ThaiPublica > คนในข่าว > ‘วัลลภ พิชญ์พงศา’ นครหลวงค้าข้าว สะท้อน”จุดเปลี่ยน”ธุรกิจส่งออกข้าวไทย ตกบัลลังก์แชมป์ โอกาสทวงคืนยาก

‘วัลลภ พิชญ์พงศา’ นครหลวงค้าข้าว สะท้อน”จุดเปลี่ยน”ธุรกิจส่งออกข้าวไทย ตกบัลลังก์แชมป์ โอกาสทวงคืนยาก

3 มีนาคม 2013


นายวัลลภ พิชญ์พงศา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทนครหลวงค้าข้าว หรือ เอสทีซี  กรุ๊ป
นายวัลลภ พิชญ์พงศา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทนครหลวงค้าข้าว หรือ เอสทีซี กรุ๊ป

ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจส่งออกข้าวไทยได้เติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากเดิมที่มียอดส่งออกปีละ 6 ล้านตัน ได้พุ่งทะลุไปกว่า 10 ล้านตัน จนกลายเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ทั้งในแง่ของปริมาณ ราคา และคุณภาพ ที่ผู้ซื้อทุกประเทศต่างยกนิ้วให้ แต่เมื่อนโยบายประชานิยมอย่างโครงการรับจำนำข้าวออกมา ทุกอย่างก็พังครืนลง

ในมุมมองของ “วัลลภ พิชญ์พงศา” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทนครหลวงค้าข้าว หรือ “เอสทีซี กรุ๊ป” ในฐานะผู้ส่งออกข้าวยักษ์ใหญ่ของประเทศ สะท้อน “จุดเปลี่ยน” สำคัญที่ทำให้ผู้ส่งออกไทยได้รับการยอมรับ กลายเป็น “นัมเบอร์วัน” ของโลก ขณะเดียวกันก็มองเห็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ผู้ส่งออกของไทยต้องตกจากบัลลังก์แชมป์เพียงชั่วข้ามคืน…

ไทยพับลิก้า : ความเปลี่ยนแปลงธุรกิจส่งออกข้าวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในเรื่องโลจิสติกส์สำคัญมาก เริ่มมีการปรับเปลี่ยนในปี 2544-2545 แต่เดิมการส่งออกเป็นบัลก์ (Bulk) เรือใหญ่ ไปทีละเยอะๆ เป็นพันเป็นหมื่นตันขึ้นไป ขนาดของผู้ส่งออกจึงสำคัญในเชิงของปริมาณมาก ประสิทธิภาพในการผลิตสูง ใครรับออเดอร์ได้ในหลัก 5,000 หรือ 10,000 ตันขึ้นไป คือขนาดที่ได้เปรียบ เวลาออเดอร์ลูกค้ามาทีหนึ่งจะมาเยอะๆ กระทั่งถึงจุดเปลี่ยนอันหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจการค้าข้าวเปลี่ยนไป คือ การพัฒนาระบบคอนเทนเนอร์ ทำให้สามารถส่งไปทีละ 25-40 ตันได้ เช่น ตลาดจีน สมัยก่อนต้องไปเรืออย่างน้อย 5,000 ตัน ถึงท่าเรือแล้วเขาจะกระจายออกไป พอเป็นคอนเทนเนอร์ซึ่งเปลี่ยนมาสักพักแล้ว ก็จะเหลือลอตไม่ใหญ่มาก ส่งเป็นคอนเทนเนอร์แล้ว บัลก์ไม่ใหญ่มาก เราจะเห็นออเดอร์ไม่ใหญ่ ไม่ต้องมาทีละ 1,000 ตัน เหลือครั้งละ 100 ตัน ทีละ 5-10 ตู้ เปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกรายเล็กหรือรายกลางมีโอกาสมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมเขาจะส่งมอบไม่ได้ หรือแม้แต่โรงสีที่พัฒนามาเป็นผู้ส่งออกก็มีโอกาสขายได้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ในทางผู้ซื้อ แต่เดิมต้องเป็นระดับบริษัทใหญ่ แล้วกระจายไปขายให้กับผู้กระจายสินค้าในท้องถิ่น การขายเป็นลอตใหญ่ๆ จะไปตกกับผู้ส่งออก-นำเข้าที่มีศักยภาพเท่านั้น แต่พอพัฒนาคอนเทนเนอร์หรือชิปเมนต์ไม่ต้องมากนัก ทำให้ผู้ซื้อปลายทาง จากที่เดิมซื้อต่อจากเทรดเดอร์ ก็สามารถซื้อโดยตรงกับผู้ส่งออกได้ ยิ่งจีนเปิดตลาดตามระเบียบองค์การการค้าโลก (WTO-ดับบลิวทีโอ) จากเดิมต้องขายผ่านรัฐวิสาหกิจจีนเท่านั้น เมื่อเข้าดับบลิวทีโอ ผู้ซื้อสามารถดีลกับผู้ส่งออกไทยโดยตรงได้ ผู้ส่งออกรายกลางรายเล็กมีโอกาสมากขึ้น และการแข่งขันมากขึ้น เช่น เรื่องการจ่ายเงิน เดิมต้องมีแอลซี ตอนนี้ไม่ต้องก็ได้ มีเทอมให้เอาสินค้าไปก่อนได้ เป็นการแข่งขันเรื่องการดึงดูดลูกค้า

ไทยพับลิก้า : ตลาดอียูก็ผ่อนคลายกฎระเบียบและเรื่องโควตา

ในส่วนอียูมีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เช่น เรื่องการปรับลดภาษีจากเดิม 400 ยูโรต่อตัน เหลือประมาณ 145-175 ยูโรต่อตัน ขณะที่กฎระเบียบยังเหมือนเดิม โควตาข้าวอียูเขาก็ยังให้เราเหมือนเดิม แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ คือปัญหาข้าวจากสหรัฐที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ทำให้อียูแบนไม่เอาข้าวสหรัฐเข้า แล้วหันกลับมามองข้าวไทยมากขึ้น จากเดิมอียูจะมองแต่ข้าวหอมมะลิของไทย ต่อมาดูข้าวขาวและข้าวนึ่งด้วย ทำให้เราได้ตลาดอียู แต่ตอนนี้ก็เกือบจะสูญเสียไปเพราะข้าวไทยราคาแพงขึ้นมาก ทำให้อียูมองหาข้าวที่ถูกกว่า ปีที่แล้วผมเคยไปฟังผู้ค้าในยุโรป ลอนลอน ไรซ์ แอสโซซิเอชัน ร่วมกับทางกระทรวงพาณิชย์ เค้าบอกว่าบางทีถ้าตลาดหายไปแล้วกลับคืนมายากมาก แม้แต่สหรัฐตอนนี้ที่แก้ปัญหาข้าวปนเปื้อนจีเอ็มโอได้แล้วก็ยังกลับมาไม่ได้

ขณะที่ข้าวไทยตอนนี้ตลาดกำลังหดไปอีก ไม่ใช่หอมมะลิ แต่ข้าวขาวที่อียูหันไปหาตลาดแอฟริกาใต้ที่ถูกกว่า ถามว่าคู่ค้าเราโอเคไหม เขาก็ไม่อยากเปลี่ยนแปลงบ่อย เพราะต้องมีเรื่องเอกสารและระเบียบต่างๆ ด้วย

ไทยพับลิก้า : เป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของไทย

เราจะเห็นว่ารัฐบาลแต่ละยุคจะมีนโยบายเรื่องข้าว การเข้ามาแทรกแซงเรื่องข้าวต่างกัน แต่ผมมองว่านโยบายเรื่องข้าวในช่วงหลังๆ รัฐอยากจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ นโยบายของรัฐตอนนี้มีผลมากๆ กับการค้าขายข้าว ซึ่งสมัยก่อนอาจมีโครงการรับจำนำ แต่มีผลกระทบเกิดขึ้น เช่น ทำให้ราคาสูงขึ้น เมื่อตลาดปรับตัวได้ก็รับได้ แต่ตอนนี้เราใช้นโยบายค่อนข้างแรงเกินไป จะทำให้มีผลต่อการส่งออกและการค้าขาย พอส่งออกกระทบ ยอดลดลง การค้าขายในประเทศระหว่างผู้ส่งออกกับโรงสี และโรงสีกับเกษตรกร ก็จะลดลงไปด้วย จะเหลือแต่ตลาดภายในประเทศและขายข้าวให้กับรัฐในโครงการรับจำนำ อันนี้เราจะเห็นแนวโน้มชัดเจนว่านโยบายรัฐมีผลกระทบต่อธุรกิจเรื่องข้าว ปีที่แล้วผลประกอบการแต่ละบริษัทคงไม่น่าพอใจเท่าไหร่ ก็ลำบากกัน เพราะตัวเลขส่งออกลดลงไป 30-40%

ผมพูดมาตลอดว่า นโยบายรัฐบาลไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องระยะยาว มีแต่ระยะสั้นๆ คือ จำนำยังไง ราคาเท่าไหร่ ใช้งบประมาณสูง แม้แต่ประกันรายได้ของประชาธิปัตย์ก็ไม่เคยกลับมาเรื่องดูหลักๆ คือ ต้นทุนการผลิต ประสิทธิภาพการผลิต ตั้งแต่ระดับไร่นามาเลย พันธุ์ข้าวพวกนี้ เข้าใจว่าทำอยู่แต่ไม่ชัดและไม่มีการทำให้เห็นเป็นภาพเดียวกัน กระทรวงเกษตรก็เป็นหน้าที่เขาอยู่แล้ว มีงานวิจัย แต่ก็ไม่เห็นภาพชัดในเชิงนโยบายว่าประเทศไทยจะผลิตข้าวเป็นอย่างไร สุดท้ายถูกบดบังด้วยว่าจะจำนำดี หรือประกันรายได้ดี สุดท้ายเกษตรกรก็ดิ้นรนเอง โรงสีก็พัฒนาเอง หาทางรอดกันเอง โครงการพวกนี้ก็เป็นระยะสั้น แทนที่จะทำให้แข็งแรงกลับอ่อนแอ ตอนนี้ผู้ส่งออกก็อ่อนแอ ธุรกิจไม่ดี โรงสีก็ต้องไปอิงกับการรับจำนำ เกษตรกรก็เอาคิดเรื่องผลิตข้าวไปขายรัฐบาล

นายวัลลภ พิชญ์พงศา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทนครหลวงค้าข้าว หรือ เอสทีซี  กรุ๊ป

ไทยพับลิก้า : ในแง่กฎระเบียบภาครัฐปัจจุบันดีขึ้นหรือไม่

ผมคิดว่าที่ผ่านมารัฐพยายามเข้ามามีบทบาท แต่ความชัดเจนของทิศทางนโยบายไม่มีว่าข้าวไทยจะไปทางไหน จุดยืนคืออย่างไร พอส่งออกได้น้อยก็บอกว่าเราไม่ต้องส่งออกเป็นที่หนึ่งก็ได้ เราเน้นเรื่องขายราคาสูง คุณภาพดี แต่ตรงนี้มาพูดภายหลังจากที่ผลมันเกิดแล้ว ส่งออกน้อยลงไปแล้ว ค่อยมาพูดว่าไม่ต้องเป็นที่หนึ่ง เรื่องอย่างนี้น่าจะต้องมาคุยกันในภาพรวมอุตสาหกรรม เขาจะได้ไม่ต้องไปขยายการผลิต โรงสีก็ไม่ขยาย บอกเลยรัฐบาลจะทำเชิงคุณภาพ ราคาสูง มันต้องวางทั้งระบบให้สอดคล้องกัน ทำอย่างนี้ทำให้เราสับสน บางคนขยายลงทุนไปแล้วทำให้เสียเปล่า

ในเรื่องทรัพยากรของประเทศ อันนี้ไม่มีภาพชัดเจน ผมเปรียบเทียบกับเวียดนาม ใช้นโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม ง่ายๆ ฟังแล้วเข้าใจ ลดใช้เมล็ดพันธุ์ ลดสารเคมี ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มกำไรให้เกษตรกร ไม่ใช่เพิ่มราคา มันก็จะชัดว่าเป้ามันเป็นอย่างนี้ ทำเรื่องเกษตรทำตามเป้าหมายนี้ แล้วการตลาดจะเป็นอย่างไร อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เราจะไปให้เห็น เพราะนโยบายรัฐบาลมีผลเยอะมากต่อคนในอุตสาหกรรม และหลังๆ รัฐพยายามมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดประกาศให้ข้าวขาวเป็นสินค้ามาตรฐาน แต่เดิมข้าวหอมมะลิกำหนดมาตรฐานมาแล้ว 10 ปี สมัยคุณอดิศัย โพธารามิก เป็น รมว.พาณิชย์ ถามว่าเดิมเรามีไหม มี แต่เป็นไปโดยสมัครใจ แต่พอประกาศของสำนักมาตรฐานสินค้านำเข้าส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ (มส.) ที่จะต้องเป็นคนอนุญาต เราต้องขออนุญาตและส่งออกได้เลย แต่พอเป็นสินค้ามาตรฐานเราก็ต้องไปยื่นอีกสำนักหนึ่ง ให้ มส. รับทราบและส่งออกได้ จะมีระยะเวลาที่ต้องได้รับอนุมัติหรือใบอนุญาตจาก มส. จะมีเซอร์เวย์เยอร์ที่ได้รับอนุญาตและ มส. จะส่งคนมาประกบดูอีกทีหนึ่ง ซึ่งตรงนี้จะทำให้ขั้นตอนของเราเพิ่ม แทนที่จะขอวันนี้ได้วันนี้ ก็ต้องหยุดหรือเสียเวลาไปอีก 1-2 วัน ซึ่งเราก็ปรับตัวกันไปได้

ทีนี้พอจะมาทำกับข้าวขาว ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน ก็ต้องมาดู เพราะข้าวขาวมียอดการส่งออกมาก เราก็ต้องมาดูว่าการส่งออกข้าวขาวไม่เคยมีการร้องเรียนว่ามีปัญหา หรือมีเรื่องอะไรร้ายแรงเหมือนข้าวหอมมะลิที่เคยมีปัญหาการปลอมปน จึงต้องออกมาตรฐาน แต่ข้าวขาวไม่มีที่มาที่ไป อยู่ดีๆ ก็บอกว่าจะทำ ซึ่งผลกระทบที่เรากลัวคือเรื่องขั้นตอนในการขอกับหน่วยงานรัฐที่เกรงว่าจะล่าช้า

อีกส่วนคือเรื่องข้อมูล เดิมสมาคมผู้ส่งออกข้าวจะได้รับจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่าเราส่งออกไปเท่าไหร่ จะเอาตัวเลขนี้ไปเก็บเงินค่าสมาชิก แต่เมื่อมีประกาศนี้ทำให้ข้อมูลจะไปอยู่กับภาครัฐ เราไม่รู้ว่าส่งออกเท่าไหร่ ขึ้นกับรัฐบาลจะว่าเดือนนี้ส่งออกเท่าไหร่ จีทูจีเท่าไหร่ ตรงนี้ไม่มีใครรู้ว่าจะเช็คได้หรือไม่

อีกอันที่เราเกรงคือ พอมันออกมาเป็นกฎระเบียบแล้วเขาสามารถยึดใบอนุญาตผู้ส่งออกได้ เช่น ข้าวหอมมะลิ ถ้ามีปัญหา เขาจะบอก…ครั้งที่หนึ่งตักเตือน ครั้งที่สองตักเตือน ครั้งที่สามจะระงับกี่วัน ตรงนี้ผมคือว่าเป็นอำนาจที่ให้คุณได้โทษได้ ผมก็แชร์ความกังวลกัน ซึ่งส่วนใหญ่ในวงการธุรกิจเขาจะกังวลเรื่องขั้นตอนยุ่งยากและค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่ง ทางออกหนึ่งคือเราอาจจะต้องไปคุยกับราชการว่าจะทำอย่างไรให้คล่องตัวเหมือนเดิม

ไทยพับลิก้า : การส่งออกข้าวจีทูจีกระทบเอกชนหรือไม่

จริงๆ ไม่มีปัญหากับเอกชนเลย อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะระบายข้าวออกไปอย่างไร

ไทยพับลิก้า : อย่างกรณีของบริษัทสยามอินดิก้า ที่มีปัญหาเรื่องความโปร่งใส รัฐควรทำแบบยุติธรรมหรือไม่

ครับ ในเมื่อข้าวอยู่กับรัฐบาล แล้วก็รัฐมีอำนาจในการจัดการตรงนี้ ใครใกล้ชิดและเข้าถึง ถ้ารัฐใช้ถูกทางก็สร้างความเป็นธรรมได้ แต่ถ้าใช้อย่างเอนเอียงก็ทำให้เกิดความเบี่ยงเบนได้เยอะ

นายวัลลภ พิชญ์พงศา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทนครหลวงค้าข้าว หรือ เอสทีซี  กรุ๊ป

ไทยพับลิก้า : ภาพการส่งออกอีก 5 ปีข้างหน้า จะสะดุดเหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่

การส่งออกข้าวเป็นเรื่องของตลาดภายนอก และขึ้นกับเซฟตี้สต็อคของแต่ละประเทศ ขณะนี้ถ้าความต้องการจะขยับขึ้นอีกก็คงไม่มาก จากที่ผ่านมา ในจังหวะที่รัฐบาลออกนโยบายรับจำนำ ถูกซ้ำเติมด้วยการที่ประเทศอินเดียเลิกการแบนส่งออกที่รัฐบาลเขาเคยห้ามมาตั้งแต่ประมาณปี 2551 โดยประกาศให้ส่งออกได้แล้ว ทำให้มันเพิ่มประเทศที่เป็นคู่แข่งในการส่งออกกับไทยอีก 1 ประเทศ และเขาขายได้ราคาถูกกว่าเราด้วย ยอดส่งออกเราก็ยิ่งลดลงไปใหญ่ จากเดิมที่ต้องแข่งขันอยู่แล้ว เมื่อมาเจอนโยบายรับจำนำด้วย ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันลดลงด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต้อง ดูปัจจัยภายในแล้วว่า นโยบายจะเป็นอย่างไรต่อไป นโยบายรัฐมีผลมากกว่าช่วงไหนๆ เมื่อก่อนมีผลแต่ไม่เยอะ ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ภาพก็คงไม่ต่างจากปีที่แล้วเท่าไหร่ แต่เราเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายน่าจะเกิดขึ้น ผมไม่แน่ใจว่าจะเร็วๆ นี้หรือไม่ เห็นข่าวปลัดกระทรวงพาณิชย์ให้ข่าวว่าจะลดราคาจำนำ ผมว่าถ้าปรับเปลี่ยนนโยบายที่เอื้อต่อตลาดก็จะส่งออกได้มากขึ้น อย่างที่ท่านปลัดใช้คำว่าสมดุล ทำงานได้ดีขึ้น เห็นด้วยว่าจำนำไม่ได้เลวร้าย แต่ใช้อย่างเหมาะสม ถ้าลดราคาก็จะดีขึ้น และภาระของรัฐบาลก็จะดีขึ้นด้วย

ไทยพับลิก้า: ผู้ส่งออกถูกมองว่ากดราคาชาวนามาตลอด

ราคากำหนดมาจากข้างนอกจริงๆ ส่วนตัวผมมาเข้าใจกลไกนี้จริงๆ ตอนปี 2551 ที่ราคาข้าวสูงมาก ตอนนั้น ผมคิดว่าตลาดเป็นของผู้ขาย ตั้งราคาเท่าไหร่ก็มีคนซื้อ แต่ผู้รู้บอกว่าจริงๆ แล้ว “ไม่ใช่” การตั้งราคา ขึ้นกับผู้ซื้อจะรับหรือไม่ เราเสนอ 1,000 เหรียญแล้วลูกค้าซื้อ ก็เป็นราคาได้ เราก็เปลี่ยนหน่วยกลับมาว่าเราจะซื้อข้าวสารจากโรงสีได้เท่าไหร่ โรงสีก็จะรู้ว่าจะซื้อจากเกษตรกรเท่าไหร่ บางคนขายไปล่วงหน้ามากๆ แล้ว ก็ต้องเข้ามาแย่งของในตลาด ราคามันก็จะขึ้น

อีกส่วนคือเครดิตของผู้ส่งออกไทยค่อนข้างดีมาก ภาพรวมคือตรงไปตรงมา ทำตามสัญญาส่งมอบ ไม่ว่าตลาดเปลี่ยนอย่างไร เราซื่อสัตย์กับสัญญาที่ให้กับลูกค้า กลับมาตรงนี้มันก็ขึ้นกับภาวะตลาดจริงๆ แล้วมันก็อาจมีบางกรณีที่เกิดขึ้นได้ที่เกษตรกรจะถูกกดราคา การรับจำนำช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ควรทำมากเกินไป