ThaiPublica > คนในข่าว > “สุรพงษ์ ชัยนาม” ฉีกถุงมือหนาม “ทักษิณ” แฉผลประโยชน์ 3 ขาใต้โต๊ะเจรจาบีอาร์เอ็น

“สุรพงษ์ ชัยนาม” ฉีกถุงมือหนาม “ทักษิณ” แฉผลประโยชน์ 3 ขาใต้โต๊ะเจรจาบีอาร์เอ็น

29 มีนาคม 2013


“..มันไม่ใช่ถุงมือกำมะหยี่ คนติ๊งต๊องเท่านั้นที่เห็นว่าเป็นกำมะหยี่ ผมเห็นเป็นถุงมือหนามต่างหาก เป็นถุงมือที่หยาบๆๆๆ มากๆ ลุกลี้ลุกลนมาก..”

28 กุมภาพันธ์ 2556 “มาเลเซีย” เปิดบ้านที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ให้ประกอบพิธีลงนามการแสดงเจตนารมณ์ทั่วไปในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ระหว่าง “พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ “ฮาซัน ตอยิบ” หัวหน้าฝ่ายประสานงานต่างประเทศ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น)

โดยที่ “นาจิบ ราซัค” นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นคนออกมาเปิดปมเองว่า “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่เบื้องหลังฉากสำคัญนี้

28 มีนาคม 2556 มีการเจรจาสันติภาพยก 2 โดยฝ่ายไทยและฝ่ายก่อความไม่สงบเปิดตัวผู้ร่วมวง-เปิดเงื่อนไขเพิ่มเติม

แม้คนส่วนใหญ่สนับสนุนการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีในวิถีเจรจา ทว่ายังมีบางส่วนยังคลางแคลงใจว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างรอบคอบรัดกุมหรือไม่อย่างไร

จึงได้เวลาที่ “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” จะชวนบุคคลที่ผ่านเวทีตกลง-ต่อรองระหว่างประเทศมานับไม่ถ้วนอย่าง “สุรพงษ์ ชัยนาม” อดีตทูต 5 ประเทศ และอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” มาร่วมสนทนาและพิจารณาว่า บนโต๊ะ “เจรจา 3 ขา” ระหว่าง “กลุ่มก่อความไม่สงบ-มาเลเซีย-ไทย” ใครได้อะไร? เสียอะไร? มือไหนกำลังสาวอะไร?

ประเดิมจากผลประโยชน์ของ “บีอาร์เอ็น” ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา…

สิ่งที่กลุ่มก่อความไม่สงบได้ชัดๆ มี 3 อย่าง คือ

1. ในทางการเมือง ได้พื้นที่ในการเคลื่อนไหวเพิ่มเติมชัดเจน สมัยก่อนมีการพูดคุยกันก็จริง แต่เป็นในทางลับ แล้วมันก็ชะงักเพราะจุดอ่อนด้านยุทธการและการทหาร ซึ่งการที่คนในพื้นที่จะให้การข่าวที่ดีก็ต่อเมื่อมั่นใจว่ารัฐสามารถคุ้มครองในชีวิต ทรัพย์สิน และความปลอดภัยได้ ดังนั้น การข่าวที่ดีจะไหลไปหาฝ่ายที่ถูกมองว่ามีความมั่นคงและกำลังประสบผลสำเร็จ ไม่มีทางไหลไปหาฝ่ายที่ถูกมองว่าล้มเหลว

2. ในทางสื่อ ในอดีตเวลาพวกนี้ปฏิบัติการก็เป็นข่าวเฉพาะหนังสือพิมพ์ไทย สื่อต่างประเทศไม่ค่อยมี เพราะถือว่ามันเกิดขึ้นในอิรัก อัฟกานิสถาน ในที่อื่นของโลก แต่ก่อนเขาขาดพื้นที่ในสื่อมาก

และ 3. ในทางการทูต แต่ก่อนเขาก็ขาด มีพื้นที่แค่ปีละครั้งในการประชุมโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) โดยโอไอซีได้เข้ามาติดตามปัญหาของไทยหลังเกิดเหตุปล้นปืนเมื่อปี 2547 (ที่ค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส) กลุ่มก่อความไม่สงบก็จะเอาเอกสารและโฆษณาชวนเชื่อไปแสดงให้โอไอซีเห็นว่าถูกรัฐไทยทำร้ายอย่างไร และเรียกร้องให้ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลไทย แต่ยังเรียกร้องไม่ได้เต็มที่ เพราะโอไอซียังไม่ได้รับรองสถานะ เขาเพียงแต่ไปวางเอกสาร แต่ไม่สามารถเข้าไปนั่งพูดในที่ประชุมได้

ดังนั้น พวกนี้จึงกระหายอยากจะได้พื้นที่มากขึ้นทั้งในทางการเมือง สื่อ และการทูต มาครั้งนี้เขาได้เพราะรัฐบาลไทยช่วยยกสถานภาพให้เขาแล้ว การไปลงนามต่างๆ โดยเลขาธิการ สมช. ซึ่งเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยกับผู้แทนบีอาร์เอ็น ถือเป็นการที่รัฐบาลไทยยอมรับว่าบีอาร์เอ็นเป็นผู้มีส่วนได้เสียใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อไปพื้นที่นี้จะเป็นอย่างไรต้องได้รับความเห็นชอบจากบีอาร์เอ็นด้วย และในการพูดคุยในยก 2, 3, 4 ก็จะอยู่ในสายตาสื่อ เขาจะมีพื้นที่รายงานท่าที จุดยืน และโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้ไทยตกเป็นฝ่ายตั้งรับ เพราะสิ่งที่เขาจะพูดทำให้ไทยต้องตามแก้ตลอดเวลาว่า เอ้ย! เข้าใจผิดนะ ไทยไม่ได้คิดอย่างนั้น

นายสุรพงษ์ ชัยนาม
นายสุรพงษ์ ชัยนาม

ไทยพับลิก้า : ประเมินว่าการรบผ่านสื่อเต็มรูปแบบจะเกิดขึ้นช่วงไหน

หลังจากนี้แน่นอนเลย คั่นระหว่างยก 2 ไปยก 3 มันจะมีอะไรออกมาพูดตลอดเวลา คอยดู ต่อไปนี้พื้นที่อันนี้มันค่อนข้างถาวรแล้ว ถ้าเรายอมรับว่าเรื่องนี้จะยุติได้ด้วยการใช้การเมือง ไม่ใช่การทหาร ย้ายสมรภูมิรบทางการทหารมาเป็นรบบนโต๊ะเจรจา แต่มันจะคืบหน้าหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับมาตรการทางปกครองและทางทหาร ที่น่าเศร้าก็เพราะในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา รัฐยังไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย จู่ๆ ก็จำนนแล้ว และเงื่อนไข พอฝ่ายโน้นบอกว่าจะหารือเรื่องนครรัฐปัตตานี เลขาธิการ สมช. ก็พูดว่าในเมื่อเขาอยากพูดเรื่องนี้ก็ต้องพูดกันเรื่องนี้ ใครล่ะเป็นฝ่ายกำหนดวาระในการหารือ

ไทยพับลิก้า : คิดว่าแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือมาเลเซียเป็นคนตั้งประเด็นนครรัฐปัตตานีขึ้นมา

กลุ่มก่อความไม่สงบเป็นคนตั้งแน่นอน มันก็ยิ่งดูใหญ่ เป็นการส่งสัญญาณให้กลุ่มพวกเขา ให้มาเลเซีย ให้ประชาคมโลกเห็นว่ารัฐไทยจำนนแล้ว โดยปกติมันมีการพบปะ อย่างไออาร์เอ (กองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์) ก็พบปะรัฐบาลอังกฤษในทางลับตลอด สเปนก็พบกับเอต้า (กบฏแบ่งแยกดินแดนแคว้นบาสก์) แต่เวลาพบเขามีเงื่อนไขว่าความรุนแรงต้องหยุด แต่นี่ยังไม่มีเลย กลุ่มก่อความไม่สงบได้แต้มแล้ว เพราะสามารถทำให้ชาวโลกเห็นว่ารัฐไทยไม่ถือว่าการใช้ความรุนแรงเป็นอุปสรรคต่อการพบกัน นี่เป็นการส่งสัญญาณที่ผิดมากเลย ก่อนไปลงนามก็เกิดเหตุ หลังลงนาม 2 วันก็เกิดเหตุอีก ส่อให้เห็นว่ารัฐไทยจำนน ล้มละลายแล้วในทางความคิดและจุดยืน เพราะไปแบบไม่มีเงื่อนไข เหตุการณ์ภาวะแวดล้อมเป็นอย่างนี้คุณยังไปอีก การพบปะครั้งต่อไปก็จะไม่มีความคืบหน้า เพราะเขาสามารถปฏิบัติการได้ด้วย เป็นการรบพลางเจรจาพลาง นี่เป็นยุทธวิธีของเขา

ดังนั้นเขาไม่ได้มีเจตนาใช้เวทีพบปะนำไปสู่สันติภาพ แต่ใช้เป็นเวทีกดดันรัฐบาลไทยไปเรื่อยๆ เพื่อให้ขบวนการเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก ซึ่งในที่สุดเชื่อว่าโอไอซีอาจยอมรับสถานะของกลุ่มพวกนี้แล้วเอาไปนั่งในโอไอซีเลย ไม่เชื่อคอยดูสิ

ไทยพับลิก้า : อะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้บีอาร์เอ็นปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ยอมเปิดหน้า-เปิดตัว ทั้งที่เวลาเกิดเหตุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เคยมีกลุ่มไหนออกมาประกาศอ้างเป็นผลงานของตน ต่างจากการก่อการร้ายอื่นทั่วโลก

เปิดหน้า แต่คุณไม่รู้ว่ากลุ่มนี้เป็นลับ ลวง พลาง เป็นกลุ่มจริงหรือไม่ เราไม่มีทางรู้ ข้ออ้างทุกครั้งของรัฐคือไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ซึ่งเราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อการปฏิบัติของเราได้ผล แต่เมื่อการข่าวมันไม่มีเราก็ไม่มีทางรู้ สงครามจรยุทธ์แบบนี้มันเป็นเรื่องของศัตรูที่มองไม่เห็น คือเขาไม่อยู่ที่ไหนเลย แต่อยู่ทุกที่ทุกหนแห่ง และสงครามนี้เขาไม่ได้ต้องการพื้นที่นะ เพราะมันจะทำให้เขาตกเป็นเป้านิ่ง อันนี้ไม่เหมือนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ต้องการเขตปลดแอก เขตปลดปล่อย และไม่ใช่สงครามชิงมวลชนด้วย เพราะถ้าต้องการมวลชนจะฆ่าพี่น้องมุสลิมทำไม เขาต้องการแค่ความภักดี ซึ่งไม่ใช่จากการเสนออุดมการณ์ แต่มาจากการก่อการร้าย สร้างความสะพรึงกลัวให้คนไม่กล้าหักหลัง ไม่กล้าพูดกับเจ้าหน้าที่รัฐ นี่ล่ะที่เขาต้องการ โดยเอาเรื่องชาติพันธุ์ ศาสนา ประวัติศาสตร์ปัตตานี มาเป็นส่วนปรุงแต่ง ใช้เป็นเครื่องมือให้เหตุผลในการปฏิบัติการ

ไทยพับลิก้า : แล้วมาเลเซียได้อะไรจากการเปิดบ้านให้ใช้เป็นพื้นที่เจรจาระหว่าง 2 ฝ่าย

สิ่งที่มาเลเซียได้เต็มคือ 1. ในเร็วๆ นี้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในมาเลเซีย รัฐกลันตันเป็นรัฐที่พรรคอัมโนแพ้ทุกครั้ง ดังนั้นรัฐบาลอัมโนจะสามารถเอาเรื่องการต่างประเทศไปหากินได้ ชี้ให้เห็นว่าได้รับการยอมรับจากเพื่อนบ้านให้เป็นผู้จัดการพบปะกับกลุ่มก่อความไม่สงบ ในอดีตเคยเป็นที่ยอมรับของฟิลิปปินส์มาแล้ว (จากการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจายุติความรุนแรง ระหว่างฟิลิปปินส์กับแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร) วันนี้เป็นที่ยอมรับของไทย เขาก็เคลมได้ 2. เขาจะได้อำนาจนำ หรืออิทธิพลด้านวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ สังคมของมาเลเซียในบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เพราะปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ทำให้มาเลเซียมองว่า 3 จังหวัดเป็นส่วนขยายอิทธิพลของมาเลเซีย ถ้าพื้นที่นี้ไม่มั่นคง ก็ทำให้มาเลเซียไม่มั่นคงไปด้วย

ดังนั้น การที่ไทยยอมให้มาเลเซียมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก สมมุติมีความคืบหน้าจนนำไปสู่การเจรจาลงนามยุติการสู้รบ มาเลเซียต้องให้ผลการเจรจาขั้นสุดท้ายเป็นประโยชน์ต่อตัวด้วย ดังนั้นอย่าไปหลงว่ามีผู้อำนวยความสะดวกหรือผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นกลาง มันไม่เคยมีเลยในโลกนี้ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และจะไม่มีในอนาคตด้วย มาเลเซียไม่มีทางเป็นกลาง เขาจะเป็นกลางก็ต่อเมื่อประเด็นของคู่ขัดแย้งไม่มีผลกระทบต่อตน ถ้าแบบนั้นมาเลเซียก็จะวางเฉย แต่ถ้าท่าทีของไทยเป็นอุปสรรคต่อผลประโยชน์ของมาเลเซีย เขาก็จะเข้าข้างกลุ่มก่อความไม่สงบ

ไทยพับลิก้า : สรุปแล้วไทยตกอยู่ในสถานะถูกรุมกินโต๊ะ 2 ต่อ 1

(พยักหน้า) เออๆ ก็เหมือนกับเวลาไทยมองปัญหาในลาว เรามองว่าลาวเป็นส่วนขยายอิทธิพลวัฒนธรรม การค้า การเมืองของไทย ไทยก็มองลาวในแง่นี้ ฉันใดก็ฉันนั้น ที่มาเลเซียกระโดดเข้ามา เขาลงทุนนะ เพราะนี่คือรัฐ ถ้าเป็นเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) มาเลเซียก็ว่าไปอย่าง รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แต่นี่เกียรติภูมิ ศักดิ์ศรี ความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ของประเทศ มันมีเดิมพันนะ ถ้างานนี้ล้มเหลว มาเลเซียก็เสียหมาเหมือนกัน ดังนั้นการที่เขาโดดเข้ามาย่อมมีความมั่นใจระดับหนึ่งว่าผลลัพธ์ที่ออกมาเขาต้องได้ประโยชน์ ต้องเสริมสถานะของเขาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มาเลเซียเป็นผู้จัดการปัญหาของไทย ในอนาคตหากมีปัญหา ไทยก็ต้องเชิญมาเลเซียมาหารือ ทำให้เกิดการพึ่งพามากขึ้นๆ ยิ่งช่วยยิ่งต้องพึ่ง

นายสุรพงษ์ ชัยนาม
นายสุรพงษ์ ชัยนาม

ไทยพับลิก้า : สามารถกล่าวได้หรือไม่ว่ามาเลเซียเลือกข้างฝ่ายก่อความไม่สงบ ถึงจัดวงเจรจานี้ขึ้นมาได้

แน่นอนเลย เขาจัดมาเนี่ย กลุ่มนี้คือกลุ่มแรกนะ ต่อไปถ้าไอ้นี่ไม่ได้ผล ไอ้ 8-9 กลุ่มก็เข้ามา ตั้งแต่ ก. ไก่ ถึง ฮ.นกฮูกเลย อ้าว! ข.ไข่ไม่พอใจ ก็ไปจัด ค.ควายมา จัด ฅ.ฅนมา ไปเรื่อย แต่ข้อสำคัญคือกลุ่มที่เขาจัดมาไม่ใช่หลับตานั่งทางใน แต่ต้องเป็นกลุ่มที่เขาควบคุมได้ ไม่เช่นนั้นเขาไม่จัดมาให้หรอก และอย่าไปเข้าใจว่ามาเลเซียต้องการให้แบ่งแยกดินแดนนะ เขาไม่ต้องการ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นเขาจะควบคุมไม่ได้

ไทยพับลิก้า : แล้วความต้องการสูงสุดของมาเลเซียคืออะไร

เขาต้องการให้เกิดการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง ซึ่งมันมีหลายรูปแบบ เช่น นครรัฐปัตตานี หากมันเกิดขึ้น มันจะเสริมศักยภาพของมาเลเซียเต็มที่ แล้วคนที่มาเลเซียจัดมาก็เป็นพวกที่ต้องพึ่งมาเลเซีย ไม่อย่างนั้นจะมาพบกับฝ่ายไทยไม่ได้ คือวิน-วินสำหรับมาเลเซียกับกลุ่มก่อความไม่สงบ

ไทยพับลิก้า : หากจะมีกลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมวงเจรจาเพิ่มเติม ก็คือมาจากการกำหนดของมาเลเซีย ไม่ใช่ข้อเสนอจากบีอาร์เอ็น

ใช่ ทั้งสิ้นเลย

ไทยพับลิก้า : ล่าสุดเว็บไซต์วิกิลีกส์ระบุว่า เมื่อปี 2552 เคยมีเอ็นจีโอมาเลเซียจัดวงเจรจาลับระหว่างแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นและพูโล กับแกนนำฝ่ายความมั่นคงของไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะแกนนำก่อความไม่สงบไม่พอใจบทบาทของมาเลเซียที่ไปกดดันเขาอย่างหนัก อะไรทำให้กลุ่มเหล่านี้ยอมกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจารอบใหม่ภายใต้การจัดการของมาเลเซีย

คืออันนี้เรามั่นใจได้ จะมีกี่กลุ่มก็แล้วแต่ มาเลเซียไม่สามารถผูกขาดหรือทำให้ทุกกลุ่มอยู่ภายใต้การบงการของตน แต่กลุ่มที่เขาจัดมานั้นขอให้มั่นใจว่าเป็นกลุ่มที่เขาควบคุมได้ ไม่เช่นนั้นเขาจะจัดมาทำไม ไม่เช่นนั้นพวกนี้จะไม่ได้เวที ไม่ได้รับการยกสถานะ ดังนั้นมันล็อคกันไว้ และผมคิดว่านอกจากการเมืองภายในและบทบาทในภูมิภาคที่มาเลเซียได้แล้ว มันน่าจะมีวาระซ่อนเร้นเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย เพราะถ้าดูพฤติกรรมรัฐบาลไทย และพฤติกรรมของนาจิบ (ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย) ที่พูดจาสนับสนุนคุณทักษิณทั้งที่แต่ก่อนไม่เคยพูด เพราะเขาก็รู้ว่าคุณทักษิณมีสถานะตามกฎหมายอย่างไร ถูกพิพากษาอย่างไร ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา คุณทักษิณสร้างความแตกแยกอย่างไร แต่เขากล้าพูด มันเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทยโดยตรงเลย ธรรมดาในอาเซียนด้วยกัน ถ้าพรรคการเมืองไหนทะเลาะอะไรกัน ในส่วนตัวก็อาจจะคุยกัน แต่ในที่สาธารณะ เราไม่มีทางพูดล่ะ นี่ถือว่ามาเลเซียถือหางพรรคเพื่อไทย (พท.) เต็มที่เลย คนเป็นนายกฯ จะกล้าพูดอย่างนี้หรือหากไม่มีผลประโยชน์

ไทยพับลิก้า : แต่ถ้าย้อนไปดูความสัมพันธ์ระหว่างไทย-มาเลเซียช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ ก็ใช่ว่าราบรื่นนัก ตรงกันข้าม พ.ต.ท.ทักษิณเคยพาดพิงมาเลเซียเรื่องปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยซ้ำ

ใช่ ไม่เอากันเลย คนไทยต้องคิดนะว่าคราวนี้จู่ๆ มาเลเซียเป็นที่น่าปรารถนา น่าไว้วางใจขึ้นมาได้อย่างไร จากเดิมสมัยพรรคไทยรักไทย สมัยพรรคพลังประชาชน ไม่เคยมองมาเลเซียในด้านบวกเลย รัฐมนตรีบางคนให้ข่าวเลยว่าเรามีภาพฝึกกองกำลังในมาเลเซีย ซึ่งจนถึงตอนนี้รัฐบาลเพื่อไทยก็ยังไม่เคยให้คำตอบสังคมไทยนะว่าทำไมจู่ๆ คุณเกิดไว้วางใจมาเลเซียขึ้น ทำไมจู่ๆ จากอสูรกายกลายไปเทวดาไปได้

ไทยพับลิก้า :ถ้าเช่นนั้น การเอ่ยชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่น่าช่วยให้นายกฯ มาเลเซียได้แต้มต่อทางการเมืองมากมาย

แหม! มาเลเซียก็รู้ กรือเซะ ตากใบ อุ้มทนายสมชาย ผลงานของใคร แต่การเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร อย่างที่บอกไงว่านอกจากการเมืองภายในมาเลเซีย บทบาทในภูมิภาค มันมีผลประโยชน์ร่วมในทางธุรกิจ เช่น บริษัทน้ำมันปิโตรนาส หรือบริษัทอื่นๆ ที่อิงอยู่กับนักการเมืองมาเลเซีย กับบริษัทพรรคพวกคนในรัฐบาล ดังนั้นแน่นอนเลยว่าทุกอย่างปูทางไปสู่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพรรคพวกกับบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ซึ่งการจะทำอย่างนี้ได้มันต้องมีภาพลวงตาว่าสถานการณ์สงบแล้ว มีการปูทางว่าเริ่มมีสันติภาพแล้ว ให้บริษัทเหล่านี้เริ่มเข้ามาตั้งสำนักงานได้

ไทยพับลิก้า : มองในอีกมุมหนึ่งได้หรือไม่ว่ากระบวนการเจรจาที่เกิดขึ้นคือรูปธรรมแรกในการใช้ “ถุงมือกำมะหยี่” แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลัง พ.ต.ท.ทักษิณขอโทษและยอมรับความผิดพลาดจากการใช้ “กำปั้นเหล็ก”

(หัวเราะ) ถุงมือกำมะหยี่หรือ โธ่! ขนาดนายกฯ สุรยุทธ์ (จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี) ลงไปขอโทษซึ่งเป็นการได้ในเชิงจิตใจนะ แต่ผลปฏิบัติการมันไม่มี มีแต่ความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่ นี่ยังไม่พูดปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ยาเสพติด ที่ผสมโรงอยู่ อย่างไรผมก็เชื่อว่านี่เป็นเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ ที่เอาหายนะบ้านเมืองมาหาประโยชน์ให้พรรคพวก แต่อย่าลืมว่ามาเลเซียไม่ได้คุมกลุ่มก่อความไม่สงบได้ทุกกลุ่มนะ มันต้องมีกลุ่มไม่พอใจแล้วออกมาปฏิบัติการรุนแรง และจะมีผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทข้ามชาติ ถ้ามันรุนแรง พวกนี้ไม่ยอมหรอก มันลงทุนแล้วนี่ มันก็ต้องให้รัฐปกป้องมัน ถ้าปกป้องไม่ได้ก็กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ เพราะบริษัทเหล่านี้ เช่น เชลล์ ยูโนคอล เชฟรอน ให้เงินช่วยเหลือพรรคการเมืองในประเทศมันทั้งนั้น ถ้าบริษัทเสียหาย มันก็ต้องบีบรัฐบาลมันให้มาบีบรัฐบาลไทยอีกที ถ้าจัดการไม่ได้ มันก็ต้องให้กองกำลังรักษาสันติภาพมาควบคุมพื้นที่ อนาคตเราไม่มีสิทธิกำหนดชีวิตตัวเองแล้ว ชักศึกเข้าบ้านแล้ว

นายสุรพงษ์ ชัยนาม
นายสุรพงษ์ ชัยนาม

บทบาทของมาเลเซียในฟิลิปปินส์เนี่ย มันบอกเลยว่าทีโออาร์ (ข้อกำหนดขอบเขตของภารกิจ) ไม่ชัดเจน จึงมีช่องโหว่ให้มาเลเซียเข้ามามีบทบาทเกินกว่าที่ฟิลิปปินส์ประสงค์ให้เป็น เขาเลยแก้ลำด้วยการเอารัฐบาลอื่น เอาเอ็นจีโอต่างชาติเข้ามา เพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งพามาเลเซียอย่างเดียว ดังนั้นถ้าเรื่องนี้รัฐบาลซีเรียส พอคุยกับมาเลเซียแล้วในขั้นแรกมันต้องมีแถลงการณ์ร่วม หรือมีการแถลงข่าวร่วม (Joint Press Statement) เพื่อให้ประชาชนและสังคมรู้ว่าเป็นอย่างนี้นะ

ไทยพับลิก้า : ก่อนการลงนามระหว่างเลขาธิการ สมช. กับแกนนำบีอาร์เอ็นในครั้งแรก ต้องทำทีโออาร์ไทย-มาเลเซียก่อน

ใช่ๆ คือหมายความว่าเมื่อไปคุยอะไรกันมา มันต้องมาบอกมาว่าเขามีท่าทีอย่างไร และต่อไปจะทำอะไร ซึ่งก่อนการลงนามควรอภิปรายในรัฐสภาว่ารัฐบาลคิดจะทำอย่างนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ประชาชนมีสิทธิจะรู้ ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม ถ้าคิดจะดำเนินการ มันต้องได้รับความสนับสนุนจากประชาชน ที่ทั้งอังกฤษและสเปนประสบความสำเร็จเพราะเขาไม่ปิดบังประชาชน

ไทยพับลิก้า :โดยความเป็นจริง หากรัฐบาลเอากรอบเจรจามาถกในสภาก่อน ก็เท่ากับเป็นการแบไต๋ให้มาเลเซียและกลุ่มก่อความไม่สงบรู้ แล้วจะเหลืออะไรไปตกลงต่อรองบนโต๊ะเจรจา

มันไม่ต้องขนาดนั้น ก็เอาเข้ารัฐสภาให้เห็นกรอบว่าบัดนี้มีความคืบหน้าอย่างนี้ เพื่อนบ้านเสนออย่างนี้ รัฐบาลมีความเห็นอย่างนี้ จะได้ประโยชน์ของชาติอย่างนี้ ที่เอาเข้ารัฐสภาเพื่อขอฟังความเห็นและข้อเสนอจากสมาชิก

ไทยพับลิก้า: แต่การเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบในทุกรัฐบาลก็งุบงิบทำทั้งนั้น ไม่ต้องพูดถึงการขอความเห็นจากสมาชิกรัฐสภา เพราะไม่ออกข่าวด้วยซ้ำ

ไม่ เราไม่ได้ให้รัฐบาลรายงานในรายละเอียดนี่ มาพูดเรื่องกรอบ บอกว่าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ ซึ่งอาจไม่ใช่ในรัฐสภาใหญ่ มันมีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ต่างประเทศ ก็เอาเข้าไปใน กมธ. คุยแบบปิดประตูก็ได้ ทั้งหมดนี้คุณจะทำอะไร เราไม่ใช่สังคมปิด เวลารัฐบาลจะทำอะไร ถ้าซีเรียส ถ้าหวังผล คุณต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชน จากฝ่ายการเมือง รวมถึงฝ่ายค้านด้วย แต่ถ้าทำโดยต่างคนต่างไม่เข้าใจกัน มันก็จะเปิดโอกาสให้มาเลเซียและกลุ่มก่อความไม่สงบเข้ามาตอกลิ่ม ซึ่งไม่เป็นผลดีกับไทย

ไทยพับลิก้า : ในเมื่อไทยไม่สามารถวางใจใครได้เลย ทั้งคู่เจรจา ทั้งผู้อำนวยความสะดวก ถึงวันนี้ยังมีวิธีถอยในทางการทูตบ้างหรือไม่

มีสิ เช่น เราต้องกลับไปทำทีโออาร์กับมาเลเซีย ลงนามกันเลย ถ้ามาเลเซียไม่ยอมเราก็ถอยได้ ก็เป็นเหตุผลนะ เรื่องอื่นก็ไม่ต้องพูดกัน เดี๋ยวเราจะติดต่อของเราเอง หรือทีมเจรจา ทำไมต้องเอาเลขาธิการ สมช. เป็นหัวหน้าคณะถ้าไม่มีวาระซ่อนเร้น ยังไม่ทันทำอะไรก็เอาเลขาฯ แล้ว เขาเอาระดับผู้อำนวยการกอง ผู้เชี่ยวชาญ จะซี 7 ซี 8 ก็ได้ จนกระทั่งมันคืบหน้า ค่อยยกระดับคู่เจรจาให้สูงขึ้น ทุกแห่งเขาก็ทำอย่างนี้

ไทยพับลิก้า : แต่พอต่างฝ่ายต่างเปิดหน้าออกมาแล้วจะสามารถเปลี่ยนตัวผู้เจรจาได้หรือ

ได้ เปิดหน้าแล้วก็บอกว่าโอเค! โดยที่รับหลักการกันแล้วว่าจะคุยกันเรื่องอะไร แต่การประชุมครั้งต่อไปเป็นการลงลึกในรายละเอียด ไทยจะขอนำเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญมาพูดคุย แล้วถ้ามีผลคืบหน้าก็รายงานมาเรื่อยๆ แต่นี่ยังไม่ทันไรก็เอาหัวมาเล่นเลย

ไทยพับลิก้า : มีหลายหัวจากหลายหน่วยงานด้วย อาทิ ศอ.บต. สันติบาล

โอ้ย! มันสร้างภาพกันทั้งนั้น อยากได้ชื่อเสียง

ไทยพับลิก้า : บางคนอาจหวังเคลมเป็นผลงานกับ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย

แน่นอน นี่ไงมาเลเซียชมแล้ว ฮุนเซ็น (นายกรัฐมนตรีกัมพูชา) ชมแล้ว ยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) ชม”ยิ่งลักษณ์”แล้ว ต่อไปเกาหลีก็คงจะชม ก็หวังอาศัยปากผู้นำ หรือบุคคลสำคัญต่างชาติชมคุณทักษิณ หวังว่าจะนำไปสู่การฟอกผิด ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ ทำไมคนในเมืองไทยไม่ชอบ ทั้งที่ต่างชาติเขายอมรับแล้ว

ไทยพับลิก้า : สรุปงานนี้อาจเป็นถุงมือกำมะหยี่ซ่อนมีด

โน มันไม่ใช่ถุงมือกำมะหยี่ คนติ๊งต๊องเท่านั้นที่เห็นว่าเป็นกำมะหยี่ ผมเห็นเป็นถุงมือหนามต่างหาก เป็นถุงมือที่หยาบๆๆ มากๆ ลุกลี้ลุกลนมาก มีที่ไหนเอาซี 11 ไปเลย ดังนั้นนอกจากต้องเปลี่ยนทีมเจรจาลดระดับลงมาแล้ว ก็ต้องทิ้งช่วงเวลา รอดูความคืบหน้าเป็นเดือนๆ ด้วย ดูว่าพวกนี้มีอำนาจจริงไหม ความรุนแรงต้องลดลงแล้ว ไม่ใช่ประชุมกันไปเรื่อยสัปดาห์เว้นสัปดาห์

ไทยพับลิก้า : แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องดึงประเทศอื่นมาคานอำนาจมาเลเซียแบบที่ฟิลิปปินส์เคยทำใช่หรือไม่

ไม่ต้องๆ หากเรามีทีโออาร์เราคุมได้เลย ถ้ามาเลเซียละเมิดทีโออาร์เราก็จะได้ยกเลิกไปให้หมด โดยที่นานาประเทศไม่สามารถมากดดัน หรือหาว่าไทยเกเรด้วย แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำแบบนี้ แสดงว่ารัฐบาลไม่ซีเรียส แสดงว่าทำอันนี้เพื่อนำไปสู่เรื่องอื่น ซึ่งก็คือผลประโยชน์ คอยติดตามเอาเถอะ

เบื้องลึก “สุรยุทธ์” หนุนเจรจา

นายสุรพงษ์ ชัยนาม
นายสุรพงษ์ ชัยนาม

ฉากการลงนามแสดงเจตนารมณ์เข้าสู่ “ขบวนสันติภาพ” ระหว่าง “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)” กับ “รองเลขาธิการบีอาร์เอ็น”

ทำให้หลายคนหวนนึกถึงเรื่องเล่า “หลังฉาก” ว่าด้วยการเจรจาระหว่าง “ผู้แทนไทย” กับ “ผู้แทนขบวนการก่อความไม่สงบ” ในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งแม้เป็นเรื่องลับ แต่มักปรากฏข่าวเล็ดลอดออกมาจากวงหารือเล็กๆ เสมอ

อาทิ สมัยรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่ส่ง “ถาวร เสนเนียม” อดีต รมช.มหาดไทย และ “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมด้วย “เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ สมช.” ไปเจรจากับกลุ่มพูโลและกลุ่มบีอาร์เอ็นในหลายกรรมหลายวาระ โดยเว็บไซต์วิกิลีกส์ระบุว่าการเจรจาดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2552 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และกรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย

และก็เป็น “ไกรศักดิ์”นั่นเองที่ออกมายอมรับกับ “สำนักข่าวอิศรา” ว่าเขาเป็นตัวแทนไปเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบจริง

ไม่ต่างจากยุครัฐบาล “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” อดีตผู้นำผู้สร้างความทรงจำด้านบวกแก่ “เหยื่อตากใบ” หลังกล่าวคำ “ขอโทษ” ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะลงพื้นที่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 ซึ่งว่ากันว่ามีคำสั่งปฏิบัติการทั้งบนดิน-ใต้ดินเพื่อหาทาง “ดับไฟใต้”

ในส่วนของ “ปฏิบัติการบนดิน” มี “สุรพงษ์ ชัยนาม” อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะยกร่างยุทธศาสตร์แก้ลำ-ลบข้อกล่าวหา “ฝ่ายก่อการ” เรื่องถูกรัฐไทยรังแก และวิ่งโร่ไปฟ้ององค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ให้ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลไทย

เป็นผลให้ “สุรพงษ์” ถูกส่งไปประเทศซีเรีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโอไอซี ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง

“ตอนผมไปคุยกับประเทศสมาชิกโอไอซี ผมบอกว่าเราไม่ขัดข้องเรื่องการประณามการใช้ความรุนแรง แต่ในส่วนของความรุนแรง โอไอซีไม่บอดสี คือถ้าความรุนแรงจากรัฐ คุณประณาม แต่พอเป็นความรุนแรงจากผู้ก่อความไม่สงบ คุณไม่พูดอะไร คุณต้องบอดสีสิ ต้องประณามทั้ง 2 ฝ่าย”

ขณะที่ “ปฏิบัติการใต้ดิน” มี “พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป” อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี คุมหัวโต๊ะ-จัดทีมเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายทหารและ สมช. ร่วมวงอีกเช่นเคย

ว่ากันว่ามีการตั้งวงถกลับในหลายประเทศ อาทิ สวีเดน ซีเรีย หรือแม้แต่ในไทย

ทว่า บทสรุปสุดท้ายคือไม่มีข้อสรุป เพราะเช็คแล้วพบว่า “ทีมเจรจาฝ่ายตรงข้าม” ไม่ใช่ตัวจริง เพราะ “ผู้บงการหลัก” ปักหลักอยู่ในประเทศนี้เอง

“พวกนั้นมันรุ่นเก่า 70-80 ปี แก่แล้ว มันอาจจะเป็นในเชิงสัญลักษณ์ แรงดลใจ แต่ไม่ได้คุมอะไรแล้ว ไม่สามารถสั่งการในด้านยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี สายบังคับบัญชาที่มีอยู่ในพื้นที่ได้ เป็นพวกตั้งราคาให้ตัวเอง ในต่างประเทศมันไม่มีความหมาย”

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการลับของ “นายกฯ น้อย” หาได้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงไม่ เพราะการพบปะ-พูดคุยกับ “ขั้วอำนาจเก่า” ทำให้ทางการไทยได้ข้อมูลเชิงความคิดในการต่อสู้ และพัฒนาการของขบวนการจากอดีตถึงปัจจุบัน

นี่คือเหตุผลว่าทำไมเรื่อง “หลังฉาก” จึงถูกบอกเล่า-เติมต่อในทุกรัฐบาล

และเป็นเหตุผลว่าทำไม “พล.อ.สุรยุทธ์” ซึ่งดำรงตำแหน่งองคมนตรี ณ ปัจจุบัน ถึงประกาศสนับสนุนการเจรจา!!!