ThaiPublica > คอลัมน์ > Margaret Thatcher : แม่มด หรือนางฟ้า

Margaret Thatcher : แม่มด หรือนางฟ้า

4 กรกฎาคม 2013


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

Margaret Thatcher ที่มาภาพ : http://gdb.voanews.com
Margaret Thatcher ที่มาภาพ : http://gdb.voanews.com

ถึงจะมีงานศพใหญ่โต มีผู้คนบางส่วนแซ่ซ้องสรรเสริญว่าเป็นรัฐบุรุษ (สตรี) คนสำคัญของอังกฤษ แต่กระนั้นก็ตามมีคนอีกมากมายเกลียดชังเธอ…….ตกลง Margaret Thatcher เป็นแม่มดหรือนางฟ้ากันแน่

เสียงเพลง “Ding Dong the Witch is Dead” จากภาพยนตร์ “The Wizard of Oz” กระหึ่งขึ้นทันทีหลังจากที่ MT (ชื่อที่สามีเรียกเธอ) ถึงแก่อสัญกรรม คนที่ร้องรำทำเพลงยินดีกับการจากไปของเธอได้รอคอยวันที่จะได้ตบหน้าเธอในลักษณะนี้มานานกว่า 20 ปี

จะเข้าใจความรู้สึกของพวก Ding Dong เหล่านี้ได้ก็ต้องดูการเมืองอังกฤษ นับตั้งแต่ปี 1964 ถึง 1979 พรรค Labor ครองอำนาจมาตลอด (ยกเว้น 4 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1970-1974 ที่รัฐบาลพรรค Conservative มาคั่น) ตลอดเวลาเหล่านี้อุดมการณ์โซเซียลลิสถูกแปรรูปเป็นนโยบายออกมาเป็นชุดเพื่ออุ้มคนรายได้น้อยไม่ว่าในด้านสาธารณสุข การศึกษา บริการสาธารณะ สวัสดิการสังคม ฯลฯ

นอกจากนี้สหภาพแรงงาน แรงงานคนทำเหมือง แรงงานในอุตสาหกรรมเหล็ก มีอำนาจมากจนมีการสไตร์ดบ่อยครั้งมาก ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งมวลชน ขนส่งท่าเรือ โรงพิมพ์ ขนขยะแม้แต่สัปเหร่อ ส่วนข้าวของก็แพง (กลุ่มประเทศอาหรับขึ้นราคาน้ำมันครั้งใหญ่ในปี 1973) รัฐบาลเข้าแทรกแซงค่าจ้างและราคา แถมภาษีก็สูง ฯลฯ สรุปได้ว่าผู้คนเริ่มระอากับแนวคิดโซเชียลลิสในอังกฤษที่มีติดต่อกันมา 35 ปีและเป็นกระแสที่แรงต่อเนื่องในยุโรปตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

Niall Ferguson นักประวัติศาสตร์ดาวรุ่งชาวสก๊อตในวัยปลาย 40 ที่ได้รับการยอมรับมากในระดับโลก (เจ้าของหนังสือ Civilization (2011) และ The Great Degeneration (2012) อันเลื่องลือ) ได้เขียนชื่นชม MT เขาเล่าว่าในปี 1979 ที่เธอเริ่มเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น อัตราเงินเฟ้อคือร้อยละ 17 คนอังกฤษสิ้นหวังและเบื่อหน่ายกับชีวิตหลังการล่มสลายของอาณาจักรอังกฤษ มองไปแล้วไม่เห็นอนาคต ไม่เห็นความยิ่งใหญ่ของอังกฤษดังที่เคยเป็น

Ferguson บอกว่าเธอได้สร้างความหวังให้คนอังกฤษอีกครั้งด้วยการ U-Turn นโยบายของพรรค Labor เกือบทั้งหมด (“นารีขี่ม้าขาว” ตัวจริง) และแทนที่ด้วยแนวคิดเสรีนิยม ชื่นชมทุนนิยม อันได้แก่ การใช้กลไกตลาด ความเป็นเสรีของตลาด เสรีภาพของหน่วยเศรษฐกิจและแรงงานเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เธอเอาบ้านที่รัฐสร้างให้คนมีรายได้น้อยเช่ามายาวนาน (council houses) ขายให้เป็นสมบัติของผู้อยู่อาศัย ทำการ privatize อุตสาหกรรมที่ถูกยึดมาเป็นของรัฐในยุครัฐบาล Labor โดยการขาย แปรรูป หรือยุบทิ้ง

ความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญในการกลับลำ ความสามารถในการสื่อสารโดยเฉพาะในการพูดโต้ตอบกับกลุ่ม ส.ส. ชายทั้งหลาย กับเกย์ กับกลุ่มพลังสิทธิสตรี กับสหภาพแรงงาน กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเธอ กับกลุ่มโซเซียลลิส ฯลฯ ทำให้เธอสามารถทำงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจโดยใช้กลไกตลาดได้สำเร็จพอควร แต่ก็มีศัตรูมากมายโดยเฉพาะกลุ่มที่เห็นว่าความเท่าเทียมกันของสมาชิกในสังคมสำคัญกว่าประสิทธิภาพ

คำพูดของเธอแสบคัน สะใจแฟนคลับแต่สร้างความเกลียดชังในใจศัตรูเช่น “พวกนี้ติดโรคโซเซียลลิสคือชอบทำให้เงินของคนอื่น (ที่เอามาทำโปรแกรมสังคม) หมดไป” “ปัญหาของคุณก็คือกระดูกสันหลังของคุณมันไม่ยาวไปถึงสมอง” “ดิฉันไม่ใช่นักการเมืองประเภทแสวงหาความเห็นพ้อง (consensus politician) หากเป็นนักการเมืองประเภทมีความมุ่งมั่นในความเชื่อ (conviction politician)”

ตลอดเวลา 11 ปีที่เป็นนายกรัฐมนตรี (ยาวที่สุดสำหรับนายกฯ ในศตวรรษที่ 20 และเป็นคนแรกและยังเป็นคนเดียวที่เป็นผู้หญิงของอังกฤษ) ระหว่าง 1979-1990 เธอได้รับความชื่นชมจากการชนะศึก Falklands (เกาะของอังกฤษและถูกบุกยึดโดยอาเยนตินา) ในปี 1982 ได้รับคำสรรเสริญในการทำให้เศรษฐกิจอังกฤษกลับฟื้นตัวขึ้นมา และในการทำให้อังกฤษก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง ในใจของชาวโลก

MT นั้นไม่เป็นที่รักของผู้นำยุโรป (Francois Mitterrand บอกว่าปากเธอเหมือน Marilyn Monroe) เพราะเธอไม่ต้องการให้อังกฤษร่วมลงเรือลำเดียวกับสมาชิกยุโรปอื่น ๆ (ไม่ยอมใช้เงินยูโร ไม่ยอมการใช้วีซ่าร่วมที่เรียกกันว่า Schengen Visa ไม่สนับสนุนไอเดียการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี) เธอไม่เห็นด้วยกับการเป็นสมาชิก EU อย่างเต็มตัวของอังกฤษ

ใครที่อยากดูภาพยนตร์ชีวประวัติของเธอในแนวชื่นชม ต้องไม่พลาด “The Iron Lady” (ไม่ใช่หญิงนักรีดผ้าหากเป็นหญิงเหล็ก) ซึ่ง Merlyn Streep เล่นเป็นตัวเธอได้สุดยอดจนได้รางวัล ตุ๊กตาทอง ในเรื่องนี้เธอบอกว่าสิ่งที่ต้องการก็คือการมีชีวิตที่ช่วยทำให้เกิดความแตกต่าง (make a difference) และเธอก็ได้ทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นได้สำเร็จจริง ๆ

อังกฤษในปัจจุบันมีอิสรภาพในการใช้ค่าเงินแก้ปัญหาเศรษฐกิจ (หากร่วมใช้เงินยูโรป่านนี้คงถูกโซ่ที่ผูกขาร่วมกันดึงลงน้ำไปแล้ว) มีระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพผ่านกลไกตลาดเสรีถึงแม้ว่าจะได้มาด้วยการทำให้ช่องห่างระหว่างคนรวยและคนจนถ่างมากขึ้นก็ตามที

เธอบอกว่า “คนอาจเกลียดฉันในปัจจุบัน แต่อีกหลายชั่วคนจะขอบคุณฉัน” และก็เป็นจริงดังที่เธอคาด เธอถูกเขี่ยออกจากหัวหน้าพรรคใน ค.ศ. 1990 เพราะพรรคกลัวว่าเธอจะนำไปสู่ความปราชัยในการเลือกตั้งทั่วไปเพราะผู้คนเริ่มเบื่อการไม่ฟังเสียงคนอื่นของเธอ อย่างไรก็ดีปัจจุบันผู้คนจำนวนมากก็ชื่นชมสิ่งที่เธอได้ทำไป ชื่อ MT ทั้งในตอนที่มีชีวิตอยู่และจากไปแล้วสามารถปลุกความรู้สึกชอบและไม่ชอบขึ้นได้ทุกครั้ง

ไม่ว่าจะชอบเธอหรือไม่ก็ตาม คนที่มีใจเป็นธรรมคงเห็นว่าเธอเป็นนายกรัฐมนตรีที่สร้างประวัติศาสตร์ เธอรักชาติ เธอกล้าหาญ เธอไม่เคยมีชื่อเสียงมัวหมองในเรื่องเบียดบังเงินทองไม่เคยเห็น ประโยชน์ส่วนตัวสำคัญกว่าส่วนรวม และประการสำคัญเธอให้ความหวังแก่คนที่เลือกเธอมาเป็นนายกรัฐมนตรี

สำหรับคนที่ชื่นชอบ เธอคือ “นางฟ้า” แต่สำหรับศัตรูแล้ว เธอคือ “แม่มด”…อะไรที่ทำให้เธอแปลงร่างได้ขนาดนั้น… การตัดสินใจเลือก “ประสิทธิภาพ” แทน “ความเท่าเทียม” ของเธอคือสิ่งที่ตัดสินเธอในใจของแต่ละคน

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 23 เม.ย. 2556

ป้ายคำ :