ThaiPublica > คอลัมน์ > ความไว้วางใจ

ความไว้วางใจ

17 กรกฎาคม 2013


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ความไว้วางใจเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานของระบบเศรษฐกิจและการดำเนินไปอย่างดีของสังคม เมื่อใดที่ความไว้วางใจเริ่มสั่นคลอน เมื่อนั้นปัญหาจะทยอยตามกันมาอย่างไม่จบสิ้น

ลองจินตนาการดูในกรณีสุดโต่งว่า หากสมาชิกของระบบเศรษฐกิจไม่ไว้วางใจธนบัตรที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศตนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น บ้านเมืองและสังคมจะปั่นป่วนเพราะทุกคนจะหันกลับไปสู่ระบบแลกเปลี่ยนของกัน (barter system) หรือหันไปใช้เงินสกุลอื่นกันเกือบทั้งหมด

ชั่วเวลาหนึ่งในประเทศพม่าในสมัยก่อน ค.ศ. 1988 วิสกี้ Red Label และบุหรี่ยี่ห้อ 555 เป็นสิ่งที่คนพม่าปรารถนาที่จะรับมากกว่าเงินจ๊าด ทั้งสองสิ่งทำหน้าที่เสมือนเงินตราในยุคที่คนพม่าไม่ไว้วางใจค่าเงินจ๊าดที่ผันผวนและมีค่าอ่อนลงทุกขณะ

ถ้าผู้คนไม่เชื่อถือเงินบาท เวลาชำระเงินเดือนหรือค่าแรงกันก็จะใช้ทองคำ สิ่งของมีค่า ข้าว ผัก ปลา ฯลฯ ความโกลาหลไม่สะดวกจะเกิดทุกหย่อมหญ้า การค้าขายจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะเพียงแค่การดำเนินธุรกิจก็ไม่เป็นไปตามปกติแล้ว การจัดหาวัตถุดิบมาผลิตแทบจะเป็นไปไม่ได้

อะไรที่จะทำให้เงินบาทไม่เป็นที่ยอมรับ และผู้คนขาดความไว้วางใจได้ขนาดนั้น ตอบง่ายๆ ก็คือ การที่ธนบัตรไหลเข้าสู่ตลาดมากมายโดยมีที่มาจากการพิมพ์เพิ่มของภาครัฐ จนทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างผิดสังเกต เนื่องจากปริมาณสินค้าและบริการมิได้ขยายตัวได้มากในระยะเวลาสั้น แต่ปริมาณเงินขยายตัวเร็วกว่ามาก จนอำนาจซื้อพุ่งสูงขึ้นกลายเป็นสถานการณ์ “เงินไล่จับสินค้าที่มีจำกัด” ข้าวของแพงขึ้นเรื่อยๆ

ประเทศซิมบับเวเป็นตัวอย่างล่าสุด เกิดเงินเฟ้อนับแสนเปอร์เซ็นต์ใน 10-15 ปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นไม่จบสิ้น ประชาชนไม่เชื่อถือ “ธนบัตรกงเต๊ก” นี้ขึ้นทุกที ในที่สุด การแก้ไขก็ทำได้สำเร็จเมื่อเลิกใช้เงินสกุลท้องถิ่นและหันมาใช้เงินสกุลเหรียญสหรัฐฯ แทน

หากภาครัฐไทยพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นมากมายในช่วงเวลาที่ไม่นาน ถึงแม้จะมีทุนสำรองเงินตราค้ำประกันธนบัตรที่พิมพ์ขึ้นมากเหล่านี้ก็ตาม (ในรูปของทองคำ และเงินตราต่างประเทศสกุลที่สำคัญ) ผู้คนก็จะเกิดความไม่เชื่อถือคลางแคลงในการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการเพิ่มขึ้นของธนบัตร

จริงอยู่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมายในการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ไม่ใช่รัฐบาล ทั้งนี้เพื่อการถ่วงดุลซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติของสากล รัฐบาลทั่วโลกไม่อยากเก็บภาษีมากๆ จากประชาชนเพราะทำให้ความนิยมตก ดังนั้น รัฐบาลในหลายประเทศที่ขาดธรรมาภิบาลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมักใช้วิธีพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อเป็นเงินมาใช้แทนภาษี

ประเทศไทยเรานับว่าโชคดี เท่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีอิทธิพลมากพอหรือไม่ใช้อำนาจในการบีบให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพิมพ์ธนบัตรเพิ่มแทนการเก็บภาษีเพิ่ม แต่จากบทเรียนที่ผ่านมา ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถึง 2 คน ถูกปลดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถูกปลดโดยคณะรัฐมนตรีได้ เงื่อนไขนี้ทำให้ผู้เฝ้าดูเศรษฐกิจไทยไม่อาจละสายตาได้

บทเรียนจากหลายประเทศในอดีตชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลจะเลือกวิธีพิมพ์ธนบัตรเพิ่มแทนการเก็บภาษีเมื่อรัฐบาลมีรายจ่ายมากมายอันเกิดจากการผูกพันในอดีต มีหนี้สินอยู่มากจนไม่อาจกู้เพิ่มได้อีกมากนัก อีกทั้งภาษีก็ไม่อาจเก็บเพิ่มได้อีก และประการสำคัญคือ สามารถบีบหรือชักจูงให้ธนาคารกลางยอมพิมพ์ธนบัตรเพิ่มมากขึ้นได้เพื่อนำมาใช้จ่าย การกระทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจขึ้นมาทันที

ความไม่ไว้วางใจดังกล่าวถึงนั้นกินความตั้งแต่ความคลางแคลงใจการแก้ไขปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายของรัฐบาล การไม่วางใจการมีธรรมาภิบาลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะการใช้อำนาจในการเพิ่มปริมาณธนบัตร การไม่ไว้วางใจความมั่นคงของรัฐบาล ความมั่นคงของสถาบันการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ขององค์กรและปัจเจกบุคคล ความไม่ไว้วางใจเงินสกุลท้องถิ่น ฯลฯ

ความไม่ไว้วางใจเปรียบได้ดังเชื้อโรคที่สามารถแพร่ไปทั่วทิศได้ในเวลาอันรวดเร็ว และสามารถทำให้การดำเนินไปของระบบเศรษฐกิจชะงักงันได้

ปัญหาความไม่ไว้วางใจต้องแก้ไขที่รากก่อนที่จะลุกลามเป็นไฟไหม้ป่าทำลายสิ่งต่างๆ ลงอย่างน่ากลัว ในเรื่องการให้ความไว้วางใจว่าจะไม่เกิดเงินเฟ้ออันเกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณธนบัตรอย่างไร้ความรับผิดชอบนั้น รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบไปเต็มๆ

ความไว้วางใจในระดับมหภาคระหว่างประชาชนและภาครัฐจะเกิดขึ้นได้หากรัฐบาลระมัดระวังการใช้จ่าย สร้างธรรมาภิบาลของระบบการทำงานให้ประจักษ์ อีกทั้งให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่าการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาเงินใช้จ่ายจากภาครัฐมีไม่เพียงพอจะไม่เกิดขึ้น

ความไว้วางใจโดยทั่วไปในสังคมทำให้สามารถคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้บ้าง สร้างชุมชนที่มีความยั่งยืนและทำให้สมาชิกชุมชนสามารถทำงานร่วมกันได้

รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวแทนของประชาชนสร้างสังคมที่น่าอยู่ ดังนั้นจึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นในทุกลักษณะให้ปรากฏแก่ใจของประชาชน

ถึงแม้ความไว้วางใจเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่ประชาชนรู้สึกเสมอว่ามันมีอยู่หรือไม่

หมายเหตุ: ตีพิพม์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 9 ก.ค. 2556