
ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังมีข่าวร้อน เมื่อคนสรรพากรเข้าไปพัวพันกับขบวนการโกงภาษีมูลเพิ่ม(VAT) มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท จนมีคำเปรียบเปรยว่า โกงข้าว โกงรถหรู กินน้ำ กินอิฐ หิน ดิน ทราย ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับโกง VAT ปลอมเอกสารไม่กี่ใบส่งให้เจ้าหน้าที่ลงนามประทับตรา เงินจากท้องพระคลังหลวงก็จะไหลเข้าบัญชีผู้กระทำความผิดได้อย่างง่ายดาย
ทันทีที่กระทรวงการคลังได้เบาะแสจากคนในกรมสรรพากร นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งให้ ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อหาตัวข้าราชการที่ไปร่วมกับขบวนการโกงภาษี ปล้นคลังหลวง มาลงโทษให้ได้ภายใน 60 วัน ข่าวนี้ทำเอาผู้บริหารระดับสูงกรมสรรพากรหลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นแรมเดือน เนื่องจากผลสอบข้อเท็จจริงมาสรุปในช่วงฤดูโยกย้ายซี 10 กระทรวงการคลัง พอดี และความผิดครั้งนี้ดูจะชัดเจนว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง
เก้าอี้อธิบดีกรมสรรพากรจึงอยู่ในช่วงสั่นคลอน เมื่อมีการประกาศแถลงข่าวผลการสอบสวนเรื่องการโกง VAT ในเวลา 15.00 น.ของวันที่ 22 สิงหาคม 2556 โดยปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้แถลงข่าวสรุปผลการสอบสวนคดีโกง VAT ด้วยตนเอง
เมื่อ”ข่าว”การแถลงข่าวปรากฏขึ้น ก็มีความเคลื่อนไหวจากกรมสรรพากรทันที โดยนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ชิงแถลงข่าวเรื่องเดียวกันตัดหน้าปลัดกระทรวงการคลัง เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่การแถลงข่าวเรื่องเดียวกัน กระทรวงเดียวกัน แต่ต่างคนต่างแถลงข่าว
ความผิดปกติเริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนเที่ยง เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์กรมสรรพากร เริ่มโทรศัพท์เชิญสื่อมวลชนทุกสื่อมาฟังแถลงข่าวที่ห้องประชุมชั้น 2 กรมสรรพากร สำนักงานใหญ่ เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าวทราบแต่ว่าเป็นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องโกง VAT ขณะที่ปลัดกระทรวงการคลังเมื่อทราบเรื่องก็ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายกฎหมายกระทรวงการคลังสังเกตการณ์ในงานแถลงข่าวกรมสรรพากร
เนื่องจากการโกงภาษีเป็นเรื่องยากแก่การทำความเข้าใจ กรมสรรพากรจึงเตรียมอุปกรณ์เครื่องฉายพร้อมจอแสดง Power point และ Story board เอาไว้ประกอบคำบรรยาย รวมทั้งจัดเตรียมน้ำชา กาแฟ อาหารว่าง ต้อนรับสื่อมวลชน ก่อนอธิบดีกรมสรรพากรเปิดแถลงข่าว ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมสรรพากรให้สื่อมวลชนลงชื่อเข้าร่วมกิจกรรม Press tour ชมหิ่งห้อย รวม 3 วัน 2 คืน บริเวณตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามในระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 1 กันยายน 2556

งานแถลงข่าวเริ่มด้วยนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาโกง VAT ว่าเกิดจากระบบมีปัญหา กระบวนการตรวจสอบยันแบบธรรมดาๆ ไม่สามารถตรวจสอบการทุจริตขอคืนภาษีได้ ปัจจุบันขบวนการโกง VAT มีพัฒนาการไปไกล กระบวนการโกงที่ตรวจพบมีการทำกันถึง 5 ชั้น ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ไม่สามารถออกใบกำกับภาษี
โดยยกตัวอย่าง กลุ่มธุรกิจเศษเหล็กไปรับซื้อเศษเหล็กมาจากซาเล้ง แล้วส่งเศษเหล็กไปขายบริษัทกลุ่มที่ 2 และ 3 ขั้นตอนนี้เริ่มมีการออกใบกำกับภาษี และชำระภาษีให้กรมสรรพากรทุกเดือน จากนั้นก็ส่งก็ขายให้กับกลุ่มบริษัทที่ 4 และ 5 ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทส่งออก เสีย VAT ในอัตรา 0% กลุ่มนี้นำภาษีซื้อมาขอคืนกับกรมสรรพากรได้
กรมสรรพากรส่งเจ้าหน้าที่ตรวจกลุ่มส่งออกแทบจะไม่พบความผิดปกติใดๆ ขอดูเอกสารคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ก็มีให้ตรวจสอบอย่างถูกต้อง ขอดูใบขนสินค้าจากกรมศุลกากร เพื่อยืนยันว่ามีการส่งออก ก็มีหลักฐาน รวมทั้งมีใบยืนยันสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ (L/C) หลักฐานการชำระเงินค่าสินค้าจากธนาคาร หากมีเอกสารครบถ้วน กรมสรรพากรต้องคืนภาษีให้
“ปัญหาคือ ระเบียบกรมสรรพากรที่มีอยู่ไม่สามารถตรวจสอบยันลงลึกไปจนถึงกลุ่มที่ 1 สรรพากรพื้นที่ไม่มีทางทราบ บริษัทกลุ่มที่ 1 ซื้อขายเศษเหล็กมามูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งมีการทำในลักษณะนี้เยอะมาก ทำกันเป็นกลุ่มบริษัทกระจายอยู่ในหลายจังหวัด กรมสรรพากรใช้วิธีตรวจสอบในทางลับเท่านั้น หากรายชื่อหลุด ผู้กระทำผิดรู้ตัว ก็หนี เหลือแต่ออฟฟิศว่างเปล่า จับใครไม่ได้เลย” นายสาธิตกล่าว
กล่าวโดยสรุป ผู้ที่จะโกง VAT ต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ 1. ระบบบัญชีต้องดี บริษัทกลุ่มขนาดใหญ่มีเครือข่ายหลายบริษัท จะนำรายได้-รายจ่ายลงบัญชีที่บริษัทไหน ระบบบัญชีต้องดี และต้องทราบระเบียบกรมสรรพากรด้วย 2. ต้องรู้จุดอ่อนหรือจุดบอดของระเบียบการคืนภาษีของกรมสรรพากร และ 3. ต้องเชี่ยวชาญระเบียบศุลกากรด้วย
นายสาธิตกล่าวต่อไปอีกว่า “สำนักงานสรรพากรพื้นที่จะตรวจเฉพาะผู้เสียภาษีที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ ไม่ได้ตรวจสอบลงลึกไปถึง 3-4 ชั้น หรือตรวจสอบข้ามเขตที่ตนเองรับผิดชอบได้ นี่คือข้อบกพร่อง และเป็นปัญหาที่แท้จริงของการคืน VAT เมื่อมีช่องโหว่เกิดขึ้น อาจจะมีเจ้าหน้าที่ตามน้ำเข้าร่วมขบวนการโกง VAT เมื่อเร็วๆ นี้ตนลงโทษทางวินัย ไล่ออกซี 8 ไป 3 คน และกำลังจะตั้งสอบวินัยเพิ่มเติมอีก 10 คน ปัญหาคือทุกพื้นที่มีบริษัทขอคืน VAT เป็นจำนวนมาก หากตรวจสอบยันลึกลงไปถึง 4-5 ชั้น ปริมาณงานจะเยอะมาก เช่น ตรวจสอบ 2 บริษัท พบผู้เกี่ยวข้อง 116 ราย ตรวจลึกลงไปอีกพบ 300 ราย กระจายอยู่หลายพื้นที่ หากทำเช่นนี้หมดทุกราย แต่ละปีกรมสรรพากรอาจจะคืนภาษีให้ผู้ประกอบการได้ไม่กี่ราย”
“ปัญหานี้เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มนำระบบ VAT มาใช้ในสมัย ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็นอธิบดีกรมสรรพากร ก็เจอกับปัญหานี้ และจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ยังมีปัญหาดังกล่าวอยู่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือต้องปรับระบบใหม่ ป้องกันไม่ให้ทำแบบนี้ได้อีก ปัญหาใหญ่อยู่ที่ระบบ ก็ต้องแก้ที่ระบบ”

จากนั้นนายสาธิตมอบหมายให้นายถนอมศักดิ์ แก้วลออ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีกลาง (สต.)ซึ่งเป็นผู้ที่ทราบเรื่องคดีเป็นอย่างดี ได้กล่าวว่าหลังตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่สรรพากรคืนเงิน 2,600 ล้านบาท ให้กลุ่มบริษัทส่งออกเศษเหล็กกว่า 30 บริษัท และได้ทำหนังสือรายงานกรมสรรพากร ปรากฏว่า อธิบดีกรมสรรพากรทำหนังสือสั่งโอนเรื่องกลับไปให้สรรพากรภาค 5 ดำเนินการต่อ โดยอ้างเหตุผลว่าไม่ต้องการให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อน สุดท้ายผู้ส่งออกกลุ่มนี้ปิดกิจการหนี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก เป็นประเด็นที่คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลังกำลังขยายผลการสอบสวนและหาข้อสรุป
นายถนอมศักดิ์ชี้แจงว่า “เดิมทีสรรพากรภาค 5 ตรวจสอบพบกลุ่มบริษัทส่งออกเศษเหล็กหลายรายขอคืน VAT มากผิดปกติ จึงทำรายงานถึงกรมสรรพากร อธิบดีกรมสรรพากรสั่งการเป็นหนังสือให้สำนักตรวจสอบภาษีกลางเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ ตอนนั้นผมไม่ทราบว่าสรรพากรภาค 5 เข้าไปดำเนินการตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำอะไรไปบ้าง ผมส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการปิดกิจการหมดแล้ว ผมจึงทำรายงานถึงกรมสรรพากร และอธิบดีกรมสรรพากร สั่งการว่าเนื่องจากสรรพากรภาค 5 ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เพื่อไม่ให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อนให้โอนเรื่องให้ภาค 5 ดำเนินการ”
นอกจากนี้ อธิบดีกรมสรรพากรได้สั่งการเพิ่มเติมให้สรรพากรภาค 5 ปฏิบัติตามแนวทางของของสำนักตรวจสอบภาษีกลางดังนี้ คือ 1. ให้ตรวจสอบกลุ่มบริษัทส่งออกเศษเหล็ก ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2553-2555 2. ให้ตรวจสอบยันกลับไปทุกชั้นและทุกราย 3. ให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินกับธนาคาร 4. ทำหนังสือขอข้อมูลการส่งออกไปต่างประเทศ และร่วมกับพื้นที่ตรวจสอบ และ 5. ให้ชะลอการคืนภาษี เป็นการกำหนดแนวทางให้ภาค 5 ไปดำเนินการ

หลังจากที่กรมสรรพากรปิดการแถลงข่าว นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมกับนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง และนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีโกง VAT เปิดแถลงข่าวในเวลา 16.00 น. โดยกรมสรรพากรส่งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์และฝ่ายกฎหมายเข้าร่วมสังเกตการณ์แถลงข่าวที่กระทรวงการคลังด้วยเช่นกัน
นายอารีพงศ์เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังได้รับหนังสือร้องเรียนกรณีมีบุคคลและนิติบุคคลขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จ ตนได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 748/2556 ลงวันที่ 21 มิ.ย. 2556 เพื่อตรวจสอบมูลความผิดที่มีการร้องเรียนกล่าวหา ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว และพิจารณาความผิดและโทษทางวินัยแก่ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ สรุปผลสอบในเบื้องต้น พบว่ามีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมิชอบจำนวน 18 ราย ประกอบด้วย ข้าราชการประเภทอำนวยการระดับสูง และประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญจำนวน 4 ราย และข้าราชการระดับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งมีทั้งระดับชำนาญการพิเศษ ระดับชำนาญการ และระดับปฏิบัติการจำนวน 14 ราย และมีการกระทำอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
สำหรับขั้นตอนการดำเนิน หลังจากได้รับรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริง กระทรวงการคลังจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงกับข้าราชการที่อยู่ในระดับอำนวยการสูงและระดับเชี่ยวชาญ (ซี 9) ซึ่งอยู่ในอำนาจของปลัดกระทรวงการคลัง จำนวน 4 ราย และแจ้งรายชื่อข้าราชการระดับผู้ปฏิบัติงาน ตั้งแต่ระดับชำนาญการพิเศษลงมา (ต่ำกว่าซี 8) ซึ่งอยู่ในอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากร ดำเนินการทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ต่อไป อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีข้าราชการอื่นเข้าไปมีส่วนร่วมกระทำความผิด นอกเหนือจาก 18 รายที่คณะกรรมสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ชี้มูล กระทรวงการคลังจะดำเนินการทางวินัยอย่างเฉียบขาดต่อไป

จากนั้น ปลัดกระทรวงการคลังมอบหมายให้นายประสิทธิ์ สืบชนะ ประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ชี้แจงเพิ่มเติม นายประสิทธิ์กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ให้ได้ข้อยุติภายใน 60 วัน ตนได้ทำหนังสือขอข้อมูลกรมสรรพากร 5 ครั้ง มีบริษัทที่พัวพันกับขบวนการโกงภาษี 65 แห่ง กรมสรรพากรส่งข้อมูลมาให้คณะกรรมการฯ เพียง 1 ครั้ง ได้รายชื่อบริษัทที่เกี่ยวข้องมาแค่ 20 บริษัท ตนจึงได้ประสานงานไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อขอข้อมูลมาประกอบการพิจารณา
นายประสิทธิ์ยืนยันว่า “ระเบียบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากรวางเอาไว้ดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาการทุจริตมันเกิดจากคน หากเจ้าหน้าที่ไม่ให้ความร่วมมือ ผู้เสียภาษีไม่มีทางโกงภาษีได้ ก่อนที่จะคืน VAT เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรสามารถตรวจความว่าผู้เสียภาษีประกอบการกิจการจริงหรือไม่ คืนช้าคืนเร็วเป็นอีกประเด็น”
ส่วนรายละเอียด นายประสิทธิ์กล่าวย้ำว่าให้ดูในเอกสารประกอบการแถลงข่าว ซึ่งในเอกสารระบุว่ามีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่เข้าไปเกี่ยวข้องขบวนการโกงภาษีที่จะต้องถูกสอบวินัย 19 ราย เหตุใดปลัดกระทรวงการคลังแถลงข่าวว่ามีผู้กระทำผิดแค่ 18 ราย ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามปลัดกระทรวงการคลัง นายประสิทธิ์ตอบสั้นๆ ว่า “เจ้าหน้าที่พิมพ์ผิด” ขณะที่ข่าววงในระบุว่ามีการถอนชื่อผู้บริหารระดับสูงออกไปหนึ่งคน
สำหรับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่ถูกสอบวินัยทั้ง 18 ราย มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตดังนี้ 1. มีการเร่งรัดคืนภาษีเร็วผิดปกติ 2. การสอบยันใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง และมีการนำผลการสอบยันที่ไม่ถูกต้องไปใช้ประกอบการพิจารณาคืนภาษี และผู้ที่มาขอคืนภาษีได้รับเงินคืนภาษี โดยไม่ต้องรอผลการตรวจสอบ 3. เจ้าหน้าที่ประเมินความน่าเชื่อถือไม่สอดคล้องกับสำนวนพิจารณาอนุมัติการคืนเงินภาษีอย่างรวดเร็ว
