state) กล่าวอย่างสั้นๆ องก์สองของฉากสองนี้จะเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นใน 20 ปีข้างหน้า

องก์สาม กรณีที่แนวร่วมกลุ่มเก่าเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้ เราเห็นว่าความน่าจะเป็นที่องก์สามจะเกิดขึ้นมีน้อย เนื่องจากทั้งชนชั้นนำเก่าและชนชั้นกลางเก่าน่าจะอ่อนแอลงกว่าในปัจจุบัน ดังนั้น หากแนวร่วมกลุ่มนี้ไม่สามารถเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้ในระยะสั้นถึงกลางแล้ว โอกาสที่จะชนะในระยะยาวคงมีต่ำ

แต่ไม่ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นไปในฉากใด-องก์ใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนคือ ความเปลี่ยนแปลงที่มีรากฐานมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจนี้ ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วและจะดำเนินต่อไป รวมทั้งไม่ว่าชนชั้นนำเก่าจะตอบสนองหรือไม่ตอบสนองอย่างไรต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ตาม ระเบียบทางสังคมแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะคงเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ระเบียบทางสังคมที่เกิดจากการประนีประนอมระหว่างชนชั้นนำที่ตัดมวลชนออกจากสมการทางอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเหลืองหรือแดง จะไม่มีเสถียรภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

หมายเหตุ: ข้อเขียนนี้เกิดขึ้นหลังจากการปรึกษากับยุกติ มุกดาวิจิตร และนิติ ภวัครพันธุ์ เพื่อนผู้ร่วมโครงการวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” ผู้เขียนจึงขอขอบคุณทั้งสองเป็นอย่างมาก แต่แน่นอนว่า ความบกพร่องใดๆ ย่อมเป็นของผู้เขียนผู้เดียว