ก่อนหน้านี้สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าว “กรรมาธิการสาธารณสุขชี้ รง.ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ซื้อเครื่องจักรแต่ไม่มีเครื่องจักร-ทีโออาร์เอื้อผู้รับเหมา”โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2550 ที่ได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน ที่อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
ทว่าเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันโรงงานดังกล่าวยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามสัญญาซ้ำยังเกิดปัญหาขึ้นอีกหลายประการในระหว่างการก่อสร้าง
คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน ได้มอบหมายเรื่องดังกล่าวให้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเรื่องร้องเรียนด้านสาธารณสุข ที่มีนพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานอนุกรรมาธิการเป็นผู้พิจารณาศึกษาปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างโรงงานวัคซีนเป็นไปด้วยความล่าช้า
กระทั่งเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการได้นำเสนอผลสรุปในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข
หลังจากที่อนุกรรมาธิการได้ประชุมรวม 7 ครั้งและเชิญหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระเจ้าจอมเกล้าธนบุรี บริษัทเอ็ม แอนด์ ดับเบิลยู (ไทยแลนด์) และบริษัทสเตพไวส์ จำกัดเข้าให้ข้อมูล
จากการพิจารณาทั้งข้อมูลบุคคลและเอกสารในสัญญาการโครงการ คณะอนุกรรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้
1.เหตุใดการสำรวจดินก่อนมีการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนในครั้งแรก ผู้ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานกลับไม่ใช่ “วุฒิวิศวกร” ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการทบทวนการออกแบบเพื่อปรับฐานรากอาคารให้สูงขึ้น 1 เมตร เนื่องจากพบว่ามีน้ำใต้ดินค่อนข้างมาก ส่งผลให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้า จนรัฐเป็นฝ่ายเสียประโยชน์
2.กรณีมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพของห้องทดลอง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ก่อสร้างตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก(WHO)นั้น เหตุใดการออกแบบห้องทดลองในครั้งแรกจึงไม่มีการออกแบบห้องทดลองให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพให้อยู่ในระดับ BSL 2+ ซึ่งเป็นมาตรฐานในระดับสูงเพียงพอสามารถรองรับเชื้อไว้รัสไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้ หากเป็นเช่นนั้นจะไม่ทำให้เกิดกรณีให้ต้องมีการทบทวน เพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพจากระดับ BSL 2 เป็น BSL2+ ในภายหลัง ซึ่งเป็นผลให้การก่อสร้างมีความล่าช้า และทำให้เกิดความสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศ
3.ข้อความที่กำหนดในสัญญาจ้างก่อสร้างและTOR (Term of reference) มีบางส่วนไม่มีความสอดคล้องกัน อาทิ ข้อกำหนดเรื่อง ค่าK (ดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน ณ ระยะเวลาที่ผู้รับเหมาก่อสร้างเปิดซองประกวดราคาได้ เปรียบเทียบกับระยะเวลาที่ส่งงานในแต่ละงวด)ที่ไม่ได้มีสูตรคำนวนที่แน่ชัด ,ข้อกำหนดความรับผิดเกี่ยวกับกรณีมีการทบทวนการออกแบบอาจทำให้บริษัทคู่สัญญาเรียกราคาเพิ่มสูงขึ้นได้ และ ข้อกำหนดเรื่องผู้รับผิดชอบในการสำรวจดิน (Soil Test) ซึ่งอนุกรรมาธิการมีความเห็นว่าการที่องค์การเภสัชกรรมไม่กำหนดสูตรค่าK ที่แน่ชัดไว้ในสัญญาก่อสร้างโรงงานและ TOR แต่กลับระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศของหน่วยงานก่อนการประมูลนั้นเป็นการทำให้หน่วยงานตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบคู่สัญญา
4.เหตุใดองค์การเภสัชกรรมต้องขยายระยะเวลาในสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารโรงงานผลิตวัคซีนเพื่อรอข้อมูลสำหรับการทบทวนการออกแบบ(Design Review) จากบริษัทคู่สัญญาถึงต้องใช้ระยะเวลานานถึง 400 วัน
ทั้งนี้องค์การเภสัชกรรมได้ชี้แจงว่าสืบเนื่องจากบริษัทผู้รับจ้างต้องรอข้อมูลที่แท้จริงของเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับระบบต่างๆในตัวอาคาร อาทิ ระบบไฟ ระบบควบคุมอากาศ ระบบควบคุมความดัน ระบบไอน้ำ และระบบบรรจุ ซึ่งต้องนำมาใช้เป็นรายละเอียดในการทบทวนการออกแบบ อาทิ คุณสมบัติของเครื่องจักรและขนาดของเครื่องจักร ซึ่งการจัดซื้อเครื่องจักรต้องใช้วิธีการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ต้องอาศัยระยะเวลานาน ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปที่จะกำหนดระยะเวลาให้บริษัททบทวนการอกกแบบเป็นระยะเวลา 400 วัน
5.ข้อมูลของเครื่องจักรที่ปรากฎในขั้นตอนการออกแบบรายละเอียด (Detail Design) และขั้นตอนทบทวนการออกแบบ มีข้อแตกต่างกันอย่างไร เหตุใดจึงไม่มีข้อมูลของเครื่องจักรที่แน่ชัด ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบรายละเอียด
โดยองค์การเภสัชกรรมได้ชี้แจงตอบข้อสังเกตของคณะอนุกรรมาธิการในประเด็นนี้ว่าขั้นตอนการออกแบบรายละเอียดยังไม่มีข้อมูลเครื่องจักรที่แท้จริง ดังนั้นการออกแบบรายละเอียดจึงใช้เพียงข้อมูลประมาณการเครื่องจักร โดยการส่งข้อมูลตัวอย่างของเครื่องจักรที่มีขายในท้องตลาดขณะนั้นมาให้เท่านั้น ทำให้เมื่อมีการทบทวนการออกแบบ บริษัทผู้รับจ้างจึงต้องรอข้อมูลของเครื่องจักรที่แท้จริงก่อน โดยข้อมูลของเครื่องจักรที่นำมาติดตั้งระบบภายในอาคารเพื่อให้ได้ห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 2+ (Biosafety Laboratory Leval 2+)
6. เมื่อพิจารณาจากแบบแปลนการก่อสร้างอาคารโรงงานผลิตวัคซีน อนุกรรมาธิการมีความเห็นว่าการก่อสร้างดังกล่าวไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องใช้เทคนิคด้านวิศวกรรมที่ซับซ้อน เหตุใดการก่อสร้างจึงมีปัญหาต้องทบทวนแบบและคุณภาพอาคารเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินสมควร
นอกจากนี้คณะอนุกรรมาธิการยังได้มีข้อเสนอแนะในการก่อสร้างโรงงานวัคซีน ประกอบด้วย
1.คณะอนุกรรมาธิการเห็นว่าที่ปรึกษาควบคุมการติดตั้งเครื่องจักร ควบคุมการตรวจสอบความถูกต้อง และจัดทำเอกสาร Validation Master Plan (VMP) โครงการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ไข้หวัดนก ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน
2.การจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะประเภทที่จะนำมาติดตั้งกับระบบต่างๆของอาคาร ควรกระทำด้วยความละเอียดรอบคอบและต้องดำเนินการโดยบริษัทหรือหน่วยงานที่รับจ้างเป็นที่ปรึกษาซึ่งมีความรู้เฉพาะด้าน อาทิ ด้านการออกแบบโครงสร้างอาคารเพื่อมิให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้า รวมทั้ง่ควรกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจการจ้างในการดำเนินการจัดซื้อเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ข้างต้น
3.กระทรวงสาธารณสุขและองค์การเภสัชกรรมควรเร่งรัดให้บริษัทคู่สัญญารับว่าจ้างก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนก่อสร้างโรงงานใหแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อประหยัดงบประมาณของประเทศ อย่างไรก็ตามหากมีปัญหาไม่สามารถเร่งรัดให้ดำเนินการได้อย่างที่มุ่งประสงค์เห็นครให้องค์การเภสัชกรรมบอกเลิกสัญญาและจัดการบริษัทอื่นเข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงงานแทนในส่วนที่เหลือ
4.ในกรณีที่องค์การเภสัชกรรมจะทำสัญญาจ้างก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนที่อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ในส่วนที่ยังมิได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จกับบริษัทผู้รับจ้างรายใหม่นั้น ขอเสนอให้เพิ่มบทบาทของ “ที่ปรึกษาโครงการ” ให้มากขึ้น รวมทั้งต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์พาะด้านวัคซีนโดยตรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดที่เป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวซ้ำขึ้นอีก
5.การจัดทำสัญญาจ้างก่อสร้างโรงงาน ตลอดจนข้อกำหนดขอบเขตและรายละเอียดของงาน หรือ TOR ต้องกระทำด้วยความละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมีการกำหนดสูตร “ค่าK”ที่แน่ชัดไว้ในสัญญาและ TOR เพื่อป้องกันมิให้รัฐต้องเป็นฝ่ายเสียประโยชน์
6.ที่ปรึกษาโครงการในกรณีนี้ ควรมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการก่อสร้างอาคาร สำหรับผลิตวัคซีนโดยตรง การดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ ควรมีการประสานความร่วมมือระหว่างผู้รับจ้างเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้งานเกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ที่ปรึกษาโครงการควรเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนการก่อสร้างอาคารดังกล่าว อาทิ ขั้นตอนการจัดทำ TOR ขั้นตอนการออกแบบเบื้องต้น ขั้นตอนการออกแบบรายละเอียด และขั้นตอนการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง
อนึ่งองค์การเภสัชกรรมควรว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกเป็นที่ปรึกษาโครงการตั้งแต่แรกเริ่มจนจบโครงการ เนื่องจากมีความรู้ความสามารถในด้านนี้เป็นอย่างดี
7.เมื่อการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนนี้เสร็จแล้ว เห็นควรให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบถึงมูลเหตุแท้จริงที่ทำให้การก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนดังกล่าวขององค์การเภสัชกรรมมีความล่าช้า
โดยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข จะส่งผลสรุปการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการไปยังกระทรวงสาธารณสุขต่อไป